Warning: file(../ad468.txt): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/randomad468.php on line 4
 
 
พระพุทธศาสนา
หัวข้อธรรม
ธรรมะปฏิบัติ
ศาสนพิธี
วันสำคัญทางศาสนา
ทำเนียบวัดไทย
พระพุทธศาสนาในไทย
คลิ๊กอ่านรายละเอียด
คลิ๊กอ่านละเอียด
คลิ๊กอ่านรายละเอียด
รวบรวมบทสวดมนต์และพระคาถาต่างๆ
+ The British Dispensary (L.P.)
+ Spa Of Eternity

นิทานธรรมะ

ม้านักรบ
เรื่องจาก : หนังสือนิทานธรรม
จำนวนคนอ่าน 3071 คน
โดย : ธรรมสภา  
วันที่ online : 2 กันยายน 2547  

ในรัชกาลของพระเจ้าพรหมทัตพระองค์หนึ่ง มีพระราชาต่างแคว้น ๗ พระองค์ ยกทัพมาล้อมเมืองพาราณสีเพื่อชิงราชสมบัติ

ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าของเรา เกิดเป็นม้าสินธพอาชาไนยของพระเจ้าพรหมทัต พระสารีบุตรเกิดเป็นนายสารถี พระอานนท์เกิดเป็นพระเจ้าพรหมทัต

ม้าสินธพถือเป็นม้ามงคลของพระเจ้าพรหมทัต มีลักษณะดี สง่างาม ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี อาหารที่กินประจำคือ ข้าวสาลีหอมเก็บค้างไว้ ๓ ปี มีรสชาติปรุงอย่างดี ภาชนะที่ใส่อาหารให้มากินเป็นถาดทองคำมีราคาเรือนแสนกหาปณะ โรงม้าที่ม้าสินธพอยู่นั้นเป็นโรงโอ่โถง มีพื้นทาด้วยของหอม ๔ ชนิดปรุงผสมกัน คือ หญ้าฝรั่ง กำยาน กานพลู และกฤษณา พระเจ้าพรหมทัตทรงรับสั่งให้เอาผ้ากัมพลสีแดงมากั้นเป็นม่านล้อมรอบ เอาผืนผ้าที่ประดับประดาด้วยดาวทองคำมาทำเป็นเพดาน ทรงรับสั่งให้ห้อยพวงดอกไม้มีกลิ่นหอมย้อยเป็นระย้า และทรงรับสั่งให้ตามประทีปด้วยน้ำมันหอมส่งกลิ่นอบอวลอยู่ตลอดเวลา

เมืองพาราณสีเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ มีอยู่คราวหนึ่ง พระราชา ๗ พระองค์จาก ๗ แคว้นต่างหมายปอง จึงทรงปรึกษาหารือกันถึงวิธีที่จะเข้ายึดครองเมืองพาราณสีนั้นให้ได้

     "หม่อมฉันขอเสนอว่า ให้เรายกทัพไปพร้อมกันแล้วเรียงรายกันล้อมเมืองพาราณสีให้ตลอด" พระราชาพระองค์หนึ่งทรงเสนอความเห็น
     "หม่อมฉันเห็นด้วย" พระราชาอีกพระองค์หนึ่งตรัสสนับสนุน

ดังนั้นเมื่อได้ฤกษ์งามยามดีก็ทรงพร้อมกันยกทัพไปล้อมเมืองพาราณสี หลังจากสร้างค่ายพักเรียบร้อยและเข้าประจำแล้ว พระราชาทั้ง ๗ พระองค์ก็ทรงปรึกษากันอีก
     "จะล้อมไว้อย่างนี้ อย่างเดียวหรือ" พระราชาพระองค์หนึ่งตรัสถามในที่ประชุม
     "ไม่หรอก " พระราชาอีกพระองค์หนึ่งตรัส      "ตามธรรมเนียมโบราณของการออกศึกสงคราม ผู้รุกรานจะต้องส่งสารไปถึงเจ้าของแคว้นเขาก่อน เป็นการเตือนให้เลือกเอาระหว่าง การยอมแพ้ กับการออกมาสู้"
    "ถ้าอย่างนั้นเราก็ปฏิบัติตามนั้นเลย"  พระราชาพระองค์ที่สามตรัสสรุป

เมื่อที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อสรุปนั้น วันรุ่งขึ้น พระเจ้าพรหมทัตก็ได้รับพระราชสารฉบับหนึ่งความว่า

     "พวกหม่อมฉันต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้คือ ราชสมบัติหรือไม่ก็การทำศึกกัน พระองค์จะให้อย่างไหน"

     ทันทีที่ได้รับพระราชสารฉบับนั้น พระเจ้าพรหมทัตก็รับสั่งให้บรรดาอำมาตย์เข้าประชุมร่วมกันพิจารณาคำขอของพระราชาผู้รุกราน ๗ พระองค์
     "จะให้ข้าตอบเขาไปว่าอย่างไร" พระองค์ตรัสถามอย่างร้อนรน
     "ขอเดชะ..." อำมาตย์คนหนึ่งกราบทูล "ขอให้ฝ่าพระบาทตอบไปเลยว่าจะทำศึก"
     "เจ้าพูดอะไร" พระเจ้าพรหมทัตตรัสถามด้วยความตกพระทัย "เราจะเอาอะไรไปสู้เขาได้ เขายกมากันตั้ง ๗ แคว้น"
     "ขอเดชะ ขั้นแรกนี้พระองค์ยังไม่ต้องออกไปรบเองหรอกพะย่ะค่ะ แต่ขอให้ส่งนายารถีผู้ชำนาญในการขี่ม้าออกไปรบแทน"
     "นายสารถีคนนั้นคนเดียวน่ะหรือ"
     "ใช่...พะย่ะค่ะ"
     "มันจะไปสู้อะไรเขาได้ คนคนเดียวสู้คนเป็นร้อยเป็นพัน"
     "ถ้าสู้ไม่ได้ คราวนี้แหละพระองค์ค่อยยกกองทัพออกไป"

พระเจ้าพรหมทัตยังรู้สึกงุนงงในแผนของอำมาตย์ผู้นั้น แต่เป็นเพราะเคยเชื่อมือกันมาก่อน จึงยอมทำตามที่เขาเสนอ พระองค์รับสั่งให้นายสารถีผู้ชำนาญการขี่ม้า ที่อำมาตย์เอ่ยถึงเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามถึงความสมัครใจที่จะออกไปสู้รบ
     "ขอเดชะ ถ้าข้าพระองค์ได้ขี่ม้าสินธพอาชาไนยออกรบอย่าว่าแต่แค่พระราชา ๗ องค์นี้เลย ต่อให้พระราชาทั่วทั้งชมพูทวีปข้าพระองค์ก็สู้ได้"
     "อย่าว่าแต่แค่ม้าสินธพอาชาไนยเลย อย่างอื่นสิ่งไหนที่เจ้าต้องการ จงบอกมา ข้าจะให้" พระเจ้าพรหมทัตตรัสเสียงดัง
     เมื่อได้รับพระราชานุญาตเช่นนั้นแล้ว นายสารถีก็กราบถวายบังคมลาแล้วลงมาจากปราสาทให้เจ้าหน้าที่จูงม้าสินธพอาชาไนยมาให้ เขาลงมือสวมเกราะให้ม้า จากนั้นจึงสวมเสื้อเกราะให้ตัวเองแล้วคาดพระขรรค์ กระโดดขึ้นหลังม้าควบออกจากเมืองไปอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ

     นายสารถีได้วางแผนการรบไว้ในใจแล้ว คือ การบุกจู่โจมแบบสายฟ้าแลบ หลังจากที่เขาได้ศึกษาและรู้กำลังของศัตรูทันทีที่เห็นค่ายทหารตั้งรายล้อมเป็นแห่งๆ เขาก็ชักพระขรรค์ออกมาถือในท่าพร้อมรบแล้วบุกจู่โจมค่ายที่ ๑ ทันที เขาอาศัยความรวดเร็วและฝีมืออันฉกรรจ์ฆ่าทหารค่ายที่ ๑ นั้นตายเป็นเบือ จากนั้นจึงจับพระราชมัดแล้วนำไปมอบแก่กองกำลังในเมืองให้กักตัวไว้ เขาออกมาบุกจู่โจมค่ายที่ ๒ ค่ายที่ ๓ ค่ายที่ ๔ ค่ายที่ ๕ และค่ายที่ ๖ ตามลำดับและจับพระราชาแห่งค่ายนั้นๆ ได้ แต่คราวบุกจู่โจมค่ายที่ ๖ นั้น ม้าสินธพอาชาไนย เกิดพลาดท่าถูกหอกแทงเลือดโชกได้รับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส นายสารถีทราบว่าม้าสินธพถูกแทงอาการสาหัสจึงให้นอนพักที่ใกล้ประตูพระราชวัง แล้วแสดงท่าทีจะขี่ม้าตัวอื่นออกรบ ม้าสินธพนอนลืมตามองดูท่าทีของนายสารถีตลอดเวลาและเข้าใจดีว่า เขากำลังจะขี่ม้าตัวอื่นออกรบ ม้าสินธพรู้ดีถึงกำลังของศัตรูและรู้ดีว่าม้าที่นายสารถีจะขี่ออกรบแทนตนนั้น ไม่สามารถพอที่จะเอาชนะศัตรูค่ายที่ ๗ ได้ ม้าคิดต่อไปว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ นายสารถีเองก็จะถูกฆ่าตาย พระราชาก็จะถูกจับ เมืองพาราณสีก็จะถูกยึดครอง ม้าทนไม่ได้กับสภาพเช่นนั้น จึงร้องบอกนายสารถีให้ขับขี่ตนออกรบ โดยกล่าวว่า

     "ม้าสิธพอาชาไนยแม้จะถูกยิงด้วยลูกศรเจ็บปวดถึงขั้นล้มนอนตะแคง แต่ก็ยังดีกว่าม้ากระจอก มาเถิดสารถี มาสวมเกราะให้ข้าพเจ้า"

     นายสารถีได้ฟังม้าสินธพร้องบอกเช่นนั้นก็ผละจากม้าตัวใหม่ มาหาม้าสินธพพันแผลให้และรัดเกราะให้แน่นดุจเดิม จากนั้น ก็ขี่ควบออกไปบุกค่ายทหารค่ายที่ ๗ สามารถทำลายค่ายนั้นได้และจับพระราชามากักตัวไว้ในเมืองอย่างที่แล้วมา

     หลังจากเสร็จศึกแล้ว ม้าสินธพอาชาไนยซึ่งเหนื่อยอ่อนเต็มทีก็ล้มตัวนอนอยู่ใกล้ๆ ประตูพระราชวัง พระเจ้าพรหมทัตสเด็จมาต้อนรับ ม้าได้กราบทูลว่า

     "ขอเดชะ ขอพระองค์อย่าได้ประหารชีวิตพระราชาผู้เป็นเชลยทั้ง ๗ พระองค์นั้น เพียงแต่ว่าให้ทำพิธีสาบานแสดงความจงรักภักดีแล้วปล่อยตัวไปเถิด ยศที่จะพระราชทานแก่หม่อมฉันและแก่นายสารถี ก็ขอได้โปรดพระราชทานแก่นายสารถีแต่เพียงผู้เดียว ขอให้พระองค์จงทรงเกษมสำราญ ให้ทาน รักษาศีล และครองแผ่นดินโดยธรรมเถิดพระเจ้าข้า"

     ม้าเจ็บปวดเหลือกำลัง แต่ก็ข่มความเจ็บปวดกราบทูล พระเจ้าพรหมทัตทอดพระเนตรดูด้วยความสงสาร ทรงลูบลำตัวไปมาพลางตรัสว่า
     "ม้าเอย... เจ้าทำความดีให้แก่บ้านเมืองมาก เมืองพาราณสีปลอดภัยจากศัตรูก็เพราะความเสียสละของเจ้า ความดีของเจ้าจะจารึกอยู่ในใจของข้าตลอดไป"
     ม้าสินธพรู้ดีว่า เวลาที่จะมีชีวิตอยู่ของตนเองเหลือน้อยเต็มที จึงเอาเท้าหน้าวางที่พระบาทของพระเจ้าพรหมทัต ฝ่ายพระราชาเชลยทั้ง ๗ พระองค์ก็ทรงทำตามที่ม้าแนะนำคือ ให้ทำพิธีสาบานแสดงความจงรักภักดีแล้วปล่อยตัวไป นับแต่นั้นมาเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ก็มีแต่ความสงบสุขตลอดรัชกาล

นิทานธรรมเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความดีไม่ว่าคนหรือสัตว์ทำ สมควรได้รับการยกย่องทั้งนั้น เพราะความดีให้ผลออกมาเป็นความสุขสงบของสังคม และบางครั้งผู้ทำความดีอาจจะต้องพบกับความทุกข์ยากถึงขั้นชีวิต อย่างม้าสินธพอาชาไนยฉะนั้น


หน้าแรก พระพุทธศาสนา ประวัติพระพุทธสาวก หัวข้อธรรม ธรรมปฏิบัติ ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทศชาติชาดก วิทยุธรรมะไทย
พุทธศาสนสุภาษิต พจนานุกรมพุทธศาสน์ ทำเนียบวัดไทย คลังแสงแห่งธรรม พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ข่าวธรรมะ กิจกรรมธรรมะ สมุดเยี่ยม
ธรรมะไทย - dhammathai.org Warning: include(../useronline.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/dhammastory/story08.php on line 564 Warning: include(../useronline.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/dhammastory/story08.php on line 564 Warning: include(): Failed opening '../useronline.php' for inclusion (include_path='.:/usr/local/lib/php') in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/dhammastory/story08.php on line 564