พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สีมามีฉายาเป็นนิมิต - สีลขันธวรรค

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สีมามีฉายาเป็นนิมิต - สีลขันธวรรค

สีมามีฉายาเป็นนิมิต สีมาที่ทำเงาอย่างใดอย่างหนึ่ง มีเงาภูเขาเป็นต้นเป็นนิมิต (มติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาวชิรญาณวโรรสว่า สีมาที่ถือเงาเป็นแนวนิมิต) จัดเป็นสีมาวิบัติอย่างหนึ่ง

สีมาวิบัติ ความเสียโดยสีมา, เสียเพราะเขตชุมนุม (ไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์), สีมาใช้ไม่ได้ ทำให้สังฆกรรมซึ่งทำ ณ ที่นั้นวิบัติคือเสียหรือใช้ไม่ได้ (เป็นโมฆะ) ไปด้วย, คัมภีร์ปริวารแสดงเหตุให้กรรมเสียโดยสีมา ๑๑ อย่าง เช่น
๑. สมมติสีมาใหญ่เกินกำหนด (เกิน ๓ โยชน์)
๒. สมมติสีมาเล็กเกินกำหนด (จุไม่พอภิกษุ ๒๑ รูปนั่งเข้าหัตถบาสกัน)
๓. สมมติสีมามีนิมิตขาด
๔. สมมติสีมามีฉายาเป็นนิมิต
๕. สมมติสีมาไม่มีนิมิต ฯลฯ,
สังฆกรรมที่ทำในที่เช่นนี้ก็เท่ากับทำในที่มิใช่สีมานั่นเอง จึงยอมใช้ไม่ได้ ดู วิบัติ (ของสังฆกรรม)

สีมาสมบัติ ความพร้อมมูลโดยสีมา, ความสมบูรณ์แห่งเขตชุมนุม, สีมาซึ่งสงฆ์สมมติแล้วโดยชอบ ไม่วิบัติ ทำให้สังฆกรรมซึ่งทำในสีมานั้นมีผลสมบูรณ์ กล่าวคือ สีมาปราศจากข้อบกพร่องต่างที่เป็นเหตุให้สีมาวิบัติ (ดู สีมาวิบัติ) สังฆกรรมซึ่งทำ ณ ที่นั้นจึงชื่อว่าทำในสีมา จึงใช้ได้ในข้อนี้ ดู สมบัติ (ของสังฆกรรม)

สีมาสังกระ สีมาคาบเกี่ยวกัน, เป็นเหตุสีมาวิบัติอย่างหนึ่ง

สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล (ข้อ ๖ ในกถาวัตถุ ๑๐)

สีลขันธ์ กองศีล, หมวดธรรมว่าด้วยศีล เช่น กายสุจริต สัมมาอาชีวะ อินทรีย์สังวร โภชเนมัตตัญญุตา เป็นต้น (ข้อ ๑ ในธรรมขันธ์ ๕)

สีลขันธวรรค ตอนที่ ๑ ใน ๓ ตอนแห่งคัมภีร์ทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎก




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย