พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อานันทเจดีย์ - อาบัติชั่วหยาบ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อานันทเจดีย์ - อาบัติชั่วหยาบ

อานันทเจดีย์ เจดียสถานแห่งหนึ่งอยู่ในเขตโภคนคร ระหว่างทางจากเมืองเวสาลีสู่เมืองปาวา เป็นที่พระพุทธเจ้าตรัสมหาปเทส ๔ ฝ่ายพระสูตร

อานาปานสติกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานที่ใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

อานาปานัสสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก (ข้อ ๙ ในอนุสติ ๑๐, ข้อ ๑๐ ในสัญญา ๑๐ เป็นต้น) บัดนี้นิยมเขียน อานาปานสติ

อานิสงส์ ผลแห่งความดี, ผลแห่งบุญกุศล, ประโยชน์, ผลดี

อานุภาพ อำนาจ, ฤทธิ์เดช, ความยิ่งใหญ่

อาเนญชาภิสังขาร ดู อเนญชาภิสังขาร

อาบัติ การต้อง, การล่วงละเมิด, โทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบท;
อาบัติ ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต;
อาบัติ ๗ กองนี้จัดรวมเป็นประเภทได้หลายอย่าง โดยมากจัดเป็น ๒ เช่น
๑. ครุกาบัติอาบัติหนัก (ปาราชิก และสังฆาทิเสส)
๒. ลหุกาบัติ อาบัติเบา (อาบัติ ๕ อย่างที่เหลือ);

คู่ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน คือ
๑. ทุฏฐุลลาบัติ อาบัติชั่วหยาบ; ๒. อทุฏฐุลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ;

๑. อเทสนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง ๒. เทสนาคามินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน;

คู่ต่อไปนี้จัดต่างออกไปอีกแบบหนึ่งตรงกันทั้งหมด คือ
๑. อเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขไม่ได้ (ปาราชิก) ๒. สเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขได้ (อาบัติ ๖ อย่างที่เหลือ);
๑. อนวเสส ไม่มีส่วนเหลือ ๒. สาวเสส ยังมีส่วนเหลือ;
๑. อัปปฏิกัมม์ หรือ อปฏิกรรม ทำคืนไม่ได้คือแก้ไขไม่ได้ ๒. สัปปฏิกัมม์ หรือ สปฏิกรรม ยังทำคืนได้ คือแก้ไขได้

อาบัติชั่วหยาบในประโยคว่า “บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน” อาบัติปาราชิก และอาบัติสังฆาทิเสส
ดู ทุฏฐุลลาบัติ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย