ท่านพระนาลกะเป็นลูกของน้องสาวอสิตดาบส หรือ กาฬเทวิลดาบส ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อครั้งพระมหาบุรุษประสูติใหม่ กาฬเทวิลดาบส ไปเยี่ยมเยียน ได้เห็นพระลักษณะของพระมหาบุรุษถูกต้องตามตำราพยากรณ์ของพราหมณ์ว่า พระองค์จะเสด็จออกทรงผนวชแล้วจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก จึงมาแนะนำนาลกะผู้หลานชายให้ออกบวชประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์คอยพระองค์อยู่ นาลกะก็กระทำตามคำแนะนำ
เมื่อพระมหาบุรุษเจ้าเสด็จออกทรงผนวชได้ตรัสรู้แล้ว นาลกะได้ทราบข่าว จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามปัญหาโมไนยปฏิบัติ พระองค์ก็ทรงพยากรณ์ให้โดยนัยเป็นต้นว่า พึงทำจิตให้เสมอในสัตว์และบุคคลทั้งปวง อย่าโกรธ อย่าโทมนัสขัดเคืองในเมื่อถูกบริภาษ เมื่อเวลาจบพยากรณ์ปัญหา นาลกะเกิดความเลื่อมใส จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย
ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ทูลลาพระบรมศาสดาเข้าไปสู่ป่า อุตส่าห์พยายามทำความเพียรในโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ ไม่ทำความสนิทสนมกับชาวบ้าน ไม่ติดในบุคคล และถิ่นที่อยู่ เป็นผู้มักน้อยในที่จะเห็น เป็นผู้มักน้อยในที่จะฟัง เป็นผู้มักน้อยในที่จะถาม ไม่ช้าไม่นานท่านก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล และเป็นธรรมเนียมของผู้บำเพ็ญโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ เป็นอย่างสูง และในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ๆ จะมีพระสาวกผู้บำเพ็ญโมไนยปฏิบัติเพียงองค์เดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะนี้ พระนาลกะจัดว่าเป็นผู้บำเพ็ญเพียรโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ นับแต่วันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตตผลมา ท่านดำรงอายุสังขารอยู่ได้เพียง ๗ เดือนเท่านั้น ก็ดับขันธปรินิพพาน ด้วยอิริยาบถยืน เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา
หมายเหตุ โมไนย (อ่านว่า โม-ไน-ยะ) หมายถึงความเป็นมุนี,ความเป็นปราชญ์,คุณธรรมของนักปราชญ์,ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี ในเรื่องราวของท่านที่ปรากฏในปกรณ์ต่าง ๆ กล่าวว่าท่านได้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ ด้วย คือ เป็นยอดเยี่ยมกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ประพฤติในโมไนยปฏิบัติ แต่ในเอตทัคคะ บาลีไม่ปรากฏจึงไม่ได้กล่าวไว้ในประวัติของท่าน