คนไทยแต่เดิมมา
ยกย่องเทิดทูนครูอาจารย์มาก ถือว่าครูเป็นคู่ใจไม่ว่าจะทำกิจอันใด
หรือไปทางไหน ถ้าระลึกถึงครูแล้ว ย่อมเกิดความอบอุ่น, มั้นใจ หมดความพรั่นพรึง
ถึงกับมีสำนวนไทยเกิดขึ้นคำหนึ่งคือ
"ศิษย์มีครู"
แต่ยามปกติแล้ว
คนเราอาจจะมองไม่เห็นความสำคัญของครูอาจารย์ ต่อเมื่อยามเข้าสู่ภาวะคับขัน
ค่าของครูอาจารย์ก็จะปรากฏ
ศรีปราชญ์
รัตนกวี สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับพระราชอาญาส่งตัวไปยังนครศรีธรรมราช
ต่อมาได้ถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารชีวิตทั้ง ๆ ที่รู้ตัวเองว่าจะต้องตายแน่
แต่ก็ตายด้วยความไม่พรั่นพรึง เพราะเหตุที่รำลึกถึงอาจารย์ ถึงกับเขียนจารึกฝากแผ่นดินไว้ว่า
"ธรณีนี่นี้เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์หนึ่งบ้าง"
การตระหนักถึงความสำคัญของครูอาจารย์
ได้ครองอยู่ในจิตใจคนไทยมานานและนานพอที่จะก่อให้กลายเป็นประเพณีพิธีกรรมขึ้นมา
ซึ่งเรียกว่า "พิธีไหว้ครู" หรือ "บูชาครู"
ผลอันเกิดจาการไหว้
การบูชาคารวะครูอาจารย์ นอกจากจะเกิดสิริมงคลแก่ผู้ไหว้บูชาแล้ว ยังมีอานุภาพเหนือจิตใจผู้ถูกไหว้ถูกบูชาอีกส่วนหนึ่งคือทำให้ผู้ถูกไหว้ถูกบูชาพัฒนาตัวเอง
สำรวจตรวจสอบคุณธรรมประจำหน้าที่ของตัว ทั้งนี้ก็เพราะมือสิบนิ้วที่ศิษย์ยกขึ้นประนมนั้น
มันมีความศักดิ์สิทธิ์พอที่จะสะกิดหัวใจผู้ถูกไหว้ ให้ต้องปรับปรุงตัวเพื่อทำตัวให้คู่ควรเหมาะสมแก่การเทิดทูน
ในเรื่อง
"สามก๊ก" วรรณคดีสำคัญได้กล่าวถึงตัวละครสำคัญผู้หนึ่งคือ
"ขงเบ้ง" ซึ่งตามเรื่องราวกล่าวว่าเป็นนักปราชญ์ และถือตัวมากอยู่ที่ภูเขาโงสลังกั๋งในสมัยที่จีนแตกเป็นสามก๊ก
ผู้มีวาสนาแย่งอำนาจชิงกันเป็นใหญ่ แต่ละก๊กแต่ละฝ่ายก็พยายามที่จะหาคนดีมีฝีมือมีสติปัญญาสามารถรวบรวมเข้า
ไว้เป็นพรรคพวก เพื่อจะได้เป็นกำลังบันดาลความสำเร็จตามเจตนา "ขงเบ้ง"
ได้รับการติดต่อจากผู้มีอำนาจหลายราย แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยสมหวัง
เพราะขงเบ้งไม่ยอมร่วมมือ หรือตกเป็นเครื่องมือของใครง่ายๆ
แต่แล้วอยู่
ๆ ก็มีข่าวปรากฏออกมาว่า ขงเบ้งออกจากบ้านเดิม ณ ภูเขาโงลังกั๋ง ตามหลังเล่าปี่มาร่วมเป็นร่วมตาย
ร่วมงานแผนทำสงครามให้ก๊กเล้าปี่ อยู่กับเล่าปี่มาจนตลอดชีวิต แม้เล่าปี่จะตายจากไปก่อน
ขงเบ้งก็ยังไม่ยอมทอดทิ้งบุตรของเล่าปี่
ที่เป็นดังนี้
จึงน่าสงสัยไหมว่า เล่าปี่มีดีอะไรหรือที่เอาชนะขงเบ้งปราชญ์ผู้ถือตัวได้?
มิใช่เล่ห์กระเท่กลอุบายอันแสนจะลึกซึ้ง หรือเวทมนตร์ดลคาถากำลังภายในอะไรทั้งสิ้นมันคือ
"นิ้วสิบนิ้ว" นี่เองสิบนิ้วที่เล่าปี่ยกประคองประนมด้วยความสุจริต
เล่าปี่
ได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่มีมารยาทงามที่สุด อ่อนน้อมถ่อมตนที่สุด
จนนักอ่านวรรณคดีเรียกเขาว่า "ผู้พนมมือทั้งสิบทิศ"
ฉะนั้น จะถือว่าเล่าปี่สร้างชีวิตอำนาจวาสนาด้วยนิ้วมือทั้งสิบก็คงไม่ผิด..
อานุภาพของนิ้วทั้งสิบที่ยกประสานมันดลบันดาลใจผู้ถูกไหว้ให้เกิดความสำนึก
ที่จะพัฒนาคุณค่าของตัวเองขึ้นมา เพื่อปรับปรุงตนของตนให้มีความดีงามดีงามสมกับถูกยกย่องสักการบูชา
ขงเบ้งนั้น
ถึงแม้จะหยิ่งถือตัวเพียงไรก็ทนต่ออานุภาพของนิ้วมือที่ยกพนมให้ตัวไม่ไหว
ยิ่งผู้ไหว้นั้นเป็นผู้มีฐานะสูงส่งเป็นถึงความรู้สึกของขงเบ้งได้เป็นพิเศษ
จนถึงกับทำให้เกิดความต้องการจะผดุงถนอมเจตจำนงของผู้กราบไหว้คารวะตน
การไหว้
เป็นกริยาของการยกย่องเคารพ ผู้ทำก็เกิดความอ่อนโยนกันเป็นคุณธรรมภายใน
ผู้รับก็ภาคภูมิ และก่อให้เกิดความสำนึกตระหนักถึงความสำคัญของตน
เหตุนี้
ผู้มีปัญญาจึงมีปกติเป็นผู้อ่อนน้อมเสมอ และยิ่งกว่านั้น ท่านยังสามารถนำมาใช้เป็นอุบายแก้พยศแก้ความกระด้างกระเดื่องของคนพาลได้อีกด้วย

|