พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด มหาปเทส - มหาโพธิ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


มหาปเทส - มหาโพธิ

มหาปเทส ข้อสำหรับอ้างใหญ่, หลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียง ๔ คือ
๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร
๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร
๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร
๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร

มหาปรันตปะ* นามหนึ่งที่บางท่านถือมาว่าอยู่ในรายชื่ออสีติมหาสาวก แต่ไม่ปรากฏว่ามีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร บางทีจะเกิดจากความสับสนกับพระนามพระราชบิดาของพระเจ้าอุเทน (ที่ถูก คือ ปุณณสุนาปรันตะ)

มหาปรินิพพานสูตร สูตรที่ ๓ ในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยเหตุการณ์ใกล้พุทธปรินิพพาน จนถึงโทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุเสร็จ

มหาปวารณา ดู ปวารณา

มหาปันถกะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรของธิดาเศรษฐี กรุงราชคฤห์ไปวัดกับเศรษฐีผู้เป็นตา ได้ฟังเทศนาของพระศาสดาอยู่เสมอ จิตก็น้อมไปทางบรรพชา จึงบวชเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุครบ ก็อุปสมบทต่อมาได้สำเร็จพระอรหัต พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านเป็นผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฏฏ์ เพราะท่านชำนาญในอรูปาวจรฌานและเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนา ท่านเคยรับหน้าที่เป็นภัตตุทเทสก์ คือ ผู้จัดแจกอาหารของสงฆ์ด้วย, ท่านเป็นพี่ชายของพระจุลลปันถกะ หรือจูฬบันถก

มหาปุริสลักษณะ ดู มหาบุรุษลักษณะ

มหาปุริสวิตก ธรรมที่พระมหาบุรุษตรึก, ความนึกคิดของพระโพธิสัตว์

มหาปุริสอาการ อาการของพระมหาบุรุษ, ท่าทางของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

มหาโพธิ ต้นโพธิเป็นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เรียกกันสั้นๆ ว่า โพธิ์ตรัสรู้ ดู โพธิ์




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย