วัดสังเวชวิศยาราม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร





วัดสังเวชวิศยาราม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2315
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2315


วัดสังเวชวิศยาราม : นามพระราชทาน

วัดสังเวชวิศยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เดิมชื่อวัดสามจีนเหนือ และวัดบางลำพู ดังทราบแล้ว เป็นพระอารามที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ กาลล่วงมาถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ด้านภาษา มีความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อจากวัดบางลำพูเสียใหม่ว่า "วัดสังเวชวิศยาราม"
ความหมายของวัดซึ่งเป็นนามพระราชทานนี้ หลายคนนักมักเข้าใจผิด แปลให้ผิดคลาดเคลื่อนจากความหมายรากศัพท์เดิม คำว่า สังเวช ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ตั้งเป็นมงคลนามขึ้นต้นและต่อท้ายด้วยคำว่า "วิศยาราม" นี้ มาจากคำว่า "สังเวคะ" แปลว่า "กระตุ้นเตือน, ปลุกเร้า, คึกคัก, เกิดกำลัง, แกล้วกล้า, แข็งขัน" คือ "ปลุกเร้ากระตุ้นเตือนใจให้นึกถึงความจริงแห่งชีวิต พิจารณาอารมณ์เป็นธรรมสังเวช คือกฎแห่งไตรลักษณ์ อันได้แก่ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความเป็นทุกข์ทนได้ยาก และความไม่มีตัวตนแห่งชีวิตนั่นเอง…"
ผู้ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง มักจะแปลออกไปในทำนองเศร้าสร้อย หงอยเหงา.. แท้ที่จริง คำว่า "สังเวช" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า "สังเวคะ" มิได้มีความหมายเช่นนั้นเลย ถ้าแปลตามที่เข้าใจผิดๆ กันมานั้นท่านเรียกว่า "ถีนมิทธะ" ซึ่งเป็นนิวรณ์ตัวขวางกั้นมิให้บรรลุคุณงามความดี ส่วนคำว่า "วิศยะ" แปลว่า "อารมณ์" รวมความว่า "วัดสังเวชวิศยาราม" ก็คือ "อารามเป็นที่อยู่ของผู้มีอารมณ์แกล้วกล้า แข็งขัน เกิดแรงบันดาลใจให้รีบเร่งทำคุณงามความดี ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต "
อีกประการหนึ่ง คำว่า "สังเวชวิศยาราม" มีรากศัพท์และนิยามศัพท์ตรงกับคำว่า "สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล" อันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับ ขันธปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชน เมื่อมีโอกาสจำจักต้องไปนมัสการด้วยตนเอง เมื่อตายไปก็จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ดังพระดำรัสที่มาในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๐ ฑีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งสรุปเป็นใจความว่า "ก็ชนที่มีโอกาสได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ด้วยจิตที่เลื่อมใสแล้ว เมื่อตายไป พวกเขาจักไปสู่สุคติ โลกสวรรค์"
จากพระพุทธพจน์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ด้วยนามอันเป็นมงคลนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดสังเวชวิศยาราม"

วัดสังเวชวิศยาราม : วัดที่มีความสำคัญตั้งแต่ประวัติศาสตร์
กล่าวถึงความสำคัญ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันแล้ว วัดสังเวชวิศยารามเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย มีหน้าประวัติศาสตร์ที่ควรจารึกจดจำมาโดยตลอด นอกจากเป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ เจ้านายพระองค์ชั้นสูงได้ทรงอุปถัมภ์บำรุง เป็นพระอารามหลวง ยังมีหลักฐานที่บันทึกแผ่นไมโครฟิล์ม ในหอสมุดแห่งชาติว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินหลวง ณ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) หลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามจากวัดบางลำพู มาเป็น "วัดสังเวชวิศยาราม"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราที่เกิดเพลิงไหม้แถวบางลำพู ลุกลามไปไหม้วัดสังเวชวิศยาราม ก็ได้เสด็จมาประทับ ณ สะพานฮงอุทิศ ทรงบัญชาการดับเพลิงด้วยพระองค์เอง เมื่อเสนาสนะเสียหายเพราะไฟไหม้ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้รื้อพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วให้นำไม้ไปสร้างเสนาสนะถวายพระสงฆ์ที่วัดสังเวชวิศยาราม แห่งนี้ และมีพระราชกุศลจิตเลื่อมใสศรัทธา นำผ้าพระกฐินพระราชทานไปถวายพระสงฆ์ผู้จำพรรษา ณ พระอารามหลวงแห่งนี้ถึง ๕ ครั้ง คือพ.ศ. ๒๔๑๘, ๒๔๑๙, ๒๔๒๒, ๒๔๒๙ และ ๒๔๓๑ ตามลำดับ ด้วยความเลื่อมใสเป็นอเนกอนันต์ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสังเวชวิศยาราม โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสกมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยารามเป็นองค์ครองผ้าพระกฐินเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

วัดสังเวชวิศยาราม: วัดแห่ง ศ.ต.ภ.
เมื่อพูดถึง คำว่า ศ.ต.ภ. ขึ้นมาทีไร พระภิกษุสามเณรทั่วประเทศไทย หน่วยงานราชการของรัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานเอกอัครราชทูต กรมการกงสุลต่างๆ ทั่วโลก ตลอดถึงบริษัทจัดทัวร์ซึ่งถวายความสะดวกแด่พระภิกษุสามเณรทำพาสปอร์ตเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องนึกถึงวัดสังเวชวิศยารามขึ้นมาทันที...คำว่า ศ.ต.ภ. ย่อมาจากคำว่า "ศูนย์ควบคุมการเดินทางไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร" ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "The Center of Ecclesiastical External Mission" ชื่อย่อว่า "CEEM" เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาเถรสมาคม มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองและอนุมัติการเดินทางไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณรแห่งคณะสงฆ์ไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ที่วัดสังเวชวิศยาราม ซึ่งมี พระธรรมสิทธิเวที เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๒ เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่ง ศ.ต.ภ. แห่งนี้จะมีการประชุมพิจารณาและอนุมัติการเดินทางไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณรแห่งคณะสงฆ์ไทยทุกวันที่ ๑ และ ๑๕ ของเดือน โดยมีพระพรหมเวที วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธาน ประกอบด้วยกรรมการคือ พระธรรมวรเมธี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พระธรรมปัญญาภรณ์ วัดปากน้ำ, พระเทพปริยัติสุธี วัดบพิตรพิมุข มีการทำงานเป็นระบบ รวดเร็วทันสมัย และเชื่อมโยงประชาสัมพันธ์เครือข่าย Internet ไปทั่วโลก เมื่อประชุมแล้วจักประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุมัติผ่านเว็บไซด์ www.sortorpor.com ซึ่งผู้สนใจสามารถคลิกเข้าชมเยี่ยมได้ตลอดเวลา….

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานในพระอุโบสถ •


{ พระอุโบสถ }
พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงประเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันปูนปั้นลายดอกไม้จีน ผนังภายในเขียนเป็นลายประแจจีน ดอกไม้ร่วง เพดานล่องชาดลอยดาวฉลุทอง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ พัทธสีมาอยู่ในซุ้มก่ออิฐถือปูนรูปมณฑป กำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน สร้างในรัชกาลที่ 3


{ พระประธานปางมารวิชัย }
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยทวารวดี ขนาดสูง 3 เมตร หน้าตักกว้าง 4.35 เมตร


{ พระวิหาร }
พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีพาไลหน้าหลังเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา ทำด้วยไม้ ลงรักปิดทอง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ เพดานล่องชาด ลอยดาวฉลุทอง


{ พระปรางค์ }
มี 9 องค์ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ พระปรางค์องค์ใหญ่ล้อมรอบด้วยพระปรางค์องค์เล็ก 8 องค์ ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว


{ เจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชวิศยาราม }
มีลักษณะทั่วไปเดียวกับเจดีย์ทรงปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่พบได้จากอื่น ๆ ในเขตเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ พระปรางค์วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) พระปรางค์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น อันเป็นเจดีย์ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ลักษณะเจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชฯ ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน มีจำนวน 9 องค์ เป็นกลุ่มเจดีย์ ที่ตั้งอยู่พื้นที่ระหว่างบริเวณด้านหลังพระอุโบสถกับพระวิหาร ได้รับ การบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง โดยยังคงรักษาและสืบทอดลักษณะรูปแบบเจดีย์ทรงปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไว้ค่อนข้างดี การวางตำแหน่งองค์เจดีย์ในลักษณะผังสี่เหลี่ยมสมมาตรอย่างเป็นระเบียบประกอบด้วย เจดีย์ปรางค์ประธานองค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง เจดีย์ปรางค์บริวาร จำนวน 8 องค์ ตั้งอยู่บนแนวกำแพงแก้วล้อมรอบเจดีย์ปรางค์ประธาน โดยมีเจดีย์ประจำมุม 4 องค์ เจดีย์ประจำด้าน 4 องค์


{ หอพระไตรปิฏก }
เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ลักษณะทรงไทย สร้างสมัยรัชกาลที่ 1


{ หอระฆัง }
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 6.50 เมตร ยาว 6.50 เมตร




ที่มา : https://sortorpor.com/

10,851







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย