การหลงเชื่อว่าตนเป็นเจ้าของขันธ์ ๕ อันประกอบขึ้นเป็นกายและใจนี้เป็นความหลงขั้นพื้นฐานที่เติมเชื้อให้กับทุกข์ทั้งหลาย
พระพุทธองค์ทรงแนะนำพระสาวกทั้งหลายว่า “สิ่งใดมิใช่ของเธอทั้งหลาย พึงละสิ่งนั้นเสีย การละสิ่งที่ไม่ใช่ของเธอย่อมเกื้อกูลให้เกิดประโยชน์สุขอันยั่งยืน”
คำสอนน่าคิดนี้นำมาซึ่งคำถามหลายข้อ เช่น เราจะละสิ่งที่ไม่ใช่ของเราตั้งแต่ต้นได้อย่างไร และเวลาที่บอกว่าสิ่งใดเป็น ‘ของเรา’ หรือ ‘ไม่ใช่ของเรา’ นั้นหมายความว่าอย่างไรกันแน่
คำตอบสำหรับคำถามแรก คือ เราย่อมละสิ่งที่ไม่ใช่ของเราได้ในกรณีที่เราขโมยสิ่งนั้นมาจากผู้อื่น หรืออีกกรณีหนึ่งซึ่งตรงกับคำสอนนี้ คือ เมื่อเราหลงเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ยึดนั้นเป็นของเรา พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราละความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของอันจอมปลอม
ความเป็นเจ้าของในสิ่งใดๆ นั้นไม่ใช่สัจธรรม แต่เป็นความคิดที่เราปรุงแต่งขึ้น การจำกัดความในเรื่องนี้จะวัดได้จากอำนาจในการควบคุมสิ่งที่เราบอกว่า ’เป็นเจ้าของ’ พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าเราคิดเหมาไปเองว่าเป็นเจ้าของขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หากแท้จริงแล้ว เมื่อพิจารณาให้ละเอียด จะเห็นได้ว่าเราไม่มีอำนาจควบคุมขันธ์ ๕ ตามนิยามของ ‘ความเป็นเจ้าของ’ เลย การหลงเชื่อว่าตนเป็นเจ้าของขันธ์ ๕ อันประกอบขึ้นเป็นกายและใจนี้เป็นความหลงขั้นพื้นฐานที่เติมเชื้อให้กับทุกข์ทั้งหลาย การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในความคิดปรุงแต่งเรื่องนี้ย่อมนำมาซึ่งสุขอันแท้จริง
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร