พระโสณโกฬิวิสเถระ

ประวัติ / พระโสณโกฬิวิสเถระ

   พระโสณโกฬิวิสะ เป็นบุตรของอสุภเศรษฐีในนครจำปา นับตั้งแต่มารดาเริ่มตั้งครรภ์จนคลอด ชาวเมืองต่างพากันนำเครื่องบรรณาการมามอบให้แก่เศรษฐีเป็นอันมาก เมื่อคลอดแล้วมีผิวพรรณผุดผ่องงดงามดังนั้นมารดาบิดาจึงได้ขนานามนามว่า โสณะ ส่วนโกฬิวิสะเป็นชื่อแห่งโคตร

    โสณกุมารนั้นเป็นคนสุขุมาลชาติ มีโลมาที่ละเอียดอ่อนบังเกิดที่ฝ่าเท้าทั้งสอง ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจในจากมารดาบิดาเป็นอย่างดี เพราะมีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์

    เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสาร เจ้าผู้ครองแคว้นมคธ มีความประสงค์จะทอดพระเนตรโลมาที่ฝ่าเท้าของโสณเศรษฐีบุตร จึงรับสั่งให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดา โสณเศรษฐีบุตรพร้อมด้วยชาวบ้าน ประมาณแปดหมื่นคน เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาตามรับสั่งพระเจ้าพิมพิสารได้ฟังเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ที่พระองค์ตรัสสอนชาวบ้านประมาณแปดหมื่นคนก็เกิดความเลื่อมใส ได้แสดงตนเป็นอุบาสกแล้วหลีกไป

    ส่วนโสณเศรษฐีบุตรเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์แสดงเห็นว่าผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดุจสังข์ที่ขัดแล้วนั้นมิใช่จะทำได้โดยง่าย ข้าพระพุทธองค์ อยากจะบวช ขอพระองค์จงโปรดให้ข้าพระองค์บวชเถิด พระบรมศาสดาทรงให้บวชตามประสงค์

     ครั้นโสณโกฬิวิสะอุปสมบทแล้ว เดินทางไปทำความเพียรที่สีตวัน ปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมไม่หยุดจนเท้าแตก ก็ไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงดำริว่า บรรดาสาวกของพระบรมศาสดาที่ปรารภความเพียรแล้ว เราก็เป็นคนหนึ่ง ถึงอย่างนั้นจิตของเราก็ยังไม่พ้นจากอาสวะทั้งปวง ได้สมบัติของเราก็ยังมีอยู่มากมาย ถ้ากระไรเราจะสึกออกไปเสวยสมบัติและบำเพ็ญกุศลจะดีกว่า

    ฝ่ายพระบรมศาสดาทราบว่า พระโสณโกฬิวิสะปรารภความเพียรเดินจงกรมจนเท้าแตกแล้ว คิดเช่นนั้น จึงเสด็จไปถึงที่อยู่ของพระโสณโกฬิวิสะตรัสสอนให้ปรารภความเพียร แต่พอปานกลางไม่ยิ่งนัก ไม่หย่อนนัก โดยยกสายพิณ ๓ สายขึ้นเปรียบเทียบ ครั้นตรัสสอนแล้ว ได้เสด็จกลับสู่ที่ประทับ

     พระโสณโกฬิวิสะตั้งอยู่ในโอวาท ที่พระบรมศาสดาได้ตรัสสอน ปรารภความเพียรแต่พอประมาณ เจริญวิปัสสนาไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล

     ครั้นต่อมาวันหนึ่ง ท่านเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว จบพรหมจรรย์แล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีก มีภาระหนักอันวางแล้ว ได้ถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีธรรมที่ทำให้ติดอยู่ในภพหมดสิ้นแล้ว รู้ชอบ จึงพ้นแล้วจากอาสวะ ภิกษุผู้เป็นอรหันต์นั้นน้อมเข้าไปแล้วในคุณ ๖ สถาน คือ น้อมเข้าไปแล้วในบรรพชา,ในที่สงัด,ในความสำรวม ไม่เบียดเบียน,ในความไม่ถือมั่น,ในความไม่มีความอยาก และในความไม่หลง

    พระบรมศาสดาได้ทรงสดับแล้วตรัสสรรเสริญว่า พระโสณโกฬิวิสะพยากรณ์พระอรหันต์ กล่าวแต่เนื้อความไม่นำตนเข้าไปเทียบ และเพราะเหตุที่ท่านได้ปรารภความเพียรด้วยความอุตสาหะอย่างแรงกล้า แต่ครั้งยังไม่บรรลุอรหัตตผล

    พระบรมศาสดาจึงตรัสยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียรในพระพุทธศาสนา

 

   ครั้นท่านได้ดำรงเบญจขันธ์อยู่ต่อมาโดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน



   ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย