อานิสงส์ของพุทธบูชา



อานิสงส์ของพุทธบูชา

เมื่อครั้งสมัยพุทธกาลขององค์สมเด็จองค์พระประทีปแก้วองค์ปัจจุบัน มีบุคคลท่านหนึ่ง คือ นายสุมนมาลาการ เป็นช่างดอกไม้ มีหน้าที่เก็บดอกมะลิจากสวนหลวง วันละ ๘ ทะนานทุกๆเช้า ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร จะได้ค่าจ้างเป็นเงินวันละประมาณ ๘ กหาปนะ อยู่มาวันหนึ่งนายสุมนได้เก็บดอกมะลิเสร็จแล้ว ก็ออกจากพระราชอุทยาน เพื่อนำดอกไม้ไปถวายแก่พระเจ้าพิมพิสาร ได้พบองค์สมเด็จพระศาสดาจารย์ทรงลีลาศมาทางนั้น เพื่อจะเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์หมายจะสงเคราะห์นายสุมน จึงทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีให้สว่างไสววิจิตรตระการตา นายสุมนเห็นดังนั้น จึงเกิดความอัศจรรย์ในใจเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงดำริในใจว่า ถ้าเราเอาดอกไม้นี้ไปถวายพระราชา ได้เงินมาก็แต่พอเลี้ยงชีพในอัตภาพนี้เท่านั้น แต่ถ้าเรานำดอกมะลินี้ไปถวายบูชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้น่าอัศจรรย์ถึงเพียงนี้ การบูชานี้จะมีผลอันประมาณมิได้ อันตัวเราอาจต้องราชอาญาจากพระเจ้าแผ่นดิน อาจโดนโทษประหาร หรือ โดนขับไล่ออกจากแว่นแคว้น เรายินดียอมตายรับอาญานั้นถวายเป็นพุทธบูชา คิดได้ดังนั้นแล้วจึงได้แบ่งมะลิทั้ง ๘ ทะนานนั้นเป็น ๘ กำ แล้วโยนขึ้นบูชาครั้งละ ๒ กำ , ๒ กำแรกโยนขึ้นฟ้าดอกมะลินั้นไก้ปรากฏเป็นเพดานดอกมะลิ เหนือพระเศียร องค์สมเด็จพระทศพลญาณ , อีก ๒ กำ โยนไปกลายเป็นตาข่ายดอกมะลิดาดไว้ที่ด้านขวาของพระพุทธองค์ , อีก ๒ กำ โยนไปกลายเป็นตาข่ายดอกมะลิดาดไว้ที่ด้านหลังของพระพุทธองค์ , อีก ๒ กำ โยนไปกลายเป็นตาข่ายดอกมะลิดาดไว้ที่ด้านซ้ายของพระพุทธองค์ ดอกมะลิทั้งหมดนั้นมีก้านหันเข้าด้านใน มีดอกหันออกด้านนอก พระพุทธเจ้าที่อยู่ในซุ้มดอกไม้ เปรียบประหนึ่งว่าทรงล้อมไว้ด้วยแผ่นเงิน ดอกไม้เหล่านั้นไม่ได้แตกแยกออกจากกัน เวลาพระองค์ทรงเสด็จไปทางไหน ดอกมะลินั้นก็ตามห้อมล้อมไปด้วย ชาวเมืองในกรุงราชคฤห์ได้เห็นดังนั้นบังเกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง ก็แตกตื่นพากันนำเอาเครื่องสักการะบูชาต่างๆ มาบูชาองคสมเด็จพระพุทธชินสีห์ พร้อมทั้งส่งเสียงโห่ร้องสาธุการ บ้างก็โปกผ้าโปกธงด้วยความยินดีเลื่อมใสติดตามองค์สมเด็จพระอนันตชินเจ้าไป
ส่วนนายสุมนมาลาการเมื่อได้บูชาองค์สมเด็จพระศาสดาแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับสู่เคหะ พอถึงบ้าน ภรรยาถามว่า “ดอกไม้อยู่ที่ไหน” นายสุมนได้ตอบว่า “ได้ถวายบูชาองค์สมเด็จพระศาสดาไปแล้ว” ภรรยาจึงถามว่า “แล้วทีนี้เธอจักทำอย่างไร จักหาดอกไม้จากไหนไปถวายพระราชา” นายสุมนตอบว่า “พระราชาจักฆ่าเราก็ดี หรือเนรเทศเราก็ตาม เราได้ถวายชีวิตบูชาองค์สมเด็จพระศาสดาแล้ว ดอกไม้ที่เราบูชาก็ปรากฏเป็นอัศจรรย์” แล้วจึงเล่าเรื่องทั้งปวงให้ภรรยาฟัง ภรรยาของนายสุมนนั้นเป็นคนพาล ได้ฟังแล้วไม่เกิดความเลื่อมใส ทั้งยังได้ด่าว่านายสุมน ขึ้นว่า “อันธรรมดา ราชาทั้งหลาย ทรงกริ้วเพียงครั้งเดียว ก็ทำให้เกิดความพินาศใหญ่ได้ เราไม่ต้องการประโยชน์ใดๆจากสิ่งที่ท่านทำ” ว่าแล้วก็ได้พาลูกๆไปเข้าเฝ้าพระราชา จึงได้เล่าเรื่องของตนและสามีให้ทรงฟังโดยละเอียด แล้วกราบทูลว่า “สิ่งที่สามีได้ทำจะดีหรือร้ายก็ตาม จงเป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียว ขอได้โปรดทรงทราบว่า ข้าพระบาทได้ทิ้งเขาเสียแล้ว” เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้รับฟัง ก็ดำริในใจว่าหญิงนี้ช่างเป็นอันธพาลโดยแท้ ได้ยินเรื่องอัศจรรย์แล้วยังไม่เลื่อมใส จึงทรงทำเหมือนกับกริ้ว แล้วตรัสถามว่า “เขาได้บูชาด้วยดอกมะลิของเราแล้วหรือ” เมื่อหญิงนั้นกราบทูลว่าพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า “การที่เจ้าทิ้งเขาไปเป็นการดีแล้ว เราจักทำสิ่งที่ควรทำแก่เขาผู้บูชาดอกไม้แห่งเรา” ตรัสดังนี้ก็สั่งให้หญิงนั้นกลับไป แล้วรีบเสด็จตามพระพุทธองค์ไป องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่าพระราชาทรงเลื่อมใส ก็มีความประสงค์จะประกาศความดีของนายมาลาการ จึงทรงเสด็จไปตามถนนหลวงเกินกว่าทางเดินบิณฑบาตปกติไปถึง ๓๐๐ เส้น (คือ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ( ๑๐๐ เส้น เป็น ๑ คาวุต , ๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์ , ๑ โยชน์ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร)) จนกระทั่งถึงพระราชวัง แต่ไม่เสด็จเข้าไปในพระราชวัง ไปประทับเสวยพระกายาหารที่ได้จากการบิณฑบาต ณ ที่ประทับอันประณีตที่พระราชาจัดถวายไว้ที่ประตูพระราชวัง เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสร็จจากภัตกิจแล้ว ทรงอนุโมทนาแล้วจึงทรงเสด็จกลับพระวิหาร ดอกมะลิที่กั้นเป็นเพดาน และเป็นตาข่ายอยู่ทั้ง ๓ ด้านนั้นได้ตามเสด็จมาโดยตลอด เมื่อเสด็จเข้าพระวิหารดอกไม้นั้นก็ตามติดมาด้วย พอเมื่อองค์สมเด็จพระผู้ทรงธรรมได้เสด็จเข้าพระคันธกุฏิ ดอกมะลิเหล่านั้นจึงหล่นอยู่หน้าซุ้มประตู ส่วนพระเจ้าพิมพิสารนั้นได้ตามเสด็จไปส่งถึงพระคันธกุฏิแล้วจึงเสด็จกลับพระราชวัง แล้วโปรดให้เรียกนายสุมนมาลาการมาเข้าเฝ้า ทรงเลื่อมใสยินดีต่อบุญกิริยาที่นายสุมนได้กระทำไว้ดีแล้ว จึงได้พระราชทานทรัพย์อย่างละ ๗ แก่นายสุมน ดังนี้ ช้าง ๗ , ม้า ๗ , ทาสี ๗ , นารีประดับของมีค่า ๗ , หมู่บ้านไว้เก็บส่วย ๗ , เงิน ๗ พันกหาปนะ , เครื่องประดับอันมีค่ามีราคามากอย่างละ ๗ , ครั้นองค์สมเด็จพระผู้ทรงสวัสดิโสภาคย์ ได้เสด็จถึงพระวิหารแล้ว พระอานนท์ทูลถามว่า “นายสุมนมาลาการจะได้รับอานิสงส์เบื้องหน้าอย่างไรบ้าง พระเจ้าข้า” องค์สมเด็จพระภควันต์ จึงทรงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์นายมาลาการสละชีวิตบูชาเรา เขาจะไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนมหากัป จักได้เกิดอยู่แต่มนุษย์และเทวดาเท่านั้น แล้วจักได้สำเร็จเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า พระสุมนปัจเจกพุทธเจ้า ดังนี้”
ผู้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาซึ่งผลานิสงส์เป็นอันมากตามแก่เจตนาของผู้บูชา ถ้าผู้บูชาเจตนาอ่อน ผลที่ได้ก็น้อย ถ้าผู้บูชามีเจตนาที่กล้าแข็ง ผลก็ย่อมได้มากตาม ดุจนายสุมนมาลาการ ที่ยินดีบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยมะลิ ๘ ทะนาน โดยสละชีวิตของตน แม้ขณะนี้องค์สมเด็จพระประทีปแก้วมิได้ทรงพระชนมายุอยู่แล้ว เราก็สามารถใช้สิ่งแทนพระองค์ คือพระพุทธปฏิมากร น้อมจิตบูชา ระลึกถึงคุณความดีอันไม่มีประมาณ ขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วได้เช่นกัน และการบูชาไม่จำเป็นต้องเป็น อามิสบูชา คือต้องมีของถวาย มีเครื่องบูชาเสมอไป การปฏิบัติบูชา ด้วยการรักษาศีล เจริญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ก็ทำให้ได้บุญมากอานิสงส์มาก ซึ่งมากกว่าการบูชาด้วยอามิสบูชา
สุดท้ายนี้ขอคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง จงตามคุ้มครอง ท่านผู้เข้ามาอ่านทุกท่าน ให้พ้นความทุกข์กายทุกข์ใจทั้งสิ้นทั้งปวง ให้มีความสุขกายสุขใจยิ่งๆขึ้นไป ให้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ในทุกกาลเทอญ

   

ที่มา : ҡ˹ѧ ҹʧҡûԮ ʧ

5,261







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย