คนเราที่จะดีนั้น จะต้องรู้จักหารู้จักใช้
ถ้าไม่รู้จักหาทรัพย์ก็เป็นคนเสียหรือมีทรัพย์แล้วไม่รู้จักใช้ก็เสียเหมือนกัน
กินแล้วไม่ถ่ายหรือถ่ายแล้วไม่กินมีหวังตายด้วยกันทั้งนั้น
การเสียสละ เมื่อดูเผิน ๆ น่าจะเป็นการเสียเปรียบ
เพราะให้ไปหมดไปแต่ถ้ามองให้ซึ้งจะเห็นว่า ได้เปรียบมาก เหมือนลงแรงบำรุงต้นไม้
ขั้นสุดท้ายก็ได้รับผลจากต้นไม้นั่นเอง ฉะนั้นนักปราชญ์จึงสอนไว้ว่า
"คนโง่ไม่บริจากเพราะกลัวจน
แต่เพราะกลัวจน คนฉลาดจึงบริจาค
การบริจาคนี้มีผลน่าอัศจรรย์
สร้างเสน่ห์ก็ได้ สร้างความสามัคคีก็ได้"
ท่านว่า วิธีสร้างเสน่ห์ที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นอะไรไม่ดีเท่ากับการเสียสละและท่านอ้างคติพจน์ว่า
ความรักมาเพราะน้ำใจมี
ความรักหนีเพราะน้ำใจหมด
ความรักลดเพราะน้ำใจแห้ง
ฉะนั้น ถ้าใครอยากได้ความรักก็จงสร้างน้ำใจ
เปรียบเหมือนรักจะปลูกต้นไม้งาม ๆ ก็ต้องหมั่นรดน้ำ ถ้าไม่มีน้ำจะรดก็ป่วยการปลูกน้ำในที่นี้ก็คือ
น้ำใจเสียสละนั้นเอง
อนึ่ง ความปลอดภัยจากศัตรู ก็อาศัยการเสียสละเหมือนกันศาสตราอาวุธก็ดี
รั้วรอบของบชิดก็ดี ถึงจะกันภัยได้ก็ยังไม่เท่าการเสียสละ จงดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นในวัดอภัยคีรีวิหาร
ประเทศศรีลังกาเถิด ตามเรื่องมีว่ามีโจรคณะหนึ่งวางแผนจะเข้าปล้นวัด
ขณะที่กำลังประชุมรอฤกษ์อยู่นั่นเอง พระติสสเถระเจ้าอาวาสทราบเข้า
ท่านจึงวางอุบายใช้วิธีในดีสู้โจร ให้คนจัดอาหารสเลิศไปเลี้ยงพวกโจร
ผลก็คือวัดนั้นปลอดภัยไม่ถูกปล้น เพราะอาหารเหล่านั้นออกฤทธิ์เข้าไปดลจิตให้พวกโจรใจอ่อนได้
เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า ของที่ได้มาด้วยน้ำใจไมตรีย่อมมีฤทธิ์ผิดกับของที่ได้มาจากการซื้อ
ซื้อแล้วก็แล้วกันไป แต่ถ้าเป็นของที่เขาให้ด้วยน้ำใจไมตรีจะรู้สึกว่ามีค่ามาก
เพียงน้ำแก้วเดียวเท่านั้นช่างมีรสชาติชุ่มชื่นจริง ๆ เพราะไม่ได้ดื่มน้ำเพียงอย่างเดียวแต่เราดื่มเอาน้ำใจของเขาเข้าไปด้วย
ฉะนั้นท่านจึงได้ว่า
"น้ำบ่อน้ำคลองเป็นรองน้ำใจ
น้ำที่ไหน ๆ ก็สู้น้ำใจไม่ได้ น้ำที่มีค่ามากก็คือน้ำใจนี่เอง!

|