เมื่อไม่มีความรู้หรือไม่ใช้ความรู้ (ปัญญา) ตัณหาก็จะมาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม


มนุษย์นั้น เมื่อมีการรับรู้ประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะมีความรู้สึกหรือเวทนาเกิดขึ้นด้วย คือ รู้สึกสบายหรือไม่สบาย ความรู้สึกที่สบายเรียกว่าสุขเวทนา ความรู้สึกที่ไม่สบายเรียกว่าทุกขเวทนา พอรับรู้เข้ามาและเกิดมีเวทนานี้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มนุษย์ที่ยังมีอวิชชาก็จะมีปฏิกิริยาคือ ถ้าเวทนาสุขสบายก็ชอบใจ อยากจะเอา เรียกว่ายินดี ถ้าเวทนาเป็นทุกข์ ไม่สบาย ก็ไม่ชอบใจ ขัดใจ เรียกว่ายินร้าย ปฏิกิริยายินดียินร้ายนี้เรียกรวมว่าตัณหา ความยินดีและยินร้ายนี้จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทำให้ตัดสินใจเลือกว่าจะเอาหรือไม่เอา จะเอาอันไหนและอย่างไร ตรงนี้เองเป็นจุดที่มีเจตนาเข้ามาเกี่ยวข้องคือตรงที่มีปฏิกิริยาชอบหรือไม่ชอบนั่นเอง หมายความว่า การชอบหรือไม่ชอบและจะเอาอย่างไรนั้นมีเจตนาเป็นตัวตัดสินใจเลือก และเจตนาที่ตัดสินใจเลือกนั้นก็จะเลือกไปตามแรงผลักดันของตัณหา ตอนนี้จะเห็นได้ว่า กระบวนการของกรรมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เป็นอันว่า เมื่อไม่มีความรู้หรือไม่ใช้ความรู้ (ปัญญา) ตัณหาก็จะมาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม คือทำไปตามความปรารถนาที่จะได้รับสุขเวทนาและหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา การที่ต้องใช้ตัณหาเป็นตัวนำทางพฤติกรรมอย่างนี้ก็เพราะมนุษย์ยังไม่พัฒนา ยังไม่มีความรู้ ยังไม่มีปัญญา เขาจึงอยู่ด้วยอวิชชาและตัณหาไปก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้จึงเห็นได้ว่า การกระทำของมนุษย์ส่วนมาก ก็เนื่องมาจากการที่จะหาสุขเวทนา และหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา ซึ่งเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วไป ที่ไม่มีการศึกษา หรือยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา

...

เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้จะทำอย่างไร เราจะปล่อยให้ตัณหาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่อไปไม่ได้ มนุษย์จะต้องรู้ว่าอะไรแค่ไหนเป็นคุณค่าที่แท้จริงต่อชีวิตของตนแล้วทำตามความรู้นั้น คือเอาความรู้มาเป็นตัวนำพฤติกรรม เช่นจะบริโภคอาหารก็ไม่ใช่เอาแต่ความอร่อย ที่เป็นสุขเวทนา แต่บริโภคด้วยความรู้ในคุณค่าของอาหารนั้นๆ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มที่จะเข้ามาสู่การพัฒนามนุษย์หรือการศึกษา

หนังสือ จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
พิมพ์ครั้งที่ สิงหาคม ๒๕๕๑ หน้า ๑๙ – ๒๓

3,175







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย