พระพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน

พระธรรมโกศาจารย์
(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

ในนามของมหาเถรสมาคมแห่งประเทศไทย ข้าพเจ้าขออนุโมทนาต่อชาวพุทธศรีลังกาในโอกาสฉลองครบ ๒๕๐ ปีแห่งการสถาปนาคณะสงฆ์สยามนิกายในศรีลังกา เพื่อดำเนืนตามปฏิปทาของพระอุบาลี มหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าเข้าร่วมประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติครั้งนี้ เพื่อแสดงเจตนาของเราในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ศรีลังกาและคณะสงฆ์ไทย เรื่องราวความสำเร็จของท่านพระอุบาลีเตือนให้เราระลึกว่าในโลกปัจจุบันยุคโลกาภิวัตน์ คณะสงฆ์ศรีลังกาและคณะสงฆ์ไทยจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์แห่งพระพุทธศาสนา

พระอุบาลีคือพระธรรมทูตชั้นยอดของไทย

ศรีลังกาและไทยมีประวัติความสัมพันธ์ทางด้านศาสนาที่ยาวนาน พระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยได้ชื่อว่าลังกาวงศ์ ทั้งนี้เพราะเมื่อ ๗๐๐ ปีที่ผ่านมา พ่อขุนรามคำแหงได้อาราธนาหัวหน้าพระสงฆ์ศรีลังกามาจากนครศรีธรรมราชในภาคใต้ มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ที่กรุงสุโขทัย และเมื่อ ๒๕๐ ปีที่ผ่านมา ชาวไทยได้มีโอกาสตอบแทนคุณของศรีลังกา ด้วยการที่พระเจ้าบรมโกษฐ์ทรงส่งพระอุบาลีและคณะมาฟื้นฟูการอุปสมบทในศรีลังกา หลังจากที่สมณวงศ์ในเกาะลังกาได้ขาดสูญไปเพราะการกดขี่ของโปรตุเกส แต่ด้วยความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของพระอุบาลีการอุปสมบทก็ได้รับการฟื้นฟูและมีการสถาปนาสยามนิกายในศรีลังกา

เราทั้งหลายต่างมาประชุมกันที่นี่เพื่อรำลึกคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่พระอุบาลีได้ทำไว้แก่พระพุทธศาสนาในศรีลังกา ขณะที่พระอุบาลีตัดสินใจเดินทางมาศรีลังกานั้น ท่านอาจจะรู้ตัวว่านี่เป็นการเดินทางที่ไม่มีวันกลับ ท่านพร้อมที่จะสละชีวิตของท่านเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติและเพื่อการประกาศพระพุทธศาสนา ท่านได้ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทที่ประทานแก่พระอรหันต์ ๖๐ รูป ซึ่งเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรกว่า "จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก" พระอุบาลีถึงแก่มาณภาพที่ศรีลังกาหลังจากใช้เวลาฟื้นฟูวงศ์อุปสมบทในเกาะนี้ได้ ๓ ปี

โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าเห็นว่าพระอุบาลีเป็นพระธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่านที่ประเทศไทยเคยมีมา ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าพระอุบาลีไม่เพียงแต่ดำเนินภารกิจในศรีลังกา ให้ลุล่วงไปเท่านั้น แต่ยังประสบความสำเร็จในการสถาปนาคณะสงฆ์นิกายใหญ่ที่สุดในศรีลังกา ซึ่งขนานนามนิกายนี้ตามชื่อของประเทศมาตุภูมิและชื่อพระอุบาลีว่า สยามโมปาลีมหานิกาย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า สยามนิกาย

นับเป็นเรื่องน่าสนใจที่ว่าพระพุทธศาสนานิกายสำคัญในศรีลังกามีชื่อว่าสยามนิกาย ขณะที่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมีชื่อว่าลังกาวงศ์ ทั้งนี้ เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่าประเทศไทยยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทจากศรีลังกา ในสมัยสุโขทัย คริสต์สตวรรษที่ ๑๒ และยังอนุรักษ์ประเพณีตามหลักพระไตรปิฎกพร้อมทั้งรักษาสมณวงศ์ไม่ให้ขาดสูญตั้งบัดนั้นเป็นต้นมา

ในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์พระประมุขของชาติทรงเป็นพุทธมามกะ พระมหากษัตริย์และรัฐร่วมกันอุปถัมภ์บำรุงกิจการคณะสงฆ์และส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่ประชาชน จากการสำรวจประชากรครั้งล่าสุดประเทศไทยมีประชากร ๖๓ ล้านคน และคนไทยร้อยละ ๙๔ นับถือพระพุทธศาสนา ตามสถิติเมื่อปี ๒๕๔๕ ทั่วทั้งประเทศไทยมีวัดอยู่ ๓๒,๐๐๐ วัด พระภิกษุ ๒๖๕,๙๕๖ รูป และสามเณร ๘๗,๖๙๕ รูป

นอกจากมีวัดป่าหลายวัด ซึ่งเป็นวัดที่พระจะเข้าไปปฎิบัติธรรมระยะยาวได้แล้ว ยังมีวัดอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน และในตัวเมืองเองก็มีวัดหลายวัดด้วยกัน ตามปกติโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของวัด และพระสงฆ์เองนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันตามความพยายามของรัฐที่ประสงค์จะยกระดับการศึกษาของประเทศชาติทั้งหมด ดังนั้นพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์จึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งในชีวิตประจำวันของประชาชนในประเทศไทย

การปกครองคณะสงฆ์

ประเทศไทยในปัจจุบันนี้ มีนิกายฝ่ายเถรวาท ๒ นิกาย คือ มหานิกายและธรรมยุตนิกาย มหานิกายมีจำนวนมากว่าและสืบเชื้อสายตรงมาจากการสถาปนาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ในยุคสุโขทัย ส่วนธรรมยุตนิกายได้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ โดยเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นนิกายเล็กกว่า มุ่งเน้นการปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด แต่ทั้งสองนิกายก็อยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคมและสมเด็จพระสังฆราช การปฎิรูปภายในองค์กรระยะต่อมาได้ลดความแตกต่างระหว่างนิกายลงมาก

ในศตรรษที่ผ่านมา คณะสงฆ์ในประเทศไทยได้ปกครองตัวเองอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคระสงฆ์ฉบับหนึ่ง (พ.ศ. ๒๔๘๔) และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับล่าสุด ซึ่งตราออกเป็นพระราชบัญญัติเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. ๒๕๓๕ และยังมีคณะสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย คือ ฝ่ายมหายานที่แบ่งเป็นจีนนิกายและอนัมนิกาย และฝ่ายเถรวาทที่แบ่งเป็นมหานิกายและธรรมยุตนิกาย

ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานต้องอยู่ภายใต้การปกครองของ สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่มหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นจากนิกายใดนิกายหนึ่งในฝ่ายเถรวาท และจะดำรงตำแหน่งพระสังฆราชไปจนตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จพระสังฆราชมีมหาเถรสมาคมเป็นผู้ช่วยสนองงาน มหาเถรสมาคมนี้มีกรรมการถาวรโดยตำแหน่งจำนวน ๘ รูป และกรรมการที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอีกจำนวน ๑๒ รูป

มหาเถรสมาคมมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ ออกกฎ ระเบียบ และแต่งตั้งผู้บริหารงานคณะสงฆ์ทั้งสองนิกาย การบริหารคณะสงฆ์มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมเป็นหน่วยสนองงาน สำนักงานนี้ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกลมเกลียวกัน ทั้งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพระภิกษุสามเณรและอาราม โดยจัดสรรงบประมาณอุดหนุนจากรัฐและมีหน้าที่ส่งเสริมการบริหารงานของพระสังฆาธิการ

เมื่อว่าตามบทบัญญัติ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ไทยมีการจัดองค์กรอย่างดี วัดนับหมื่นวัดและพระภิกษุสามเณรประมาณ ๓ แสนรูป อยู่ภายใต้การบริหารแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และคณะสงฆ์ได้รับการยอมรับและอุปถัมภ์จากรัฐ ซึ่งทำให้กิจการคระสงฆ์ การศึกษาและพิธีกรรมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การปกครองคระสงฆ์ที่มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางนี้ทำให้กิจการคระสงฆ์ได้รับการดูแลใกล้ชิด สามารถรักษาระเบียบวินัย และมีช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างศูนย์กลางการบริหารกับจังหวัดที่ไกลออกไป เนื่องจากมีการจัดองค์กรแบบนี้ การประสานร่วมมือและความปรองดองกับรัฐจึงคงมีอยู่ได้ และพระสงฆ์เองก็มีส่วนสร้างความสามัคคีในหมู่ประชาชนและรักษาความมั่นคงของชาติ แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง องค์กรที่มีการรวมเข้าสู่ศูนย์กลางเช่นนี้ต้องพึ่งพาอาศัยคณะผู้นำจำนวนน้อย ซึ่งจะมีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถตอบรับต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที

ปัจจุบันจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคระสงฆ์ฉบับใหม่ มีการยกร่างและอภิปรายพระราชบัญญัติปฎิรูปคณะสงฆ์ขึ้นมา จะมีการปรับโครงสร้างการบริหารคณะสงฆ์ชนิดที่ว่าจะมีการกระจายอำนาจของมหาเถรสมาคมให้คระกรรมการบริหารเรียกว่ามหาคณิสสรมาช่วยสนองงาน

การศึกษาของคณะสงฆ์

ในการจัดการศึกษาให้พระภิกษุสามเณร มหาเถรสมาคมมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาระบบการศึกษาแบบเดิม คือการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี แผนกธรรมจัดเป็น ๓ ชั้น แผนกบาลีจัดเป็น ๙ ชั้น แผนกธรรมซึ่งสอนธรรมเป็นภาษาไทยมุ่งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับพระภิกษุสามเณร

ส่วนนักเรียนบาลีจะต้องศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกและอรรถกถา วิชาแปลมคธเป็นไทยและวิชาไทยเป็นมคธ สามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคจะได้รับการอุปสมบทซึ่งอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ยากต่อการเล่าเรียนเพราะส่วนใหญ่เน้นการท่องจำ อย่างไรก็ตามรัฐได้รับรองเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นเปรียญธรรมชั้นสูงสุด ให้มีค่าเทียบเท่านชั้นปริญญาตรีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสามเณรจึงขาดความสนในในการศึกษาภาษาบาลี คณะสงฆ์ประสงค์จะให้รัฐรับรองเปรียญธรรม ๙ ประโยคให้มีค่าเทียมเท่าชั้นปริญญาเอก โดยพร้อมที่จะปรับปรุงหลักสูตรให้มีการเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาบาลี

เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะเรียนภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ตายแล้วให้ง่ายขึ้น เหมือนสมัยก่อนโน้นที่เราสามารถใช้ภาษาบาลีพูดจาสื่อสารกันเองได้ในกลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ภาษาบาลีน่าจะถูกกำหนด ให้เป็นภาษานานาชาติของกลุ่มประเทศนับถือพระพุทธศาสนา เหมือนภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาที่คนทั่วโลกใช้สื่อสารกัน เช่น ในการประชุมเช่นนี้ เอกสารสิ่งตีพิมพ์น่าจะกำหนดเป็นภาบาลีได้

การจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบสมัยใหม่ในประเทศไทยนั้น ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ๒ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เปิดสอนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยามีวิทยาเขต ๑๐ แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีวิทยาลังสงฆ์ ๔ แห่ง โครงการขยายห้องเรียน ๑๐ แห่ง และสถาบันสมทบ ๓ แห่ง ซึ่งรวมที่เกาหลีได้และไต้หวัน สาขาของมหาวิทยาลัยทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเปิดสอน ๔ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์

ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการก่อตั้งโครงการหลักสูตรนานาชาติระดับบัณฑิตศึกษา สอนเป็นภาษาอังกฤษโครงการหลักสูตรนานาชาตินนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาและครูอาจารย์จากต่างประเทศ เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาและปรัชญาระดับสูงยิ่งขึ้นไป ถือว่าเป็นการรักษางานวิชาการที่เป็นเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เครือข่ายวิทยาเขตทั่วประเทศของมหาวิทยาลัยพยายามที่จะยกระดับการศึกษาและปฎิบัติธรรมในคณะสงฆ์ ตลอดทั้งผลิตพระสงฆ์ที่มีความสามารถสอนพุทธธรรมได้ อย่างถูกต้องและบรรยายธรรมอย่างมีเหตุผลสอดคล้องกับเหตุการณ์ร่วมสมัยและเรื่องราวปัจจุบัน อีกนัยหนึ่งเราออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตพระสงฆ์ให้สามารถจัดการปัญหาของชุมชนได้

ในโครงการหลักสูตรนานาชาติเราต้องการครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญการสอนเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งช่วยประเมินผลและตรวจวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษเราอยากให้มีการแลกเปลี่ยนครูอาจารย์นักวิจัย และนักศึกษาต่างประเทศกับสถาบันอื่น ๆ และเพื่อเป็นสะพานเชื่อมเครือข่ายทั่วโลก

เกี่ยวกับการจัดให้มีการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาตามโรงเรียนนั้น คณะสงฆ์ไทยได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการให้ออกคำสั่งให้มีการสอนวิชาพระพุทธศาสนาแก่นักเรียนทุกระดับ นับตั้งแต่ชั่นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ อย่างไรก็ดี โรงเรียนถูกปล่อยให้กำหนดรายละเอียดของหลักสูตรเอง แม้ว่าระดับความเข้าใจในวิชาพระพุทธศาสนาในเขตการศึกษาจะไม่ค่อยตรงกันและเพี้ยนไปบ้างในบางกรณีก็ตาม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องให้มีหลักสูตรแกนกลางเป็นเครื่องชี้ทางให้นักการศึกษาแตละท้องถิ่นทำหลักสูตรพระพุทธศาสนาได้อย่างพูกต้องตรงกัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬลงกรณราชวิทยาลัยได้รับภาระร่างหลักสูตรแกนกลางวิชาพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่ขอรายงานให้ท่านทั้งหลายทราบว่าหลักสูตรแกนกลางนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ทุกโรงเรียนนำไปใช้แล้ว

หลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาตั้งแต่ชั้นระดับประถมศึกษาตอนต้นถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้บรรจุพุทธประวัติ ชาดกพุทธธรรมพื้นฐาน และแนะนำพระไตรปิฎก รวมทั้งศัพท์สำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย

หลักสูตรได้รับการออกแบบให้นักเรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับพระสงฆ์ หน้าที่และบทบาทของพระภิกษุด้วย นอกจากจะมีคุณค่าท่างด้านการศึกษาแล้ว เราเชื่อแน่ว่าหลักสูตรนี้จะส่งเสริมพระพุทธศาสนาโดยให้เด็กได้รับคำสอนที่มีค่า และจะปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยประกันว่าเด็จะได้รับการสอนพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง

การปฏิบัติธรรม

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง คือการปฏิบัติกรรมฐาน ในประเทศไทย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้รับการฝึกสอนและปฏิบัติกรรมฐานกัน ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมและวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งที่บ้าน

วัดในประเทศไทยมี ๒ ประเภท คือ วัดป่า มีพระสายปฏิบัติทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งสายนี้เรียกว่าอรัญญวาสี และ วัดบ้าน ที่มีพระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียนและจะเป็นทายาทบริหารงานคณะสงฆ์ ซึ่งสายนี้เรียกว่าคามวาสี การแยกวัดป่าออกจากวัดเมืองหมายความว่า มีพระภิกษุสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนแต่ไม่ใคร่ปฎิบัติธรรม และมีพระภิกษุสามเณรที่ปฏิบัติธรรมแต่ไม่ใคร่ศึกษาเล่าเรียน เราจึงพยายามที่จะรวมพระสงฆ์ทั้งสองสายนี้ โดยให้การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิชาบังคับแก่นิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจัดให้มีการปฏิบัติธรรมประจำปี โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร

เมื่อเราถือว่าการรักษาพระวินัยของพระสงฆ์และการรักษาศีล ๕ ของคฤหัสถ์เป็นการปฎิบัติธรรมด้วยแล้ว เราจำเป็นยอมรับข้อเท็จจริงด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ทำให้สังคมเกิดความแตกแยก และเกิดความเสื่อมทางด้านศีลธรรมส่วนตัวอย่างรวดเร็ว ชาวพุทธเองก็ไม่พ้นกฎข้อนี้ไปได้ และยังมีเรื่องฉาวโฉ่ทางกามโลกีย์ ความรุนแรง อาชญากร และการเสพย์ยาเสพติด ซึ่งส่อให้เห็นว่าพวกคฤหัสถ์เองก็ยังไม่สามารถรักษาศีล ๕ ได้อีกต่อไป จึงจำเป็นที่จะเรียกร้องให้ศีลธรรมและระเบียบวินัยในตนเองกลับคืนมา ข้อเท็จจริงที่ว่าความเสื่อมทรามทางด้านศีลธรรมเกิดขึ้นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วเป็นเครื่องชี้ว่า การเรียกร้องให้มีระเบียบวินัยในตนเองเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง

ในฝ่ายเถรวาทมีสิ่งมากมายที่จะหยิบยกมาเป็นปัญหาสมัยปัจจุบัน แต่เราต้องมีความพยายามที่จะครุ่นคิด ตีความหมายใหม่และใช้เหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสำหรับผู้เริ่มต้นในข้อนี้ ขอให้อ่านหนังสือของข้าพเจ้าเรื่อง "ศีลธรรมในพระพุทธศาสนา"

ข้าพเจ้าถือว่าการแก้ปัญหาสังคมก็เป็นการปฎิบัติธรรม ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสยืนยันว่า ความสะดวกสบายเป็นสิ่งจำเป็นในการฟังธรรม และเราก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ไม่น้อยด้วยการพยายามแก้ปัญหาความจำเป็นพื้นฐานของผู้อาจจะได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติธรรม คณะสงฆ์ไทย ได้ลงมือปฏิบัติในข้อนี้มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น ในภาคเหนือของไทย มีกิจกรรมสำคัญในการแก้ปัญหาการแพร่โรคเอดส์ ทั้งในด้านการต่อสู้โรคร้ายนี้โดยอาศัยการศึกษา และทั้งในด้านการเยียวยาปัญหาสังคมที่เกืดจากโรคเอดส์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดำเนืนจัดบรรพชาเยาวชนภาคฤดูร้อนเพื่อช่วยให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติดและอาชญากรรม และหันไปใช้ชีวิตที่ดีงามขึ้น นิสิตที่จะจบการศึกษาตากมหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติศาสนกิจช่วยเหลือสังคมเป็นเวลา ๑ ปี และเรายังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่นิสิตร่วมงานได้ เช่น โครงการพัฒนาชาวเขา และโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์

การส่งเสริมพระพุทธศาสนา

ในการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่คฤหัสถ์ มีหลายประเด็นที่จะขอกล่าวถึง

ประการแรก ธรรมเนียมนิยมในการเทศนา คือ พระสงฆ์นั่งบนธรรมาสน์และชาวบ้านนั่งบนพื้นพนมมือฟังธรรม ซึ่งเป็นลัษณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยชอบนัก และผลที่เกิดขึ้นคือมีเฉพาะคนแก่เท่านั้นที่เข้าวัดในวันพระสถานการณืยิ่งหนักซ้ำเข้าไปอีก เพราะวันพระตรงกับวันทำงานแลคนหนุ่มสาวมาวัดไม่ได้ มีพระธรรมเทศนาบ้างในวันอาทิตย์ แต่การไปวัดวันอาทิตย์ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก คนมักพูดว่าไม่มีเวลาไปวัดและฟังธรรม

ในการแก้ปัญหาวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้นำหลักเศรษฐศาสตร์มาจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่สอนเรื่องการพึ่งตนเองทางสายกลาง ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นแผนพัฒนาแบบยั่งยืนที่ขยายออกไปในการที่เศรษฐกิจจะหมุนต่อไปด้วยกัน จนพบกับความต้องการในระดับที่พอเพียง มากกว่าจะให้ระดับความมั่นคั่งที่มีความโลภเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่มมากขึ้น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่ประชาชนและประเทศต่าง ๆ พอใจกับระดับความมั่งคั่งที่มีเหตุผล และความมั่งคั่งนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นจากความเสียหายของผู้อื่น ทุกคนมีพอที่จะยังชีพและพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนชาวพุทธทุกระดับ ตั้งแต่ระดับส่วนตัว ชุมชนและระดับชาติ ที่จะให้คืนกลับมาหาคุณค่าทางพระพุทธศาสนา และให้มีกิจกรรมและนโยบายทางเศรษฐกิจตั้งอยู่บนคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งในการที่ทรงปฏิบัติเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในโลกสมัยปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลมหาชนกชาดกเป็นพากย์ภาษาไทยและอังกฤษ โดยมีการปรับให้เข้ากับสังคมปัจจุบันตามท้องเรื่อง พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมีอย่างยิ่งยวด ไม่ทรงประสงค์ผลตอบแทนอะไร ได้ทรงขึ้นครองราชย์และนำความรุ่งเรืองมาสู่พระราชอาณาจักรมหาหนกชาดกซึ่งจัดพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙เป็นหนังสือขายดีที่สุดและเหมาะกับเวลาในการย้ำเตือนให้คนไทยอดทนต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจและเพียรพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยอาศัยความเพียร ปัญญา และสุขภาพแข็งแรง

คณะสงฆ์ไทยได้ร่วมจัดทำกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น ก่อตั้งวัดและจัดให้มีพระธรรมทูตอยู่ประจำในประเทศตะวันตกหลายแห่ง ในประเทศไทยเองก็มีทั้งวัดและศูนย์ปฏิบัติธรรม ซึ่งคฤหัสถ์ทุกชาติสามารถเข้ามาเรียนรู้และปฏิบัติธรรมได้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ มีคำแนะนำทั้งภาคภาษาไทยและอังกฤษ มีหลายวัดด้วยกัน ซึ่งจัดขึ้นเฉพาะพระภิกษุชาวตะวัดตก ถ้าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นการเพาะปลูกสิ่งที่จะก่อให้เกิดความสุขและเป็นการกำจัดสิ่งที่จะนำทุกข์มาให้ไซร้

สิ่งที่ข้าพเจ้าเคยพูดมาในแง่ปฏิบัติแล้วก็นำมาประยุกต์ใช้ในที่นี้ได้ดี การเผยแผ่พระพุทธศาสนาส่วนหนึ่งยังหมายถึงการขจัดโรคร้ายทางสังคม ซึ่งมาพร้อมกับความทันสมัยและโลกาภิวัฒน์ ทั้งในแง่ของการลดความทุกข์ และในแง่ของการตระเตรียมคนให้ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า แน่นอนว่า ภารกิจส่วนใหญ่ในการนำชาวพุทธกลับมาหาพระพุทธศาสนาอีก ก็ โดยการสอนให้รู้จักวิธีการประยุกต์ใช้ "ประเพณีดั้งเดิม" ที่เขา "ต้องการ" จะยึดถือแล้วปรับให้เข้ากับสถานการณ์ "สมัยใหม่"ที่เขา "ต้อง" ดำเนินชีวิต ถึงแม้จะดูว่าขัดแย้งกับประเพณีดั้งเดิมก็ตาม

ดังที่กล่าวมากแล้ว ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เราฝึกอบรมพระสงฆ์ให้สามารถสอนวิชาพระพุทธเจ้าศาสนาตามโรงเรียนได้ เรายังจัดส่งนิสิตให้ออกไปฝึกปฏิบัติงานอยู่กับชาวบ้าน เราใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ทำคำสอนของพุทธเจ้า ให้สืบค้นได้ง่ายทั่วโลกเพียงแค่คลิกเมาส์ให้นิสิตได้สนทนาแลกเปลี่ยนและร่วมมือกันจัดกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ

ในการตอบสนอต่อโลกาภิวัฒน์ การเผยแผ่ของชาวพุทธยังต้องสร้างเครือข่ายชาวพุทธทั่วโลกทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชาวโลกกล่าวคือบางทีเราอาจจะต้องเข้าไปสู่กระแสโลกาภิวัฒน์เสียเอง เพื่อที่จะนำพระพุทธศาสนาให้มีคุณค่าต่อโลกยิ่งขึ้นเกี่ยวกับประเด็นนี้ข้าพเจ้าอยากจะทบทวนความคิดริเริ่ม ๒ ประการ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญ

ในปี ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งโลกครั้งที่ ๒ หรือที่เรียกกันว่า "การประชุมสุดยอดชาวพุทธ" ในประเทศไทยซึ่งการประชุมครั้งนี้มีผู้นำศาสนาระดับสูงจาก ๑๖ ประเทศซึ่งเป็นผู้แทนจากพระพุทธศาสนานิกายสำคัญทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายานเข้าประชุมร่วมกัน ผู้นำศาสนาเหล่านี้มิีเพียงพูดคุยกันเกี่ยวกับวิธีการที่จะทำงานร่วมกันในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขของมวลชนและให้ความร่วมมือกัน ในสิ่งที่จะก่อให้เกิดสันติภาพมั่นคงและทำให้มนุษย์ชาติและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังได้ลงนามรับรองกฎบัตรก่อตั้งการประชุมพุทธนี้ให้เป็นองค์กรถาวรผูกสัมพันธ์ผู้นำพุทธทั่วโลกทำงานร่วมกันให้ธรรมบริการแก่มนุษย์ชาติอีกด้วย

ในปีเดียวกันนั้นเอง ข้าพเจ้าพร้อมด้วยผู้แทนคณะสงฆ์ไทยได้เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดของผู้นำศาสนาและจิตวิญญาณเพื่อสันติภาพโลกในสหัสวรรษ ณ หอประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติมหานครนิวยอร์ก ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสนตร์ที่ผู้นำระดับสูงจากศาสนาสำคัญทั่วโลกทั้งหมดมาพบปะกันในที่แห่งเดียวกัน เพื่อพูดคุยถึงหนทางและวิธีการก่อให้เกิดสันติภาพแก่โลกนอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้ร่วมการประชุมซึ่งเป็นผลสืบเนื่องในปีถัดมาอีก ณ มหานครนิวยอร์ก เพื่อวางแผนปฏิบัติงานต่อไป และพูดคุยวิธีการที่จะให้เป้าหมายของการประชุมสุดยอดเพื่อสันติภาพในปี ๒๕๔๓ นำมาปฏิบัติให้เกิดผล

ผลก็คือการประชุมสภาผู้นำศาสนาโลกครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๖ โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและการประชุมสุดยอดเพื่อสันติภาพโลกในสหัสวรรษร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ผู้แทนระดับสูงของศาสนาต่าง ๆ ในโลก ได้พบปะพูดคุยกัน พร้อมกับร่วมกันแสวงหาเส้นทางสู่สันติภาพ การบรรเทาความยากจน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้มีการลงนามรับรองกฎบัตรก่อตั้งสภาผู้นำศาสนาโลกซึ่งประกอบด้วยศาสนาพุทธ ฮินดู เชน อิสลาม ยูดาย คริสต์และศาสนาอื่น ๆ เป็นองค์กรถาวร ลักษณะสำคัญของสภาผู้นำศาสนาโลกก็เพื่อทำงานใกล้ชิดกับองค์การสหประชาชาติในประเด็นเหล่านี้ในขณะเดียวกันต้องรักษาความเป็นองค์กรอิสระด้วย

ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เราได้จัดทำระเบียบว่าด้วยสถาบันการศึกษาในประเทศอื่น ๆ มาเป็นสถาบันสมทบกับมหาวิทยาลัยโดยมีประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เช่น วิทยาลัยพระพุทธศาสนาดองกุกชอนบอบในประเทศเกาหลีได้เข้ามาเป็นสถาบันสมทบกับเราเรียบร้อยแล้ว และวิทยาลัยพระพุทธศาสนาชิจูในไต้หวัน ได้สมัครเข้ามาเป็นสถาบันสมทบอีกแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เรากำลังสร้างเครือข่ายการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในระหว่างประเทศและนิกายที่แตกต่างกัน ดังนั้น การสนทนาแลกเปลี่ยนทางวิชาการจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันถูกจัดให้มีขึ้นและรักษาความมีชีวิตชีวาไว้ และจะเป็นกระบวนการเชื่อมไมตรีระหว่างผู้คนซึ่งยังไม่รู้จักกันและบางทีก็เริ่มจะเป็นปฏิบัติปักษ์ต่อกัน

การปกป้องพระพุทธศาสนา

ภารภิจสำคัญของพระสงฆ์ข้อสุดท้ายคือการปกป้องพระพุทธศาสนา สิ่งที่กล่าวมามากแล้วนั้น ก็เพื่อนำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนาจากการเข้าใจผิดและนำไปใช้ผิด มหันตภัยต่อพระพุทธศาสนาที่เห็นชัดอย่างหนึ่ง ก็คือการใช้กลยุทธ์เชิงรุกรานนี้เป็นสิ่งน่าห่วงใยมิใช่เฉพาะต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อีกหลาย ๆ ศาสนาด้วยเหมือนกัน วิธีการอย่างหนึ่งในการเผชิญสิ่งคุกคามเช่นนี้ ก็โดยที่เราพระสงฆ์ต้องสร้างความมั่นใจได้ว่าปฏิบัติตามหน้าที่ของเราต่อคฤหัสถ์อย่างถูกต้อง เช่น ให้คำแนะนำและช่วยเป็นภาระทางด้านการศึกษา ในขณะเดียวกันตัวพระสงฆ์เองต้องรักษาข้อพระวินัยอย่างเคร่งครัด

ในการโต้ข้อกล่าวหาของศาสนาคริสต์ที่กล่าวหาว่า พระพุทธศาสนาไม่สนใจปัญหาสังคมนั้น เราจะต้องจำไว้ว่า ชาวพุทธได้สร้างโรงพยาบาลและทำสาธารณประโยชน์อื่น ๆ มาก่อนที่พระเยซูอุบัติ เมื่อระลึกถึงข้อนี้ได้ เราก็ต้องหวนกลับไปทำงานด้านบริการสาธารณะและมีความเมตตาเป็นอย่างมาก ในคราวประชุมสภาผู้นำศาสนาของโลกที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกำกฏาคม ปี ๒๕๔๕ ปัญหาเรื่องการแย่งชิงกันเปลี่ยนศาสนาเป็นเรื่องน่าห่วงใยสำหรับผู้เข้าประชุมจากเกือบทุกศาสนา และเป็นเรื่องแน่ชัดว่า สภา ผู้นำศาสนาโลกจะไม่เห็นด้วยกับการให้ปลี่ยนศาสนาเชิงรุกรานใดๆ

สิ่งคุกคามอย่างมากต่อพระพุทธศาสนาก็คืออภัยภายในพระพุทธศาสนา จากการที่พระสงฆ์์ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามพระวินัย การล่วงละเมิดของพระเหล่านี้เป็นเหตุให้ภายในคระสงฆ์เองกลับเลวร้ายลงยิ่งขึ้น ทั้งคอยเป็นสนิมกัดกร่อนอำนาจของพระสงฆ์ในหมู่คฤหัสถ์ และกลับเป็นกระสุนแก่ผู้เป็นปรปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาเราต้องค้นหาหนทางที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้

สรุป

การพูดคุยกันเป็นสิ่งสำคัญในทุกระดับชั้นและเป็นสิ่งจำเป็นที่การพูดคุยซึ่งเรื่ม ณ ห้องประชุมนี้จะดำเนินต่อไปในอนาคตข้าพเจ้าขออนุโมทนาผู้จัดงานสำหรับการสร้างเวทีเช่นนี้ขึ้น ฉะนั้นจึงหวังต่อไปว่า ประเทศไทยจะสามารถรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเช่นนี้บ้าง ในอนาคตอันไม่ไกลนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างมากต่อคณะสงฆ์ศรีลังการุ่นเก่า ที่ในสมัยก่อนโน้มนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่ประเทศไทย และข้าพเจ้าขอนุโมทนาประชาชนชาวศรีลังกาในการพิทักษ์รักษาเชื้อสายของสยาโมปาลีมหานิกาย อย่างไม่ขาดสายเป็นเวลานานถึง ๒๕๐ ปี

คณะสงฆ์ได้ฝ่าคลื่นลมมรสุมรอดพ้นวิกฤตมาเป็นเวลากว่า ๒,๕๐๐ ปี นับตั้งแต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงก่อตั้งคณะสงฆ์นี้ขึ้นมา ถ้าคณะสงฆ์ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและประยุกต์ใช้พระธรรมวินัยอย่างถูกต้องตามพุทธประสงค์ ด้วยสติปัญญาพระพุทธศาสนาก็จะดำรงคงอยู่สถาพรในอนาคตกาล เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษยชาติตลอดไป


* พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) แสดงปาฐกถาในการประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติ ในกลุ่มผู้นับถือพระพุทธศาสนาว่าด้วย "ประเด็นและอนาคต" ณ เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ๑๕ มกราคม ๒๕๔๖



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย