พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อนิจจสัญญา - อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อนิจจสัญญา - อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส

อนิจจสัญญา กำหนดหมายถึงความไม่เที่ยงแห่งสังขาร (ข้อ ๑ ในสัญญา ๑๐)

อนิจจัง ไม่เที่ยง, ไม่คงที่, สภาพที่เกิดมีขึ้นแล้วก็ดับล่วงไป ดู อนิจจลักษณะ, ไตรลักษณ์

อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา, สิ่งที่คนไม่อยากได้ไม่อยากพบ แสดงในแง่ตรงข้ามกับกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าชอบใจ แสดงในแง่โลกธรรม ได้แก่ ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ การนินทา และความทุกข์ เทียบ อิฏฐารมณ์

อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยไม่ถือนิมิตคือ หลุดพ้นด้วยพิจารณาเห็นนามรูปเป็นอนิจจะ แล้วถอนนิมิตได้ (ข้อ ๒ ในวิโมกข์ ๓)

อนิมิตตสมาธิ สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต คือ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ (ข้อ ๒ ในสมาธิ ๓)

อนิมิสเจดีย์ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จยืนจ้องดูต้นพระศรีมหาโพธิด้วยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน อยู่ทางทิศอีสานของต้นพระศรีมหาโพธิ ดู วิมุตติสุข

อนิยต ไม่แน่, ไม่แน่นอน เป็นชื่ออาบัติที่ยังไม่แน่ ระหว่างปาราชิก สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ ซึ่งพระวินัยธรจะต้องวินิจฉัย

อนิยตสิกขาบท สิกขาบทที่วางอาบัติไว้ไม่แน่ คือยังไม่ระบุชัดลงไปว่าเป็นปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์, มี ๒ สิกขาบท

อนึก กองทัพ คือ ช้าง ม้า รถ พลเดินที่จัดเป็นกองๆ แล้ว

อนุเคราะห์ เอื้อเฟื้อ, ช่วยเหลือ; ความเอื้อเฟื้อ, การช่วยเหลือ

อนุชน คนที่เกิดตามมา, คนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อๆ ไป

อนุชา ผู้เกิดทีหลัง, น้อง

อนุญาต ยินยอม, ยอมให้, ตกลง

อนุฎีกา ปกรณ์ที่พระอาจารย์ทั้งหลายแต่งแก้หรืออธิบายเพิ่มเติมฎีกา

อนุฏฐานไสยา “การนอนที่ไม่มีการลุกขึ้น”, การนอนครั้งสุดท้าย โดยทั่วไปหมายถึง การบรรทมครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ในคราวเสด็จดับขันธปรินิพพาน

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส พระสงฆ์เป็นนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของโลกเป็นแหล่งเพาะปลูกและเผยแพร่ความดีอย่างสูงสุด เพราะพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ฝึกฝนอบรมตน และเป็นผู้เผยแพร่ธรรม ไทยธรรมที่ถวายแก่ท่าน ย่อมมีผลอำนวยประโยชน์สุขอย่างกว้างขวางและตลอดกาลยาวนานเหมือนนามีพื้นดินอันดี พืชที่หว่านไปย่อมเผล็ดผลไพบูลย์ (ข้อ ๙ ในสังฆคุณ ๙)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย