พจนานุกรมพุทธศาสน์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา

หมวด กรรมฐาน - กรานกฐิน


กรรมฐาน - กรานกฐิน

กรรมฐาน ดู กัมมัฏฐาน

กรรมลักษณะ ดู กัมมลักขณะ

กรรมวัฏฏ์ ดู กัมมวัฏฏ์

กรรมวาจา คำประกาศกิจในท่ามกลางสงฆ์, การสวดประกาศ แบ่งเป็น ๒ คือ ญัตติ ๑ อนุสาวนา ๑

กรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ผู้สวดกรรมวาจาประกาศในท่ามกลางสงฆ์ในการอุปสมบท

กรรมวาจาวิบัติ เสียเพราะกรรมวาจา, กรรมวาจาบกพร่องใช้ไม่ได้

กรรมวาจาสมบัติ ความสมบูรณ์แห่งกรรมวาจา, คำสวดประกาศถูกต้องใช้ได้

กรรมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม แม้จะมีกรรมต่าง ๆ ให้ผลอยู่มากมายซับซ้อน ก็สามารถแยกแยะ ล่วงรู้ได้ว่า
อันใดเป็นผลของกรรมใด

กรรมสิทธิ์ ความเป็นเจ้าของทรัพย์, สิทธิที่ได้ตามกฎหมาย

กรรมารหะ ดู กัมมารหะ

กรรแสง ร้องให้ บัดนี้เขียน กันแสง

กรวดน้ำ
ตั้งใจอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ พร้อมไปกับหลั่งรินน้ำเป็นเครื่องหมาย และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตที่
ตั้งใจอุทิศนั้นให้แน่วแน่; เริ่มรินน้ำเมื่อพระองค์หัวหน้าเริ่มสวดยถา รินน้ำหมดพร้อมกับพระหัวหน้าสวดยถาจบ
และพระทั้งหมดเริ่มสวดพร้อมกัน จากนั้นวางที่กรวดน้ำลงแล้วประนมมือรับพรต่อไป; คำกรวดน้ำอย่างสั้นว่า
“อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ” ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่.(ออกชื่อผู้ล่วงลับ) และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด จะต่ออีก
ก็ได้ว่า “สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด

กระทู้ หัวข้อ, เค้าเงื่อน

กระแสความ แนวความ

กระแสเทศนา แนวเทศนา

กระหย่ง (ในคำว่า “นั่งกระหย่ง”) นั่งคุกเข่าเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้งสองรับก้น เรียกว่า นั่งกระโหย่งก็
ได้; บางแห่งว่าหมายถึงนั่งยอง ๆ

กรานกฐิน ขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยก
ผ้าให้ในนามของสงฆ์ เพื่ออนุโมทนา ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่าผู้กราน
พิธีทำในบัดนี้คือ ภิกษุซึ่งจำพรรษาครบสามเดือนในวัดเดียวกัน (ต้องมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป) ประชุมกันใน
อุโบสถ พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ภิกษุรูปนั้นทำกิจ ตั้งแต่ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้
เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้เพื่อ
อนุโมทนา และภิกษุสงฆ์นั้นได้ อนุโมทนาแล้ว เรียกว่า กรานกฐิน ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป กิจที่จะต้อง ซัก กะ
ตัด เย็บ ย้อม ก็ไม่มี (กราน เป็นภาษาเขมร แปลว่า ขึงคือทำให้ตึง กฐิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า ไม้สะดึง กรานกฐินก็
คือขึงไม้สะดึงคือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง) เขียน กราลกฐิน บ้างก็มี




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย