ที่เมืองพาราณสี
แคว้นกาสี ในรัชกาลของพระเจ้าพรหมทัต มีวัวดำตัวหนึ่งถูกเจ้าของทอดทิ้ง
ครั้งนั้น
พระพุทธเจ้าของเราเกิดเป็นวัวดำ ส่วนพระอุบลวรรณาเถรีเกิดเป็นหญิงแก่ผู้รับเลี้ยงวัวดำ
วัวดำนั้นมีสีดำปลอดมาตั้งแต่เกิด
พอโตเป็นวัวหนุ่มเจ้าของกลัวว่าจะไม่เป็นมงคล จึงจูงไปมองให้หญิงแก่คนหนึ่งช่วยเลี้นงดู
นางเลี้ยงดูเป็นอย่างดี เพราะเหตุที่นางรักวัวดำนั้นมากนั่นเอง คนเลยเรียกวัวดำนั้นว่า
"อัยยิกากาฬก" แปลว่า "เจ้าดำของคุณยาย"
วัวดำนั้นยิ่งโต
ยิ่งมีสีดำเข้ม ออกไปหากินกับวัวของชาวบ้านอยู่ทุกวัน และได้ยกย่องจากพวกวัวด้วยกันให้เป็นจ่าฝูงนำพวกตนออกหากิน
"อย่าแตกฝูงไปไกลนะพวกเรา
เดี๋ยวจะเป็นอันตราย" วัวดำจะบอกเพื่อนวัวด้วยกันเสมอๆ ก่อนออกหากิน
"ในป่าทึบนั้นมักมีสัตว์ป่าดุร้ายอย่างเสือและราชสีห์อาศัยอยู่
สัตว์พวกนี้จะคอยกินพวกเราเป็นอาหารขอให้ระวังตัวไว้ด้วย "
นอกจากมีความรักต่อบรรดาเพื่อนวัวด้วยกันแล้ว
วัวดำยังมีความรักต่อบรรดาเด็กเล็กๆ ลูกชาวบ้านด้วย พวกเด็กเองก็รักวัวดำด้วยเช่นกัน
เวลาที่วัวดำมาเดินเล่นอยู่ในหมู่บ้าน พวกเด็กก็จะพากันมารุมล้อมและเล่นกับวัวดำ
บ้างก็จับเขาโหน บ้างก็จับหูดึง บ้างก็จับคอโหน บ้างก็จับหางดึง บ้างก็ขึ้นขี่หลัง
วัวดำเองก็จะเล่น กับเด็กพวกนั้นอย่างสนุกสนานเหมือนกับว่าเป็นคนหรือวัวด้วยกัน
วัวดำเป็นวัวยอดกตัญญู
ยายที่เลี้ยงดูเขาเป็นคนยากจน เขาเห็นยายเป็นอยู่อย่างลำบากแล้วให้รู้สึกสงสาร
และยิ่งเห็นยายรักเขาจริง เลี้ยงดูเป็นอย่างดีก็ยิ่งคิดถึงพระคุณของยายมากยิ่งขึ้น
และคิดหาทางตอบแทนอยู่ตลอดเวลา
"แม่ของเรายากจน
แต่ก็สู้อุส่าห์เลี้ยงเรามาเหมือนลูก เราควรจะรับจ้างหารายได้มาช่วยเหลือแม่ให้พ้นจากความยกจนให้ได้"
ตั้งแต่นั้นมา วัวดำออกหากินหรือเดินผ่านไปทางไหนก็จะคอยดูงานจ้างไปด้วย
ซึ่งก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถึงได้มาก็มีรายได้เพียงนิดหน่อยยังไม่พอถึงขั้นที่จะช่วยให้หญิงแก่พ้นจากความยากจนไปได้
วัวดำยังหางานจ้างไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งก็ได้งานใหญ่
ค่าจ้างแพง เพราะเกวียน ๕๐๐ เล่ม บรรทุกสินค้าเต็มมาติดหล่มอยู่ใกล้ๆ
หมู่บ้าน หัวหน้ากองเกวียนซึ่งเป็นชายหนุ่มลูกชายเจ้าของกองเกวียน
สั่งการให้บริวารพยายามหาทางเอาเกวียนขึ้นจากหล่มให้ได้
"เอ้า...พวกเรา
ช่วยกันหน่อย" เขาสั่งการอย่างแข็งขัน
"ช่วยแล้วเจ้านาย แต่ว่าวัวของเราแรงไม่พอที่จะลากเกวียนขึ้นมาได้"
บริวารร้องบอก "หล่มมันลึกมาก อีกทั้งเกวียนก็หนักมีสินค้าอยู่เต็ม"
"แล้วจะทำอย่างไรกันดี" หัวหน้ากองเกวียนถามอย่างท้อแท้
"ถ่ายสินค้าลงก่อน" บริวารคนหนึ่งเสนอ
"เป็นความคิดที่ดี" หัวหน้ากองเกวียนพยักหน้ารับ
"แต่ว่ามันจะช้ากันใหญ่ เอาไว้เป็นวิธีสุดท้ายก็แล้วกัน ลองหาวิธีอื่นดูก่อน"
พวกบริวารต่างช่วยกันคิดหาวิธีลากเกวียนขึ้นจากหล่มด้วยวิธีต่างๆ
นับตั้งแต่ตัดกิ่งไม้ใส่ลงไปในหล่มและเปลี่ยนวัวลากเกวียน ผลก็คือ
เกวียนยังติดหล่มลึกอยู่เหมือนเดิม ตะวันเริ่มร้อนแรงขึ้นทุกขณะ ทุกคนเริ่มท้อแท้
ขณะนั้นเอง
วัวดำกับบรรดาเพื่อนวัวเริ่มออกหากิน หัวหน้ากองเกวียนเห็นวัวดำแล้วเกิดความหวังขึ้นมาทันที
"วัวตัวนี้ร่างกายใหญ่โต
ดูท่าจะแข็งแรงพอที่จะลากเกวียนขึ้นมาจากหล่มได้" เขาคิดพร้อมกับร้องถามเด็กเลี้ยงวัว
"เฮ้ย...ไอ้หนู วัวตัวนี้ของใครวะ"
"ของยายในหมู่บ้าน" พวกเด็กตอบ
"ถามทำไมล่ะ น้า"
"เกวียนข้าทั้งหมดนี้ติดหล่ม"
หัวหน้ากองเกวียนตอบ
"อยากได้วัวแรงดีมาช่วยลาก ข้าเห็นวัวตัวนี้แข็งแรงดีเลยถามหาเจ้าของ
เพื่อว่าจะจ้างมาช่วยลาก"
"เอาเลยนาย เอามันไปใช้ได้ ตอนนี้มันไม่มีเจ้าของหรอก"
พวกเด็กร้องบอกหัวหน้ากองเกวียนด้วยความหวังดี
ฝ่ายวัวดำได้ยินเรื่องที่หัวหน้ากองเกวียนกับพวกเด็กเลี้ยงวัวพูดกันตลอด
และรู้สึกดีใจที่ได้ยินหัวหน้ากองเกวียนบอกว่าจ้าง
"แม่จ๋า..."
เขาคิด "คราวนี้แม่คงไม่จนต่อไปอีกแล้ว ลูกจะได้ลากเกวียนตั้งห้าร้อยเล่ม
ค่าจ้างครั้งนี้คงจะงามทีเดียว"
หัวหน้ากองเกวียน
ครั้นได้ยินพวกเด็กร้องบอกเช่นนั้นก็ดีใจ รีบเดินเอาเชือกมาสนตะพายวัวดำ
แล้วจูงด้วยหมายจะให้มาลากเกวียน แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะวัวดำไม่ยอมขยับเท้าก้าวเลยแม้แต่น้อย
"ถ้าไม่ได้ตกลงเรื่องค่าจ้าง
เราก็ไม่ไป" วัวดำยืนคิดนิ่งอยู่ในใจ
หัวหน้ากองเกวียนทราบความต้องการของวัวดำเป็นอย่างดีจึงเข้าไปใกล้ๆ
แล้วบอกว่า
"เจ้าวัวดำ ขอให้เจ้าช่วยข้าหน่อยเถอะ
ช่วยลากเกวียน ๕๐๐ เล่มขึ้นจากหล่ม แล้วข้าจะให้ค่าจ้างเล่มละสองกหาปณะ
รวมทั้งหมดก็หนึ่งพันกหาปณะ"
วัวดำพอใจมากต่อราคาที่หัวหน้ากองเกวียนเสนอ
ดังนั้น เขาจึงตอบตกลงและเดินไปที่เกวียนเล่มแรกทันที พวกบริวารของนายเกวียนก็จับเทียมเกวียนเล่มแรก
จากนั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของวัวดำลาก แล้วชั่วอึดใจเดียว วัวดำก็ลากเกวียนเล่มแรกนั้น
ขึ้นมาจากหล่มได้สำเร็จ หัวหน้ากองเกวียนและบริวารต่างดีใจมาก
วัวดำลากเกวียนขึ้นจากหล่มได้ตามลำดับ
แม้จะเหน็ดเหนื่อยบ้างแต่ก็ไม่อ่อนล้า เพราะมีความหวังอยู่ที่ค่าจ้าง
๑,๐๐๐ กหาปณะ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยให้แม่พ้นจากความยากจนได้
วัวดำลากเกวียนไปเรื่อยๆ ท่ามกลางพ่อค้าเกวียนที่มองดูด้วยความชื่นชม
จนกระทั่งสามารถลากได้หมดทั้ง ๕๐๐ เล่ม
หัวหน้ากองเกวียนรีบนับเงินแล้วห่อเป็นมัดไปคล้องคอวัวดำ
แต่แทนที่วัวดำจะออกเดินทางไปบ้านหรือออกหากินต่อ เขากลับไปยืนขวางหน้ากองเกวียนของหัวหน้ากองเกวียนไว้
ทำให้ไม่สามารถออกเดินทางได้ เหตุที่วัวดำไปยืนขวางทางเช่นนั้นก็เพราะรู้ว่าหัวหน้ากองเกวียนให้ค่าจ้างไม่ครบตามที่ตกลงไว้ตอนแรก
คือ ตกลงไว้ ๑,๐๐๐ กหาปณะ แต่ให้จริงเพียงแค่ ๕๐๐ กหาปณะ ฝ่ายหัวหน้ากองเกวียนก็เข้าใจได้ดีถึงกิริยาอาการของวัวดำ
จึงยอมให้เพิ่มอีก ๕๐๐ กหาปณะ รวมเป็นเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ
ครั้นได้ค่าจ้างครบแล้ว
วัวดำก็หลีกทางให้เกวียนของนายกองเกวียนไปได้ แล้วตนเองก็รีบนำห่อกหาปณะ
(ห่อเงิน) กลับมาให้หญิงแก่ผู้เป็นเสมือนแม่ของตนที่กระท่อมในหมู่บ้าน
หญิงแก่ดีใจมากที่ได้เห็นเงินจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกสงสารวัวดำที่มาทำงานหนักเพื่อตน
"ยาย....เจ้าดำมันเก่งมาก
มันรับจ้างลากเกวียนขึ้นจากหล่มตั้ง ๕๐๐ เล่มเกวียน พอได้ค่าจ้างมันก็รีบนำมาให้ยายเลย
มันดีนะเจ้านี่"
หญิงแก่น้ำตาไหลพรากทันทีที่ได้ยินพวกเด็กเล่าเรื่องราวของวัวดำให้ฟัง
นางเดินไปลูบหัวนายดำซึ่งบัดนี้นอนอยู่ใกล้ๆ เพราะความอ่อนเพลีย นางจึงเอาน้ำอุ่นมาลูบตัวและทาน้ำมันให้บรรเทาความปวดเมื่อย
จากนั้นก็หาน้ำ หญ้าที่มีรสอร่อยมาให้วัวดำกิน
ววัวดำกับหญิงแก่อยู่ด้วยกันจนถึงวันตายอย่างมีความสุข
เพราะเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะที่วัวดำหามาให้นั้นมากพอที่จะเลี้ยงดูกันไปได้ตลอดชีวิต
นิทานธรรมเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ความกตัญญูเป็นคุณธรรมสำคัญที่ทำให้คนเข้มแข็งและอดทน เหมือนวัวดำมีความกตัญญูต่อหญิงแก่แล้วยอมทำงานหนักเพื่อตอบแทนพระคุณของนางฉะนั้น

|