พุทธศาสนา ๒ นิกาย ใหญ่ มหายาน กับ หีนยาน

 DhammathaiTeam  

หมวดที่ ๘ - หลังพุทธปรินิพพาน

"พุทธศาสนา ๒ นิกาย ใหญ่ มหายาน กับ หีนยาน"

หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ ๑๐๐ ปี พระพุทธศาสนาก็เริ่มมีเค้าแตกแยกในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จนมาถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็แตกแยกกันออกเป็นนิกายใหญ่ ๆ ๒ นิกาย คือมหายาน กับหีนยาน

มหายาน เป็นนิกายของภิกษุฝ่ายเหนือของอินเดีย บาทีเรียก "อุตรนิกาย" (นิกายฝ่ายเหนือ) บ้าง "อาจารยวาท" บ้าง ซึ่งมีจุดมุ่งสอนให้ระงับดับกิเลส ทั้งยังได้แก้ไขคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้ผันแปรไปตามลำดับ พวกนี้เรียกลัทธิของตนว่า "มหายาน" ซึ่งแปลว่า "ยานใหญ่" อาจพาประชาชนให้ข้ามวัฏสงสาร คือ ความทุกข์จาการเวียนว่ายตายเกิดได้คราวละมาก ๆ นิกายนี้ได้เข้าไปเจริญรุ่งเรื่องอยู่ในประเทศทิเบต จีน มองโกเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม

หีนยาน เป็นนิกายของภิกษุฝ่ายใต้ของอินเดีย บางทีเรียก "ทักษิณนิกาย" (นิกายฝ่ายใต้) คือ "เถรวาท" ซี่งมุ่งสอนให้พระสงฆ์ปฏิบัติเพื่อดับกิเลสของตนเองก่อน และห้ามเปลี่ยนแลงแก้ไขพระธรรมวินัยอย่างเด็ดขาด คำว่า "หีนยาน" เป็นคำที่ฝ่ายมหายานตั้งให้ แปลว่า "ยานเล็ก" ส่วนภิกษุฝ่ายใต้เรียกตัวเองว่า "เถรวาท"หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติอย่างเที่ยงตรง นิกายนี้มีผู้นับถือมากในประเทศศรีลังกา พม่า ลาว ไทย และกัมพูชา

สำหรับพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์โมริยะ ครองราชสมบัติ ณ พระนครปาฏลีบุตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๖๐ เมื่อครองราชย์ได้ ๘ พรรษา ทรงยกทัพไปปราบแคว้นกลิงคะที่เป็นชนชาติเข้มแข็งลงได้ ทำให้อาณาจักรของพระองค์กว้างใหญ่ที่สุดในประวัติชาติอินเดีย พระเจ้าอโศกมหาราชนับเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของชมพูทวีป

แต่ในการสงครามครั้งนั้น มีผู้คนล้มตายและประสบภัยพิบัติมากมาย ทำให้พระองค์ทรงสลดพระทัย ครั้นได้ทรงสดับคำสอนในพระพุทธศาสนา ทรงเลื่อมใส ได้ทรงเลิการสงครามหันมาทำนุบำรุงพระศาสนาและความรุ่งเรืองในทางสงบของประเทศ ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่งทรงอุปถัมภ์การสังคายนา คือการประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวการสังคายนาครั้งที่ ๓ มีขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ สิ้นเวลา ๙ เดือน จึงเสร็จ นอกจากนั้นยังอุปถัมภ์การส่งศาสนทูตออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในนานาประเทศพระเจ้าอโศกมหาราชนับเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่สำคัญยิ่ง

ที่มา : หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข

8,318






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย