อาจิณณกรรมขั้นพื้นฐานของชาวพุทธที่ควรทราบในทางปฏิบัติ



เมื่อวานเห็นคนมากมายถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นนาบุญ


ทานนั้นเป็นของดีแน่นอน หลวงปู่เหรียญและหลวงปู่จันทร์โสมนั้นเป็นพระแท้แน่นอน
ใจคนถวายก็เป็นใจที่ประกอบด้วยความคิดเป็นทานแน่นอน
แต่...


ใจ บางคน คิดด้วยความโลภว่าดีจริง ได้ถวายทานกับอริยเจ้า
คงได้บุญ ได้กุศลตอบแทนเหลือหลาย
นี่คือตัวอย่างของทานที่ประกอบด้วยความโลภ
ทำทีไร ท่าทางจะคิดอย่างนี้ทุกครั้ง
จิตเป็นทานจริง จะได้ผลจากทานจริง
อาจเกิดในสวรรค์ชั้นต้นๆ
อาจเกิดเป็นคนรวย เป็นคนใหญ่คนโต
แต่คงไม่ผิดอะไรกับนักธุรกิจหน้าเลือดที่เห็นๆกัน


สร้างบุญไว้เตรียมทำบาปแท้ๆ


(ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิต
ผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้วจักได้
เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย
แห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่
แล้ว ยังมีผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ --- ทานสูตร)


ใจ หลายคน ไม่ประกอบด้วยความละโมบ
แต่ก็ไม่ประกอบด้วยความโสมนัส
เพราะไม่พิจารณาด้วยความเลื่อมใส ว่าของนี้มอบแด่พระผู้ปฏิบัติดี
หรือไม่พิจารณาด้วยความเลื่อมใส ว่าของนี้เราได้มาด้วยความบริสุทธิ์
ถวายด้วยใจที่บริสุทธิ์
หรือไม่พิจารณาด้วยความเลื่อมใส ว่าเราทำอย่างนี้ตลอดชีวิต
ถ้าชีวิตนี้ไม่ถึงนิพพาน ชีวิตหน้าก็จะได้มีโอกาสอุปถัมภ์พระศาสนาอีก
เกิดมาใต้ร่มโพธิ์พุทธอีก
หรือแค่ง่ายๆ ไม่ทำความรู้สึกดีๆขณะถวาย
แต่แค่มีการขยับมือไม้ ยกประเคนตามพิธี ไม่คิดอะไรมาก
สักแต่ทำๆไปด้วยความเคยชิน
ตอนแรกๆอาจมีความสุข เบิกบาน แต่ด้วยอำนาจความเคยชิน
จะเห็นว่าความสุขลดลงใกล้เคียงความเฉย


น่าเสียดายใจที่สะอาด แต่ขาดโสมนัส ทำเรื่อยๆเฉื่อยๆ
บางทีฟุ้งซ่านปนๆไปสารพัดเรื่อง (ซึ่งก็ด้วยอำนาจความเคยชินอีกนั่นเอง)
อย่างนี้ถ้าได้ร่ำรวย ก็ร่ำรวยไม่กว้างขวาง สมบัติไม่สุกสว่างเอี่ยมอ่องเท่าไหร่
เพราะฤทธิ์ของใจไม่แน่วไปในทาน


(ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มี
จิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไป
แล้วจักได้เสวยผลทานนี้ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทาน
นั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาสิ้น
กรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่
ความเป็นอย่างนี้ ฯ --- ทานสูตร)


พวกเราเรียนรู้ ดูจิตดูใจตัวเอง หลายคนดูเป็นและรู้จริง
แต่บางทีก็ไม่เอามาประยุกต์ใช้กับงานบุญงานกุศล
อาจเห็นว่าเป็นของตื้น เพราะเราไม่ค่อยคุยกันเรื่องทาน เรื่องศีลกันมาก
ซึ่งว่าที่จริงทานกับศีลนั้นเป็นของใกล้ตัว ทำดีง่าย ทำได้แน่
เพราะรู้จักสภาวะ รู้ทันความคิดตัวเองกันแล้ว
ไม่หลอกตัวเองด้วยภาพลักษณ์หรือโมหะหยาบๆแล้ว


ทานกับศีลนั้นหล่อเลี้ยงให้ใจเปิด ใจสะอาด และลงเป็นสมาธิได้ง่าย
บางคนบ่นว่าทำสมาธิไม่ค่อยขึ้น จิตฟุ้งซ่านบ่อย
ก็จะแก้โดยการนั่งสมาธิให้นานขึ้น หรือใส่ความเพ่ง ความเกร็งให้มากกว่าเดิม
แทนที่จะเอาทางตรงที่พระพุทธองค์ประทานไว้
คือกรุยทางให้ใจเปิดด้วยทาน ให้ใจสะอาดด้วยศีล
อาการสุ่มของจิตที่สัดส่ายเป็นความฟุ้งซ่านก็ลดลงไปเอง
บอกอย่างนี้ก็ไม่ค่อยเชื่อ เพราะดูเหมือนไม่ค่อยอาศัยความเก่ง ไม่ต้องใช้ความสามารถเท่าไหร่
ในการทำทาน ในการรักษาศีล
ไม่เหมือนทำสมาธิให้ได้รวม ให้ได้สว่าง
ไม่เหมือนดูจิตแล้วมาเล่าว่าปล่อยวางได้ สอยกิเลสร่วงได้กราว กราว
เอาไว้บอกเล่าเก้าสิบกัน


ทานนั้น ทำเสมอๆเหมือนกัน เป็นอาจิณณกรรมเหมือนกัน แต่ให้ผลต่างกัน
ก็เพราะความฉลาดทางจิต ความฉลาดในการประกอบบุญกุศลผิดแผกจากกัน


ลักษณะจิตที่ทำงานเป็นการฟังธรรมก็เหมือนกัน
ส่วนใหญ่คิดไม่ถึง ว่าฟังด้วยนิสัยอย่างไร ก็จัดเป็นอาจิณณกรรม
ให้ผลแตกต่างเช่นกัน


บางคนฟังด้วยใจจดจ่อ ฟังทุกคำ
แต่ฟังไปคิดแย้งไป ท่านพูดตรงนี้ไม่ชัด ท่านว่าตรงนี้ไว้คลาดเคลื่อนจากบัญญัติ
อย่างนี้เรียกว่าฟังด้วยปัญญาเชิงโลก
ฟังด้วยใจที่ปิด
บางคนฟังด้วยใจจดจ่อ ฟังทุกคำ
ด้วยใจที่นอบน้อมเคารพ และคิดว่าจะเชื่อที่ท่านสอน
จะทำคำสอนที่ชอบ ที่ดีมาประทับไว้ในใจ กับทั้งจะทำตาม ปฏิบัติให้เป็นไปดังนั้น
อย่างนี้เรียกว่าฟังด้วยปัญญาเชิงธรรม
ฟังด้วยใจที่เปิด


ฟังด้วยใจที่ปิด ควรเอาไว้ฟังนักการเมือง หรือพระที่ย่อหย่อน ไม่ปฏิบัติดี ไม่ปฏิบัติตรง
จะได้ไม่รับกระแส ไม่ได้ส่วนเลวมาคลุกใจ
ฟังด้วยใจที่เปิด ควรเอาไว้ฟังบัณฑิต หรือพระที่เข้มแข็ง ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง
จะได้รับกระแส ได้ส่วนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ อบอุ่น เชื่อมั่น มาประดับ ประทับใจ
ยิ่งสมาธิดีเท่าไหร่ สว่างกว้างขวางแค่ไหน ใจก็ยิ่งเปิดรับเต็มๆ
ชัดเจน คมลึกในมิติของความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น
(การนั่งสมาธิภาวนาขณะฟังธรรม จึงเป็นอุบายเปิดจิตรับเทศนาธรรมอันเลิศสุด)


ส่วนที่จะหายสงสัย ว่าพระไหนดีหรือไม่ดี
อันนี้ต้องขึ้นกับภูมิหลัง พื้นเพจิตใจและสติปัญญาของแต่ละคนประกอบไปด้วย
ใครมีแนวทางมาอย่างไร ก็เห็นบัณฑิต หรือพระดีตามวิธีจำแนกแห่งตน
บังคับใจให้เชื่อกัน หรือคล้อยตามด้วยน้ำหนักเหตุผลของแต่ละฝ่ายไม่ได้


ฟันธงไว้ให้เฉพาะพวกเราที่คุ้นหน้านะครับ
ใครเปิดใจรับเทศนาธรรม น้ำหนักเสียง จังหวะจะโคนของหลวงปู่เหรียญเต็มๆเป็นประจำ
ถึงแม้พลาดนิพพานในชาตินี้
ก็จะได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระ แบบเดียวกัน กับหลวงปู่เหรียญอีก
เมื่อพบ เมื่อเจอพระแบบท่าน ก็จะไม่ลังเล ไม่สงสัย และปักใจเชื่อง่าย
ไม่มีเหตุมาทำให้ไขว้เขวกวัดแกว่ง
เพราะได้สัญญาณนำร่องไว้ดีแล้วจากชีวิตปัจจุบัน


อาจิณณกรรม --- กรรมที่ทำจนคุ้น ทำจนเป็นนิสัยของจิต
ทำจนจิตไม่ต้องเลือกตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุกระทบ
ทำจนเป็นแนวโน้มที่จิตจะเลือกทำเสมอๆเองด้วยความเต็มใจ ไม่มีใครบอกหรือบังคับ
ทั้งความคิดเงียบๆเองตามลำพัง ทั้งคำพูดที่หูคนอื่นได้ยิน
ทั้งการลงมือทำที่คนอื่นได้เห็น
อาจิณณกรรมฝ่ายกุศลควรทำให้เกิด ให้มากขึ้น ให้เพิ่มพูน ให้เติบกล้า
อาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลควรทำให้หมด ให้น้อยลง ให้ลดถอย ให้อ่อนกำลัง


มือใหม่เริ่มดูจิตดูใจจากกรอบของทานและศีลก็จะง่ายเข้านะครับ


:: ดังตฤณ   

5,185







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย