พระปุณณกะเถระ

ประวัติ / พระปุณณกะเถระ

   ท่านพระปุณณกะ เป็นบุตรพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล

    ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆารวาสวิสัย จึงได้กราบทูลลาออกจากตำแหน่งปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์พาวรี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์

    ปุณณกมาณพได้ออกบวชไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย และรวมอยู่ในศิษย์ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีได้ผูกปัญหาให้ไปทูลถามพระบรมศาสดาที่ปาสณเจดีย์ แคว้นมคธ

     ปุณณกมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๓ ใจความว่า บัดนี้ มีปัญหามาถึงพระองค์ผู้หาความหวาดหวั่นมิได้ รู้เหตุที่เป็นรากเหง้าของสิ่งทั้งปวง ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามว่า หมู่มนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤๅษี กษัตริย์ พราหมณ์ จำนวนมากอาศัยอะไรจึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา ขอพระองค์ตรัสบอกข้อความนี้แก่ข้าพระองค์

     พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า หมู่มนุษย์เหล่านั้นอยากได้ของที่พวกตนปรารถนา ที่มีชรามาทำให้แปรเปลี่ยน จึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา

     ปุณณกมาณพทูลถามต่อว่า หมู่มนุษย์เหล่านั้น ถ้าไม่ประมาทในยัญของตน จะข้ามพ้นชาติและชราได้หรือไม่

     พระบรมศาสดาตรัสว่า หมู่มนุษย์เหล่านั้น มุ่งลาภทึ่ตนหวังจึงพูดสรรเสริญการบูชายัญ รำพันถึงสิ่งที่ตนปรารถนาก็เพราะอาศัยลาภ เราตถาคตกล่าวว่าผู้บูชายัญเหล่านั้น ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติ ชรา ไปได้

     ปุณณกมาณพจึงทูลถามต่อว่า ถ้าผู้บูชายัญเหล่านั้นข้ามพ้นชาติ ชรา เพราะยัญของตนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นใครเล่าในเทวโลกหรือมนุษยโลกจะข้ามพ้น ชาติ ชรา นั้นได้

     พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ความอยากที่เป็นเหตุดิ้นรน ทะเยอทะยาน ของผู้ใดไม่มีในทุก ๆ ชาติ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก เราตถาคตกล่าวว่า ผู้นั้นซึ่งมีจิตสงบระงับแล้ว ไม่มีทุจริต ความประพฤติชั่วอันจะทำให้จิตมัวหมอง ดุจควันไฟที่จับเป็นเขม่า ไม่มีกิเลสอะไร ๆ มากระทบ ไม่มีความทะยานอยาก ข้ามพ้นชาติ ชรา ไปได้แล้ว

     ครั้นพระบรมศาสดา ทรงแก้ปัญหาที่ปุณณกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ปุณณกมาณพได้สำเร็จพระอรหัตตผล (ก่อนอุปสมบท)

    เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ ปัญหาของมาณพที่เหลือเสร็จสิ้นแล้ว ปุณณกมาณพจึงพร้อมกับเพื่อนทั้งหมดทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา

    เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน



   ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย