ชายหนุ่มปราบยักษ์ ( สุตนชาดก )

 DhammathaiTeam  



ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภภิกษุผู้เลี้ยงมารดารูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลผู้ดีเก่าชื่อสุตนะอาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้วเขาก็ได้ออกรับจ้างหาเลี้ยงชีพเลี้ยงมารดา ในสมัยนั้นพระราชาชอบล่าสัตว์วันหนึ่งพระองค์เสด็จเข้าป่าลึกไปพร้อมทหารและอำมาตย์หมู่ใหญ่ตกลงกันว่า "ถ้าเนื้อวิ่งไปทางใคร คนนั้นจะถูกปรับ" วันนั้นมีละมั่งตัวหนึ่งวิ่งหนีไปทางพระราชา พระองค์เห็นแล้วก็ง้างธนูยิงไปละมั่งหลบได้ แต่ทำทีล้มลงนอนตาย พระราชานึกว่ามันตายแล้วจึงลงจากหลังม้าเดินไปดู ละมั่งรีบลุกขึ้นแล้ววิ่งหนีไป พระราชารีบควบม้าตามไป พร้อมมีเสียงหัวเราะเยาะของพวกอำมาตย์ตามหลังไป

พระราชาควบตามไปทันละมั่งแล้วฟันมันด้วยพระขรรค์ขาดเป็น ๒ ท่อน เพื่อระบายโทสะ ใช้ไม้เสียบคอนไว้ที่ท่อนหนึ่ง ด้วยความเมื่อยล้าจึงเข้าไปเอนกายที่ใต้ต้นไทรต้นหนึ่ง และม่อยหลับไป ที่ต้นไทรนั้นมียักษ์ตนหนึ่งอาศัยอยู่ มันตั้งกติกาไว้ว่าใครเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มไทรนี้จะถูกจับกิน มันจึงจับพระหัตถ์ของพระราชาปลุกให้ลุกขึ้นพร้อมที่จะกิน พระราชาเมื่อทราบว่ามันเป็นยักษ์ก็ขอไว้ชีวิตไว้ โดยมอบเนื้อละมั่งตัวนั้นให้ยักษ์กิน และสัญญาว่าจะส่งชาวเมืองมาให้ยักษ์กินเป็นประจำทุกวัน ยักษ์ตกลงตามนั้นพร้อมกับขู่ว่าถ้าหากวันใดไม่มีคนและอาหารมาให้กินจะจับพระราชากินเสีย

พระราชาเมื่อถูกยักษ์ปล่อยออกมาแล้ว ก็รีบนำทหารและอำมาตย์เข้าเมืองปรึกษากันในเรื่องนี้ อำมาตย์จึงเสนอว่า "ขอเดชะในเมืองเรา นักโทษก็มีอยู่มาก เบื้องแรกเราก็ให้นักโทษนำอาหารไปส่งยักษ์วันละคน ก็พอที่จะหาทางแก้ไขได้ พระเจ้าข้า" เมื่อตกลงกันตามนั้นแล้วก็ได้จัดส่งนักโทษไปให้ยักษ์กินเป็นประจำทุกวันจนนักโทษหมดจากคุก

พระราชาทรงกลัวความตายจึงรีบปรึกษาอำมาตย์อีกว่า จะทำอย่างไร อำมาตย์ได้ทูลเสนอว่า "ขอเดชะ เมื่อนักโทษหมดแล้วเช่นนี้ คนที่เห็นแก่เงินมีอยู่ดอกพระเจ้าข้า ขอเพียงพระองค์ตั้งค่าจ้างไว้สูง ๆ ย่อมมีคนอาสานำอาหารไปให้ยักษ์แน่นอนพระยะค่ะ" เมื่อตกลงกันตามนี้แล้ว ก็ให้ทหารป่าวประกาศไปทั่วเมืองปรากฏว่ามีคนมาสมัครเป็นจำนวนมาก แต่พอรู้ว่าจะต้องไปตายก็ลดเหลือไม่กี่คน ในจำนวนมาก แต่พอรู้ว่าจะต้องไปตายก็ลดเหลือไม่กี่คน ในจำนวนนั้นมีนายสุตนะด้วย

นายสุตนะคิดว่า "ทุกวันเรารับจ้างทำงานได้เพียงบาทเดียวแต่นี้อาสานำอาหารไปให้ยักษ์ครั้งเดียวตั้ง ๑,๐๐๐ บาท" จึงไปบอกแม่ที่บ้าน แม่ห้ามไว้ก็ไม่ฟัง เขาบอกแม่ว่า "แม่ครับ แม่ไม่ต้องเป็นห่วง ผมมีวิธีปราบยักษ์ไม่ยอมให้มันกินดอก จะเอาชีวิตรอดกลับมาหาแม่ให้จงได้"

ในวันรุ่งขึ้น เขาไปเข้าเฝ้าพระราชาทูลขอสิ่งของ ๔ อย่าง คือฉลองพระบาท ฉัตร พระขรรค์ และถาดทองคำใส่อาหารของพระราชา พระราชาทรงแปลกพระทัยจึงตรัสถามถึงสาเหตุที่ต้องการสิ่งของ ๔ อย่างนี้
นายสุตนะ จึงทูลให้ทราบว่า "ขอเดชะ ฉลองพระบาทของพระองค์จะช่วยชีวิตข้าพระองค์ เพราะยักษ์จะกินคนที่ยืนบนพื้นดินเท่านั้น ฉัตรของพระองค์ก็จะใช้กั้นเป็นร่ม เพราะยักษ์จะกินคนที่อยู่ภายใต้ร่มไทรเท่านั้น พระขรรค์พระองค์ก็จะใช้เป็นอาวุธสำหรับขู่ยักษ์ ส่วนถาดทองคำก็จะดีกว่าถาดกระเบื้องพะยะค่ะ "พระราชาทรงเลื่อมใสในสติปัญญาของเขา และรับสั่งให้มอบสิ่งของ ๔ อย่างนั้นแก่เขาไป

นายสุตนะให้ทหารนำสิ่งของ ๔ อย่างนั้นเดินตามหลังไปด้วย เมื่อถึงต้นไทรแล้วก็สวมฉลองพระบาททองคำ ขัดพระขรรค์กั้นเศวตฉัตรบนหัว ถือถาดทองคำใส่อาหารไปวางไว้ใกล้ต้นไทรนั้น แล้วใช้ปลายพระขรรค์ผักถาดเข้าไปภายใต้ร่มไม้นั้น ตนเองยืนอยู่ใต้เศวตฉัตรนอกร่มไทร ยักษ์เห็นอาการอันแปลกประหลาดของเขาก็เดาใจออก คิดจะลวงเขากินเป็นอาหารจึงพูดว่า "สหายหนุ่ม ขอเชิญท่านเข้ามารับทานอาหารร่วมกันภายใต้ร่มไทรนี้เถิด"

นายสุตนะตอบและขู่ยักษ์ว่า "ท่านยักษ์ เรานำอาหารมาให้ท่านแล้ว เรามีแม่แก่ชราที่ต้องเลี้ยงดูอยู่คนหนึ่ง ในเมืองก็หมดคนอาสานำอาหารมาให้ท่านแล้ว เหลือเราเพียงคนเดียวเท่านั้น ถ้าหากท่านกินเราเสียแล้ว ก็จะไม่มีใครนำอาหารมาให้ท่านอีกเลย ท่านก็จะจับพระราชาไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ยืนบนพื้น และไม่ได้อยู่ใต้ร่มไทรของท่านด้วย ถ้าท่านคิดจะต่อสู้กับเรา เราก็จะใช้พระขรรค์ฟันท่านเป็น ๒ ท่อน วันนี้เราเตรียมตัวมาดีแล้ว ท่านควรจะรักษาศีล ๕ เสียเถอะ"

ยักษ์เลื่อมใสในปัญญาของเขา จึงพูดว่า "สุตนะ เรายอมท่านแล้วล่ะ ขอเชิญท่านกลับไปพบมารดาของท่านเถิด และนับจากวันนี้เราจะเลิกกินมนุษย์ รักษาศีลเท่านั้น"

นายสุตนะให้ยักษ์รักษาศีล ๕ แล้วนำยักษ์เข้าเมืองไปประจำอยู่ที่ประตูเมือง เพื่อจะได้ง่ายต่อการส่งอาหาร พระราชาพอทราบว่านายสุตนะปราบยักษ์ได้แล้วก็ทรงปลาบปลื้มยินดีเป็นอย่างยิ่ง พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่เขาพร้อมทรัพย์สมบัติมากมาย

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ผู้มีปัญญารอบรู้สามารถช่วยให้ตนเองและคนอื่นรอดพ้นจากความฉิบหายได้

ที่มา : หนังสือนิทานชาดก โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

12,315






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย