ยิ่งอยู่ไปในโลก ความสุขจะต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ความสุขของเราต้องขึ้นต่อวัตถุน้อยลง


คนเรานี้พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาแล้วเราก็สามารถมีความสุขด้วยตัวเองมากขึ้น และข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี่ท่านสอนให้เราพัฒนาโอกาสและความสามารถในการที่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วย มนุษย์นั้นตอนแรกเราอยู่โดยพึ่งพาวัตถุมากหน่อย ความสุขของเราขึ้นต่อวัตถุมากหน่อย แต่เมื่อพัฒนาตนต่อไป ชีวิตของเราดีขึ้นประเสริฐขึ้น ชีวิตและความสุขของเราก็ขึ้นต่อวัตถุน้อยลง ซึ่งทวนกระแสตรงข้ามกับระบบปัจจุบัน

ในระบบปัจจุบัน โดยเฉพาะในระบบแข่งขัน ตอนแรกเราเกิดมาในโลกชีวิตขึ้นต่อวัตถุน้อย ความสุขขึ้นต่อวัตถุน้อย เรายังมีจิตใจที่มีความสุขด้วยตนเองได้ แต่ต่อมาอยู่นานเข้า ความสุขในตัวเองหมดไป มีแต่ความสุขที่ไปฝากไว้กับวัตถุภายนอก ปราศจากวัตถุภายนอกไม่มีความสุข ดิ้นรนกระวนกระวายทุรนทุราย ดังจะเห็นได้จากชีวิตของคนยุคปัจจุบันนี้ ต้องขึ้นกับวัตถุภายนอก แม้แต่สิ่งเดียวกันในสมัยหนึ่งเป็นของง่ายๆ ก็อยู่ได้ ต่อมาดิ้นรนต้องให้สิ่งของนั้นฟุ่มเฟือยหรูหรามากขึ้นจึงมีความสุข ต่อมาต้องหรูหรายิ่งขึ้นไปอีก มีราคามากกว่านั้น สิ่งที่เคยหรูหราฟูฟ่าขนาดเดิมนั้นไม่ทำให้มีความสุขเสียแล้ว ถ้าต้องมีสิ่งเดิมนั้นก็กลับมีความทุกข์เสียด้วย ฉะนั้นชีวิตจึงต้องขึ้นกับวัตถุมากขึ้นๆ มีความกระสับกระส่าย กระวนกระวายมากขึ้นเมื่อขาดวัตถุ เมื่อเป็นอย่างนี้สันติภายนอกก็ไม่มี สันติภายในก็หมด เริ่มด้วยสันติภายในหมดก่อน แล้วพลอยให้สันติภายนอกขาดหายไปด้วย เพราะจะต้องแย่งชิงกันมากขึ้น

เพราะฉะนั้นคนเรานี้จึงต้องพัฒนาในทางที่ว่า ยิ่งอยู่ไปในโลก ความสุขจะต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ความสุขของเราต้องขึ้นต่อวัตถุน้อยลง

หนังสือ การศึกษาเพื่อสันติภาพ
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
พิมพ์ครั้งที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๘ หน้า ๓๕ – ๓๖

3,086







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย