สามเณรสุขะ ผู้มากบารมี

 pt  



สามเณรสุขะ ผู้มากบารมี

สามเณรสุขะเป็นบุคคลในสมัยพุทธกาล เกิดในตระกูลคหบดี บิดาเป็นโยมอุปัฏฐากพระสารีบุตร เมื่อครั้งมารดาท่านตั้งครรภ์มีเรื่องเล่าว่านางมีอาการอยากกินอาหารที่เหลือจากพระภิกษุฉัน ดังนั้นสามีจึงไปนิมนต์พระสารีบุตรพร้อมด้วยพระสงฆ์ให้มาฉันอาหารที่บ้าน จากนั้นก็จัดให้นางนั่งต่อจากพระรูปสุดท้าย คอยรับอาหารที่เหลือในถาดจากพระแต่ละรูปตักไปแล้ว มารับประทาน

ระหว่างที่มารดาท่านตั้งครรภ์คนในตระกูลคหบดีรวมไปถึงบ่าวไพร่ ต่างอยู่กันอย่างมีความสุข ไม่ว่าผู้ใดจะทำกิจน้อยกิจใหญ่ใดๆ ก็ให้สะดวกราบรื่นไปหมด ไร้ซึ่งอุปสรรคขัดข้อง ดังนั้นพอคลอดออกมามารดาท่านจึงตั้งชื่อว่า “ สุขะ ”

เด็กชายสุขะตั้งแต่จำความได้ความคิดก็แตกต่างจากเด็กทั่วไป พออายุได้เจ็ดขวบเขาก็อยากจักบวชเป็นพระ ดังนั้นบิดาจึงไปนิมนต์พระสารีบุตรให้มาเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำการบรรพชากันที่บ้าน มีการเฉลิมฉลองกันอย่างใหญ่โตถึง ๗ วัน ๗ คืน หลังจากบวชแล้วสามเณรสุขะก็ได้ย้ายจากคฤหาสน์ของบิดามาจำวัดอยู่กับพระสารีบุตร ดังนั้นพอเช้ารุ่งขึ้นท่านจึงติดตามพระสารีบุตรออกบิณฑบาตภิกขาจาร

เนื่องจากเป็นผู้อยู่ในตระกูลคหบดี ดังนั้นตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดามา ท่านจึงยังไม่เคยออกจากคฤหาสน์บิดาไปไหนมาไหน ครั้งนี้พอติดตามพระสารีบุตรออกบิณฑบาต ได้มาเห็นสภาพผู้คนภายนอก เห็นชาวนากำลังทดน้ำเข้านา เห็นช่างศรกำลังดัดแต่งลูกศร หรือเห็นช่างไม้กำลังไสไม้ทำล้อเกวียน ท่านจึงรู้สึกตื่นตาตื่นใจ

แลเนื่องจากท่านเป็นผู้ที่สะสมบารมีมามากตั้งแต่ชาติปางก่อน พอเห็นภาพเหล่านั้นฉับพลันก็ผุดความคิด “ โอ้หนอ ขนาดสิ่งไม่มีชีวิตยังสามารถดัดแต่งได้ แล้วไฉนคนเราที่มีชีวิตจึงจักฝึกไม่ได้เล่า? ” พอคิดดังนั้นท่านก็พลุ่งพล่านใจ อยากจักนั่งสมาธิในเดี๋ยวนั้นเลย จึงกล่าวกับพระอุปัชฌาย์ “ ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขอท่านโปรดจงรับเอาบาตรแลจีวรของท่านคืนไปเถิด ”

พระสารีบุตรพอฟังลูกศิษย์กล่าวก็ให้ประหลาดใจ จึงถามไป “ อ้าวเณร! มีเรื่องใดรึ? ” เณรน้อยเห็นอาจาย์สงสัยจึงตอบ“ ข้าแต่ท่านอาจารย์ กระผมอยากจักกลับไปปฏิบัติธรรมที่วัดในเพลานี้ขอรับ ” ผู้เป็นอาจารย์พอฟังก็ให้ดีใจ รีบรับเอาบาตรจีวรของตนมาทันที จากนั้นก็บอกลูกศิษย์ว่าไม่ต้องกังวลเรื่องอาหาร เดี๋ยวตนจะบิณฑบาตมาเผื่อให้ ( จริงๆแล้วอาหารที่พระสารีบุตรบิณฑบาตได้วันนั้น ทั้งหมดล้วนเกิดจากบุญเก่าของสามเณรสุขขะให้ผล ดังนั้นอาหารแต่ละอย่างแต่ละชนิดจึงเป็นอาหารที่เลิศรส ยากจักหาลองลิ้มจากที่ไหนได้ ) สามเณรน้อยพอฟังจึงรีบกลับวัด เข้าห้องปิดประตูนั่งกรรมฐานทันใด

เวลาเดียวกันนั้น ณ ภพดาวดึงส์ อันเป็นที่อยู่ของจอมเทพผู้เป็นใหญ่นามว่าสมเด็จพระอมรินทราธิราช ขณะที่จอมเทวาประทับอยู่บนพระแท่นบัณฑุกัมพลที่มีความนุ่มประดุจหงอนของพญาราชหงส์ทอง จู่ๆพระแท่นที่ประทับก็เกิดกระด้างขึ้นมา ทำให้องค์มเหสักขเทวราชทรงรู้สึกไม่เป็นที่สบายพระองค์ ดังนั้นจึงทรงกำหนดจิตดู

ทันใดก็ทรงทราบว่าเวลานี้สามเณรสุขะผู้มากบารมีกำลังปฏิบัติพระกรรมฐานขั้นอุกฤษฎ์ ต้องการความสงบอย่างยิ่งยวด ดังนั้นเพื่อมิให้ท่านต้องถูกรบกวนจากเสียงรอบข้างจอมเทพแห่งตาวติงสาจึงทรงบัญชาให้ท้าวมหาราชทั้งสี่แยกกันไปไล่ฝูงนกฝูงกาที่กำลังส่งเสียงเจี้ยวจ้าวอยู่รอบวิหาร ให้พากันบินไปหากินยังที่อื่นก่อน พร้อมกันนั้นก็ทรงให้เขาทั้งสี่อารักขาวิหารแต่ละด้านเอาไว้ ส่วนตัวพระองค์ได้ทรงลงมาปรากฏพระองค์ยืนเฝ้าอยู่ที่หน้ากุฏิ

กล่าวถึงพระศาสดา ก่อนรุ่งอรุณวันนั้นขณะที่ทรงปฏิบัติพุทธกิจเหมือนเคยคือทรงเล็งพระญาณสอดส่องดูว่าจักมีสัตว์ตนใดเข้าข่ายบรรลุธรรมบ้าง เช้าวันนั้นพระองค์ก็ทรงเห็นภาพสามเณรสุขะกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ พอทรงเห็นก็ทรงรู้ว่าสายวันนี้หากพระองค์ไม่ทรงเข้าไปขัดขวางพระสารีบุตรแล้วไซร้ ปล่อยให้พระคุณเจ้านำอาหารไปให้เณรน้อย เห็นทีสุขสามเณรที่กำลังจักสำเร็จเป็นพระอรหันต์คงจักพลาดโอกาสอันวิเศษนี้ ดังนั้นจึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีทรงมายืนดักรอพระอัครสาวกเบื้องขวาอยู่ที่หน้าซุ้มประตูทางเข้าพระวิหารในเช้าวันนั้น

หลังจากที่ทรงมายืนรออยู่ไม่นานก็ทรงเห็นพระสารีบุตรที่กลับจากบิณฑบาตกำลังมุ่งมายังที่ซึ่งพระองค์ทรงยืนรอ ระหว่างที่พระเถระกำลังเดินมานั้น ในใจของท่านก็กำลังคิดถึงเรื่องอาหารที่บิณฑบาตได้ในเช้านี้ว่าไฉนญาติโยมจึงนำอาหารที่ล้วนแต่หน้าตาน่ากิน รสชาติน่าอร่อย มาใส่บาตรกันอย่างมากมายถึงปานนี้? หากเณรน้อยเห็นเข้าคงจักต้องถูกใจเป็นแน่! ขณะกำลังคิดอะไรเพลินๆท่านก็เหลือบมาเห็นพระศาสดาเข้าพอดี ดังนั้นจึงรีบวางบาตรพร้อมของที่หอบหิ้วลงกับพื้น จากนั้นก็ก้มลงกราบแทบเบื้องพระยุคลบาท

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงเห็นพระสารีบุตรถวายบังคมแล้วยังนั่งอยู่กับพื้นจึงตรัสให้ลุกขึ้น แลเพื่อจักทรงถ่วงเวลาไว้จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสถามปัญหาสี่ข้อกับพระเถระ ระหว่างที่ทรงถามปัญหาเวลานั้นก็ได้เกิดปรากฏการณ์ที่อัศจรรย์ขึ้น คือเงาต้นไม้รอบบริเวณวิหารแทนที่จะแปรเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนตัวของพระอาทิตย์เหมือนเช่นปกติ ปรากฏเงาของมันกลับนิ่งอยู่กับที่มิได้แปรเปลี่ยนไปแต่อย่างใด ราวกับว่าดวงตะวันจักหยุดการโคจรไปเสียยังงั้น

จนผ่านไปพักใหญ่เมื่อทรงทราบว่าสามเณรสุขะบรรลุอรหัตผลแล้ว พระศาสดาจึงตรัสให้พระเถระนำภัตตาหารไปให้ลูกศิษย์ได้ หลังจากที่สามเณรสุขะฉันภัตตาหารแลล้างบาตรเสร็จ เงาต้นไม้ก็ได้เลื่อนไหลไปอย่างรวดเร็ว จากที่ยังเห็นว่ายังสายอยู่ เพียงชั่วประเดี๋ยวก็กลายไปเป็นบ่ายคล้อยแล้ว!

บรรดาภิกษุเมื่อเห็นปรากฎการณ์ที่ประหลาดผิดธรรมชาติ ต่างก็โจษจันกันจนอื้ออึง“ เมื่อครู่ยังเห็นว่าสายอยู่แท้ๆ ไฉนพอสามเณรสุขะฉันเสร็จก็กลายเป็นบ่ายไปเสียเล่า? ” สมเด็จพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงเห็นเหล่าภิกษุพากันสงสัย จึงทรงอธิบาย “ ดูก่อนภิกษุ ผู้ที่สร้างกรรมดีไว้มาก ขณะบำเพ็ญธรรมมักจะเป็นเช่นนี้! ” จากนั้นจึงตรัสถึงบุพกรรมของสามเณรสุขะต่อเหล่าภิกษุ

ย้อนไปเมื่อครั้งอดีตอันเนิ่นนานยังมีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่ง เขาได้รับมรดกจากบิดาเป็นทรัพย์จำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงใช้ทรัพย์ไปอย่างผู้มือเติบ วันหนึ่งเขาได้ให้บ่าวไปนัดพ่อครัวที่มีชื่อเสียงของเมือง เพื่อว่าจ้างให้มาทำอาหารที่มีหน้าตาสวยงาม รสชาติอร่อย และมีราคาแพงกว่าอาหารใดๆที่เคยมีมาในอีก ๗ วันข้างหน้า

แลเพื่อจักให้ผู้คนกล่าวขวัญถึง เขาจึงให้ช่างไม้มาสร้างปะรำพิธีเพื่อจักใช้สำหรับบริโภคอาหารชั้นเลิศนี้อวดผู้คน จากนั้นก็ให้บ่าวไพร่แยกกันไปประกาศให้คนทั่วเมืองรู้ว่าเขาจะนั่งบริโภคอาหารที่มีรสเลิศ และราคาแพงที่สุดที่ปะรำพิธีนี้ในอีก ๗ วันข้างหน้า ใครอยากจักเห็นอาหารที่เศรษฐีบริโภคมีหน้าตาเยี่ยงไร? รสชาติอร่อยแค่ไหน? หรือราคาแพงปานใด? ก็ให้มาดูได้ในวันนั้น

พอถึงวันงานเหล่าประชาชนที่ทราบต่างก็พากันมามุงดูการบริโภคอาหารของลูกเศรษฐีผู้มั่งคั่ง กันจนเนืองแน่นล้นหลาม แต่ละคนต่างก็ไม่เคยเห็นของกินจำนวนมากที่มีหน้าตาสวยงาม มีสีสันน่ากินมากมายถึงเพียงนี้มาก่อน จึงพากันวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา

บังเอิญว่าสายวันนั้นมีหนุ่มชนบทผู้หนึ่ง เขาได้นำฟืนจากป่าเข้ามาขายในเมืองพอดี พอขายเสร็จเขาก็มักจักถือโอกาสไปเยี่ยมสหายเก่า เนื่องจากนานๆทีจักได้เข้าเมือง สายวันนั้นพอเขาไปถึงบ้านสหายก็เห็นเพื่อนเก่ากำลังจักออกจากบ้านพอดี จึงถามเพื่อนว่าจักไปยังสถานที่ใด หนุ่มเมืองหลวงบอกว่าวันนี้ลูกเศรษฐีจะกินอาหารที่มีราคาแพงที่สุดอวดผู้คน ตัวเขาอยากจะเห็นว่าอาหารที่แพงที่สุดมันจะมีหน้าตาเช่นไร? จึงจะรีบไปดู หนุ่มบ้านป่าพอฟังก็อยากจักเห็นเช่นกัน ดังนั้นจึงขอตามเขาไปดูด้วย

เมื่อไปถึงก็เห็นผู้คนจำนวนมากต่างยืนรายล้อมปะรำพิธี ทั้งคู่อยากจักเห็นหน้าตาอาหารว่าเป็นเช่นไร จึงค่อยๆแทรกตัวเข้าไปจนใกล้ปะรำ เวานั้นบนปะรำพิธีล้วนเรียงรายไปด้วยถาดอาหารชนิดต่างๆมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดล้วนมีสีสันแลหน้าตาที่น่ากิน วางอยู่หน้าลูกเศรษฐี ชายตัดฟืนพอเห็นน้ำลายก็หลั่งออกมาทันที เขาอยากจักลองลิ้มชิมรสชาติอาหารเหล่านั้นขึ้นมาทันใดจนยากจักห้ามใจได้ ดังนั้นจึงร้องบอกลูกเศรษฐี

“ ข้าแต่ท่านเศรษฐี ตั้งแต่เกิดมาข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นอาหารใดจักมีหน้าตาสีสันที่น่ากินอย่างนี้มาก่อน ข้าพเจ้าอยากจักลองลิ้มชิมรสชาติของมันเสียเหลือเกิน ไม่ทราบท่านจักเมตตาแบ่งอาหารเบื้องหน้าให้ข้าพเจ้าได้ลองชิมสักนิดหรือไม่? ”

ลูกเศรษฐีพอเห็นท่าทีชายบ้านนอกก็รู้ว่าบุรุษผู้นี้ปรารถนาจักกินอาหารเหล่านี้จริงๆ ดังนั้นจึงแกล้งตั้งเงื่อนไข “ ดูก่อนบุรุษหนุ่ม จักกินนั้นไม่ยากดอก เพียงแต่ท่านต้องมาเป็นข้ารับใช้ข้าพเจ้า ๓ ปี จากนั้นข้าพเจ้าถึงจักยอมให้ท่านได้กินอาหารเหล่านี้ ไม่ทราบท่านพอจักทำได้ไหมเล่า? ” บุตรเศรษฐีแกล้งกล่าวไปอย่างนั้นเอง ในใจเขาไม่เชื่อว่าชายเบื้องหน้าจักกล้าตกปากรับคำ แต่ที่ไหนได้ หนุ่มบ้านป่ากลับตอบออกมาด้วยเสียงอันดัง “ สามปีจักเป็นไรเล่า ข้าพเจ้ายินดียอมเป็นข้ารับใช้ท่าน! ”

บรรดาผู้คนรอบๆเมื่อเห็นหนุ่มชนบทกล้ายอมรับเงื่อนไขอันโหดร้ายลูกเศรษฐี เพื่อให้ได้กินอาหารเพียงแค่มื้อเดียว ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา จนสุดท้ายต่างตั้งชื่อให้เขาว่า “ ภัตตภติกะมานพ ” ซึ่งแปลว่า “ ชายรับจ้างเพื่ออาหาร ”

หลังจากภัตตภติกะมานพยอมรับเงื่อนไข นับแต่นั้นเขาก็เข้ามาเป็นข้ารับใช้ในบ้านของลูกเศรษฐี บรรดางานทั้งหลายไม่ว่าจักเป็นงานหนักงานเบาเมื่อลูกเศรษฐีเรียกใช้ เขาจักกระวีกระกวาดรีบทำให้อย่างเต็มอกเต็มใจทุกครั้ง จนลูกเศรษฐีเกิดความนิยมรักใคร่เขาเป็นอย่างยิ่ง

จำเนียรกาลผ่านไป นับจากวันที่ภัตตภติกะมานพมาเป็นข้ารับใช้ลูกเศรษฐี บัดนี้ก็ครบ ๓ ปี เมื่อถึงกำหนดลูกเศรษฐีก็ได้ทำตามสัญญา คือจัดงานกินอวดให้เขาเหมือนดังที่ตนจัดขึ้นเมื่อสามปีก่อน แต่งานครั้งนี้ปรากฏประชาชนต่างให้ความสนใจมากกว่างานที่เขาเคยจัดเสียอีก แต่ละคนต่างชวนพวกชวนพ้อง ชวนญาติชวนมิตร พากันมามุงดูกันจนเนืองแน่นล้นหลาม เรียกได้ว่าแทบจะหาที่ยืนมิได้

ครั้งนี้ลูกเศรษฐีได้จ่ายทรัพย์ให้พ่อครัวเป็นจำนวนถึงสามพันกหาปณะ โดยสองพันกหาปณะแรกเป็นค่าอาหารมื้อเช้าและมื้อเย็นของเขา ส่วนอีกหนึ่งพันกหาปณะเป็นค่าอาหารของภัตตภติกะมานพ นอกจากนั้นลูกเศรษฐียังให้นายภัตตภติกะอาบน้ำชำระร่างกายด้วยของหอมอย่างดีเหมือนดั่งที่ตนใช้ นุ่งห่มผ้าสาฎก นั่งบนบัลลังก์ที่ตนเคยนั่ง จัดบ่าวไพร่มาคอยปรนนิบัติรับใช้ แถมยังมอบทรัพย์ก้อนใหญ่ให้เขาติดตัวสำหรับไว้เป็นทุนในอนาคตอีก

เช้าเดียวกันนั้น ณ เทือกเขาคันธมาทน์ดินแดนหิมวันตประเทศ พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งท่านได้ออกจากนิโรธสมาบัติหลังจากเข้าสมาธิอยู่นานถึง๗ วัน พอออกจากสมาบัติท่านก็ใคร่ครวญว่าอานิสงส์ครั้งใหญ่นี้ควรจักได้แก่ผู้ใด บัดนั้นภาพของภัตตภติกะหนุ่มก็ได้ปรากฎขึ้นในมโนทวารของท่าน พอเห็นดังนั้นท่านจึงกำหนดจิตพิจารณาว่าชายผู้นี้เป็นผู้ที่มีศรัทธาหรือไม่ ทันใดก็ทราบว่าเขาเป็นผู้มีใจศรัทธา แลอานิสงส์จากทานที่เขาถวาย จักทำให้เขาได้มหาสมบัติครั้งใหญ่ ดังนั้นพอห่มจีวรเสร็จท่านก็หยิบบาตรขึ้นมา แล้วก็เหาะขึ้นฟ้ามุ่งหน้ามายังคฤหาสน์ของลูกเศรษฐีทันที

เมื่อมาถึงท่านได้ปรากฎกายอยู่ติดกับปะรำ ใกล้กับด้านที่ภัตตภติกะกำลังนั่งรอเตรียมจะบริโภคอาหาร ขณะนั้นชายหนุ่มกำลังมองดูบรรดาอาหารอันโอชะที่วางอยู่เบื้องหน้าพร้อมกับคิดในใจ อาหารเหล่านี้เขาต้องใช้เวลาถึงสามปีกว่าจะได้มีโอกาสมานั่งอยู่หน้ามัน เพียงแต่เขาเอื้อมมือไปตักเข้าปาก เขาก็จะได้ลองลิ้มชิมรสชาติอันแสนเอร็ดอร่อยที่เขาใฝ่ฝันมานานระหว่างที่มองถาดโน้นถาดนี้ว่าจักเลือกตักถาดไหนก่อนดี ทันใดนั้นเขาก็เหลือบมาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าพอดี พอเห็นท่านความอยากที่มีเมื่ออยู่ก็ถึงกับสงบลง พร้อมกันนั้นเขาก็ผุดความคิดว่า

“ โอ้หนอ การที่เราต้องมาทนลำบากรับใช้ผู้คนถึง ๓ ปีเพื่อให้ได้กินอาหารเพียงแค่มื้อเดียว ก็เพราะชาติก่อนเราไม่เคยให้ทาน อาหารเบื้องหน้าหากเราบริโภค อย่างมากก็ทำให้เราอิ่มได้แค่เพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเราถวายอาหารเหล่านี้แด่พระคุณเจ้า อาหารพวกนี้อาจจักทำให้เราอิ่มได้มิใช่เป็นพันโกฏิปีหรือแสนโกฏิปีดอกรึ? อย่ากระนั้นเลย จำเราจักยกอาหารทั้งหมดนี้ให้กับสมณเบื้องหน้าเถิด จึงจักเป็นการดีที่สุด! ”

เมื่อคิดดังนั้นนายภัตตภติกะก็ยกเอาอาหารทั้งหมดของตนถวายให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าทันที พร้อมกับอธิษฐานในใจ “ ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพชาติ ขอความสุขจงมีแก่ข้าพเจ้าในที่ ที่บังเกิดด้วยเถิด แลขอให้ข้าพเจ้าได้เห็นธรรมที่ท่านเห็นด้วยเถิด! ”

ทานใดที่บุคคลถวายไม่เหลือไว้เพื่อตนแม้เพียงน้อย ทานนั้นย่อมมีผลมากสุด!

หลังจากภัตตภติกะมานพยกถาดอาหารเทใส่บาตรพระคุณเจ้าหมด องค์พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็ได้ให้พร “ ดูก่อนท่านผู้เจริญ สิ่งใดที่ท่านปรารถนาขอจงสำเร็จเหมือนดั่งแก้วสารพัดนึก ขอความสุขทุกอย่างที่มีบนโลกจงบริบูรณ์แด่ท่านเหมือนดั่งพระจันทร์วันเพ็ญปานฉะนั้น! ”

พอให้พรเสร็จองค์นฤทุกข์ท่านก็อธิษฐานจิตให้มหาชนที่อยู่ ณ ที่นั้น เห็นภาพการเดินทางกลับเขาคันธมาทน์ของท่านด้วยตาทั้งสอง จากนั้นท่านก็เหาะขึ้นท้องฟ้ามุ่งหน้าสู่หิมวันตประเทศ เหล่าประชาชนพอเห็นท่านเหาะได้ต่างก็รู้สึกอัศจรรย์ใจ พากันโห่ร้องจับจ้องมองดูท่านอย่างไม่กระพริบตา แต่ช่างประหลาดนัก ถึงแม้ท่านจะเหาะไปไกลแสนแค่ไหนผู้คนที่อยู่ ณ ที่นั้นก็ยังสามารถมองเห็นท่านชัดเจนเหมือนดั่งว่าท่านอยู่ห่างไม่กี่วา เมื่อท่านเหาะไปถึงเทือกเขาคันธมาทน์ท่านก็ได้นำเอาอาหารที่ภัตตภติกะมานพถวายนั้น ไปแบ่งให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปอื่นๆซึ่งมีอยู่ถึง ๕๐๐ รูปด้วยกัน บรรดาผู้คนเมื่อเห็นเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าที่มีอยู่มากมายถึงปานนั้น ต่างก็พากันสาธุการกันพร้อมพรั่ง จนกระหึ่มไปทั่วอาณาบริเวณแทบนั้น

ด้านลูกเศรษฐีที่นั่งบริโภคอาหารอยู่ในคฤหาสน์อย่างมีความสุข พอได้ยินเสียงกัมปนาทกึกก้องของเหล่ามหาชนเขาก็ถึงกับสะดุ้งตกใจ คิดว่าผู้คนที่มาดูการกินอวดของภัตตภติกะหนุ่มต่างพากันหัวเราะเยาะเขา จึงสั่งให้บ่าวไพร่ไปออกไปดูทันที หลังจากคนรับใช้กลับมารายงานถึงสาเหตุของเสียงโห่ร้องเขาก็ถึงกับรำพึงในใจ “ น่าอัศจรรย์นัก! ภัตตภติกะผู้นี้สามารถทำสิ่งที่บุคคลยากจักทำได้ ให้สามารถเป็นจริงได้ ตัวเราแม้จักมีสมบัติมากมายถึงปานนี้ แต่ก็ยังมิอาจทำได้เหมือนเขา! อย่ากระนั้นเลย จำเราจักขอให้เขา ยอมให้เราได้มีส่วนในบุญครั้งนี้ด้วยเถิด ท่าจักดี! ”

พอคิดดังนั้นลูกเศรษฐีจึงสั่งให้บ่าวไปตามตัวนายภัตตภติกะมาพบ เมื่อภัตตภติกะมาถึงเขาได้ถามชายหนุ่ม “ ดูก่อนภัตตภติกะผู้เจริญ ข้าพเจ้าทราบว่าท่านได้ถวายอาหารอันเลิศรสแด่พระ ปัจเจกพุทธเจ้าไปจนหมดสิ้น เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่? ” ภัตตภติกะมานพตอบว่า “ จริงขอรับ! ” ลูกเศรษฐีพอฟังก็กล่าวสาธุการเป็นการใหญ่ จากนั้นจึงกระมิดกระเมี้ยนกล่าวกับภัตตภติกะ “ ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ หากข้าพเจ้าจักขอแบ่งบุญจากท่านครึ่งหนึ่ง ท่านจักยินดีมั้ย? ”

ภัตตภติกะมานพพอฟังจึงตอบ “ ข้าแต่นายท่าน อันว่าบุญนั้นยิ่งแบ่งออกไปเท่าไหร่ มันก็มีแต่จักยิ่งเพิ่มขึ้นไปเท่านั้น หาได้ลดน้อยถอยลงไปไม่ ข้าพเจ้ายินดีแบ่งบุญให้นายท่านครึ่งหนึ่งขอรับ ” ลูกเศรษฐีได้ยินดังนั้นก็ถึงกับปลาบปลื้มใจจนยากจักกล่าว และเพื่อเป็นการตอบแทนความใจกว้างของบุรุษหนุ่ม เขาจึงยกสมบัติของตนครึ่งหนึ่งให้กับภัตตภติกะมานพ

ต่อมาภายหลังเมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องการถวายทานของภัตตภติกะ และเรื่องการยกสมบัติครึ่งหนึ่งของลูกเศรษฐีให้เขา องค์ราชาจึงทรงพระราชทานทรัพย์แก่ภัตตภติกะมานพเช่นกัน นอกจากนั้นยังทรงพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้เขาอีกโดยตั้งให้ชื่อเขาว่า “ภัตตภติกเศรษฐี ”

ภัตตภติกเศรษฐีได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเรื่อยมาตราบจนหมดสิ้นอายุขัย แหละพอตายจากมนุษย์ด้วยอานิสงส์ที่เขาได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า บุญกุศลจึงนำให้เขาไปเกิดยังเทวโลก เสวยสุขจากทิพสมบัติบนเทวโลกต่ออีกเป็นเวลาถึง ๑ พุทธันดร จนพุทธุปบาทกาลนี้เขาจึงมาปฏิสนธิในตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรนามว่า “ สุขะ ” ซึ่งก็คือสุขสามเณรนั่นเอง.


สืบ ธรรมไทย

ที่มา : อรรถกถา ขุททกนิกาย

12,268






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย