วัดราชบุรณ ราชวรวิหาร


วัดราชบุรณ ราชวรวิหาร
พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร , สังกัด : มหานิกาย


วัดราชบุรณะ เดิมชื่อ "วัดเลียบ" สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงพระราชศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์ สถาปนาวัดเลียบขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปีพุทธศักราช 2336 โดยพระราชทานนามว่า "วัดราชบุรณราชวรวิหาร"



ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สร้างพระอุโบสถและพระวิหารขึ้นใหม่มีพระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดนำมาจากหัวเมือง 162 องค์


วัดเลียบในอดีต

ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้ขุดคูรอบพระอาราม 3 ด้าน ปากคูจรดคลองโอ่งอ่างซึ่งเป็นคูพระนคร โปรดให้สร้างพระปรางค์ ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่ง ประดับกระเบื้องเคลือบทั้งองค์ สมัยรัชกาลที่ 4 วัดราชบุรณะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ เนื่องจากมีการตัดถนนตรีเพชรผ่านกลางวัด โปรดให้สร้างห้องแถวให้ประชาชนอยู่อาศัย เพื่อเก็บผลประโยชน์บำรุงวัด ส่วนพื่นที่ด้านหลังห้องแถวโปรดให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปีพุทธศักราช 2488

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดราชบุรณะถูกระเบิดทางอากาศทำให้พระอุโบสถ พระวิหาร และกุฏิเสนาสนะเสียหายมาก คณะสังฆมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีมติว่าสมควรยุบเลิกวัดเสีย จึงนำความกราบบังคมทูลและได้ยุบเลิกตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2488 และทางวัดได้อนุญาตให้วัดต่างๆ ในหัวเมือง อัญเชิญพระพุทธรูปที่ประดิษฐานพระระเบียงไปประดิษฐานยังวัดของตนได้ตามแต่ประสงค์ พระพุทธรูปเหล่านั้นจึงกระจายไปอยู่ตามวัดต่างๆ

หลังสงครามสงบลงการบูรณะจึงเริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าและเททองหล่อพระประธานดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งการบูรณะในครั้งนี้ผู้ออกแบบคือ ศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) เรือนแก้วซุ้มพระประธานภายในเป็นฝีมือนายฟู อนันตวงษ์ พระปรางค์ไม่ได้รับภัยจากระเบิดแต่ชำรุดตามกาลเวลากระทรวงมหาดไทยได้บูรณะในปีพุทธศักราช 2505





วัดราชบุรณะนี้ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชสมัย รัชกาลที่ 2 และ 3 ทั้งยังมีพระภิษุที่มีชื่อเสียง 2 องค์ คือ สมเด็จพระศรีสมโพธิราชครู (ขรัวอีโต้) และขรัวอินโข่ง มีชีวิตอยู่ในช่วง รัชกาลที่ 1 และ 2 ท่านได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากมหาชนตลอดจนเจ้านายทั้งหลาย ครั้นเมื่อท่านเสี่ยงความบริสุทธิ์ด้วยการลอยมีดโต้ลอยน้ำในสระกลางวัด ปรากฏว่ามีดโต้ลอยน้ำอย่างน่ามหัศจรรย์ นับแต่นั้นท่านก็ได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากมหาชนตลอดจนเจ้านายทั้งหลาย และพระพิมพ์ของท่านชื่อว่า พระขรัวอีโต้ จำนวน 84,000 องค์ ที่ถูกค้นพบในพระเจดีย์ที่ถูกรื้อในปี พ.ศ. 2472 เพื่อใช้พื้นที่สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นั้นเป็นที่นับถือแพร่หลายเช่นเดียวกับพระพิมพ์สมเด็จวัดระฆัง หรือพระรอด และนอกจากนั้นยังมีแผ่นศิลาจารึกปริศนาด้วยอักษรขอมอีกแผ่นหนึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ในตู้ภายในพระอุโบสถ

ขรัวอินโข่ง เป็นพระภิกษุอีกรูปที่มีชื่อเสียงในฐานะจิตรกรเอก ในพระราชสำนักผู้หนึ่ง ผลงานจะมีอยู่ทั้งในพระนครและหัวเมืองแต่ไม่ปรากฏประวัติละเอียด ท่านเป็นจิตรกรท่านแรกที่นำเทคนิคภาพเขียนแบบยุโรปมาผสมผสานกับลักษณะดั้งเดิมของไทย คือ การใช้แสงเงาทำให้เกิดภาพแบบสามมิติ ผลงานของท่านในปัจจุบันคือ ภาพลายรดน้ำที่หอไตรวัดชัยชนะสงคราม(วัดตึก) จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ภาพจิตรกรรมฝาผนังในหอพระคันธารราษฎร์ หอพระราชกรมานุสร และหอพระราชพงศานุสรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถวัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี และสมุดร่างภาพรามเกียรติ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ที่วัดราชบุรณะนี้ ขรัวอินโข่งเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถหลังเดิม ซึ่งถูกระเบิดทำลายไปเมื่อปี พ.ศ. 2488 นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งที่ไม่เหลือผลงานอยู่ในวัดที่ท่านจำพรรษาจนมรณภาพ




สิ่งสำคัญในพระอาราม


พระพุทธมหาราช ประธานในพระอุโบสถ

พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปแบบพระพุทธชินราช พระนามว่า พระพุทธมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อในพระอุโบสถเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2503


พระปรางค์

พระปรางค์

พระปรางค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ฐานกว้างด้านละ 15 วา สูงจากพื้นถึงยอดนภศูล และยอดฉัตร 16 วา 2 ศอก ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งองค์ เป็นพระปรางค์ย่อมุมไม้ยี่สิบแปด มีฐานบัวซ้อนขึ้นไป 5 ชั้น แต่ละชั้นทำเป็นรูปมารแบกโดยรอบ ชั้นซุ้มค่อนข้างสูงเหนือชั้นซุ้มขึ้นไปเป็นชั้นกลีบขนุน 8 ชั้น ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล มีมงกุฎครอบบนนภศูลอีกทีหนึ่ง



ศาลาสมเด็จ เป็นศาลาตรีมุข ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ยาว 60 เมตร ลักษณะคล้ายศาลารายแต่ยกพื้นสูง แบ่งเป็นสองตอน พระคุณาจารวัตรร่วมกับคณะกรรมการสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2518

พระอุโบสถ





วัดราชบุรณ ราชวรวิหาร

119 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

โทร. 02 221 3936

พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร

สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย


เฟซบุ๊กวัดราชบุรณ ราชวรวิหาร



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย