พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ลกุณฏก ภัททิยะ - ลักษณะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ลกุณฏก ภัททิยะ - ลักษณะ

ลกุณฏก ภัททิยะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรในตระกูลมั่งคั่ง ชาวพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาที่พระเชตวันมีความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา ท่านมีรูปร่างเตี้ยค่อมจนบางคนเห็นขัน วันหนึ่งมีหญิงนั่งรถผ่านมาเห็นท่านแล้วหัวเราะจนเห็นฟัน ท่านกำหนดฟันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้สำเร็จอนาคามิผล ต่อมาท่านได้บรรลุพระอรหัตในสำนักพระสารีบุตร แต่เพราะความที่มีรูปร่างเล็กเตี้ยค่อม ท่านมักถูกเข้าใจผิดเป็นสามเณรบ้าง ถูกพระหนุ่มเณรน้อยล้อเลียนบ้าง ถูกเพื่อนพระดูแคลนบ้าง แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสยกย่องว่าถึงท่านจะร่างเล็ก แต่มีคุณธรรมฤทธานุภาพมาก ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีเสียงไพเราะ

ลบหลู่คุณท่าน ดู มักขะ

ล่วงสิกขาบท ละเมิดสิกขาบท, ไม่บทประพฤติตามสิกขาบท, ฝ่าฝืนสิกขาบท

ลหุ เสียงเบา ได้แก่ รัสสระไม่มีตัวสะกด คือ อ อิ อุ เช่น น ขมติ

ลหุกาบัติ อาบัติเบา คือ อาบัติที่มีโทษเล็กน้อยได้แก่อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต; คู่กับครุกาบัติ

ลหุโทษ โทษเบา คู่กับ มหันตโทษ โทษหนัก

ลหุภัณฑ์ ของเบา เช่น บิณฑบาต เภสัชและของใช้ประจำตัว มีเข็ม มีดพับ มีดโกน เป็นต้น; คู่กับ ครุภัณฑ์

ลักซ่อน เห็นของเขาทำตก มีไถยจิตเอาดินกลบเสีย หรือเอาของมีใบไม้เป็นต้น ปิดเสีย

ลักเพศ แต่งตัวปลอมเพศ เช่นไม่เป็นภิกษุ แต่นุ่งห่มผ้าเหลือง แสดงตัวเป็นภิกษุ (อ่าน ลัก-กะ-เพด)

ลักษณะ สิ่งสำหรับกำหนดรู้, เครื่องกำหนดรู้, อาการสำหรับหมายรู้, เครื่องแสดงสิ่งหนึ่งให้เห็นว่าต่างจากอีกสิ่ง
หนึ่ง, คุณภาพ, ประเภท




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย