หน้าแรก ข่าวธรรมะและวัฒนธรรม กรกฏาคม ๒๕๔๘

โวยลบหลู่"พ่อโต"พนัญเชิง-ปีนองค์ห่มจีวร ชี้จนท.วัดไม่สมควร/อ้างทำบุญ

คลิ๊กอ่านรายละเอียด
จ.พระนครศรีอยุธยา
พระอารามหลวงชั้นโท

ลบหลู่- ชาวพุทธสุดทนเจ้าหน้าที่วัดพนัญเชิง ปฏิบัติไม่เหมาะสมต่อหลวงพ่อโต พระพุทธรูปสำคัญของชาติ โดยพากันป่ายปีนองค์พระโยนผ้าจีวรพาดบ่าตลอดทั้งวัน ลักษณะเป็นธุรกิจ ระหว่างมีผู้มิจิตศรัทธาเดินทางมาทำบุญกราบไหว้ ตามข่าว

พุทธศาสนิกชนสลดใจ ร้องจนท.วัดพนัญเชิง ปีนป่าย "หลวงพ่อโต" พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองกรุงเก่า อ้างเปลี่ยนผ้าจีวรห่มองค์พระ ชี้ไม่เหมาะสม ลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สักการบูชา แฉปีนกันตลอดทั้งวัน เอาจีวรที่ขายให้กับผู้มาทำบุญซื้อผืนละ 140 บาท ห่มองค์พระอ้างเป็นการทำบุญ เวียนขึ้นลงตั้งแต่เช้ายันเย็น แถมบางคนดื่มเหล้าด้วย ด้านสำนักพุทธฯ ยันไม่เหมาะสม เตรียมทำหนังสือแจ้งเจ้าอาวาสยกเลิก แนะควรใช้รอกชักแทนคนปีน หรือทำเฉพาะวันสำคัญ ไม่ใช่ปีนป่ายกันทุกวัน

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากพุทธศาสนิกชนที่เดินทางไปกราบไหว้สักการะพระพุทธไตรรัตนายก หรือหลวงพ่อโต พระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า เจ้าหน้าที่ของวัดมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และลบหลู่ องค์หลวงพ่อโต โดยปีนป่ายเหยียบย่ำขึ้นไปบนองค์หลวงพ่อโต เพื่อเปลี่ยนผ้าจีวร โดยอ้างว่าเป็นกิจกรรมทางศาสนา เพราะมีประชาชนที่เดินทางมานมัสการซื้อจีวรทำบุญเป็นประจำทุกวัน

ต่อมาผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบที่วัดพนัญเชิง พบว่าภายในวิหารพระพุทธไตรรัตนายก มีประชาชนจำนวนมากเข้าไปกราบสักการะหลวงพ่อโตกันอย่างเนืองแน่น มีทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ภายในพระวิหารถูกแบ่งเป็นแผนกต่างๆ เช่น แผนกขายผ้าจีวร แผนกนำถวาย และแผนกห่มผ้า โดยจะให้ประชาชนทำบุญด้วยการซื้อผ้าจีวรในราคาผืนละ 140 บาท เพื่อนำไปห่มองค์หลวงพ่อโต โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ของวัดเป็นผู้ชายประมาณ 4-5 คน ยืนเหยียบที่หน้าตักองค์หลวงพ่อ เพื่อรับและนำผ้าชักรอกขึ้นไปห่มบนองค์พระ กระทำอย่างนี้ตั้งแต่เช้ายันเย็น แม้ว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว แต่อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย เพราะการขึ้นไปเหยียบบนองค์หลวงพ่อโต เป็นการกระทำไม่เหมาะสม และลบหลู่ ที่สำคัญทำกันเป็นธุรกิจ จึงต้องหมุนเวียนกันปีนขึ้นไปห่มจีวรบนองค์พระตลอดทั้งวัน ต่อหน้าประชาชนที่มากราบไหว้

จากการสอบถามนายนก หนึ่งในผู้ที่ขึ้นไปผูกจีวรบนองค์หลวงพ่อโต กล่าวว่า ทำมานานกว่า 3 ปีแล้ว ตอนแรกก็มาทำงานแทนพ่อที่ทำมาก่อนหน้านี้ แต่พ่ออายุมากแล้วเลยมาทำแทน สำหรับการห่มผ้าพระนั้น ในวันธรรมดาจะขึ้นไปผูกผ้ากันเพียง 3 คน แต่ถ้าเป็นวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จะเพิ่มเป็น 5 คน โดยจะมีเวลาพักกลางวันเพียง 30 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นต้องขึ้นไปห่มผ้าต่อ เพราะมีคนมาทำบุญเป็นจำนวนมาก และมากันเรื่อยๆ การขึ้นไปห่มผ้าหลวงพ่อโตนั้น จะต้องขอขมาลาโทษหลวงพ่อก่อนทุกครั้ง และไม่คิดด้วยว่าจะเป็นการลบหลู่แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการเฝ้าสังเกตการทำงานของเจ้าหน้าที่ห่มผ้าพระ พบว่าหลังจากห่มผ้าจีวรที่องค์หลวงพ่อโตเสร็จ ก็จะมาล้อมวงกันกินข้าว จับกลุ่มคุยกันด้านล่าง ที่ตกตะลึงคือบางคนดื่มสุราในขณะทำงานด้วย ขณะเดียวกัน มีกลุ่มเจ้าหน้าที่วัดอีกส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการปีนป่ายขึ้นไปบนองค์หลวงพ่อโต โดยระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะให้คนปีนขึ้นไปเหยียบย่ำ และต้องขึ้นไปนั่งรออยู่บนองค์พระ เพื่อรอให้คนข้างล่างโยนผ้าขึ้นไป การโยนเป็นในลักษณะเหวี่ยงผ้าเพื่อโชว์ คงไม่เหมาะสมที่ทำแบบนี้กับพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองอายุหลายร้อยปี เป็นที่เคารพของคนทั้งประเทศ แต่ก็ไม่มีใครพูดอะไร เพราะเห็นว่าทำกันมานานแล้ว โดยไม่มีใครกล้าทักท้วง

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากการสอบถามประชาชนที่มาทำบุญในวัด บางส่วนรู้สึกเฉยๆ กับการกระทำดังกล่าว แต่บางคนไม่เห็นด้วยที่ต้องขึ้นไปเหยียบย่ำองค์พระประธานกันทั้งวันแบบนั้น เป็นภาพที่ไม่เหมาะสม และอาจทำให้องค์พระชำรุดทรุดโทรมได้ เพราะต้องขึ้นไปย่ำอยู่บนนั้นทั้งวัน และจากการตรวจสอบไปยังวัดมงคลบพิตร วัดเก่าแก่คู่เมืองพระนครศรีอยุธยาอีกแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการปีนขึ้นไปห่มจีวรบนองค์พระ ทราบว่าเมื่อก่อนที่วัดมงคลบพิตรก็เคยมีพิธีห่มผ้าพระในลักษณะนี้เช่นกัน แต่ขณะนี้เลิกไปแล้ว หันไปใช้วิธีปิดแผ่นทองคำแทน เนื่องจากถูกกระแสต่อต้านการขึ้นไปเหยียบย่ำองค์พระ

นางสมวงศ์ พินิจกิจ เจ้าหน้าที่มูลนิธิวัดมงคลบพิตร กล่าวว่า ทำงานมากว่า 20 ปีแล้ว สมัยก่อนที่วัดมงคลบพิตรก็เคยมีพิธีห่มผ้าพระเช่นกัน แต่ต้องเลิกเพราะกรมศิลปากรบูรณะปิดทององค์พระประธานทั้งองค์ จึงไม่ให้ใครขึ้นไปเหยียบย่ำ อีกทั้งมีกระแสพูดกันถึงเรื่องความไม่เหมาะสมที่ต้องปีนขึ้นไปบนองค์พระ หลังจากนั้นมาทางวัดก็แก้ปัญหา ด้วยการทำพระจำลององค์เล็กขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนมาห่มผ้า โดยไม่ต้องปีนป่ายขึ้นไปให้เป็นภาพที่ไม่เหมาะสม

วันเดียวกัน นายสมชาย สุรชาตรี ผู้ช่วยโฆษกสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงการปีนป่ายองค์หลวงพ่อโตที่วัดพนัญเชิงว่า ไม่เหมาะสม แต่เท่าที่เห็นกรรมการวัดสวมชุดขาว และกระทำด้วยกิริยาที่สงบ หากญาติโยมที่ไปทำบุญที่วัดเห็นแล้วไม่เหมาะสม ให้ทำหนังสือแจ้งโดยตรงไปยังเจ้าอาวาส เพื่อพิจารณาเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก หรือส่งหนังสือมายังสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อจะส่งหนังสือท้วงติงไปยังเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิง ขอความเห็นถึงพฤติกรรมดังกล่าว หรืออาจเสนอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำบุญซื้อผ้าห่มพระเสียใหม่ อาจเป็นการใช้รอกชักผ้าห่มพระแทน เหมือนที่ทำกันในวัดหลายแห่งที่กรุงเทพฯ หรือทำในเฉพาะวันเข้าพรรษาเพียงอย่างเดียว

ผู้ช่วยโฆษกสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานพุทธศาสนาฯ ไม่สามารถก้าวล่วงอำนาจของเจ้าอาวาสวัด และกรรมการวัดที่ดูแลผลประโยชน์ของวัดพนัญเชิงได้ ส่วนจะถึงขั้นตั้งกรรมการสอบสวนกรรมการวัดหรือไม่ คงไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีระเบียบใดกำหนดไว้ ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่วัดบางคนดื่มสุราขณะห่มผ้าองค์พระถือว่าไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะสถานที่ในวัดหรือโบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งเป็นเจ้าหน้าที่วัดจำเป็นต้องมีศีล หากเป็นคนนำอบายมุขเข้าวัดเสียเอง ถือว่าศีลที่ถืออยู่ขาดไป และต้องแจ้งให้เจ้าอาวาสวัดไล่ออกทันที


ที่มา : ข่าวสด (วันที่ ๓ กรกฏาคม ๒๕๔๘)
หัวข้อข่าวอื่นๆ
 แสดงความคิดเห็น - เกี่ยวกับข่าวนี้
[ จำนวนคนอ่าน 2017 คน ]
ชื่อ :
ข้อความ :

หน้าแรก พระพุทธศาสนา ประวัติพระพุทธสาวก หัวข้อธรรม ธรรมปฏิบัติ ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทศชาติชาดก วิทยุธรรมะไทย
พุทธศาสนสุภาษิต พจนานุกรมพุทธศาสน์ ทำเนียบวัดไทย คลังแสงแห่งธรรม พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ข่าวธรรมะ กิจกรรมธรรมะ สมุดเยี่ยม
© ๒๕๔๘ : ธรรมะไทย - dhammathai.org