พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด เทวรูป - เทือกเถา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


เทวรูป - เทือกเถา

เทวรูป รูปเทวดาที่นับถือตามลัทธิที่นับถือเทวดา

เทวรูปนาคปรก เทวรูปลักษณะคล้ายพระพุทธรูปนาคปรก แต่ภายในนาคปรกนั้นเป็นเทวรูป ไม่ใช่พระพุทธรูป ที่เทวสถานเมืองลพบุรีมีมาก เป็นของลัทธิพราหมณ์

เทวโลก โลกของเทวดา, ที่อยู่ของเทวดา ได้แก่สวรรค์กามาพจร ๖ ชั้น คือ ๑. จาตุมหาราชิกา ๒. ดาวดึงส์ ๓. ยามา ๔. ดุสิต ๕. นิมมานรดี ๖. ปรนิมมิตวสวัตดี

เทฺววาจิก มีวาจาสอง หมายถึง ผู้กล่าววาจาถึงสรณะสอง คือ พระพุทธและพระธรรม ในสมัยที่ยังไม่มีพระสงฆ์ได้แก่ พาณิชสอง คือ ตปุสสะ และภัลลิกะ

เทวสถาน ที่ประดิษฐานเทวรูป, โบสถ์พราหมณ์

เทวาธิบาย ความประสงค์ของเทวดา

เทเวศร์ เทวดาผู้ใหญ่, หัวหน้าเทวดา

เทโวโรหณะ “การลงจากเทวโลก” หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ตำนานเล่าว่าในพรรษาที่ ๗ แห่ง การบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษาในดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาพร้อมทั้งหมู่เทพ ณ ที่นั้น เมื่อถึงเวลาออกพรรษาในวันมหาปวารณา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับคืนสู่โลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ โดยมีเทวดาและมหาพรหมทั้งหลายแวดล้อมลงมาส่งเสด็จ ฝูงชนจำนวนมากมายก็ได้ไปคอยรับเสด็จ กระทำมหาบูชาเป็นการเอิกเกริกมโหฬารและพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม มีผู้บรรลุคุณวิเศษจำนวนมาก ชาวพุทธในภายหลังได้ปรารภเหตุการณ์พิเศษครั้งนี้ถือเป็นกาลกำหนดสำรับบำเพ็ญการกุศล ทำบุญตักบาตรคราวใหญ่แด่พระสงฆ์ เป็นประเพณีนิยมสืบมาดังปรากฏในประเทศไทย เรียกกันว่าตักบาตรเทโวโรหณะ หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า ตักบาตรเทโว บางวัดก็จัดพิธีในวันออกพรรษา คือวัน มหาปวารณา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดจัดถัดเลยจากนั้น ๑ วัน คือในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑

เทศกาล คราวสมัยที่กำหนดไว้เป็นประเพณี เพื่อทำบุญและการรื่นเริงในท้องถิ่น เช่น ตรุษสงกรานต์ เข้าพรรษา สารท เป็นต้น

เทศนา การแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา, การชี้แจงให้รู้จักดีรู้จักชั่ว, คำสอน; มี ๒ อย่าง คือ ๑. บุคคลาธิษฐาน เทศนา เทศนามีบุคคลเป็นที่ตั้ง ๒. ธรรมาธิษฐาน เทศนา เทศนามีธรรมเป็นที่ตั้ง

เทสนาคามินี อาบัติที่ภิกษุต้องเข้าแล้วจะพ้นได้ด้วยวิธีแสดง, อาบัติที่แสดงแล้วก็พ้นได้, อาบัติที่ปลงตกด้วยการแสดงที่เรียกว่า แสดงอาบัติ หรือปลงอาบัติ ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต; ตรงข้ามกับ อเทสนาคามินี ซึ่งเป็นอาบัติที่ไม่อาจพ้นได้ด้วยการแสดง ได้แก่ ปาราชิก และสังฆาทิเสส

เทสนาปริสุทธิ ความหมดจดแห่งการแสดงธรรม

เทือกเถา ต้นวงศ์ที่นับสายตรงลงมา, ญาติโดยตรงตั้งแต่บิดามารดาขึ้นไปถึงทวด




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย