วัดมหรรณพาราม วรวิหาร


วัดมหรรณพาราม วรวิหาร
พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร , สังกัด : มหานิกาย

วัดมหรรณพาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันออกของถนนตะนาว แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ







วัดมหรรณพาราม ผู้สร้างคือ กรมหมื่นอุดมรัตนรังษี (พระนามเดิม พระองค์เจ้าอรรณพ) เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๓ เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลที่ ๓ ในการสร้างครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้พระราชทานเงิน ๑,๐๐๐ ชั่ง (แปดหมื่นบาท) การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จดีก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ขึ้นครองราชย์ ได้พระราชทานเงินให้อีกจำนวน ๑,๐๐๐ ชั่ง และได้พระราชทานนามว่า วัดมหรรณพาราม และทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระเจดีย์ขึ้น ๑ องค์ ที่หลังพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระเจดีย์ใหญ่ที่สุดในวัดนี้


พระอุโบสถ

ลายประตูพระอุโบสถ

หลวงพ่อบุญฤทธิ์ พระประธานในพระอุโบสถ

เดิมเมื่อสร้างวัดนั้นไม่ได้สร้างพระวิหาร คงสร้างแต่พระอุโบสถ เหตุที่สร้างพระวิหารเพราะเมื่อตอนสร้างวัดอยู่นั้น รัชกาลที่ ๓ นอกจากพระราชทานเงินให้ ๑,๐๐๐ ชั่งแล้ว ยังโปรดให้เจ้าหน้าที่ทางเมืองเหนือเสาะหาพระพุทธรูปใหญ่ เพื่อจะทรงนำมาเป็นพระประธาน ได้มาสำรวจพบที่เมืองสุโขทัย จึงโปรดให้อัญเชิญมากรุงเทพ ฯ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดมหรรณพาราม และมีพระประสงค์ให้ทันกับการฉลองพระอุโบสถ และผูกพัทธสีมา แต่การนำพระพุทธรูปขนาดใหญ่ลงมากรุงเทพ ฯ ในระยะทางที่ไกลเช่นนั้น จะนำมาได้ก็ด้วยการนำมาทางน้ำเท่านั้นคือ ต่อแพ บรรทุกแพล่องลงมาจากสุโขทัย จะต้องล่องมาตามลำน้ำยม จนมาถึงปากน้ำโพแล้ว ล่องต่อมาตามลำน้ำเจ้าพระยา จนมาถึงกรุงเทพ ฯ ต้องใช้เวลาหลายเดือน หลวงพ่อร่วงจึงมาไม่ทันกำหนดเวลาที่พระอุโบสถแล้วเสร็จ และพิธีผูกพัทธสีมา จึงมีรับสั่งให้สร้างพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ พระประธานจึงปั้นด้วยปูนด้วยลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๗ นิ้ว สูง ๕ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานยาว ๒ วา ๓ ศอก ๓ นิ้ว กว้าง ๒ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ฐานสูง ๒ ศอก ๑ นิ้ว ต่อฐานขึ้นไป ๓ ชั้น เรียกว่า บัลลังก์ ทำเป็นบัวหงาย บัวคว่ำ และกระจับลงรักปิดทองและประดับกระจกสีต่าง ๆ ผินพระพักตร์ ไปทางทิศตะวันตก เป็นพระพุทธรูปแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา


พระวิหาร

พระวิหาร

พระวิหาร

เมื่อสร้างพระพุทธรูปแล้ว ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถแล้ว ฉลองแล้ว พระพุทธรูปที่ประสงค์จะนำมาเป็นพระประธาน จึงเดินทางมาจากสุโขทัยมาถึงกรุงเทพ ฯ จึงได้สร้างพระวิหารขึ้น เพื่ออัญเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัยมาประดิษฐาน พระวิหารที่สร้างขึ้นนั้นก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคามุงลดสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องไทยปั้นลม และหน้ามุขทำด้วยปูน และประดับด้วยเครื่องกระเบื้องสีจานเบญจรงค์ ตรงกลางหน้ามุขทำเป็นรูปมังกร เพดานเขียนลายไม้ตาข่าย พระวิหารมี ๔ ประตู มีหน้าต่าง ๑๐ บาน ซุ้มประตู และหน้าต่างปั้นลายดอกไม้เครือ ลงรักปิดทอง บานประตู และหน้าต่างเรียกว่า ลายคลื่นฟองน้ำ มีรูปสัตว์ต่าง ๆ ลงรักปิดทองประดับกระจก

พระวิหาร


ตุ๊กตาหินจีน

หน้าประตูพระวิหารมีตุ๊กตาหินจีน ตั้งอยู่ข้างเสามุขสองข้าง ๆ ละ ๒ ตัว รวมเป็น ๔ ตัว หลังประตูพระวิหารมีตุ๊กตาหินจีน ตั้งอยู่ข้างเสามุขสองข้าง ๆ ละ ๒ ตัว รวมเป็น ๔ ตัว เช่นเดียวกัน พระวิหารยาว ๑๓ วา ๑๐ นิ้ว กว้าง ๘ วา ๕ นิ้ว สูง ๑๐ วาเศษ และมาถึงสมัยเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ได้ทำการปฎิสังขรณ์ และซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม เปลี่ยนหลังคาจากมุงกระเบื้องไทยมาเป็นหลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบล้วน ทั้งพระอุโบสถ และพระวิหาร มีกำแพงแก้วสูง ๔ ศอก ๑ คืบ ล้อมรอบ มีประตู ๗ ประตู


ต้นโพธิลังกา


ที่หน้าพระวิหารระหว่างศาลาการเปรียญกับโรงเรียนมีต้นโพธิลังกา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ นำมาปลูกเอาไว้ ๑ ต้น พระธรรมเจดีย์เจ้าอาวาสปลูกไว้อีก ๑ ต้น


พระร่วงทองคำ พระประธานในพระวิหาร

พระร่วงทองคำ

พระอารามหลวงแห่งนี้มีปูชนียวัตถุที่ดีเด่น และสำคัญยิ่งคือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร ซึ่งนำมาจากกรุงสุโขทัย มหาชนจึงเรียกว่า หลวงพ่อพระร่วง หรือเรียกกันจนติดปากว่า หลวงพ่อร่วง เป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัย ขนาดหน้าตัก กว้าง ๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๑ วา ๓ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว องค์พระเป็นโลหะทอง มีรอยต่อ ๙ แห่ง โดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อมที่รอยต่อ ชุกชีที่ประดิษฐานยาว ๒ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ถัดจากฐานขึ้นไปเรียกว่า บัลลังก์ ทำเป็นลายดอกบัวคว่ำบังหงาย และดอกไม้เครือกระจังลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ อัญเชิญมาจากสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓


พระร่วงทองคำ

หลวงพ่อร่วง เป็นพระพุทธรูปที่มีคุณลักษณะดีพิเศษหลายอย่างคือ
ประการที่ ๑ ดีทางศิลปะ มีพุทธลักษณะงดงามมาก พระพักตร์อิ่มเอิบ มองดูแล้วเหมือนยิ้มนิด ๆ เป็นเหตุให้ชุ่มชื่นใจแก่ผู้ได้เข้ามาชมมานมัสการ นิ้วพระหัตถ์เรียวงาม ทั้งองค์มีรอยต่ออยู่ ๙ แห่ง เป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าตามความนิยม ส่วนสัดขององค์พระไม่มีที่ไหนบกพร่องที่น่าตำหนิ ยากที่จะหาช่างสมัยนี้สร้างทัดเทียมได้ ไม่ทราบอายุเอาแค่มาประดิษฐานอยู่ที่วัดมหรรณพ์ก็เป็นเวลานานถึง ๑๕๖ ปีแล้ว (พ.ศ.๒๕๔๙) หากนับย้อนไปถึงอดีตของกรุงสุโขทัยก็นานนับได้หลายร้อยปี

ประการที่ ๒ ดีทางด้านวัตถุ พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยเชียงแสน สุโขทัย มักสร้างด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์ หรือมีเนื้อทองคำปนอยู่ ในสมัยที่ชาวกรุงเทพ ฯ ฮือฮากันว่าพบพระพุทธรูปเนื้อทองคำที่วัดโน้นวัดนี้หรือเช่นที่วัดไตรมิตร ก็มีผู้คนมารบเร้าขอให้ทางวัดรอกรักและทองที่ปิดอยู่ที่องค์พระร่วงออก เพื่อพิสูจน์ดูเพราะเห็นว่า องค์พระร่วงก็เป็นพระรุ่นเดียวกันกับพระที่พบมีเนื้อทอง ทางวัดจึงลอกทอง และรักออกดูตรงพระอุระเบื้องขวา กว้างยาวประมาณ ๑ ศอก ปรากฎว่าเป็นสีทองเหลืองอร่ามดุจทองคำ จึงขอให้เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรมาพิสูจน์ ก็ลงความเห็นว่าเป็นเนื้อทองคำประมาณ ๖๐ การเปิดพระอุระเพื่อพิสูจน์เนื้อทอง ได้เปิดทิ้งไว้ให้ประชาชนได้ชมอยู่ระยะหนึ่ง ต่อจากนั้นทางวัดก็จัดการลงรักปิดทองไว้ตามรูปเดิม

ประการที่ ๓ ดีทางศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อร่วงเป็นที่พึ่งทางใจแก่ชาวไทยและชาวจีนมิใช่น้อย ปัดเป่าความทุกข์ให้แก่ผู้มากราบไหว้ขอพร มาบนบาน ได้ดีจนเลื่องลือไปทั่ว การที่ผู้คนมากราบไหว้บนบานแล้วประสบความสำเร็จ ท่านเจ้าคุณพระศรีธรรมเมธี เจ้าอาวาสท่านได้เขียนไว้ว่า "...จะด้วยเหตุบังเอิญหรือด้วยบุญวาสนาของผู้บนบานเองหรือด้วยพุทธานุภาพอันเกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระร่วงก็เหลือเดา การบนบานนั้น ๆ จึงมักจะสำเร็จผลตามความประสงค์เป็นส่วนมาก จึงทำให้ผู้นิยมนับถือท่านมากทั้งชาวไทยและชาวจีน ..." เดิมทางวัดไม่ได้เปิดพระวิหารให้คนเข้ามานมัสการ ได้แต่ยืนไหว้กันอยู่ที่หน้าประตูวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ทางวัดได้เปิดให้คนเข้ามานมัสการภายในพระวิหารได้ทุกวัน


หอระฆัง

บุษบกธรรมาสน์

หอกลอง

ทำบุญ ตักบาตร

วัดมหรรณพาราม วรวิหาร

261/4 ถนนตะนาว แขวง เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

โทร. 02 622 3372 , 064 949 4115

พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย

FB/เว็บไซต์ วัดมหรรณพาราม วรวิหาร



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย