ค้นหาในเว็บไซต์ :

ปล่อยวางไม่ว่า แต่อย่าปล่อยปละละเลย


ปล่อยวางไม่ว่า แต่อย่าปล่อยปละละเลย คือ ใจปล่อยวาง แต่สติปัญญาอย่าปล่อยปละละเลย หมายความว่า ใจวางเป็นอิสระออกไป ปล่อยให้เป็นเรื่องของปัญญาที่จะมาจัดการ (ใจอยู่ด้านความรู้สึก ส่วนปัญญาอยู่ด้านความรู้)

ตรงนี้ มองให้ชัด จะเข้าไปถึงหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่าให้เป็นอยู่ด้วยปัญญา โดยจะเห็นการทำงานของปัญญาต่อกันไปเป็นขั้นๆ ในที่นี้มี ๒ ขั้นใหญ่ คือ

ขั้นที่ ๑ เมื่อมีปัญญารู้ความจริงแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอนิจจตา อย่างที่เรียกกันว่ารู้เท่าทันธรรมดา ปัญญาที่รู้ความจริงแห่งธรรมดานั้น ก็ปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ หลุดพ้นจากความรู้สึกบีบคั้นกดดันเป็นทุกข์ เรียกว่าปล่อยวางได้ ทีนี้ต่อไป

ขั้นที่ ๒ ปัญญาที่รู้ความจริงแห่งอนิจจตานั้น (โดยมีสติช่วย) รับภาระมาจากใจที่ปล่อยวางได้แล้ว ก็วิเคราะห์สืบลึกลงไปในความเปลี่ยนแปลงนั้น เช่น ให้เห็นเหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลง ทั้งข้างร้ายและข้างดี ที่จะพึงจัดการอย่างไรๆ เพื่อทำการแก้ไขปรับปรุง หรือจัดสถานการณ์ให้ลงตัว ไม่ละเลยปล่อยเรื่องทิ้งไว้ (จากนั้น ก็อาจจะต่อไปยังขั้นที่สาม และขั้นต่อๆ ไปอีก เช่น วางวิธีปฏิบัติจัดดำเนินการเพื่อให้สำเร็จลุจุดหมาย ซึ่งพ้นขอบเขตของเรื่องที่จะพูดในที่นี้) นี่คือขั้นตอนของการใช้ความรู้อนิจจตาในแง่ความไม่ประมาท

เป็นอันว่า เรื่องอนิจจัง-อนิจจตานี้ มีจุดเน้นอยู่ที่การใช้ปัญญาในทางของความไม่ประมาท

หนังสือ สยามสามไตร
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

154







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย