พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด บทภาชนะ - บรรพชิต

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


บทภาชนะ - บรรพชิต

บทภาชนะ
บทไขความ, บทขยาย ความ

บทภาชนีย์ บทที่ตั้งไว้เพื่อขยายความ, บทที่ต้องอธิบาย

บรม อย่างยิ่ง, ที่สุด

บรมธาตุ กระดูกพระพุทธเจ้า

บรมพุทโธบาย อุบาย คือ วิธีของพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม จากศัพท์ว่าบรม (ปรม) + พุทธ (พุทฺธ) + อุบาย (อุปาย)

บรมศาสดา ศาสดาที่ยอดเยี่ยม, พระผู้เป็นครูที่สูงสุด, พระบรมครู หมายถึงพระพุทธเจ้า

บรมสุข สุขอย่างยิ่ง ได้แก่ พระนิพพาน

บรมอัฏฐิ กระดูกกษัตริย์

บรรจบ ครบ, ถ้วน, จดกัน, ประสมเข้า, ติดต่อกัน, สมบท

บรรทม นอน

บรรเทา ทำให้สงบ. คลาย, เบาลง, ทำให้เบาลง, ทุเลา

บรรพ ข้อ, เล่ม, หมวด, ตอน, กัณฑ์ ดังคำว่า กายานุปัสสนา พิจารณาเห็นซึ่งกาย โดยบรรพ ๑๔ ข้อ มีอานาปานบรรพ ข้อที่ว่าด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นต้น

บรรพชา การบวช (แปลว่า เว้นความชั่วทุกอย่าง) หมายถึง การบวชทั่วไป, การบวชอันเป็นบุรพประโยคแห่งอุปสมบท, การบวชเป็นสามเณร (เดิมทีเดียว คำว่า บรรพชา หมายความว่าบวชเป็นภิกษุ เช่น เสด็จออกบรรพชา อัครสาวกบรรพชา เป็นต้น ในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ คำว่า บรรพชา หมายถึง บวชเป็นสามเณร ถ้าบวชเป็นภิกษุ ใช้คำว่า อุปสมบท โดยเฉพาะเมื่อใช้ควบกันว่า บรรพชาอุปสมบท)

บรรพชิต ผู้บวช, นักบวช เช่น ภิกษุ สมณะ ดาบส ฤษี เป็นต้น แต่เฉพาะในพระพุทธศาสนา ได้แก่ภิกษุและสามเณร (และภิกษุณี สิกขมานา สามเณรี) มักใช้คู่กับ คฤหัสถ์ (ในภาษาไทยปัจจุบันให้ใช้หมายเฉพาะนักบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าในฝ่ายเถรวาท หรือฝ่ายมหายาน)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย