หมวด ๔ - จตุกกะ



(๑๓๖) กรรมกิเลส ๔ (กรรมเครื่องเศร้าหมอง, ข้อเสื่อมเสียของความประพฤติ - defiling actions; contaminating acts; vices of conduct)

๑. ปาณาติบาต (การตัดรอนชีวิต - destruction of life)

๒. อทินนาทาน (ถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้, ลักขโมย - taking what is not given)

๓. กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม - sexual misconduct)

๔. มุสาวาท (พูดเท็จ - false speech)

D.III.181.    ที.ปา.๑๑/๑๗๔/๑๙๕ (***) กัลยาณมิตร ๔ ในที่นี้ใช้เป็นคำเรียกมิตรแท้ ตามบาลีเรียกว่า สุททมิตร   ดู (๑๖๘) สุหทมิตร ๔ (***) กิจในอริยสัจ ๔   ดู (๑๙๘) กิจในอริยสัจ ๔



(๑๓๗) กุลจิรัฏฐิติธรรม ๔ (ธรรมสำหรับดำรงความมั่งคั่งของตระกูลให้ยั่งยืน, เหตุที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่งตั้งอยู่ได้นาน - reasons for lastingness of a wealthy family)

๑. นัฏฐคเวสนา (ของหายของหมด รู้จักหามาไว้ - seeking for what is lost)

๒. ชิณณปฏิสังขรณา (ของเก่าของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม - repairing what is worn out)

๓. ปริมิตปานโภชนา (รู้จักประมาณในการกินการใช้ - moderation in spending)

๔. อธิปัจจสีลวันตสถาปนา (ตั้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน - putting in authority a virtuous woman or man)

เหตุที่ตระกูลมั่งคั่งจะตั้งอยู่นานไม่ได้ พึงทราบโดยนัยตรงข้ามจากนี้.

A.II.249. องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๕๘/๓๓๓.



(๑๓๘) ฆราวาสธรรม ๔ (ธรรมสำหรับฆราวาส, ธรรมสำหรับการครองเรือน, หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์ - virtues for a good household life; virtues for lay people)

๑. สัจจะ (ความจริง, ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง - truth and honesty)

๒. ทมะ (การฝึกฝน, การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว, รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา - taming and training oneself; adjustment)

๓. ขันติ (ความอดทน, ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย - tolerance; forbearance)

๔. จาคะ (ความเสียสละ, สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว - liberality; generosity)

ในธรรมหมวดนี้ ทมะท่านมุ่งเอาด้านปัญญา ขันติท่านเน้นแง่วิริยะ.

S.I.215; Sn.189.    สํ.ส.๑๕/๘๔๕/๓๑๖; ขุ.สุ.๒๕/๓๑๑/๓๖๑.



(๑๓๙) จักร ๔ (ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมาย - virtues wheeling one to prosperity)

๑. ปฏิรูปเทสวาสะ (อยู่ในถิ่นที่ดี มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม - living in a suitable region; good or favorable environment)

๒. สัปปุริสูปัสสยะ (สมาคมกับสัตบุรุษ - association with good people)

๓. อัตตสัมมาปณิธิ (ตั้งตนไว้ชอบ, ตั้งจิตคิดมุ่งหมาย นำตนไปถูกทาง - setting oneself in the right course; aspiring and directing oneself in the right way)

๔. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว, มีพื้นเดิมดี, ได้สร้างสมคุณความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น - having formerly done meritorious deeds; to have prepared oneself with good background)

ธรรม ๔ ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พหุการธรรม คือธรรมมีอุปการะมาก (virtues of great assistance) เป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างความดีอื่นๆ ทุกอย่าง และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต บรรลุความงอกงามไพบูลย์.

D.II.142.    ที.ม.๑๐/๑๓๔/๑๖๕.



(๑๔๑) เจดีย์ ๔ (สิ่งที่ก่อขึ้น, ที่เคารพบูชา, สิ่งที่เตือนใจให้ระลึกถึง, ในที่นี้หมายถึง สถานที่หรือสิ่งที่เคารพบูชาเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา เรียกเต็มว่า สัมมาสัมพุทธเจดีย์ หรือ พุทธเจดีย์ - shrine, Buddhist monument; objects of homage)

๑. ธาตุเจดีย์ (เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ - a relic shrine; sepulchral or reliquary monument; stupa enshrining the Buddha's relics)

๒. บริโภคเจดีย์ (เจดีย์คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย อย่างแคบหมายถึงต้นโพธิ์ อย่างกว้างหมายถึงสังเวชนียสถาน ๔ ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบริโภค เช่น บาตร จีวร และบริขารอื่นๆ เป็นต้น - things and places used by the Buddha, esp. the Bodhi tree)

๓. ธรรมเจดีย์ (เจดีย์บรรจุพระธรรม เช่น บรรจุใบลานจารึกพุทธพจน์แสดงหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น - a doctrinal shrine; monument of the Teaching where inscribed palm-leaves or tablets or scriptures are housed)

๔. อุทเทสิกเจดีย์ (เจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป - a shrine by dedication, i.e. a Buddha-image)

เจดีย์เหล่านี้ ในที่มาแต่ละแห่งท่านแสดงไว้ ๓ ประเภท นับรวมที่ไม่ซ้ำเข้าด้วยกัน จึงเป็น ๔.

KhA.222; J.IV.228    ขุทฺทก.อ.๒๔๗; ชา.อ.๖/๑๘๕; วินย.ฎีกา ๑/๒๖๓.



(๑๔๒) ทักขิณาวิสุทธิ ๔ (ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา คือของทำบุญ - purifications of offerings; purities in gifts)

๑. ทักขิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (คือ ทายกมีศีลมีกัลยาณธรรม แต่ปฏิคาหกทุศีล มีบาปธรรม - the offering purified on the part of the giver, not of the recipient)

๒. ทักขิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (คือ ทายกทุศีล มีบาปธรรม แต่ปฏิคาหกมีศีล มีกัลยาณธรรม - the offering purified on the part of the recipient, not of the giver)

๓. ทักขิณาที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก (คือ ทั้งสองฝ่ายทุศีล มีบาปธรรม - the offering purfied on neither side)

๔. ทักขิณาที่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก (คือ ทั้งสองฝ่ายมีศีล มีกัลยาณธรรม - the offering purified on both sides)

D.III.231; M.III.256; A.II.80; Kvu.557.    ที.ปา.๑๑/๒๖๖/๒๔๓; ม.อุ.๑๔/๗๑๔/๔๖๑; องฺ.จตุกฺก.๒๑/๗๘/๑๐๔; อภิ.ก.๓๗/๑๗๓๒/๕๙๐. (***) ทรัพย์จัดสรรเป็น ๔ ส่วน  ดู (๑๖๒) โภควิภาค ๔.



(๑๔๓)  ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ (ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น - virtues conducive to benefits in the present; virtues leading to temporal welfare)

๑. อุฏฐานสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริตค มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินการให้ได้ผลดี - to be endowed with energy and industry; achievement of diligence)

๒. อารักขสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย - to be endowed with watchfulness; achievement of protection)

๓. กัลยาณมิตตตา (คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา - good company; association with good people)

๔. สมชีวิตา (มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ - balanced livelihood; living economically)

ธรรมหมวดนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ (อัตถะ แปลว่า ประโยชน์ จึงมีประโยชน์ซ้ำซ้อนกันสองคำ)

A.IV.281.   องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๔๔/๒๘๙. (***) เทวทูต ๔   ดู (๑๔๙) นิมิต ๔. (***) ธรรมมีอุปการะมาก ๔   ดู (๑๓๙) จักร ๔. (***) ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย ๔  ดู (๑๘๘) สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔.



(๑๔๔) ธรรมสมาทาน ๔ (ข้อที่ยึดถือเอาเป็นหลักความประพฤติปฏิบัติ, หลักการที่ประพฤติ, การที่กระทำ, การประกอบกรรม - religious undertakings; undertaken courses of practices)

๑. ธรรมสมาทานที่ให้ทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากต่อไป (เช่น การประพฤติวัตรทรมานตนของพวกอเจลก หรือการประพฤติอกุศลกรรมบถด้วยความยากลำบาก ทั้งมีความเดือดร้อนใจเป็นต้น - the undertaking the gives suffering in the present and results in suffering in the future)

๒. ธรรมสมาทานที่ให้ทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากต่อไป (เช่น ผู้ที่กิเลสมีกำลังแรงกล้า ฝืนใจพยายามประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ หรือผู้ที่ประพฤติกุศลกรรมบถด้วยความยากลำบาก เป็นต้น - the undertaking that gives suffering in the present but results in happiness in the future)

๓. ธรรมสมาทานที่ให้สุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป (เช่น การหลงมัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกาม หรือการประพฤติอกุศลกรรมบถด้วยความสนุกสนานพอใจ เป็นต้น - the undertaking that gives happiness in the present but results in suffering in the future)

๔. ธรรมสมาทานที่ให้สุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป (เช่น ผู้ที่กิเลสมีกำลังน้อย ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความพอใจ ได้เสวยเนกขัมมสุข หรือ ผู้ที่ประพฤติกุศลกรรมบถ ด้วยความพอใจ ได้เสวยสุขโสมนัส เป็นต้น - the undertaking that gives happiness in the present and results in happiness in the future)

D.III.229; M.I.305-316.    ที.ปา.๑๑/๒๕๑/๒๔๑; ม.มู.๑๒/๕๑๕-๕๓๔/๕๕๖-๕๗๕.



(๑๔๕)  ธาตุ ๔ (สิ่งที่ทรงสภาวะของตนอยู่เอง คือมีอยู่โดยธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีอัตตา มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวะ - elements) ได้แก่ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และ วาโยธาตุ คือ มหาภูต หรือ ภูตรูป ๔ นั่นเอง.   ดู (๓๙) มหาภูต ๔ และ (๑๔๖) ธาตุกัมมัฏฐาน ๔

(๑๔๖)  ธาตุกัมมัฏฐาน ๔ (กรรมฐานคือธาตุ, กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์ กำหนดพิจารณากายนี้แยกเป็นส่วนๆ ให้เป็นว่าเป็นเพียงธาตุสี่แต่ละอย่างไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา - meditation on the elements; meditation subject consisting of elements)

๑. ปฐวีธาตุ (the earth-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะแข้นแข็งเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

๒. อาโปธาตุ (the water-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะเอิบอาบเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้.

๓. เตโชธาตุ (the fire-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะร้อน ภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่ยังอาหารให้ย่อย หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะร้อนเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

๔. วาโยธาตุ (the air-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะพัดผันเคร่งตึง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายในสำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปตามตัว ลมหายใจ หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะพัดผันไปเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

ตัวอย่างธาตุที่แสดงข้างต้นนี้ ในปฐวีธาตุมี ๑๙ อย่าง ในอาโปธาตุมี ๑๒ อย่าง เติมมัตถลุงค์ คือมันสมอง เข้าเป็นข้อสุดท้ายในปฐวีธาตุ รวมเป็น ๓๒ เรียกว่า อาการ ๓๒ หรือ ทวัตติงสาการ.

ธาตุกัมมัฏฐานนี้ เรียกอย่างอื่นว่า ธาตุมนสิการ (การพิจารณาธาตุ - contemplation on the elements) บ้าง จตุธาตุววัฏฐาน (การกำหนดธาตุสี่ - determining of the four elements) บ้าง เมื่อพิจารณากำหนดธาตุ ๔ ด้วยสติสัมปชัญญะ มองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไปในกาย ตระหนักว่ากายนี้ก็สักว่ากาย มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ดังนี้ จัดเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานส่วนหนึ่ง (หมวดที่ ๕ คือ ธาตุมนสิการบรรพ).

D.II.244; M.I 185; M.III.240; Vism.347.   ที.ม.๑๐/๒๗๘/๓๒๙; ม.มู.๑๒/๓๔๒/๓๕๐; ม.อ.๑๔/๖๘๔-๗/๔๓๗; วิสุทธิ.๒/๑๖๑.



(๑๔๗) ธาตุ ๖ (the six elements) ได้แก่ธาตุ ๔ หรือมหาภูต ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และ วาโยธาตุ นั้น กับเพิ่มอีก ๒ อย่าง คือ

๕. อากาสธาตุ (สภาวะที่ว่าง โปร่งไป เป็นช่อง - the space-element)

๖. วิญญาณธาตุ (สภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์, ธาตุรู้ ได้แก่ วิญญาณธาตุ ๖ คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสต~ ฆาน~ ชิวหา~ กาย~ มโนวิญญาณธาตุ - element of consciousness; consciousness-element)

ดู (๓๙) มหาภูต ๔ และ (๑๔๕) ธาตุ ๔.

M.III.31; Vbh.82.   ม.อุ.๑๔/๑๖๙/๑๒๕; อภิ.วิ.๓๕/๑๑๔/๑๐๑.



(๑๔๘) ธาตุกัมมัฏฐาน ๖ ได้แก่ ธาตุกัมมัฏฐาน ๔ นั้น และเพิ่มอีก ๒ อย่าง คือ

๕. อากาสธาตุ (the space-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะเป็นช่องว่าง ภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์ เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องทวารหนัก ทวารเบา ช่องแห่งอวัยวะทั้งหลาย หรือที่อื่นใดที่มีลักษณะเป็นช่องว่างอย่างเดียวกันนี้

๖. วิญญาณธาตุ (the consciousness-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะเป็นเครื่องรู้แจ้งอารมณ์ กล่าวคือ วิญญาณธาตุ ๖.

ดู (๑๔๖) ธาตุกัมมัฏฐาน ๔; (๑๔๗) ธาตุ ๖.

M.III.240.   ม.อุ.๑๔/๖๘๔-๙/๔๓๗-๔๔๐.



(๑๔๙) นิมิต ๔ (เครื่องหมาย, เครื่องกำหนด, สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็น อันเป็นเหตุปรารภที่จะเสด็จออกบรรพชา - the Four Signs; the Four Sights on seeing which the Bodhisatta went forth in the Great Renunciation)

๑. ชิณณะ (คนแก่ - an old man)

๒. พยาธิตะ หรือ อาพาธิกะ (คนเจ็บ - a sick man)

๓. กาลกตะ (= มตะ, คนตาย - a dead man)

๔. ปัพพชิตะ (บรรพชิต, นักบวช - a religious; holy man; monk)

สามอย่างแรกมีชื่อเรียกรวมว่า เทวทูต ๓ เป็นเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนให้ระลึกถึงความทุกข์ตามคติธรรมดาของชีวิตและบังเกิดความสังเวช อย่างที่สี่คือบรรพชิต เป็นเครื่องหมายให้มองเห็นทางออกที่จะพ้นไปจากทุกข์ บางแห่งท่านเรียกรวมๆ ไปว่าเทวทูต ๔ โดยอธิบายชั้นหลังว่า เป็นทูตของวิสุทธิเทพ แต่ตามบาลีเรียกว่านิมิต ๔.

D.II.22; Bv.XVII.14.   ที.ม.๑๐/๓๒-๓๘/๒๔-๓๕; ขุ.พุทฺธ.๓๓/๒๖/๕๔๔.



(๑๕๐) บริษัท ๔ (ชุมนุม, ที่ประชุม, หมู่แห่งพุทธศาสนิก, ชุมชนชาวพุทธ - the Four Assemblies; companies)

๑. ภิกษุบริษัท (assembly of monks; Bhikkhus)

๒. ภิกษุณีบริษัท (assembly of monks; Bhikkhunis)

๓. อุบาสกบริษัท (assembly of lay-followers)

๔. อุบาสิกาบริษัท (assembly of female lay-followers)

A.II.132.   องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๒๙/๑๗๘.



(๑๕๑) บริษัท ๔ (ชุมนุม, ที่ประชุม ชุมชนตามระบบสังคม - assembly; company)

๑. ขัตติยบริษัท (ชุมนุมเจ้านาย - company of noblemen)

๒. พราหมณบริษัท (ชุมนุมพราหมณ์ - company of brahmins)

๓. คหบดีบริษัท (ชุมนุมคฤหบดี - company of householders)

๔. สมณบริษัท (ชุมนุมสมณะ - company of recluses)

A.II.132.   องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๓๐/๑๗๙.



(๑๕๒) บุคคล ๔ (ประเภทของบุคคล - four kinds of persons)

๑. อุคฆฏิตัญญู (ผู้ที่พอยกหัวข้อก็รู้, ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน แต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง - a person of quick intuition; the genius; the intuitive)

๒. วิปจิตัญญ (ผู้รู้ต่อเมื่อขยายความ, ผู้รู้เข้าใจได้ ต่อเมื่อท่านอธิบายความพิสดารออกไป - a person who understands after a detailed treatment; the intellectual)

๓. เนยยะ (ผู้ที่พอจะแนะนำได้, ผู้ที่พอจะค่อยชี้แจงแนะนำให้เข้าใจได้ ด้วยวิธีการฝึกสอนอบรมต่อไป - a person who is guidable; the trainable)

๔. ปทปรมะ (ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง, ผู้อับปัญญา สอนให้รู้ได้แต่เพียงตัวบทคือพยัญชนะหรือถ้อยคำ ไม่อาจเข้าใจอรรถคือความหมาย - a person who has just word of the text at most; an idiot)

A.II.135; Pug 41; Nett.7,125.   องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๓๓/๑๘๓; อภิ.ปุ.๓๖/๑๐๘/๑๘๕.



(๑๕๓) ปฏิปทา ๔ (แนวปฏิบัติ, ทางดำเนิน, การปฏิบัติแบบที่เป็นทางดำเนินให้ถึงจุดหมาย คือความหลุดพ้นหรือความสิ้นอาสวะ - modes of practice; modes of progress to deliverance)

๑. ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะ แรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นอยู่เนืองๆ หรือเจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น อีกทั้งอินทรีย์ก็อ่อนจึงบรรลุโลกุตตรมรรคล่าช้า พระจักขุบาลอาจเป็นตัวอย่างในข้อนี้ได้ - painful progress with slow insight)

๒. ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะแรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นอยู่เนืองๆ หรือเจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น แต่มีอินทรีย์แก่กล้า จึงบรรลุโลกุตตรมรรคเร็วไว บาลียกพระมหาโมคคัลลานะเป็นตัวอย่าง - painful progress with quick insight)

๓. สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสบาย แต่รู้ได้ช้า เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะ นั้น เนืองนิตย์ หรือเจริญสมาธิได้ฌาน ๔ อันเป็นสุขประณีต แต่มีอินทรีย์อ่อนจึงบรรลุโลกุตตรมรรคล่าช้า - pleasant progress with slow insight)

๔. สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสบาย ทั้งรู้ได้ไว เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นเนืองนิตย์ หรือเจริญสมาธิได้ฌาน ๔ อันเป็นสุขประณีต อีกทั้งมีอินทรีย์แก่กล้าจึงบรรลุโลกุตตรมรรคเร็วไว บาลียกพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง - pleasant progress with quick insight)

A.II.149-152,154-5     องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๖๑-๓/๒๐๐-๔; ๑๖๗-๘/๒๐๗-๙



(๑๕๔) ปฏิสัมภิทา ๔ (ปัญญาแตกฉาน - analytic insight; discrimination)

๑. อัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาแจ้งในความหมาย, เห็นข้อธรรมหรือความย่อ ก็สามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่ง ก็สามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่ง ก็สามารถคิดแยกแยะกระจายเชื่อมโยงต่อออกไปได้จนล่วงรู้ถึงผล - discrimination of meanings; analytic insight of consequence)

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ้งใจหลัก, เห็นอรรถาธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อได้ เห็นผลอย่างหนึ่ง ก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้ - discrimination of ideas; analytic insight of origin)

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ, ปรีชาแจ้งในภาษา, รู้ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ และภาษาต่างๆ เข้าใจใช้คำพูดชี้แจ้งให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้ - discrimination of language; analytic insight of philology)

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ. ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบ ซึมซาบในความรู้ที่มีอยู่ เอามาเชื่อมโยงเข้าสร้างความคิดและเหตุผลขึ้นใหม่ ใช้ประโยชน์ได้สมเหมาะ เข้ากับกรณีเข้ากับเหตุการณ์ - discrimination of sagacity; analytic insight of ready wit; initiative; creative and applicative insight)

A.II.160; Ps.I.119; Vbh.294.    องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๗๒/๒๑๖; ขุ.ปฏิ.๓๑/๒๖๘/๑๗๕; อภิ.วิ.๓๕/๗๘๔/๔๐๐.



(๑๕๕) ปธาน ๔ (ความเพียร - effort; exertion)

๑. สังวรปธาน (เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น - the effort to prevent; effort to avoid)

๒. ปหานปธาน (เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว - the effort to abandon; effort to overcome)

๓. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี - the effort to develop)

๔. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ - the effort to maintain)

ปธาน ๔ นี้ เรียกอีกอย่างว่า สัมมัปธาน ๔ (ความเพียรชอบ, ความเพียรใหญ่ - right exertions; great or perfect efforts.)

A.II.74,16,15.    องฺ.จตุกฺก.๒๑/๖๙/๙๖; ๑๔/๒๐; ๑๓/๑๙.



(๑๕๖) ปรมัตถธรรม ๔ (สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์, สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด - ultimate realities; abstract realities; realities in the ultimate sense)

๑. จิต (สภาพที่คิด, ภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ - consciousness; state of consciousness)

๒. เจตสิก (สภาวะที่ประกอบกับจิต, คุณสมบัติและอาการของจิต - mental factors)

๓. รูป (สภาวะที่เป็นร่าง พร้อมทั้งคุณและอาการ - matter; corporeality)

๔. นิพพาน (สภาวะที่สิ้นกิเลสและทุกข์ทั้งปวง, สภาวะที่ปราศจากตัณหา)

ดู รายละเอียดแต่ละอย่างใน (๓๔๒) จิต ๘๙; (๓๔๑) เจตสิก ๕๒; (๓๘) รูป ๓๘; (๒๗) นิพพาน ๒.

Comp.81.   สังคห.๑



(๑๕๗) ประมาณ หรือ ปมาณิก ๔ (บุคคลที่ถือประมาณต่างๆ กัน, คนในโลกผู้ถือเอาคุณสมบัติต่างๆ กัน เป็นเครื่องวัดในการที่จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใส - those who measure, judge or take standard)

๑. รูปประมาณ (ผู้ถือประมาณในรูป, บุคคลที่มองเห็นรูปร่างสวยงาม ทรวดทรงดี อวัยวะสมส่วน ท่าทางสง่า สมบูรณ์พร้อม จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures by from or outward appearance; one whose faith depends on good appearance)

๒. โฆษประมาณ (ผู้ถือประมาณในเสียง, บุคคลที่ได้ยินได้ฟังเสียงสรรเสริญ เกียรติคุณหรือเสียงพูดจาที่ไพเราะ จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures by voice or reputation; one whose faith depends on sweet voice or good reputation)

๓. ลูขประมาณ (ผู้ถือประมาณในความคร่ำหรือเศร้าหมอง, บุคคลที่มองเห็นสิ่งของเครื่องใช้ความเป็นอยู่ที่เศร้าหมองเช่น จีวรคร่ำๆ เป็นต้น หรือมองเห็นการกระทำคร่ำเครียดเป็นทุกรกิริยา ประพฤติเคร่งครัดเข้มงวดขูดเกลาตน จึงชอบใจ เลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures or judges by shabbiness, mediocrity or hard life; one whose faith depends on shabbiness or ascetic or self-denying practices)

๔. ธรรมประมาณ (ผู้ถือประมาณในธรรม, บุคคลที่พิจารณาด้วยปัญญาเห็นสารธรรมหรือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงชอบใจเลื่อมใส น้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures or judges by the teaching or righteous behavior; one whose faith depends on right teachings and practices)

บุคคล ๓ จำพวกต้น ยังมีทางพลาดได้มาก โดยอาจเกิดความคิดใคร่ ถูกครอบงำชักพาไปด้วยความหลง ถูกพัดวนเวียนหรือติดอยู่แค่ภายนอกไม่รู้จักคนที่ตนมองได้อย่างแท้จริงและไม่เข้าถึงสาระ ส่วนผู้ถือธรรมเป็นประมาณ จึงจะรู้ชัดคนที่ตนมองอย่างแท้จริง ไม่ถูกพัดพาไป เข้าถึงธรรมที่ปราศจากสิ่งครอบคลุม

พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสี่ข้อ (เฉพาะข้อ ๓ ทรงถือแต่พอดี) จึงทรงครองใจคนทุกจำพวกได้ทั้งหมด คนที่เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ที่จะไม่เลื่อมใสนั้น หาได้ยากยิ่งนัก

ในชั้นอรรถกถา นิยมเรียกบุคคล ๔ ประเภทนี้ว่า รูปัปปมาณิกา โฆสัปปมาณิกา ลูขัปปมาณิกา และ ธัมมัปปมาณิกา ตามลำดับ

A.II.71; Pug.7.,53; DhA.114; SnA.242.    องฺ.จตุกฺก.๒๑/๖๕/๙๓; อภิ.ปุ.๓๖/๑๐/๑๓๕; ๑๓๓/๒๐๔; ธ.อ.๕/๑๐๐; สุตฺต.อ.๑/๓๒๙.



(๑๕๘) ปัจจัย ๔ (สิ่งค้ำจุนชีวิต, สิ่งจำเป็นเบื้องต้นของชีวิต, สิ่งที่ต้องอาศัยเลี้ยงอัตตภาพ - the four necessities of life; requisites)

๑. จีวร (ผ้านุ่งห่ม - robes; clothing)

๒. บิณฑบาต (อาหาร - almsfood; food)

๓. เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย, ที่นั่งที่นอน - lodging)

๔. คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือ เภสัช (ยาและอุปกรณ์รักษาโรค - medicine; medical equipment)

สี่อย่างนี้ สำหรับภิกษุ จำกัดเข้าอีกเรียกว่า นิสสัย ๔ แปลว่า เครื่องอาศัยของบรรพชิต (resources; means of support on which the monastic life depends)

๑. ปิณฑิยาโลปโภชนะ (โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง - almsfood of scraps; food obtained by going on the alms-gathering)

๒. บังสุกุลจีวร (ผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะหรือตามป่าช้า - discarded cloth taken from the rubbish heap or the charnel ground; rag-robes)

๓. รุกขมูลเสนาสนะ (อยู่อาศัยโคนไม้ - dwelling at the foot of a tree)

๔. ปูติมุตตเภสัช (ยาน้ำมูตรเน่า - medicines pickled in stale urine; ammonia as a medicine)

ส่วนที่อนุญาตนอกเหนือจากนี้ เป็น อติเรกลาภ (extra acquisitions; extra allowance)

Vin.1.58    วินย.๔/๘๗/๑๐๖.



(๑๕๙) ปาริสุทธิศีล ๔ (ศีลคือความบริสุทธิ์, ศีลเครื่องให้บริสุทธิ์, ความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีล - morality consisting in purity; morality for purification; morality of pure conduct)

๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นจากข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย - restraint in accordance with the monastic disciplinary code)

๒. อินทรียสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ - restraint of the senses; sense-control)

๓. อาชีวปาริสุทธิศีล (ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่ประกอบอเนสนา มีหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพเป็นต้น - purity of conduct as regards livelihood)

๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล (ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัย ๔ ได้แก่ ปัจจัยปัจจเวกขณ์ คือ พิจารณาใช้สอยปัจจัยสี่ ให้เป็นไปตามความหมายและประโยชน์ของสิ่งนั้น ไม่บริโภคด้วยตัณหา - pure conduct as regards the necessaries of life)

Vism.16; Comp.212    วิสุทฺธิ.๑/๑๙; สังคห.๕๕. (***) ผล ๔   ดู (๑๖๔) ผล ๔. (***) พร ๔   ดู (๒๑๙) พร ๕



(๑๖๐) พรหมวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ - holy abidings; sublime states of mind)

๑. เมตตา (ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า - loving-kindness; friendliness)

๒. กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ - compassion)

๓. มุทิตา (ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป - sympathetic joy; altruistic joy)

๔. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้ง รู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน - equanimity; neutrality; poise)

ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม

พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม, ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม, หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่ - (abidings of the Great Ones).

พรหมวิหาร ๔ เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา ๔ (unbounded states of mind; illimitables) เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต

พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น.

D.II.196; D.III.220; Dhs.262; Vism.320.    ที.ม.๑๐/๑๘๔/๒๒๕; ที.ปา.๑๑/๒๒๘/๒๓๒; อภิ.สํ.๓๔/๑๙๐/๗๕; วิสุทธิ.๒/๑๒๔ (***) พละ ๔   ดู (๒๒๑) พละ ๔ (***) พุทธลีลาในการสอน ๔   ดู (๑๗๑) ลีลาการสอน ๔ (***) ภาวนา ๔   ดู (๓๗) ภาวนา ๔



(๑๖๑) ภูมิ ๔ (ชั้นแห่งจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต - planes of consciousness; planes of existence; degrees of spiritual development)

๑. กามาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม, ระดับจิตใจที่ยังปรารภกามเป็นอารมณ์ คือยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ, ระดับจิตใจของสัตว์ในกามภพทั้ง ๑๑ ชั้น - sensuous plane)

๒. รูปาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป, ระดับจิตใจที่ปรารภรูปธรรมเป็นอารมณ์, ระดับจิตใจของท่านผู้ได้ฌานหรือผู้อยู่ในรูปภพทั้ง ๑๖ ชั้น - form-plane)

๓. อรูปาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป, ระดับจิตใจที่ปรารภอรูปธรรมเป็นอารมณ์, ระดับจิตใจของท่านผู้ได้อรูปฌาน หรือผู้อยู่ในอรูปภพทั้ง ๔ ชั้น - formless plane)

๔. โลกุตตรภูมิ (ชั้นที่พ้นจากโลก, ระดับแห่งโลกุตตรธรรม, ระดับจิตใจของพระอริยเจ้าอันพ้นแล้วจากโลกิยภูมิ ๓ ข้างต้น - supramundane plane) ข้อนี้ในบาลีที่มาเรียกว่า อปริยาปันนภูมิ.

ดู (๙๗) ภพ ๓ และ (๓๓๗) ภูมิ ๔, ๓๑ ด้วย.

Ps.I.83.     ขุ.ปฏิ.๓๑/๑๗๑/๑๒๒.



(๑๖๒) โภควิภาค ๔ (การแบ่งโภคะเป็น ๔ ส่วน, หลักการแบ่งทรัพย์โดยจัดสรรเป็น ๔ ส่วน - fourfold division of money)

๑. เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย (๑ ส่วน ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์ - On one part he should live and do his duties towards others.)

๒-๓. ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย (๒ ส่วน ใช้ลงทุนประกอบการงาน - With two parts he should expand his business.)

๔. จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย (อีก ๑ ส่วน เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น - And he should save the fourth for a rainy day.)

D.III.188.   ที.ปา.๑๑/๑๙๗/๒๐๒



(๑๖๓) มรรค ๔ (ทางเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด - the path)

๑. โสดาปัตติมรรค (มรรคอันให้ถึงกระแสที่นำไปสู่พระนิพพานทีแรก, มรรคอันให้ถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส - the path of stream-entry)

๒. สกทาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ ข้อต้น กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง - the path of once-returning)

๓. อนาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอนาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้ง ๕ - the path of non-returning)

๔. อรหัตตมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นเหตุละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ - the path of Arahantship).

ดู (๓๑๗) สังโยชน์ ๑๐.

Vbh.335. อภิ.วิ.๓๕/๘๓๗/๔๕๓.



(๑๖๔) ผล ๔ (ผลที่เกิดสืบเนื่องจากการละกิเลสได้ด้วยมรรค, ธรรมารมณ์อันพระอริยะพึงเสวย ที่เป็นผลเกิดเองในเมื่อกิเลสสิ้นไปด้วยอำนาจมรรคนั้นๆ - fruition)

๑. โสดาปัตติผล (ผลแห่งการเข้าถึงกระแสที่นำไปสู่พระนิพพาน, ผลอันพระโสดาบันพึงเสวย - fruition of stream-entry)

๒. สกทาคามิผล (ผลอันพระสกทาคามีพึงเสวย - fruition of once-returning)

๓. อนาคามิผล (ผลอันพระอนาคามีพึงเสวย - fruition of non-returning)

๔. อรหัตตผล (ผลคือความเป็นพระอรหันต์, ผลอันพระอรหันต์พึงเสวย - fruition of Arahantship)

ผล ๔ นี้ บางทีเรียกว่า สามัญญผล (ผลของความเป็นสมณะ, ผลแห่งการบำเพ็ญสมณธรรม - fruits of a monk's life; fruits of the monkhood)

D.III.227; Vbh.335.   ที.ปา.๑๑/๒๔๒/๒๔๐; อภิ.วิ.๓๕/๘๓๗/๔๕๓.



(๑๖๕) มหาปเทส ๔ (ที่อ้างอิงข้อใหญ่, หลักใหญ่สำหรับอ้างเพื่อสอบสวนเทียงเคียง  หมวดที่ ๑ ว่าด้วยหลักทั่วไป - great authorities; principal references or citations)

๑. หากมีภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (A monk might say: "Face to face with the Blessed One did I hear this; face to face with him did I receive this. This is the Doctrine, this is the Discipline, this is the Master's teaching.")

๒. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีสงฆ์อยู่ พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (A monk might say: "In such and such a monastery resides oa Order together with an elder monk, together with a leader. Face to face with that Order did I hear this;...)

๓. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นพระเถระอยูจำนวนมากเป็นพหูสูต ถึงอาคม (คือชำนาญในพุทธพจน์ทั้ง ๕ นิกาย) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (A monk might say: "In such and such a monastery reside a great number of elder monks, widely leared, versed in the Collections, experts on the Doctrine, experts on the Discipline, experts on the Summaries, In the presence of those monks did I hear this; ...)"

๔. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นพระเถระอยู่รูปหนึง เป็นพหูสูต ถึงอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้า พระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (A monk might say: "In such and such a monastery resides an elder monk of wide learning...)"

เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะ (ทั้งข้อความและถ้อยคำ) เหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตรเทียบดูในวินัย (The words of that monk are neither to be welcomed nor scorned, the words and syllables thereof are to be studied thoroughly, laid beside the Discourses and compared with the Discipline.)

ก. ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่นอน ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้นพระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิด พึงทิ้งเสีย (If, when laid beside the Discourses and compared with the Discipline, these words and syllables lie not along with the Discourses and agree not with the Discipline then you nay come to the conclusion; Surely this is not the word of the Blessed One, and it has been wrongly grasped by that monk. Then erject it.)

ข. ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น พระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดี (If.... they lie along with the Discourses and agerr with the discipline.... Surely this is the word of the Blessed One....)

โดยสรุป คือ การยกข้ออ้างหรือหลักฐาน ๔ (the four principal appeals to authority) คือ

๑. พุทธาปเทส (ยกเอาพระพุทธเจ้าขึ้นอ้าง - the appeal to the Enlightened One as authority)

๒. สังฆาปเทส (ยกเอาพระสงฆ์ขึ้นอ้าง - the appeal to a community of monks or an Order as authority)

๓. สัมพหุลัตเถราปเทส (ยกเอาพระเถระจำนวนมากขึ้นอ้าง - the appeal to a number of elders as authority)

๔. เอกเถราปเทส (ยกเอาพระเถระรูปหนึ่งขึ้นอ้าง - the appeal to a single elder as authority)

D.II.123; A.II.167.   ที.ม.๑๐/๑๑๓/๑๔๔; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๘๐/๒๒๗.



(๑๖๖) มหาปเทส ๔  หมวดที่ ๒ เฉพาะในทางพระวินัย - great authorities; principal references)

๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร (Whatever has not been objected to as not allowable, if it fits in with what is not allowable and goes against what is allowable, that is not allowable.)

๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร (Whatever has not been objected to as not allowable, if it fits in with what is allowable and goes against what is not allowable, that is allowable.)

๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร (Whatever has not been permitted as allowable, if it fits in with what is not allowable and goes against what is allowable, that is not allowable.)

๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร(กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร(อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร (Whatever has not been permitted as allowable, of it fits in with what is allowable and goes against what is not allowable, that is allowable.)

Vin.I.250   วินย.๕/๙๒/๑๓๑.



(๑๖๗) มิตรปฏิรูปก์ หรือ มิตรเทียม ๔ (คนเทียมมิตร, คนที่พึงทราบว่า เป็นศัตรูผู้มาในร่างของมิตร - false friends; foes in the guise of friends)

๑. คนปอกลอก คนขนเอาของเพื่อนไปถ่ายเดียว (อัญญทัตถุหร - the out-and-out robber) มีลักษณะ ๔ คือ

๑) คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๒) ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอามาก
๓) ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
๔) คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์

a) He appropriates his friend's possessions.
b) Giving little, he expects a lot in return.
c) He gives a helping hand only when he himself is in danger.
d) He makes friends with others only for his own interests.

๒. คนดีแต่พูด (วจีบรม - the man who pays lip-service) มีลักษณะ ๔ คือ

๑) ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย
๒) ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
๓) สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
๔) เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

a) He speaks you fair about the past.
b) He speaks you fair about the future
c) He tries to gain your favor by empty sayings.
d) When tries to gain your favor by empty sayings.

๓. คนหัวประจบ (อนุปปิยภาณี - the flatterer) มีลักษณะ ๔ คือ

๑) จะทำชั่วก็เออออ
๒) จะทำดีก็เออออ
๓) ต่อหน้าสรรเสริญ
๔) ลับหลังนินทา

a) He consents to your doing wrong.
b) He consents to your doing right.
c) He sings your praises to your face.
d) He runs your down behind your back.

๔. คนชวนฉิบหาย (อปายสหาย - the leader to destruction) มี ลักษณะ ๔ คือ

๑) คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
๒) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
๓) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
๔) คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

a) He is your companion when you indulge in drinking.
b) He is your companion when you roam the streets at unseemly hours.
c) He is your companion when you frequent shows and fairs.
d) He is your companion when you indulge in gambling.

D.III.185.    ที.ปา.๑๑/๑๘๖/๑๙๙.



(๑๖๘) สุหทมิตร หรือ มิตรแท้ ๔ (มิตรมีใจดี, มิตรที่จริงใจ - true friends; true-hearted friends)

๑. มิตรอุปการะ (อุปการกะ - the helper) มีลักษณะ ๔ คือ

๑) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
๒) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
๓) เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔) มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

a) He guards you when you are off your guard.
b) He guards your property when you are off your guard.
c) He is a refuge to you when you are in danger.
d) He provides a double supply of what you may ask in time of need.

๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ (สมานสุขทุกข์ - the man who is the same in weal and woe) มีลักษณะ ๔ คือ

๑) บอกความลับแก่เพื่อน
๒) ปิดความลับของเพื่อน
๓) มีภัยอันตราย ไม่ละทิ้ง
๔) แม้ชีวิตก็สละให้ได้

a) He tells you his secrets.
b) He keeps secret your secrets.
c) He does not forsake you in your troubles.
d) He can even die for your sake.

๓. มิตรแนะประโยชน์ (อัตถักขายี - the man who gives good counsel) มีลักษณะ ๔ คือ

๑) จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้
๒) คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓) ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
๔) บอกทางสุขทางสวรรค์ให้

a) He keeps you back from evil.
b) He encourages you to do good.
c) He informs you of what you have not heard.
d) He shows you the way to heaven.

๔. มิตรมีน้ำใจ (อนุกัมปกะ มิตรมีความรักใคร่ หรือมิตรผู้รักใคร่เอ็นดู - the man who sympathizes) มีลักษณะ ๔ คือ

๑) เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ (ทุกข์ ทุกข์ด้วย)
๒) เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี (สุข สุขด้วย)
๓) เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้
๔) เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

a) He does not rejoice over your misfortunes.
b) He rejoices in your good fortune.
c) He protests against anyone who speaks ill of you.
d) He admires those who speak well of you.

D.III.187. ที.ปา.๑๑/๑๙๒/๒๐๑.



(๑๖๙)  โยคะ ๔ (สภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ หรือผูกกรรมไว้กับวิบาก - the Four Bonds) ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา เหมือนในอาสวะ ๔.

ดู (๑๓๕) อาสวะ ๔.

D.III.230; A.II.10; Vbh.374.   ที.ปา.๑๑/๒๕๙/๒๔๒; องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๐/๑๓; อภิ.วิ.๓๕/๙๖๓/๕๐๖.



(๑๗๐)  โยนิ ๔ (กำเนิด, แบบหรือชนิดของการเกิด - ways or kinds of birth; modes of generation)

๑. ชลาพุชะ (สัตว์เกิดในครรภ์ คือ คลอดออกมาเป็นตัว เช่น คน โค สุนัข แมว เป็นต้น - the viviparous; womb-born creatures)

๒. อัณฑชะ (สัตว์เกิดในไข่ คือ ออกไข่เป็นฟองก่อนแล้วจึงฟักเป็นตัว เช่น นก เป็น ไก่ เป็นต้น - the oviparous; egg-born creatures)

๓. สังเสทชะ (สัตว์เกิดในไคล คือ เกิดในของชื้นแฉะหมักหมมเน่าเปื่อย ขยายแพร่ออกไปเอง เช่น กิมิชาติบางชนิด - putrescence-born creatures; moisture-born creatures)

๔. โอปปาติกะ (สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดเต็มตัวในทันใด ได้แก่ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางพวก และเปรตบางพวก ท่านว่า เกิดและตาย ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ - spontaneously born creatures; the apparitional)

D.III.230; M.I.73.   ที.ปา.๑๑/๒๖๓/๒๔๒; ม.มู.๑๒/๑๖๙/๑๔๗. (***)    ราชสังคหวัตถุ ๔   ดู (๑๘๔) สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน ๔



(๑๗๑) ลีลาการสอน หรือ พุทธลีลาในการสอน หรือ เทศนาวิธี ๔ (การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง แม้ที่เป็นเพียงธรรมีกถา หรือการสนทนาทั่วไป ซึ่งมิใช่คราวที่มีความมุ่งหมายเฉพาะพิเศษ ก็จะดำเนินไปอย่างสำเร็จผลดีโดยมีองค์ประกอบที่เป็นคุณลักษณะ ๔ ประการ - the Buddha's style or manner of teaching)

๑. สันทัสสนา (ชี้แจงให้เห็นชัด คือ จะสอนอะไร ก็ชี้แจงจำแนกแยกแยะอธิบายและแสดงเหตุผลให้ชัดเจน จนผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง เห็นจริงเห็นจัง ดังจูงมือไปดูเห็นกับตา - elucidation and verification)

๒. สมาทปนา (ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ คือ สิ่งใดควรปฏิบัติหรือหัดทำ ก็แนะนำหรือบรรยายให้ซาบซึ้งในคุณค่า มองเห็นความสำคัญที่จะต้องฝึกฝนบำเพ็ญ จนใจยอมรับ อยากลงมือทำ หรือนำไปปฏิบัติ - incitement to take upon oneself; inspiration towards the Goal)

๓. สมุตเตชนา (เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า คือ ปลุกเร้าใจให้กระตือรือร้น เกิดความอุตสาหะ มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จจงได้ สู้งาน ไม่หวั่นระย่อไม่กลัวเหนื่อย ไม่กลัวยาก - urging; encouragement; animation; filling with enthusiasm)

๔. สัมปหังสนา (ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง คือ บำรุงจิตให้แช่มชื่นเบิกบาน โดยชี้ให้เห็นผลดีหรือคุณประโยชน์ที่จะได้รับและทางที่จะก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จยิ่งขึ้นไป ทำให้ผู้ฟังมีความหวังและร่าเริงเบิกบานใจ - gladdening; exhilaration; filling with delight and joy)

อรรถกถาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ข้อ ๑ ปลดเปลื้องความเขลาหรือความมืดมัว   ข้อ ๒ ปลดเปลื้องความประมาท  ข้อ ๓ ปลดเปลื้องความอืดคร้าน  ข้อ ๔ สัมฤทธิ์ การปฏิบัติ

จำ ๔ ข้อนี้สั้นๆ ว่า ชี้ให้ชัด ชวนให้ปฏิบัติ เร้าให้กล้า ปลุกให้ร่าเริง หรือ แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง

D.I.126; ete.; DA.II.473; UdA.242,361, 384    ที.สี.๙/๑๙๘/๑๖๑; ฯลฯ, ที.อ.๒/๘๙; อุ.อ.๓๐๔,๔๕๗,๔๙๐



(๑๗๒) วรรณะ ๔ (ชนชั้นในสังคมอินเดีย ที่กำหนดด้วยชาติกำเนิด ตามหลักศาสนาพราหมณ์ - castes)

๑. กษัตริย์ (ชนชั้นเจ้า, ชนชั้นปกครองหรือนักรบ - the warrior-caste; warrior-rulers; noblemen)

๒. พราหมณ์ (ชนชั้นเจ้าตำราเจ้าพิธี, พวกพราหมณ์ - the priestly caste; brahmins)

๓. แพศย์ (ชนชั้นพ่อค้าและกสิกร - the trading and agricultural caste; merchants and farmers)

๔. ศูทร (ชนชั้นต่ำ, พวกทาสกรรมกร - the low caste; laborers and servants)

M.II.128.   ม.ม.๑๓/๕๗๖/๕๒๐.



(๑๗๓) วิบัติ ๔ (ความผิดพลาด, ความเคลื่อนคลาด, ความเสียหาย, ความบกพร่อง, ความใช้การไม่ได้ - failure; falling away)

๑. ศีลวิบัติ (วิบัติแห่งศีล, เสียศีล, สำหรับพระภิกษุ คือ ต้องอาบัติปาราชิก หรือ สังฆาทิเสส - falling away from moral habit; failure in morality)

๒. อาจารวิบัติ (วิบัติแห่งอาจาระ, เสียความประพฤติ จรรยามรรยาทไม่ดี, สำหรับพระภิกษุ คือ ต้องลหุกาบัติ แต่ถุลลัจจัย ถึง ทุพภาสิต - falling away from good behavior; failure in conduct)

๓. ทิฏฐิวิบัติ (วิบัติแห่งทิฏฐิ, ความเห็นคลาดเคลื่อน ผิดธรรมผิดวินัย - falling away from right view; failure in views)

๔. อาชีววิบัติ (วิบัติแห่งอาชีวะ, ประกอบมิจฉาชีพ หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด - falling away from right mode of livelihood; failure in livelihood)

Vin.II.87.   วินย.๖/๖๓๔/๓๓๖.



(๑๗๔) วิบัติ ๔ (ข้อเสีย, จุดอ่อน, ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี แต่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว - failure; defect; unfavorable factors affecting the ripening of Karma.)

๑. คติวิบัติ (วิบัติแห่งคติ, คติเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดในกำเนิดต่ำทราม หรือที่เกิดอันไร้ความเจริญ
ในช่วงสั้นหมายถึงที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินไม่ดี หรือทำไม่ถูกเรื่องไม่ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นนั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น ไม่เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดีหรือการเจริญงอกงามของความดี แต่กลับเปิดทางให้แก่ความชั่วและผลร้าย - failure as regards place of birth; unfavorable environment, circumstances or career)

๒. อุปธิวิบัติ (วิบัติแห่งร่างกาย, รูปกายเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงร่างกายวิกล วิการ ไม่งดงาม บุคลิกภาพไม่ดี ในช่วงสั้นหมายถึงสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก - failure as regards the body; deformed or unfortunate body; unfavorable personality, health or physical conditions.)

๓. กาลวิบัติ (วิบัติแห่งกาล, กาลเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกไม่มีความเจริญ หรือบ้านเมืองมีแต่ภัยพิบัติ ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มีการกดขี่เบียดเบียนกันมาก ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ในช่วงสั้นหมายถึงทำผิดกาลผิดเวลา - failure as regards time; unfavorable or unfortunate time)

๔. ปโยควิบัติ (วิบัติแห่งการประกอบ, กิจการเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ผิด ประกอบกิจการงานที่ผิด หรือมีปกติชอบกระทำแต่ความชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อกระทำกรรมดี ก็ไม่ทำให้ถึงขนาด ไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ทำจับจด ใช้วิธีการไม่เหมาะกับเรื่อง หรือเมื่อประกอบความดีต่อเนื่องมา แต่กลับทำความชั่ว หักล้างเสียในระหว่าง - failure as regards undertaking; unfavorable, unfortunate or inadequate undertaking)

วิบัติ ๔ นี้ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในเรื่องการให้ผลของกรรม เพราะการปรากฏของวิบาก นอกจากอาศัยเหตุคือกรรมแล้ว ยังต้องอาศัยฐานคือ คติ อุปธิ กาละ และปโยคะ เป็นปัจจัยประกอบด้วย กล่าวคือ จะต้องพิจารณา กรรมนิยาม โดยสัมพันธ์กับปัจจัยทั้งหลายที่เป็นไปตามนิยามอื่นๆ ด้วย เพราะนิยาม หรือกฎธรรมชาตินั้นมีหลายอย่าง มิใช่มีแต่กรรมนิยามอย่างเดียว

ดู (๑๗๕) สมบัติ ๔; (๒๑๔) นิยาม ๕.

Vbh. 338.   อภิ.วิ.๓๕/๘๔๐/๔๕๘.



(๑๗๕) สมบัติ ๔ (ข้อดี, ความเพียบพร้อม, ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งอำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี และไม่เปิดให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบอำนวย ช่วยเสริมกรรมดี - accomplishment; factors favorable to the ripening of good Karma)

๑. คติสมบัติ (สมบัติแห่งคติ, ถึงพร้อมด้วยคติ, คติให้; ในช่วงยาวหมายถึงเกิดในกำเนิดอันนวย หรือที่เกิดอันเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึง ที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินดีหรือทำถูกเรื่อง ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นที่นั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดี หรือการเจริญงอกงามของความดี ทำให้ความดีปรากฏผลโดยง่าย - accomplishment of birth; fortunate birthplace; favorable environment, circumstances or career)

๒. อุปธิสมบัติ (สมบัติแห่งร่างกาย, ถึงพร้อมด้วยรูปกาย, รูปกายให้; ในช่วงยาวหมายถึงมีกายสง่า สวยงาม บุคลิกภาพดี ในช่วงสั้นหมายถึง ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี - accomplishment of the body; favorable or fortunate body; favorable personality, health or physical conditions)

๓. กาลสมบัติ (สมบัติแห่งกาล, ถึงพร้อมด้วยกาล, กาลให้; ในช่วงยาว หมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกมีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข มีการปกครองที่ดี คนในสังคมอยู่ในศีลธรรม สามัคคีกัน ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงทำถูกกาล ถูกเวลา - accomplishment of time; favorable or fortunate time)

๔. ปโยคสมบัติ (สมบัติแห่งการประกอบ, ถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร, กิจการให้; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ถูก นำความเพียรไปใช้ขวนขวายประกอบการที่ถูกต้องดีงาม มีปกติประกอบกิจการงานที่ถูกต้อง ทำแต่ความดีงามอยู่แล้ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อทำกรรมดี ก็ทำให้ถึงขนาด ทำจริงจัง ให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ใช้วิธีการที่เหมาะกับเรื่อง หรือทำความดีต่อเนื่องมาเป็นพื้นแล้ว กรรมดีที่ทำเสริมเข้าอีก จึงเห็นผลได้ง่าย - accomplishment of undertaking; favorable, fortunate or adequate undertaking)

ดู (๑๗๔) วิบัติ ๔; (๒๑๔) นิยาม ๕;

Vbh.339.   อภิ.วิ.๓๕/๘๔๐/๔๕๙.



(๑๗๖) วุฒิ หรือ วุฑฒิธรรม ๔ (ธรรมเป็นเครื่องเจริญ, คุณธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม - virtues conducive to growth)

๑. สัปปุริสังเสวะ (คบหาสัตบุรุษ, เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ - association with a good and wise man)

๒. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังสัทธรรม, เอาใจใส่เล่าเรียน หาความรู้จริง - listening to the good teaching)

๓. โยนิโสมนสิการ (ทำในใจโดยแยบคาย, คิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี - critical reflection)

๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลักคือให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นๆ, นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนและตริตรองเห็นแล้วไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมายของสิ่งนั้นๆ - the practice in accord of all levels and aspects of the Dharma; practice in perfect conformity to the Dharma or to the principle)

ธรรมหมวดนี้ ในบาลีที่มา เรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อ ปัญญาวุฒิ คือ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญา (virtues conducive to growth in wisdom)

A.II.145. องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๔๘/๓๓๒



(๑๗๗) เวสารัชชะ หรือ เวสารัชชญาณ ๔ (ความไม่ครั่นคร้าน, ความแกล้วกล้าอาจหาญ, พระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม - intrepidity; self-confidences)

พระตถาคตเจ้าไม่ทรงมองเห็นว่า ใครก็ตาม จักทักท้วงพระองค์ได้โดยชอบธรรมในฐานะเหล่านี้ คือ (The Perfect One sees no grounds on which anyone can with justice make the following charges;)

๑. สัมมาสัมพุทธปฏิญญา (ท่านปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่รู้ - You who claim to be fully self-enlightened are not fully enlightened in these things.)

๒. ขีณาสวปฏิญญา (ท่านปฏิญญาว่าเป็นขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้น - You who claim to gave destroyed all taints have not utterly destroyed these taints.)

๓. อันตรายิกธรรมวาทะ (ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่าเป็นอันตราย ธรรมเหล่านั้น ไม่อาจก่ออันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง - Those things which have been declared by you to be harmful have no power to harm him that follows them.

๔. นิยยานิกธรรมเทศนา (ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่เป็นทางนำผู้ทำตามให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบจริง - The Doctrine taught by you for the purpose of utter extinction of suffering does not lead him who acts accordingly to such a goal.)

ด้วยเหตุนี้ พระองค์นี้จึงทรงถึงความเกษม ถึงความไม่มีภัย แกล้วกล้าไม่ครั่นคร้ามอยู่ (Since this is so, he abides in the attainment of security, of fearlessness and intrepidity.)

เวสารัชชะ ๔ นี้ คู่กับทศพล หรือ ตถาคตพล ๑๐ (เรียกกันทั่วๆ ไปว่า ทศพลญาณ) เป็นธรรมที่ทำให้พระตถาคต ทรงปฏิญญาฐานะแห่งผู้นำ เปล่งสีหนาทในบริษัททั้งหลาย ยังพรหมจักรให้เป็นไป (Endowed with these four kinds of intrepidity, the Perfect One claims the leader's place, roars his lion's roar in assemblies, and sets rolling the Divine Wheel.)

ดู (๓๑๑) ทศพลญาณ

M.I.71; A.II.8.   ม.มู.๑๒/๑๖๗/๑๔๔; องฺ.จตุกฺก.๒๑/๘/๑๐.



(๑๗๘) ศรัทธา ๔ (ความเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล - faith; belief; confidence)

๑. กัมมสัทธา (เชื่อกรรม, เชื่อกฎแห่งกรรม, เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่าเมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่าและเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น - belief in Karma; confidence in accordance with the law of action)

๒. วิปากสัทธา (เชื่อวิบาก, เชื่อผลของกรรม, เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว - belief in the consequences of actions)

๓. กัมมัสสกตาสัทธา (เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน - belief in the individual ownership of action)

๔. ตถาคตโพธิสัทธา (เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มั่นในในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง ๙ ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง - confidence in the Enlightenment of the Buddha)

ศรัทธา ๔ อย่างนี้ มีมาในบาลีเฉพาะข้อที่ ๔ อย่างเดียว (เช่น องฺ.สตฺตก.๒๓/๔/๓; A.III.๓ เป็นต้น) ว่าโดยใจความ ศรัทธา ๓ ข้อต้น ย่อมรวมลงในข้อที่ ๔ ได้ทั้งหมด

อนึ่ง ในข้อ ๓ มีข้อธรรมที่มาในบาลีคล้ายกัน คือ กัมมัสสกตาญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน - knowledge that action is one's own possession) เช่น อภิ.วิ.๓๕/๘๒๒/๔๔๓; Vbh.328.



(๑๗๙) สติปัฏฐาน ๔ (ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง - foundations of mindfulness)

๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of the body; mindfulness as regards the body) ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ ๑ อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหว้ทุกอย่าง ๑ ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ ๑ ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ ๑ นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน ๙ ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น ๑

๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings) คือ มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ

๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind; mindfulness as regards thoughts) คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ

๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind-objects; mindfulness as regards ideas) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.

D.II.290.315.   ที.ม.๑๐/๒๗๓-๓๐๐/๓๒๕-๓๕๑.



(๑๘๐) สมชีวิธรรม ๔ (หลักธรรมของคู่ชีวิต, ธรรมที่จะทำให้คู่สมรสชีวิตสมหรือสม่ำเสมอกลมกลืนกัน อยู่ครองกันยืดยาว - qualities which make a couple well matched)

๑. สมสัทธา (มีศรัทธาสมกัน - to be matched in faith)

๒. สมสีลา (มีศีลสมกัน - to be matched in moral)

๓. สมจาคา (มีจาคะสมกัน - to be matched in generosity)

๔. สมปัญญา (มีปัญญาสมกัน - to be matched in wisdom)

A.II.60    องฺ.จตุกฺก.๒๑/๕๕/๘๐.



(๑๘๑) สมาธิภาวนา ๔ (การเจริญสมาธิ, วิธีฝึกสมาธิแบบต่างๆ จำแนกตามวัตถุประสงค์ - ways or kinds of concentration-development)

๑. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (คือเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เช่น ใช้เป็นเครื่องพักผ่อนจิต หาความสุขยามว่าง เป็นต้น - concentration-development that is conducive to happy living in the present)

๒. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ (concentration-development that is conducive to the acquisition of knowledge and insight)

๓. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ (concentration-development that is conducive to mindfulness and full comprehension)

๔. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ (concentration-development that is conducive to the destruction of cankers)

D.III.222; A.II.44.    ที.ปา.๑๑/๒๓๓/๒๓๓; องฺ.จตุกฺก.๒๑/๔๑/๕๗.



(๑๘๒) สังขาร ๔ (คำว่าสังขารที่ใช้ในความหมายต่าง - applications of the word 'formation')

๑. สังขตสังขาร (สังขารคือ สังขตธรรม ได้แก่สิ่งทั้งปวงที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง รูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ได้ในคำว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา เป็นต้น - formation consisting of the formed)

๒. อภิสังขตสังขาร (สังขารคือสิ่งที่กรรมแต่งขึ้น ได้แก่รูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ในภูมิสาม ที่เกิดแต่กรรม - formation consisting of the karma-formed)

๓. อภิสังขรณกสังขาร (สังขารคือกรรมที่เป็นตัวการปรุงแต่ง ได้แก่ กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาทั้งปวงในภูมิสาม ได้ในคำว่า 'สังขาร' ตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ (๑๑๙) สังขาร ๓ หรือ (๑๒๘) อภิสังขาร ๓ - formation consisting in the act of karma-forming)

๔. ปโยคาภิสังขาร (สังขารคือการประกอบความเพียร ได้แก่กำลังความเพียรทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม - formation consisting in exertion or impetus)

Vism.527.   วิสุทธิ.๓/๑๒๐.



(๑๘๓) สังคหวัตถุ ๔ (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี, หลักการสงเคราะห์ - bases of sympathy; acts of doing favors; principles of service; virtues making for group integration and leadership)

๑. ทาน (การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน - giving; generosity; charity)

๒. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม - kindly speech; convincing speech)

๓. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม - useful conduct; rendering services; life of service; doing good)

๔. สมานัตตตา (ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี - even and equal treatment; equality consisting in impartiality, participation and behaving oneself properly in all circumstances)

ดู (๑๑) ทาน ๒; (๒๒๑) พละ ๔.

D.III.152,232; A.II.32,248; A.IV.218.363.    ที.ปา.๑๑/๑๔๐/๑๖๗; ๒๖๗/๒๔๔; องฺ.จตุกฺก.๒๑/๓๒/๔๒; ๒๕๖/๓๓๕; องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๑๔/๒๒๒; องฺ.นวก.๒๓/๒๐๙/๓๗๗.



(๑๘๔) สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน หรือ ราชสังคหวัตถุ ๔ (สังคหวัตถุของพระราชา, ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน, หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง -a ruler's bases of sympathy; royal acts of doing favors; virtues making for national integration)

๑. สัสสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร - shrewdness in agricultural promotion)

๒. ปุริสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ - shrewdness in the promotion and encouragement of government officials)

๓. สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น - 'a bond to bind men's hearts'; act of doing a favor consisting in vocational promotion as in commercial investment)

๔. วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ (ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าในอันดี และความนิยมเชื่อถือ - affability in address; kindly and convincing speech)

ราชสังคหวัตถุ ๔ ประการนี้ เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ส่วนที่แก้ไขปรับปรุงคำสอนในศาสนาพราหมณ์ โดยกล่าวถึงคำศัพท์เดียวกัน แต่ชี้ถึงความหมายอันชอบธรรมที่ต่างออกไป ธรรมหมวดนี้ ว่าโดยศัพท์ ตรงกับ มหายัญ ๕ (the five great sacrifices) ของ พราหมณ์ คือ.-

๑. อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ - horse-sacrifice)

๒. ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ - human sacrifice)

๓. สัมมาปาสะ (ยัญอันสร้างแท่นบูชาไว้ที่ขว้างไม้ลอดบ่วงไปหล่นลง - peg-thrown site sacrifice)

๔. วาชเปยะ (การดื่มเพื่อพลังหรือเพื่อชัย - drinking of strength or of victory)

๕. นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือ ทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำกัด, การฆ่าครบทุกอย่างบูชายัญ - the bolts-withdrawn sacrifice; universal sacrifice)

มหายัญ ๕ ที่พระราชาพึงบูชาตามหลักศาสนาพราหมณ์นี้ พระพุทธศาสนาสอนว่า เดิมทีเดียวเป็นหลักการสงเคราะห์ที่ดีงาม แต่พราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญเพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน ความหมายที่พึงต้องการ ซึ่งพระพุทธศาสนาสั่งสอน ๔ ข้อแรก มีดังกล่าวแล้วข้างต้น ส่วนข้อที่ ๕ ตามหลักสังคหวัตถุ ๔ นี้ ว่าเป็นผล แปลว่า ไม่มีลิ่มกลอน หมายความว่า บ้านเมืองจะสงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน

S.I.76; A.II.42; IV.151; It.21; Sn.303; SA.I.145; SnA.321.    สํ.ส.๑๕/๓๕๑/๑๑๐; องฺ.จตุกฺก.๒๑/๓๙/๕๔; องฺ.อฏฺก. ๒๓/๙๑/๑๕๒; ขุ.อิติ. ๒๕/๒๐๕/๒๔๖; ขุ.สุ.๒๕/๓๒๓/๓๘๓; สํ.อ.๑/๑๖๙; อิติ.อ.๑๒๓.



(๑๘๕) สังเวชนียสถาน ๔ (สถานที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช, สถานที่เนื่องด้วยพุทธประวัติ ซึ่งพุทธศาสนิกชนควรไปดูเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดความไม่ประมาท จะได้เร่งขวนขวายประกอบกุศลกรรม และสำหรับผู้ศรัทธาจะได้จาริกไปชม เพื่อเพิ่มพูนปสาทะ กระทำสักการบูชา อันจะนำให้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ - places apt to cause the feeling of urgency; places made sacred by the Buddha's association; places to be visited with reverence; the four Buddhist Holy Places)

๑. ชาตสถาน (ที่พระพุทธเจ้าประสูต คือ อุทยานลุมพินี - birthplace of the Buddha)

๒. อภิสัมพุทธสถาน (ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ควงโพธิ์ที่ตำบลพุทธคยา - place where the Buddha attained the Enlightenment)

๓. ธัมมจักกัปปวัตตนสถาน (ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เรียกปัจจุบันว่า สารนาถ - place where the Buddha preached the First Sermon)

๔. ปรินิพพุตสถาน (ที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน คือ ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา - place where the Buddha passed away into Parinibbana)

D.II.140.   ที.ม.๑๐/๑๓๑/๑๖๓.



(๑๘๖) สัมปชัญญะ ๔ (ความรู้ตัว, ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ชัด, ความรู้ทั่วชัด, ความตระหนัก - clear comprehension; clarity of consciousness; awareness)

๑. สาตกสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่ามีประโยชน์ หรือตระหนักในจุดหมาย คือ รู้ตัวตระหนักชัดว่าสิ่งที่กระทำนั้นมีประโยชน์ตามความมุ่งหมายอย่างไรหรือไม่ หรือว่า อะไรควรเป็นจุดมุ่งหมายของการกระทำนั้น เช่น ผู้เจริญกรรมฐาน เมื่อจะไป ณ ที่ใดที่หนึ่ง มิใช่สักว่ารู้สึกหรือนึกขึ้นมาว่าจะไป ก็ไป แต่ตระหนักว่าเมื่อไปแล้ว จะได้ปีติสุขหรือความสงบใจ ช่วยให้เกิดความเจริญโดยธรรม จึงไป โดยสาระคือ ความรู้ตระหนักที่จะเลือกทำสิ่งที่ตรงกับวัตถุประสงค์หรืออำนวยประโยชน์ที่มุ่งหมาย - clear comprehension of purpose)

๒. สัปปายสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่าเป็นสัปปายะ หรือตระหนักในความเหมาะสมเกื้อกูล คือรู้ตัวตระหนักชัดว่าสิ่งของนั้น การกระทำนั้น ที่ที่จะไปนั้น เหมาะกันกับตน เกื้อกูลแก่สุขภาพ แก่กิจ เอื้อต่อการสละละลดแห่งอกุศลธรรมและการเกิดขึ้นเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม จึงใช้ จึงทำ จึงไป หรือเลือกให้เหมาะ เช่น ภิกษุใช้จีวรที่เหมาะกับดินฟ้าอากาศและเหมาะกับภาวะของตนที่เป็นสมณะ ผู้เจริญกรรมฐานจะไปฟังธรรมอันมีประโยชน์ในที่ชุมนุมใหญ่ แต่รู้ว่ามีอารมณ์ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อกรรมฐาน ก็ไม่ไป โดยสาระคือ ความรู้ตระหนักที่จะเลือกทำแต่สิ่งที่เหมาะสบายเอื้อต่อกาย จิต ชีวิต กิจ พื้นภูมิ และภาวะของตน - clear comprehension of suitability)

๓. โคจรสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่าเป็นโคจร หรือตระหนักในแดนงามของตน คือ รู้ตัวตระหนักชัดอยู่ตลอดเวลาถึงสิ่งที่เป็นกิจ หน้าที่ เป็นตัวงาน เป็นจุดของเรื่องที่ตนกระทำ ไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไรอื่น ก็รู้ตระหนักอยู่ ในปล่อยให้เลือนหายไป มิใช่ว่าพอทำอะไรอื่น หรือไปพบสิ่งอื่นเรื่องอื่น ก็เตลิดเพริดไปกับสิ่งนั้นเรื่องนั้น เป็นนกบินไม่กลับรัง โดยเฉพาะการไม่ทิ้งอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งรวมถึงการบำเพ็ญจิตตภาวนาและปัญญาภาวนาในกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวัน โดยสาระคือ ความรู้ตระหนักที่จะคุมกายและจิตไว้ให้อยู่ในกิจ ในประเด็น หรือแดนงานของตน ไม่ให้เขว เตลิด เลื่อนลอย หรือหลงลืมไปเสีย - clear comprehension of the domain)

๔. อสัมโมหสัปชัญญะ รู้ชัดว่าไม่หลง หรือตระหนักในตัวเนื้อหาสภาวะ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน คือเมื่อไปไหน ทำอะไร ก็รู้ตัวตระหนักชัดในการเคลื่อนไหว หรือในการกระทำนั้น และในสิ่งทีกระทำนั้น ไม่หลง ไม่สับสนเงอะงะฟั่นเฟือน เข้าใจล่วงตลอดไปถึงตัวสภาวะในการกระทำที่เป็นไปอยู่นั้น ว่าเป็นเพียงการประชุมกันขององค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ประสานหนุนเนื่องกันขึ้นมาให้ปรากฏ เป็นอย่างนั้น หรือสำเร็จกิจนั้นๆ รู้ทันสมมติ ไม่หลงสภาวะเช่นยึดเห็นเป็นตัวตน โดยสาระคือ ความรู้ตระหนัก ในเรื่องราว เนื้อหา สาระ และสภาวะของสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องหรือกระทำอยู่นั้น ตามที่เป็นจริงโดยสมมติสัจจะ หรือตลอดถึงโดยปรมัตถสัจจะ มิใช่พรวดพราดทำไป หรือสักว่าทำ มิใช่ทำอย่างงมงายไม่รู้เรื่อง และไม่ถูกหลอกให้ลุ่มหลงหรือเข้าใจผิดไปเสียด้วยความพร่ามัว หรือด้วยลักษณะอาการภายนอกที่ยั่วยุ หรือเย้ายวนเป็นต้น - clear comprehension of non-delusion, or of reality)

DA.I.183; VbhA.347    ที.อ.๑/๒๒๘; วิภงฺค.อ.๔๕๑



(๑๘๗) สัมปทา หรือ สัมปทาคุณ ๔ (ความถึงพร้อม, ความพรั่งพร้อม สมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งทำให้ทานที่บริจาคแล้ว เป็นทานอันยอดเยี่ยมมีผลมาก อาจเห็นผลทันตา - successful attainment; accomplishment; excellence)

๑. วัตถุสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือบุคคลผู้เป็นที่ตั้งรองรับทาน เช่น ทักขิไณยบุคคลเป็นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี ผู้เข้านิโรธสมาบัติได้ - excellence of the foundation for merit)

๒. ปัจจัยสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยปัจจัย คือ สิ่งที่จะให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม - excellence of the gift)

๓. เจตนาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือ มีเจตนาในการให้สมบูรณ์ครบ ๓ กาล ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ จิตโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา - excellence of the intention)

๔. คุณาติเรกสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยคุณส่วนพิเศษ คือ ปฏิคาหกมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ทักขิไณยบุคคลนั้น ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ - excellence of extra virtue)

DhA.III.93.   ธ.อ.๕/๘๘



(๑๘๘) สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ (ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เบื้องหน้า, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นสูงขึ้นไป - virtues conducive to benefits in the future; virtues leading to spiritual welfare)

๑. สัทธาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศรัทธา - to be endowed with faith; accomplishment of confidence)

๒. สีลสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศีล - to be endowed with morality; accomplishment of virtue)

๓. จาคสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการเสียสละ - to be endowd with generosity; accomplishment of charity)

๔. ปัญญาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยปัญญา - to be endowed with wisdom; accomplishment of wisdom)

ธรรมหมวดนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า สัมปรายิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ (อัตถะ ก็แปลว่า ประโยชน์ จึงเป็นคำซ้ำซ้อนกัน)

A.IV.284.   องฺ.อฏก.๒๓/๑๔๔/๒๙๒. (***) สัมมัปปธาน ๔   ดู (๑๕๕) ปธาน ๔.



(๑๘๙) สุขของคฤหัสถ์ หรือ คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข ๔ (สุขของชาวบ้าน, สุขที่ชาวบ้านควรพยายามเข้าถึงให้ได้สม่ำเสมอ, สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี - house-life happiness; deserved bliss of a layman)

๑. อัตถิสุข (สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยชอบธรรม - bliss of ownership)

๒. โภคสุข (สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์ - bliss of enjoyment)

๓. อนณสุข (สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร - bliss of debtlessness)

๔. อนวัชชสุข (สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครๆ ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ - bliss of blamelessness)

บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุข มีค่ามากที่สุด

A.II.69.   องฺ.จตุกฺก.๒๑/๖๒/๙๐ (***) สุหทมิตร ๔   ดู (๑๖๘) สุหทมิตร ๔. (***) หลักการแบ่งทรัพย์ ๔ ส่วน   ดู (๑๖๒) โภควิภาค ๔.



(๑๙๐) อคติ ๔ (ฐานะอันไม่พึงถึง, ทางความประพฤติที่ผิด, ความไม่เที่ยงธรรม, ความลำเอียง - wrong course of behavior; prejudice)

๑. ฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะชอบ - prejudice caused by love or desire; partiality)

๒. โทสาคติ (ลำเอียงเพราะชัง - prejudice caused by hatred or enmity)

๓. โมหาคติ (ลำเอียงเพราะหลง, พลาดผิดเพราะเขลา - prejudice caused by delusion or stupidity)

๔. ภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว - prejudice caused by fear)

D.III.182,228; A.II.18.   ที.ปา.๑๑/๑๗๖/๑๙๖; ๒๔๖/๒๔๐; องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๗/๒๓.



(๑๙๑) อธิษฐาน หรือ อธิษฐานธรรม ๔ (ธรรมเป็นที่มั่น, ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล, ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายไว้ได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมอง หมักหมมทับถมตน, บางทีแปลว่า ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ - foundation; foundations on which a tranquil sage establishes himself; virtues which should be established in the mind)

๑. ปัญญา (ความรู้ชัด คือ หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง - wisdom; insight)

๒. สัจจะ (ความจริง คือ ดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจาจนถึงปรมัตถสัจจะ - truthfulness)

๓. จาคะ (ความสละ คือ สละสิ่งอันเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ และสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ เริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส - liberality renunciation)

๔. อุปสมะ (ความสงบ คือ ระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ทำจิตใจให้สงบได้ - tranquillity; peace)

ทั้ง ๔ ข้อนี้ พึงปฏิบัติตามกระทู้ดังนี้

๑. ปญฺญํ นปฺปมชฺเชยฺย (ไม่พึงประมาทปัญญา คือ ไม่ละเลยการใช้ปัญญา - not to neglect wisdom)

๒. สจฺจํ อนุรกฺเขยฺย (พึงอนุรักษ์สัจจะ - to safeguard truthfulness)

๓. จาคํ อนุพฺรูเหยฺย (พึงเพิ่มพูนจาคะ - to foster liberality)

๔. สนฺตึ สิกฺเขยฺย (พึงศึกษาสันติ - to train oneself in tranquillity)

D.III.229; M.III.243.   ที.ปา.๑๑/๒๕๔/๒๔๑; ม.อุ.๑๔/๖๘๒/๔๓๗.



(๑๙๒) อบาย ๔ (ภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ - states of loss and woe; low states of existence; unhappy existence)

๑. นิรยะ (นรก, สภาวะหรือที่อันไม่มีความสุขความเจริญ, ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย - hell; woeful state)

๒. ติรัจฉานโยนิ (กำเนิดดิรัจฉาน, พวกมืดมัวโง่เขลา - the animal kingdom; realm of beasts)

๓. ปิตติวิสัย (แดนเปรต, ภูมิแห่งผู้หิวกระหายไร้สุข - realm of hungry ghosts)

๔. อสุรกาย (พวกอสูร, พวกหวาดหวั่นไร้ความรื่นเริง - host of demons; the unrelenting and dejected; frightened ghosts)

ดู (๓๓๗) ภูมิ ๔, ๓๑

It.93.   ขุ.อิติ.๒๕/๒๗๓/๓๐๑.



(๑๙๓) อบายมุข ๔ (ช่องทางของความเสื่อม, ทางที่จะนำไปสู่ความพินาศ, เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ - causes of ruin; sources for the destruction of the amassed wealth)

๑. อิตถีธุตตะ (เป็นนักเลงผู้หญิง, นักเที่ยวผู้หญิง - seduction of women; debauchery)

๒. สุราธุตตะ (เป็นนักเลงสุรา, นักดื่ม - drunkenness)

๓. อักขธุตตะ (เป็นนักการพนัน - indulgence in gambling)

๔. ปาปมิตตะ (คบคนชั่ว - bad company)

อบายมุข ๔ อย่างนี้ ตรัสกับผู้ครองเรือนที่มีหลักฐานแล้ว และตรัสต่อท้ายทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔  มุ่งความว่าเป็นทางพินาศแห่งโภคะที่หามาได้แล้ว

A.IV.283.   องฺ.อฏฺก.๒๓/๑๔๔/๒๙๒.



(๑๙๔) อบายมุข ๖ (ช่องทางของความเสื่อม, ทางแห่งความพินาศ, เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ - causes of ruin; ways of squandering wealth)

๑. ติดสุราและของมึนเมา (addiction to intoxicants) มีโทษ ๖ คือ

๑) ทรัพย์หมดไปๆ เห็นชัดๆ
๒) ก่อการทะเลาะวิวาท
๓) เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
๔) เสียเกียรติเสียชื่อเสียง
๕) ทำให้ไม่รู้อาย
๖) ทอนกำลังปัญญา

a) actual loss of wealth
b) increase of quarrels
d) liability to disease
e) indecent exposure
f) weakened intelligence.

๒. ชอบเที่ยวกลางคืน (roaming the streets at unseemly hours) มีโทษ ๖ คือ

๑) ชื่อว่าไม่รักษาตัว
๒) ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย
๓) ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
๔) เป็นที่ระแวงสงสัย
๕) เป็นเป้าให้เขาใส่ความหรือข่าวลือ
๖) เป็นทางมาของเรื่องเดือดร้อนเป็นอันมาก

a) He himself is without guard and protection.
b) So also is his wife and children.
c) So also is his property.
d) He is liable to be suspected of crimes.
e) He is the subject of false rumors.
f) He will meet a lot of troubles.

๓. ชอบเที่ยวดูการละเล่น (frequenting shows) มีโทษ โดยกายงานเสื่อมเสียเพราะใจกังวลคอยคิดจ้อง กับเสียเวลาเมื่อไปดูสิ่งนั้นๆ ทั้ง ๖ กรณี คือ

๑) รำที่ไหนไปที่นั้น
๒-๖) ขับร้อง-ดนตรี-เสภา-เพลง-เถิดเทิงที่ไหน ไปที่นั่น

(He keeps looking about to see)
a) Where is there dancing ?
b-f) Where is there singing ? -choral music?-story-telling?-cymbal playing?-tam-tams?

๔. ติดการพนัน (indulgence in gambling) มีโทษ ๖ คือ

๑) เมื่อชนะย่อมก่อเวร
๒) เมื่อแพ้ก็เสียดายทรัพย์ที่เสียไป
๓) ทรัพย์หมดไปๆ เห็นชัดๆ
๔) เข้าที่ประชุม เขาไม่เชื่อถือถ้อยคำ
๕) เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อนฝูง
๖) ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของผู้ที่จะหาคู่ครองให้ลูกของเขา เพราะเห็นว่าจะเลี้ยงลูกเมียไม่ไหว

a) As winner he begets hatred.
b) As loser he regrets his lost money.
c) There is actual loss of wealth.
d) His word has no weight in an assembly.
e) He is scorned by his friends and companions.
f) He is not sought after by those who want to marry their daughters, for they would say that a gambler connot afford to keep a wife.

๕. คบคนชั่ว (association with bad companions) มีโทษ โดยนำให้กลายไปเป็นคนชั่วอย่างคนที่ตนคบทั้ง ๖ ประเภท คือ ได้เพื่อนที่จะนำให้กลายเป็น

๑) นักการพนัน (gamblers)
๒) นักเลงหญิง (rakes; seducers)
๓) นักเลงเหล้า (drunkards)
๔) นักลวงของปลอม (cheater with false things)
๕) นักหลอกลวง (swindlers)
๖) นักเลงหัวไม้ (men of violence)

๖. เกียจคร้านการงาน (habit of idleness) มีโทษ โดยทำให้ยกเหตุต่างๆ เป็นข้ออ้างผัดเพี้ยนไม่ทำการงาน โภคะใหม่ก็ไม่เกิด โภคะที่มีอยู่ก็หมดสิ้นไป คือให้อ้างไปทั้ง ๖ กรณีว่า

๑-๖ หนาวนัก-ร้อนนัก-เย็นไปแล้ว-ยังเช้านัก-หิวนัก-อิ่มนัก แล้วไม่ทำการงาน

a-f) He always makes an excuse that it is too cold, - too hot, - too late, - too early, he is too hungry, - too full and does no work.

อบายมุขหมวดนี้ ตรัสแก่สิงคาลกมาณพ ก่อนตรัสเรื่องทิศ ๖

D.III.182-189.   ที.ปา.๑๑/๑๗๘-๑๘๔/๑๙๖-๑๙๘.



(๑๙๕) อปัสเสนะ หรือ อปัสเสนธรรม ๔ (ธรรมดุจพนักพิง, ธรรมเป็นที่อิงหรือพึ่งอาศัย - virtues to lean on; states which a monk should rely on)

๑. สงฺขาเยกํ ปฏิเสวติ (ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเสพ ได้แก่ สิ่งของมีปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช เป็นต้นก็ดี บุคคลและธรรมเป็นต้นก็ดี ที่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องและมีประโยชน์ พึงพิจารณาแล้วจึงใช้สอยและเสวนาให้เป็นประโยชน์ - The monk deliberately follows or makes use of one thing.)

๒. สงฺขาเยกํ อธิวาเสติ (ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วอดกลั้น ได้แก่ อนิฏฐารมณ์ต่างๆ มีหนาว ร้อน และทุกขเวทนาเป็นต้น พึงรู้จักพิจารณาอดกลั้น - The monk deliberately endures one thing)

๓. สงฺขาเยกํ ปริวชฺเชติ (ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้นเสีย ได้แก่ สิ่งที่เป็นโทษก่ออันตรายแก่ร่างกายก็ตาม จิตใจก็ตาม เช่น ช้างร้าย คนพาล การพนัน สุราเมรัย เป็นต้น พึงรู้จักพิจารณาหลีกเว้นเสีย - The monk deliberately avoids one thing.)

๔. สงฺขาเยกํ ปฏิวิโนเทติ (ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วบรรเทาเสีย ได้แก่ สิ่งที่เป็นโทษก่ออันตรายเกิดขึ้นแล้ว เช่น อกุศลวิตก มีกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เป็นต้น และความชั่วร้ายทั้งหลาย พึงรู้จักพิจารณาแก้ไข บำบัดหรือขจัดให้สิ้นไป - The monk deliberately suppresses or expels one thing.)

อปัสเสน ๔ นี้ เรียกอีกอยางว่า อุปนิสัย ๔ (ธรรมเป็นที่พึ่งพิง หรือธรรมช่วยอุดหนุน - supports; supporting states)

เมื่อรู้จักพิจารณาปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องด้วยปัญญาตามหลักอปัสเสนหรืออุปนิสัย ๔ อย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้อกุศลที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสิ้นไป และกุศลที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้นไป

ภิกษุผู้พร้อมด้วยธรรม ๔ ประการนี้ ดำรงอยู่ในธรรม ๕ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ท่านเรียกว่า นิสสยสัมบัน (ผู้ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย - fully reliant.) (***)  อรหันต์ ๔   ดู (๖๒) อรหันต์ ๔ (***)  อริยบุคคล ๔   ดู (๕๖) อริยบุคคล ๔



(๑๙๖)  อริยวงศ์ ๔ (ปฏิปทาที่พระอริยะทั้งหลายปฏิบัติสืบกันมาแต่โบราณไม่ขาดสาย, อริยประเพณี - Ariyan lineage; noble tradition; the fourfold traditional practice of the Noble Ones)

๑. จีวรสันโดษ (ความสันโดษด้วยจีวร - contentment as regards robes or clothing)

๒. ปิณฑปาตสันโดษ (ความสันโดษด้วยบิณฑบาต - contentment as regards alms-food)

๓. เสนาสนสันโดษ (ความสันโดษด้วยเสนาสนะ - contentment as regards lodging)

๔. ภาวนาปหานารามตา (ความยินดีในการเจริญกุศลและละอกุศล - delight in the development of good and the abandonment of evil)

การปฏิบัติที่จัดเป็นอริยวงศ์ในธรรมทั้ง ๔ ข้อนั้น พระภิกษุพึงประพฤติดังนี้

ก. สันโดษด้วยปัจจัยใน ๓ ข้อต้นตามมีตามได้

ข. มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณของความสันโดษใน ๓ ข้อนั้น

ค. ไม่ประกอบอเนสนาคือการแสวงหาที่ผิด (ทุจริต) เพราะปัจจัยทั้ง ๓ อย่างนั้นเป็นเหตุ (เพียรแสวงหาแต่โดยชอบธรรม ไม่เกียจคร้าน)

ง. เมื่อไม่ได้ ก็ไม่เร่าร้อนทุรนทุราย

จ. เมื่อได้ ก็ใช้โดยไม่ติด ไม่หมกมุ่น ไม่สยบ รู้เท่าทันเห็นโทษ มีปัญญาใช้สิ่งนั้นตามประโยชน ตามความหมายของมัน (มีและใช้ด้วยสติสัมปชัญญะ ดำรงตนเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น)

ฉ. ไม่ถือเอาอาการที่ได้ประพฤติธรรม ๔ ข้อนี้ เป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น

โดยสรุปว่า เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน มีสติสัมปชัญญะในข้อนั้นๆ เฉพาะข้อ ๔ ทรงสอนไม่ให้สันโดษ ส่วน ๓ ข้อแรกทรงสอนให้ทำความเพียรแสวงหาในขอบเขตที่ชอบด้วยธรรมวินัยและมีความสันโดษตามนัยที่แสดงข้างต้น

อนึ่ง ในจูฬนิทเทส ท่านแสดงอริยวงศ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างไปเล็กน้อย คือ เปลี่ยนข้อ ๔ เป็น สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (medical equipment)

D.III.224; A.II.27; Nd 107.    ที.ปา.๑๑/๒๓๗/๒๓๖; องฺ.จตุกฺก๒๑/๒๘/๓๕; ขุ.จู.๓๐/๖๙๑/๓๔๖.



(๑๙๗)  อริยสัจ ๔ (ความจริงอันประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ - The Four Noble Truths)

๑. ทุกข์ (ความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง, ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ - suffering; unsatisfactoriness)

๒. ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์, สาเหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา - the cause of suffering; origin of suffering)

๓. ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป, ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกต้อง ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือนิพพาน - the cessation of suffering; extinction of suffering)

๔. ทุกขนิโรธคามีนิปฏิปทา (ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง มรรคมีองค์ ๘ นี้ สรุปลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา - the path leading to the cessation of suffering)

อริยสัจ ๔ นี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การแสดงอริยสัจ ๔ นี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามุกกังสิกา ธรรมเทศนา (เช่น องฺ.อฏฺก.๒๓/๑๐๒/๑๙๐) แปลตามอรรถกถาว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงหยิบยกขึ้นถือเอาไว้ด้วยพระองค์เอง คือ ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณ (= ตรัสรู้เอง) ไม่สาธารณะแก่ผู้อื่น (แต่ตามที่อธิบายกันมา มักแปลว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่ต้องปรารภคำถามหรือการทูลขอร้องของผู้ฟัง อย่างการแสดงธรรมเรื่องอื่นๆ; ความจริง จะแปลว่า พระธรรมเทศนาขั้นสุดยอดก็ได้ ซึ่งสมกับเป็นเรื่องที่ทรงแสดงท้ายสุดต่อจาก อนุปุพพิกถา ๕ คำแปลอย่างหลังนี้ พึงเทียบ องฺ.ทสก.๒๔/๙๕/๒๐๘)

ดู (๒๐๘) ขันธ์ ๕; (๗๓) ตัณหา ๓; (๒๗๘) มรรคมีองค์ ๘ (๑๒๓) สิกขา ๓.

Vin.I.9; S.V.421; Vbh.99   วินย.๔/๑๔/๑๘; สํ.ม.๑๙/๑๖๖๕/๕๒๘; อภิ.วิ.๓๕/๑๔๕/๑๒๗



(๑๙๘) กิจในอริยสัจ ๔ (หน้าที่อันจะพึงทำต่ออริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง, ข้อที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและเสร็จสิ้นในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง จึงจะชื่อว่ารู้อริยสัจหรือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว - functions concerning the Four Noble Truths)

๑. ปริญญา (การกำหนดรู้ เป็นกิจในทุกข์ ตามหลักว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ ทุกข์ควรกำหนดรู้ คือ ควรศึกษาให้รู้จักให้เข้าใจชัดตามสภาพที่เป็นจริง ได้แก่ การทำความเข้าใจและกำหนดขอบเขตของปัญหา - comprehension; suffering in to be comprehended)

๒. ปหานะ (การละ เป็นกิจในสมุทัย ตามหลักว่า ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ สมุทัยควรละ คือ กำจัด ทำให้หมดสิ้นไป ได้แก่การแก้ไขกำจัดต้นตอของปัญหา - eradication; abandonment; the cause of suffering is to be eradicated)

๓. สัจฉิกิริยา (การทำให้แจ้ง เป็นกิจในนิโรธ ตามหลักว่า ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ นิโรธควรทำให้แจ้ง คือ เข้าถึง หรือบรรลุ ได้แก่การเข้าถึงสภาวะที่ปราศจากปัญหา บรรลุจุดหมายที่ต้องการ - realization; the cessation of suffering is to be realized)

๔. ภาวนา (การเจริญ เป็นกิจในมรรค ตามหลักว่า ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ มรรคควรเจริญ คือ ควรฝึกอบรม ลงมือปฏิบัติ กระทำตามวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย ได้แก่การลงมือแก้ไขปัญหา - development; practice; the path is to be followed or developed)

ในการแสดงอริยสัจ ก็ดี ในการปฏิบัติธรรมตามหลักอริยสัจก็ดี จะต้องให้อริยสัจแต่ละข้อ สัมพันธ์ตรงกันกับกิจแต่ละอย่าง จึงจะเป็นการแสดงและเป็นการปฏิบัติโดยชอบ ทั้งนี้ วางเป็นหัวข้อได้ดังนี้

๑. ทุกข์ เป็นขั้นแถลงปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจและรู้ขอบเขต (ปริญญา) - statement of evil; location of the problem.

๒. สมุทัย (เป็นขั้นวิเคราะห์และวินิจฉัยมูลเหตุของปัญหา ซึ่งจะต้องแก้ไขกำจัดให้หมดสิ้นไป (ปหานะ) - diagnosis of the origin.

๓. นิโรธ เป็นขั้นชี้บอกภาวะปราศจากปัญหา อันเป็นจุดหมายที่ต้องการ ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเป็นไปได้ และจุดหมายนั้นควรเข้าถึง ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จ (สัจฉิกิริยา) - prognosis of its antidote; envisioning the solution.

๔. มรรค เป็นขั้นกำหนดวิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียดที่จะต้องปฏิบัติในการลงมือแก้ปัญหา (ภาวนา) - prescription of the remedy; program of treatment.

ความสำเร็จในการปฏิบัติทั้งหมด พึงตรวจสอบด้วยหลัก (๗๒) ญาณ ๓

Vin. I. 10; S.V.422.   วินย.๔/๑๕/๒๐; สํ.ม.๑๙/๑๖๖๖/๕๒๙



(๑๙๙) อรูป หรือ อารุปป์ ๔ (ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ คืออรูปฌาน, ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน, ภพของอรูปพรหม - absorptions of the Formless Sphere; the Formless Spheres; immaterial states)

๑. อากาสานัญจายตนะ (ฌานอันกำหนดอากาศคือช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of infinity of space)

๒. วิญญาณัญจายตนะ (ฌานอันกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of infinity of consciousness)

๓. อากิญจัญญายตนะ (ฌานอันกำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of nothingness)

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ฌานอันเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of neither perception nor non-perception)

D.III.224; S.IV.227.   ที.ปา.๑๑/๒๓๕/๒๓๕; สํ.สฬ.๑๘/๕๑๙/๓๒๖.D.III.



(๒๐๐) อวิชชา ๔ (ความไม่รู้แจ้ง, ไม่รู้จริง - ignorance; lack of essential knowledge)

๑. ทุกฺเข อญฺาณํ (ไม่รู้ทุกข์ - absence of knowledge of suffering)

๒. ทุกฺขสมุทเย อญฺาณํ (ไม่รู้ในทุกขสมุทัย - of the cause of suffering)

๓. ทุกฺขนิโรเธ อญฺาณํ (ไม่รู้ในทุกขนิโรธ - of the cessation of suffering)

๔. ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย อญฺาณํ (ไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา - of the path leading to the cessation of suffering)

กล่าวสั้นๆ คือ ไม่รู้ในอริยสัจ ๔

S.II.4; S.IV.256; Vbh. 135    สํ.นิ.๑๖/๑๗/๕; สํ.สฬ.๑๘/๕๐๕/๓๑๕; อภิ.วิ.๓๕/๒๕๖/๑๘๑



(๒๐๑) อวิชชา ๘ (ความไม่รู้แจ้ง, ไม่รู้จริง - ignorance; lack of essential knowledge)  ๔ ข้อแรกตรงกับอวิชชา ๔; ข้อ ๕ - ๘ ดังนี้

๕. ปุพฺพนฺเต อญฺาณํ (ไม่รู้ในส่วนอดีต - absence of knowledge of the past)

๖. อปรนฺเต อญฺาณํ (ไม่รู้ส่วนอนาคต - of the future)

๗. ปุพฺพนฺตาปรนฺเต อญฺาณํ (ไม่รู้ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต - of both the past and the future)

๘. อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญฺาณํ (ไม่รู้ในธรรมทั้งหลาย ที่อาศัยกันจึงเกิดมีขึ้นตามหลักอิทัปปัจจยตา - of states dependently originated according to specific conditionality)

Dhs.190.195; Vbh.326    อภิ.สํ.๓๔/๖๙๑/๒๗๓; อภิ.วิ.๓๕/๙๒๖/๔๙๐.



(๒๐๒) อันตรายของภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ ๔ (ตามบาลีว่า ภัยสำหรับกุลบุตรผู้บวชในธรรมวินัยนี้ อันเป็นเหตุให้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ต้องลาสิกขาไป - perils or terrors awaiting a clansman who has gone forth from home to the homeless life; dangers to newly ordained monks or novices)

๑. อูมิภัย (ภัยคลื่น คือ อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เกิดความขึ้งเคียดคับใจ เบื่อหน่ายคำตักเตือนพร่ำสอน - peril of waves, i.e. wrath and resentment caused by inability to accept teaching and advice)

๒. กุมภีลภัย (ภัยจรเข้ คือ เห็นแก่ปากแก่ท้อง ถูกจำกัดด้วยระเบียบวินัยเกี่ยวกับการบริโภค ทนไม่ได้ - peril of crocodiles, i.e. gluttony)

๓. อาวฏภัย (ภัยน้ำวน คือ ห่วงพะวงใฝ่ทะยานในกามสุข ตัดใจจากกามคุณไม่ได้ - peril of whirlpools, i.e. desire for sense-pleasures)

๔. สุสุกาภัย (ภัยปลาร้าย หรือภัยฉลาม คือ เกิดความปรารถนาทางเพศ รักผู้หญิง - peril of sharks, i.e. love for women)

M.I.460; A.II.123.   ม.ม.๑๓/๑๙๐/๑๙๘; องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๒๒/๑๖๕. (***) อัปปมัญญา ๔   ดู (๑๖๐) พรหมวิหาร ๔



(๒๐๓) อาจารย์ ๔ (ผู้ประพฤติการอันเกื้อกูลแก่ศิษย์, ผู้ที่ศิษย์พึงประพฤติด้วยความเอื้อเฟื้อ, ผู้สั่งสอนวิชาและอบรมดูแลความประพฤติ - teacher; instructor)

๑. บรรพชาจารย์ (อาจารย์ในบรรพชา คือ ท่านผู้ให้สิกขาบทในการบรรพชา - initiation-teacher; teacher at the Going Forth)

๒. อุปสัมปทาจารย์ (อาจารย์ในอุปสมบท คือท่านผู้สวดกรรมวาจาในอุปสมบทกรรม - ordination-teacher; teacher at the Admission)

๓. นิสสยาจารย์ (อาจารย์ผู้ให้นิสัย คือ ท่านที่ตนไปขอถือนิสัยเป็นอันเตวาสิก คือยอมตนเป็นศิษย์อยู่ในปกครอง - tutelar teacher; teacher from whom one takes the Dependence)

๔. อุเทศาจารย์ หรือ ธรรมาจารย์ (อาจารย์ผู้ให้อุเทศ, อาจารย์ผู้สอนธรรม คือ ท่านที่สั่งสอนให้วิชาความรู้ โดยหลักวิชาก็ดี เป็นที่ปรึกษาไต่ถามค้นคว้าก็ดี - teacher of textual study; teacher who gives the instruction; teacher of the Doctrine)

บางแห่งเติม โอวาทาจารย์ (อาจารย์ผู้ให้โอวาท คืออบรมตักเตือนแนะนำเป็นครั้งคราว - teacher who gives admonitions) เข้าอีก รวมเป็นอาจารย์ ๕.

Vism.94; VinA.V.1085, VII.1379.    วิสุทฺธิ.๑/๑/๑๑๘; วินย.อ.๓/๑๘๒,๕๘๒; มงฺคล ๒/๒๘๙. (***)  อาสวะ ๔   ดู (๑๓๕) อาสวะ ๔.



(๒๐๔)  อาหาร ๔ (สภาพที่นำมาซึ่งผลโดยความเป็นปัจจัยค้ำจุนรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย, เครื่องค้ำจุนชีวิต, สิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดกำลังเจริญเติบโตและวิวัฒน์ได้ - nutriment)

๑. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว ได้แก่ อาหารสามัญที่กลืนกินดูดซึมเข้าไป หล่อเลี้ยงร่างกาย - material food; physical nutriment) เมื่อกำหนดรู้กวฬิงการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ราคะที่เกิดจากเบญจกามคุณได้ด้วย

๒. ผัสสาหาร (อาหารคือผัสสะ ได้แก่ การบรรจบแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา พร้อมทั้งเจตสิกทั้งหลายที่จะเกิดตามมา - nutriment consisting of contact; contact as nutriment) เมื่อกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนา ๓ ได้ด้วย

๓. มโนสัญเจตนาหาร (อาหารคือมโนสัญเจตนา ได้แก่ ความจงใจ เป็นปัจจัยแห่งการทำ พูด คิด ซึ่งเรียกว่ากรรม เป็นตัวชำนักมาซึ่งภพ คือ ให้เกิดปฏิสนธิในภพทั้งหลาย - nutriment consisting of mental volition; mental choice as nutriment) เมื่อกำหนดรู้มโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหา ๓ ได้ด้วย.

๔. วิญญาณาหาร (อาหารคือวิญญาณ ได้แก่ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป - nutriment consisting of consciousness; consciousness as nutriment) เมื่อกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้วก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้ด้วย.

D.III.228; M.I.48; S.II.101; Vbh.401.    ที.ปา.๑๑/๒๔๔/๒๔๐; ม.มู.๑๒/๑๑๓/๘๗; สํ.นิ.๑๖/๒๔๕/๑๒๒; อภิ.วิ.๓๕/๑๐๘๑/๕๔๓.



(๒๐๕) อิทธิบาท ๔ (คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย - path of accomplishment; basis for success)

๑. ฉันทะ (ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป - will; aspiration)

๒. วิริยะ (ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย - energy; effort; exertion)

๓. จิตตะ (ความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป - thoughtfulness; active thought)

๔. วิมังสา (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น - investigation; examination; reasoning; testing)

D.III.221.Vbh.216.   ที.ปา.๑๑/๒๓๑/๒๓๓; อภิ.วิ.๓๕/๕๐๕/๒๙๒.



(๒๐๖) อุปาทาน ๔ (ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส, ความยึดติดอันเนื่องมาแต่ตัณหา ผูกพันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง - attachment; clinging; assuming)

๑. กามุปาทาน (ความยึนมั่นในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าพอใจ - clinging to sensuality)

๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือความเห็น ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ - clinging to views)

๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่างๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยสักว่ากระทำสืบๆ กันมา หรือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล - clinging to mere rule and ritual)

๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลายหรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตรมเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ - clinging to the ego-belief)

D.III.230; M.I.66; Vbh.375.   ที.ปา.๑๑/๒๖๒/๒๔๒; ม.มู.๑๒/๑๕๖/๑๓๒; อภิ.วิ.๓๕/๙๖๓/๕๐๖.



(๒๐๗) โอฆะ ๔ (สภาวะอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์, กิเลสดุจน้ำท่วมพาผู้ตกไปให้พินาศ - the Four Floods) ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ) เหมือนในอาสวะ ๔

ดู (๑๓๕) อาวสะ ๔.

D.III.230,276; S.V.59; Vbh.374  . ที.ปา.๑๑/๒๕๘/๒๔๒; สํ.ม.๑๙/๓๓๓/๘๘; อภิ.วิ.๓๕/๙๖๓/๕๐๖.








จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย