พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สุคนธชาติ - สุตพุทธะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สุคนธชาติ - สุตพุทธะ

สุคนธชาติ ของหอม, เครื่องหอม

สุคนธวารี น้ำหอม

สุงกฆาตะ ด่านภาษี

สุงสุมารคีระ ชื่อนครหลวงแห่งแคว้นภัคคะ ที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่ ๘; สุงสุมารคีรี ก็เรียก

สุจริต ประพฤติดี, ประพฤติชอบ, ประพฤติถูกต้องตามคลองธรรม มี ๓ คือ ๑. กายสุจริต ประพฤติชอบด้วยกาย ๒. วจี
สุจริต
ประพฤติชอบด้วยวาจา ๓. มโนสุจริต ประพฤติชอบด้วยใจ เทียบ ทุจริต

สุชาดา อุบาสิกาสำคัญคนหนึ่ง เป็นธิดาของผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา ได้ถวายข้าวปายาสแก่พระมหาบุรุษในเวลาเช้าของวันที่ตรัสรู้ มีบุตร ชื่อยส ซึ่งต่อมาออกบวชเป็นพระอรหันต์ นางสุชาดาได้เป็นปฐมอุบาสิกา พร้อมกับภรรยาเก่าของยสะและได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาอุบาสิกาผู้ถึงสรณะเป็นปฐม

สุญญตา “ความเป็นสภาพสูญ”, ความว่าง
1. ความเป็นสภาพที่วางจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา คือ ไร้ตัวมิใช่ตน ว่างจากความเป็นตนตลอดจนว่างจากสาระต่างๆ เช่น สาระคือความเที่ยง สาระคือความสวยงาม สาระคือความสุข เป็นต้น, โดยปริยาย หมายถึง หลักธรรมฝ่ายปรมัตถ์ดังเช่น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ และปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท) ที่แสดงแต่ตัวสภาวะให้เห็นความว่างเปล่าปราศจากสัตว์ บุคคล เป็นเพียงธรรมหรือกระบวนธรรมสั้นๆ
2. ความว่างจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดี สภาวะที่ว่างจากสังขารทั้งหลายก็ดี หมายถึง นิพพาน
3. โลกุตตรมรรค ได้ชื่อว่าเป็นสุญญตา ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ เพราะลุด้วยปัญญาที่กำหนดพิจารณาความเป็นอนัตตา มองเห็นภาวะที่สังขารเป็นสภาพว่าง (จากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน) เพราะว่างจากกิเลสมีราคะ เป็นต้น และเพราะมีสุญญตา คือนิพพานเป็นอารมณ์
4. ความว่าง ที่เกิดจากความกำหนดหมายในใจ หรือทำใจเพื่อให้เป็นอารมณ์ของจิตในการเจริญสมาบัติ เช่น ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติกำหนดใจถึงภาวะว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย; สุญตา ก็เขียน

สุญญตวิโมกข์ ความหลุดพ้นโดยว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ หมายถึงมองเห็นความว่าง หมดความยึดมั่น คือพิจารณาเห็นนามรูปโดยความเป็นอนัตตา พูดสั้นๆ ว่า หลุดพ้นเพราะเห็นอนัตตา (ข้อ ๑ ในวิโมกข์ ๓)

สุญญตสมาธิ สมาธิอันพิจารณาเห็นความว่าง ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนัตตลักษณะ (ข้อ ๑ ในสมาธิ ๓)

สุตตนิบาต ชื่อคัมภีร์ที่ ๕ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก

สุตตันตปิฎก ดู ไตรปิฎก

สุตบท คำว่า “สุต” “สุตา” ดู ปาฏิโมกข์ย่อ

สุตพุทธะ ผู้รู้เพราะได้ฟัง, ผู้รู้โดยสุตะ หมายถึง บุคคลที่เป็นพหูสูต ดู พุทธะ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย