วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร



วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๑

   วัดโพธิ์ หรือนามทางราชการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกและเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย

   พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวาอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพน ขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจน

มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑

   ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม"

   ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ นานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตกคือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสสวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

   แม้การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใด ๆ

   เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนาและการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์แห่งนี้ บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๑ และที่ ๓ ขุนนาง เจ้าทรงกรมช่างสิบหมู่ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถานและสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในวัดพระอารามหลวง ด้วยพลังศรัทธาตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทย (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก) ที่รวมเอาภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กับอย่างไม่รู้จบสิ้น

ที่มา : http://www.watpho.com/


- พระอุโบสถ นับเป็นหนึ่งในพระอุโบสถที่งดงามมากของวัดในเมืองไทย -

- พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ -

วัดประจำรัชกาลที่ ๑

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

สำหรับ วัดประจำรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่จริงๆ แล้ววัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังเท่านั้น  ส่วนวัดประจำรัชกาลที่ ๑ จริงๆ แล้วก็คือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์” วัดโบราณเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และพระบรมมหาราชวัง  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่

“วัดโพธิ์” หรือมีนามทางราชการว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่ราษฎรสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากปีพุทธศักราช ๒๒๓๑ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดโพธิ์” มาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

ครั้นมาในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นนครหลวง ได้ทรงกำหนดเขตเมืองหลวงทั้งสองฝั่ง มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเขตกลางเมืองหลวง วัดโพธารามตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงอยู่ในเขตพระมหานคร และได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา

จนกระทั่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขึ้นเสวยราชสมบัติ  และได้ย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งพระนคร มีการสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธารามที่อยู่ในบริเวณเดียวกันไปด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง ภายหลังวัดแห่งนี้ก็ได้ถือว่าเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ ๑

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระอารามหลวงแห่งนี้ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวา ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพนขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสแยกจากกันไว้อย่างชัดเจน

มีหลักฐานปรากฏใน ‘ศิลาจารึกวัดโพธิ์’ ไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑  ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าแก่ขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) ส่วนด้านใต้ คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่ฝีมือเยี่ยม  มาร่วมอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อสถาปนาให้เป็นวัดหลวง โดยเริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ใช้เวลาถึง ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จและโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๔๔ แล้วพระราชทานนาม “วัดโพธาราม” ใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ครั้นต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

 

** สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ **


พระวิหารพระพุทธไสยาส

พระพุทธไสยาส

วิหารทิศ

พระมณฑป (หอไตรจตุรมุข)

เจ้าอาวาส
พระธรรมรัตนากร (สีนวล ปญฺญาวชิโร ป.ธ.๙)
เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวัง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.
ชาวต่างชาติจะต้องซื้อบัตรเข้าชมคนละ ๒๐ บาท
สำหรับนักท่องเที่ยวต้องแต่งกายสุภาพ สุภาพสตรี ห้ามสวมกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเข้าไปเที่ยวชม

สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 02 222 7831, 02 225 9595 , 02 221 1375
ความสำคัญ : พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ๑ ใน ๖ ของไทย วัดประจำรัชกาลที่ ๑
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
พระประธานในอุโบสถ : พระพุทธเทวปฏิมากร
เว็บไซต์วัด : คลิ๊กดูเว็บไซต์วัด
แผนที่วัด





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย