5 ประเพณีไทยที่สำคัญ

 lovethailand2019     8 ก.ย. 2566

1. ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

เป็นประเพณีที่ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ร่วมมือกันจัดขึ้นในวันแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบ ซึ่งประวัติความเป็นมาของประเพณีอุ้มพระดำน้ำก็คือ เมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมีอาชีพหาปลาขาย และได้ไปหาปลาที่แม่น้ำป่าสักเป็นประจำทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งก็ได้เกิดเรื่องที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า เกิดอะไรขึ้นเพราะวันนั้น ไม่มีใครจับปลาได้สักตัว จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นตรงบริเวณ วังมะขามแฟบ (ไม้ระกำ)

ซึ่งปกติบริเวณนี้น้ำจะไหลเชี่ยวมาก จู่ ๆ น้ำก็หยุดไหล และมีพรายน้ำผุดขึ้นมาพร้อมกับพระพุทธรูป ชาวบ้านจึงอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ขึ้นจากน้ำและนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ จนกระทั่งถึงวันสารทไทยหรือ วันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ พระพุทธรูปองค์ดังกล่าว (พระพุทธมหาธรรมราชา) ก็ได้หายไปจากวัด ชาวบ้านจึงช่วยกันตามหาและเจอพระพุทธรูป อยู่บริเวณวังมะขามแฟบ จากนั้นเป็นต้นมา พอถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็จะจัดงานซึ่งเรียกว่า “อุ้มพระดำน้ำ” ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา

2. ผีตาโขน

เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคอีสาน ของประเทศไทย เป็นเทศกาลที่เกิดขึ้นในเดือน 7 ซึ่งมักจัดมากกว่าสามวันในบางช่วงระหว่างเดือนมีนาคม และกรกฎาคม โดยจัดขึ้นในวันที่ได้รับเลือกให้จัดขึ้นในแต่ละปีโดยคนทรงประจำเมือง ซึ่งงานบุญประเพณีพื้นบ้านนี้มีชื่อเรียกว่า บุญหลวง โดยแบ่งออกเป็นเทศกาล ผีตาโขน, ประเพณีบุญบั้งไฟ และงานบุญหลวง (หรือ บุญผะเหวด)

3. ประเพณียี่เป็ง

เป็นประเพณีลอยกระทงตามประเพณีล้านนาที่จัดทำขึ้นในวันเพ็ญเดือน 2 ของชาวล้านนา ยี่เป็ง เป็นภาษาคำเมืองในภาคเหนือ คำว่า “ยี่” แปลว่า สอง และคำว่า “เป็ง” ตรงกับคำว่า “เพ็ญ” หรือพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งชาวไทยในภาคเหนือจะนับเดือนทางจันทรคติเร็วกว่าไทยภาคกลาง 2 เดือน ทำให้ เดือนสิบสองของไทยภาคกลาง ตรงกับเดือนยี่ หรือเดือน 2 ของไทยล้านนา ประเพณียี่เปงจะเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 13 ค่ำ

ซึ่งถือว่าเป็น “วันดา” หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ครั้นถึงวันขึ้น 14 ค่ำ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยและผู้มีศรัทธาก็จะพากันไปถือศีล ฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด มีการทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ ใครจะเอาของมาร่วมสมทบด้วยก็ได้เพื่อเป็นทานแก่คนยากจน ครั้นถึง วันขึ้น 15 ค่ำ จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็ก ๆ ของส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ

4. งานแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี

อุบลราชธานี ดินแดนแห่งปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา เป็นถิ่นกำเนิดของพระอารย์ทางวิปัสนา คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นต้น กล่าวกันว่า เมือง อุบลราชธานีเป็นต้นรากแห่งการขยายพระพุทธศาสนาและวัดวาอาราม ให้แพร่หลายยิ่งกว่าในทุก หัวเมืองในภาคอีสาน เดิมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีจัดเฉพาะตามคุ้มวัดต่างๆ เท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2444 เมืองอุบลราชธานีจัดงานบุญบั้งไฟ

โดยทุกคุ้มจะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล มีการแห่บั้งไฟไปรอบเมืองและจุดขึ้นไปบนท้องฟ้าทำให้เกิดอุบัติเหตุ บั้งไฟตกลงมา ถูกชาวบ้านตายในงาน มีการชกต่อย ตีรันฟันแทงกัน ก่อเหตุวุ่นวายไปทั้งงาน กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ สมัยนั้น ให้ยกเลิกงานประเพณีบุญบั้งไฟเสีย แล้วให้มาจัดงาน ประเพณีแห่เทียนพรรษาแทน ในสมัยแรกๆ นั้นไม่มีการประกวดเทียนพรรษา แต่ชาวบ้านจะกล่าว ร่ำลือกันไปว่า เทียนคุ้มวัดนั้นงาม เทียนคุ้มวัดนี้สวย ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ จึงเห็นควรให้มีการประกวดเทียนพรรษาก่อน แล้วแห่รอบ เมือง ก่อนจะนำไปถวายพระที่วัด

5. งานประเพณีจุดไฟตูมกา

จังหวัดยโสธร ที่บ้านทุ่งแต้ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ใน ต.ทุ่งแต้ อ.เมือง จ.ยโสธร ได้ร่วมกันฟื้นฟูภูมิปัญญาประเพณีในอดีตซึ่งเลือนหายไปพร้อมกับการมีไฟฟ้าใช้ของชุมชน นั่นคือ การจุด “ ไฟตูมกา ” การทำไฟตูมกาวันออกพรรษา เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนบ้านทุ่งแต้ ที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน โดยการนำผลตูมกา ผลไม้ป่าทีมีรูปทรงกลมคล้ายผลส้มขนาดเท่ากำปั้นหรือโตกว่า มีก้านยาวและมีลักษณะพิเศษคือ เปลือกบางโปร่งแสง

เมื่อขูดเอาผิวสีเขียวออกและคว้านเอาเนื้อและเมล็ดข้างในออกให้หมด ใช้มีดแกะเป็นลายต่างๆ ตามความต้องการ หลังจากจุดเทียนที่สอดขึ้นไปจากรูที่เจาะไว้ส่วนล่างของผลตูมกา แสงสว่างจากเปลวเทียนก็จะลอดออกมา เป็นลวดลายตามรูที่เจาะไว้ ถวายเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษาในคืนออกพรรษาชาวบ้านจะจุดเทียนจากที่บ้านหิ้วก้านไปรวมกันที่วัดแม้จะมีลมพัดเทียนก็จะไม่ดับ เมื่อเทียนจะหมดก็เปลี่ยนเล่มใหม่ได้ เมื่อไปถึงที่วัดก็จะนำไฟตูมกาไปแขวนไว้ตามสถานที่ที่ทางวัดจัดไว้ เช่น ซุ้มไม้ไผ่ หรือ ราวไม้สำหรับแขวนก้านตูมกา ชาวบ้านจะร่วมกันกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และสวดมนต์ไหว้พระบนศาลาพร้อมกันลาพร้อมกัน

Ref:
https://www.lovethailand.org/tradition/en.html
https://www.lovethailand.org/travel/th/1-เชียงใหม่/15781-วัฒนธรรมไทย-และประเพณีไทย.html

ที่มา : https://www.lovethailand.org/tradition/

3,763






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย