พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด เสขบุคคล - เสนาสนขันธกะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


เสขบุคคล - เสนาสนขันธกะ

เสขบุคคล บุคคลที่ยังต้องศึกษาอยู่ ดู เสขะ

เสขปฏิปทา ทางดำเนินของพระเสขะ, ข้อปฏิบัติของพระเสขะ ได้แก่ จรณะ ๑๕

เสขภูมิ ภูมิของพระเสขะ, ระดับจิตใจและคุณธรรมของพระอริยบุคคลที่ยังต้องศึกษา

เสขิยวัตร วัตรที่ภิกษุจะต้องศึกษา, ธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงสำเหนียกหรือพึงฝึกปฏิบัติ มี ๗๕ สิกขาบท จำแนกเป็น สารูป ๒๖ โภชนปฏิสังยุต ๓๐ ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ๑๖ และปกิรณะคือเบ็ดเตล็ด ๓,เป็นหมวดที่ ๗ แห่ง สิกขาบทในบรรดาสิกขาบท ๒๒๗ ของพระภิกษุ ท่านให้สามเณรถือปฏิบัติด้วย

เสตกัณณิกนิคม นิคมที่กั้นอาณาเขตมัชฌิมชนบท ด้านทิศใต้

เสโท, เสท น้ำเหงื่อ, ไคล

เสนา กองทัพ ในครั้งโบราณหมายถึงพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า เรียกว่าจตุรงคินีเสนา (เสนามีองค์ ๔ หรือ เสนาสี่เหล่า)

เสนานิคม ชื่อหมู่บ้านในตำบลอุรุเวลา นางสุชาดาผู้ถวายข้าวปายาสแด่พระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ อยู่ที่หมู่บ้านนี้

เสนามาตย์ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน

เสนามาร กองทัพมาร, ทหารของพระยามาร

เสนาสนะ เสนะ ที่นอน อาสนะ ที่นั่งหมายเอาที่อยู่อาศัย เช่น กุฏิ วิหาร และเครื่องใช้เกี่ยวกับสถานที่ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ แม้โคนไม้ เมื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ก็เรียกเสนาสนะ

เสนาสนขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๖ แห่งจุลวรรคในพระวินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย