Warning: file(../../ad468-2.txt): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/randomad468-2.php on line 4
 
 
พระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย พุทธศาสนายุคมุสลิมยึดครอง พ.ศ.๑๗๐๐ - ๒๒๐๐
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย
The History of Buddhism in India


พุทธศาสนายุคมุสลิมยึดครอง พ.ศ. ๑๗๐๐-๒๒๐๐
   (Buddhism in Muslim ruler's time B.E. 1700-2200)


     หลังจากราชศ์ปาละได้เสื่อมสลายลงแล้ว ลุ่มแม่น้ำคงคาตอนกลางก็ตกอยู่ภายใต้ปกครองของกษัตริย์ราชวงค์เสนะ ซึ่งก่อตั้งโดยพระเจ้าลาวะเสนะ (Lavasena) กษัตริย์ราชวงศ์นี้ส่วนมากนับถือศาสนาฮินดู แต่ก็ทรงอุปถมภ์พุทธศาสนาอยู่บ้าง ในตอนปลายราชวงค์นี้อาณาจักรมคธ และอินเดียส่วนเหนือกลางทั้งหมดต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองกองทัพมุสลิม

๑.การทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทา (Nalanda demolition)

ซากมหาวิทยาลัยนาลันทา แคว้นมคธ

     ในขณะที่ลัทธิพุทธตันตระ กำลังได้รับการปฏิบัติอย่างแพร่หลายในอินเดียทางทิศเหนือ กลาง และทิศตะวันออกในหมู่ชนชั้นต่ำพุทธศาสนาดั้งเดิมก็ถึงแก่ความเสื่อม เกิดสัทธรรมปฎิรูปผสมผสานกันเข้าจนหาความบริสุทธิ์ได้น้อย ต่อมากษัตริย์มุสลิมก็เริ่มเคลื่อนกองทัพอันเกรียงไกรเข้ายึดอินเดียทางทิศเหนือไว้ได้ในครอบครอง โดยเด็ดขาด

     พ.ศ.๑๗๓๗ กองทัพมุสลิมนำโดยโมฮัมหมัด โฆรี (Muhammad Ghori) กลับมาเพื่อแก้แค้นพระเจ้าปฤฐวีราช (Prithaviraj) อีกครั้งพร้อมกองทหาร ๑๒๐,๐๐๐ คน ยกทัพจากอัฟกานิสถาน ก็พิชิตกองทัพอินเดียได้ ณ ทุ่งปาณิพัตร ใกล้กรุงนิวเดลลี แต่คราวนี้พระเจ้าปฤฐวีราชแพ้ราบคาบและสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พระมเหสีทราบข่าวก็กระโดดเข้ากองไฟ พร้อมข้าราชบริพารจนกลายเป็นประเพณีสตรีสืบต่อมา พระเจ้าชายาจันทราทรงทราบและเตรียมรบ สุดท้ายก็พ่ายแพ้สิ้นพระชนม์ในสนามรบเช่นกัน

     พ.ศ.๑๗๔๐ โมหัมหมัด โฆรี ก็ได้แต่งตั้ง กุดบัดดิน ไอบัค (Qutbuddin Aibak) นายพลของเขาดูแลกรุงอินทรปัตถ์ (เดลลี) และส่วนอื่น ๆ ของอินเดียที่ยึดได้ และไอบัคก็ได้ขยายจักรวรรดิออกไปเรื่อย ๆ รัฐคุชรตและรัฐอื่น ๆ ในอินเดียตอนกลางก็ถูกผนวกเข้ามาในสมัยนี้ ต่อมาพวกเขาก็เดินทัพไปสู่รัฐพิหาร มีชัยชนะเหนือพระเจ้าลวังเสนา กษัตริย์แห่งเบงกอล จึงเป็นการเปิดทางอย่างสะดวกให้กองทัพมุสลิมรุกเข้าอินเดียเหมือนเขื่อนแตก ได้ทำลายวัดวาอารามและสถานที่สำคัญของพุทธศาสนา ของฮินดูและเชน ฆ่าพระภิกษุสามเณรตายหลายหมื่นรูป

     ต่อมา พ.ศ.๑๗๖๖ อิคเทียขิลจิลูกชายภักเทียขิลจิ แม่ทัพมุสลิมอีกคนก็เข้าทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นอย่างราบเรียบ มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ได้กลายเป็นสุสานของพระภิกษุสามเณร ดังบันทึกของท่านตารนาถชาวธิเบต ได้บันทึกไว้ว่า
     "กองทัพเติร์กมุสลิม หลังจากที่รุกรบจนชนะแล้วได้ปกครองชมพูทวีปส่วนเหนือและแคว้นมคธแล้ว ต่อจากนั้นก็เริ่มทำลายวัดวาอารามปูชนียสถานเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมาย ต่อมา พ.ศ. ๑๗๖๖ กองทัพมุสลิมนำโดยอิคเทีย ขิลจิ พร้อมด้วยทหารม้า ๒๐๐ คน ก็ได้ยกทัพมาทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทา"
     พระภิกษุสงฆ์จำนวนมากถูกฆ่า และบางส่วนก็หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศใกล้เคียง ซึ่งโดยมากได้ไปอาศัยอยู่ที่เนปาลและธิเบต ในขณะที่กองทัพมุสลิมยกทัพเข้ามา ๓๐๐ คน ท่านธรรมสวามิน พระธิเบตและท่านราหุลศรีภัทร ไม่ขอหนีแต่จะขอตายที่นาลันทา แต่ต่อมาทั้งสองจึงได้ไปหลบหนีึซ่อนตัวอยู่ที่วัดชญาณนาถ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า รุกขมินิสสถาน ซึ่งห่างจากมหาวิทยาลัยนาลันทา ๓ กิโลเมตร เมื่อพวกเติร์กมุสลิมกลับไปแล้ว ได้มีผู้ออกมาเพื่อบูรณะนาลันทาขึ้นมาดั่งเดิม โดย มีท่านมุทิตาภัทร (Muditabhadra) ได้จัดแจงซ่อมแซมขึ้นใหม่ ต่อมาเสนาบดีแคว้นมคธ นามว่า กุกฏะสิทธิ ได้บริจากทรัพย์สร้างวัดขึ้นอีก ภายในบริเวณนาลันทานั้นเอง นาลันทาทำทีจะฟื้นอีกครั้ง
     แต่ต่อมามีพราหมณ์ ๒ คนได้มาถึงบริเวณนั้นจะยึดเอาเป็นที่ประกอบพิธีบูชายัญ ด้วยความคะนองสามเณรจึงหยิบภาชนะตักน้ำล้างเท้าสาดพราหมณ์ทั้งสอง พวกเขาโกรธมาก เวลาเลยผ่านไปสิบปีจึงมาเผาซ้ำ ห้องสมุดรัตโนทธิที่เหลือเป็นหลังสุดท้ายก็ถูกทำลายลงหมดหนทางจะเยียวยา จึงถูกปล่อยรกร้างจมดินเป็นเวลา ๖๒๔ ปี
     พ.ศ.๒๔๐๓ ท่านเซอร์คันนี่งแฮมจึงได้ขุดค้นเจอซากของมหาวิทยาลัยตามคำบอกที่พระถังซำจั๋งเขียนไว้ในหนังสือของท่าน

     ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพุทธศาสนาก็ได้เสื่อมและหมดไปจากอินเดียตอนเหนือ และตอนกลาง โดยไม่มีอะไรเหลือให้ปรากฏ นอกจากซากปรักหักพังของสถานที่สำคัญ ของพุทธศาสนา และพระพุทธรูปที่ถูกทำลายเป็นส่วนมาก และสิ่งเหล่านี้ก็ได้ถูกทอดทิ้งลบเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวอินเดียมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๘๐๐ ปี จึงไม่เป็นการแปลกเลยว่า เพราะเหตุใดชาวอินเดียทุกวันนี้ จึงไม่รู้จักพุทธศาสนา ส่วนศาสนาฮินดู และศาสนาเชน นั้นก็ถูกทำลายเช่นกันแต่ไม่ค่อยจะรุนแรงเท่าไรนัก เพราะพระและนักบวชฮินดูมีหลายลัทธิหลายนิกาย บางนิกายไม่ค่อยจะมีความผิดแปลกแตกต่างจากฆราวาสเท่าไรนัก เพราะแต่งตัวเหมือนฆราวาสและมีครอบครัวได้อาศัยอยู่ตามบ้านเรือน พวกมุสลิมก็รู้ไม่ได้ว่าเป็นพระหรือเป็นฆราวาส ส่วนพระของพุทธศาสนานั้นแปลกจากพระในศาสนาอื่น ๆ การแต่งตัวรู้ได้ง่ายอยู่ที่ไหนก็รู้ได้ง่าย มุสลิมได้เบียดเบียนบังคับให้สึก ถ้าไม่สึกก็ฆ่าเสียเมื่อเป็นเช่นนี้พระในพุทธศาสนาอยู่ไม่ได้ เมื่อไม่มีพระสงฆ์พุทธศาสนาก็หมดไปโดยปริยาย อีกอย่างหนึ่งผู้ที่นับถือพุทธนั้น โดยมากเป็นคนชั้นสูงเมื่อคนชั้นสูงหมดอำนาจ ศาสนาพุทธก็หมดไปด้วย ไม่เหมือนกับศาสนาฮินดูซึ่งผู้นับถือส่วนมากเป็นสามัญชนและศาสนาอยู่ได้ก็เพราะชนพวกนี้

     พ.ศ. ๑๗๔๕ โมหัมหมัด โฆรีก็เสียชีวิตลง ไอบักจึงสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์ (สุลต่าน) แห่งเดลลี พวกเติร์ก หรือตุรกีจึงปกครองอินเดียสืบมา แม้จะเปลี่ยนผู้ปกครองและเชื้อสายบ้างแต่สุลต่านทั้งหมดก็เป็นมุสลิม พวกเขาปกครองอินเดียมายาวนานมากกว่า ๖๐๐ ปี เมื่อไอบัคเสียชีวิตลง บังลังก์ที่เดลลีก็ถูกยึดครองครองโดยอิลตูมิช (Iltumish) เขาเป็นผู้ปกครองที่มีความสามารถคนหนึ่ง แต่กวดขันผู้คนที่นับถือศาสนา และพยายามที่จะบังคับพลเมืองให้เป็นมุสลิม ช่วงนี้ชาวพุทธฆราวาสยังมีอยู่ แต่ถูกบีบคั้นอย่างหนัก บางส่วนหันเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามและฮินดู เมื่ออิลตูมิชเสียชีวิตแล้วจึงให้ลูกสาวขึ้นปกครองแทน คือราซิยา (Raziya) แต่เพราะเจ้าหน้าที่ข้าราชบริพารชาวมุสลิมไม่นิยมในผู้ปกครองที่เป็นหญิง นางจึงถูกลอบสังหาร นาซิรุดดิน (Nasiruddin) จึงขึ้นครองบัลลังก์เดลลี ต่อมาบัลบัน (Balban) ก็ปกครองสืบต่อจากนาซิรุดดินมา ดังมีรายละเอียดดังนี้

 

๒.ราชวงศ์ทาส (Slave dynasty) พ.ศ.๑๗๔๙ (ตุรกี)

     ๑. กุดบัดดิน ไอบัก (Qutbuddin Aibak) เป็นชาวเติร์กหรือตุรกีเป็นทาสของโมหัมหมัด โฆรี แต่มีความสามารถในการรบ โฆรีเห็นความสามารถจึงถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองเดลลีและเป็นผู้รบชนะพระเจ้าชายาจันทรา หรือไชยจันทร์ได้สร้างหอสูงชื่อกุตับมีน่าร์ที่เมืองนิวเดลลี เขาได้ทำลายโบสถ์และวัดในศาสนาต่าง ๆ มากมาย ปกครองเดลลีจนถึงพ.ศ. ๑๗๖๓

     ๒. อิลตูมิท (Iltulmit) ปกครองบัลลังก์เดลลีเมื่อพ.ศ. ๑๗๖๓ ต่อจากไอบัก เป็นนักปกครองที่มีความสามารถ รวบรวมอาณาจักรเป็นปึกแผ่น ช่วงปลายอายุได้ตัดสินใจมอบบัลลังก์ให้กับลูกสาว เพราะบุตรชายอ่อนแอไม่มีความสามารถ ปกครองเดลลีจนถึง พ.ศ. ๑๗๗๙

     ๓. ราซิยา (Raziya) เป็นบุตรสาวของอิลตูมิท แม้เป็นหญิงแต่มีความเข็มแข็ง มักชอบแต่งกายเหมือนบุรุษ ปกครองจนถึง พ.ศ.๑๗๘๓ ก็ถูกโค่นอำนาจลง

     ๔. นาซิรุดดิน (Nasiruddin) เป็นบุตรคนเล็กของอิลตูมิท และเป็นน้องชายของราซิยา เป็นนักการศาสนามากกว่านักปกครองเพราะใช้เวลาส่วนมากอยู่กับคัมภีร์อัลกุระอ่าน ปกครองจนถึง พ.ศ.๑๘๐๓

     ๕. บัลบัน (Balban) ปกครองเดลลีตั้งแต่พ.ศ.๑๘๐๓ เขาเป็นคนโหดร้าย ปกครองบ้านเมืองด้วยความกลัว และกดขี่ไม่ให้สิทธิ์แก่ผู้นับถือศาสนาอื่นนอกจากมุสลิม ทายาทของบัลบันค่อนข้างอ่อนแอ ปกครองจนถึงพ.ศ. ๑๘๓๓ อำนาจก็ถูกเปลี่ยนเป็นราชวงศ์ขิลจิ

     ในยุคของอิลตูมิทได้มีนักแสวงบุชาวธิเบตท่านหนึ่งเดินทางมาอินเดียเพื่อศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ท่านเป็นศิษย์ชุดสุดท้ายของนาลันทาก่อนถูกทำลายลง จดหมายเหตุที่ท่านเขียนไว้มีคุณค่ามหาศาลต่อชาวพุทธท่านนี้คือ พระลามะธรรมสวามิน

 

๓.จดหมายเหตุพระธรรมสวามิน (Dharmasvamin)

     พระลามะธรรมสวามิน (Dharmasvamin) นามเดิมว่า ชัค-โล-จวะ-โซ-เจเป็ล เกิดเมื่อพ.ศ.๑๗๔๐ ในตอนกลางของธิเบต หลังจากบรรพชาและอุปสมบทเป็นพระสงฆ์แล้ว ได้เดินทางเข้าอินเดีย เมื่อพ.ศ.๑๗๗๗ พร้อมกับคณะในสมัยของอิลตูมิทปกครองเดลลี ได้เดินทางจาริกแสวงบุญจากธิเบตผ่านเนปาลเข้าสู่อินเดีย รวมเวลา ๔ ปี หลังจากกลับธิเบตแล้ว ท่านได้เขียนรายงานบันทึกการเดินทางท่องเที่ยวและศึกษาของท่านที่อินเดีย รายงานการบันทึกของท่านได้รับการเปิดเผยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยท่านราหุลสังกฤษยยันที่เดินทางเข้าธิเบตก่อนจีนยึดครอง รายงานการบันทึกของท่านได้เผยโฉมหน้าของประวัติศาสตร์อินเดียที่มืดดำลง ทำให้เราได้ทราบข้อเท็จจริงหลายประการโดยเฉพาะสถานการ์พุทธศาสนาในยุคที่มุสลิมเข้ายึดครองมคธ แหล่งพักพิงของพุทธศาสนาแห่งสุดท้ายในยุคนั้น แต่เนื่องจากท่านเดินทางมาอินเดียไม่นานและไม่ได้ท่องเที่ยวไปหลายแห่งเหมือนพระอาจารย์ฟาเหียน พระถังซำจั๋ง พระอี้จิง ข้อมูลที่เราได้รับจึงมีแค่เฉพาะแคว้นมคธและใกล้เคียงเท่านั้น แต่ทั้งสี่ท่านล้วนเป็นพุทธสาวกที่มีใจเด็ดเดี่ยวพร้อมพลีชีพในการเดินทางแสวงบุญในแดนพุทธภูมิ แม้จะผ่านอุปสรรคมากมายในการเดินทางแต่ท่านเหล่านั้นก็ทำสำเร็จ
ก่อนการเดินทางไปอินเดีย ท่านลามะธรรมสวามินได้รับการคัดค้านจากพระอาจารย์ชาวธิเบตและอินเดียใน ธิเบตหลายท่าน ถึงอันตรายต่อชีวิตหากจะดึงดันเดินทางมาอินเดีย เพราะก่อนหน้านั้นท่านธรรมสวามินผู้เป็นลุงได้เดินทางเข้าอินเดียและเสียชีวิตที่อินเดียมาแล้ว แต่ปณิธานที่จะเดินทางไปอินเดียยังมั่นคง แม้จะถูกตัดค้านแต่ท่านได้เริ่มเดินทางจากธิเบตพร้อมคณะเข้าสู่เนปาล ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


เส้นทางการเดินทางของพระธรรมสวามิน
Dharmasvamin's Route to India

 

เนปาล (Nepala)

      ขณะมีอายุ ๒๙ ปีท่านได้เดินท่างเข้าเนปาลและพักศึกษาเล่าเรียนที่วัดสวยัมภูวิหาร และธรรมธาตุวิหารกับ พระมหาเถระรัตนรักษิตะ (Ratnarakshita) เป็นเวลา ๘ ปี ไปเดินทางกราบนมัสการพุทธสถานหลายแห่ง เช่น พระเจดีย์พุทธนาถ และสยัมภูวนาถ ธรรมธาตุวิหาร และมหาวิหารพูขาม เป็นต้น ในทุก ๆ ปีของฤดูใบไม้ร่วง ประชาชนจะนำพระพุทธรูปที่วิหารพูขามออกมาแห่เฉลิมฉลองเสมอ ที่นี่เพื่อนร่วมทางได้เสียชีวิตหลายรูป

ที่ติรหุต (Tirhut)

     หลังสิ้นสุดการเรียนและท่องเที่ยวในเนปาล ท่านตัดสินใจเดินทางเข้าอินเดีย พ.ศ.๑๗๗๗ ขณะอายุ ๓๗ ปี สถานการณ์ืไม่ปลอดภัยสำหรับชาวพุทธและฮินดู พุทธสถานส่วนมากได้ถูกทำลายลงแล้ว ที่นี่มีหญิงวรรณะต่ำพยายามคุกคามชีวิตพรหมจรรย์ แต่ท่านก็รอดตัวมาได้ ตอนกลับท่านต้องผ่านเมืองนี้และได้ป่วยหนักจนแทบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อหายดีแล้วได้พบกับพระราชาเมืองติรหุตนามว่า พระเจ้ารามสิงห์ (Ramasimha) พระองค์ศรัทธาในตัวท่านแม้พระองค์จะเป็นฮินดู พร้อมกับถวายทอง ยารักษาโรค ข้าวและเสบียงอีกมาก แล้วอาราธนาให้ท่านเป็นพระที่ปรึกษาประจำราชสำนัก แต่ท่านปฏิเสธพร้อมกล่าวว่า เป็นการไม่เหมาะที่ชาวพุทธจะเป็นครูของผู้นับถือศาสนาอื่น พระราชาเข้าใจ ต่อมาท่านจึงลากลับ ระหว่างทางได้ถูกควายป่าโจมตีหลายครั้งแต่ท่านพร้อมเพื่อน ๔ รูปก็รอดมาได้อย่างหวุดหวิด

ที่ไวศาลี (Vaishali)

     ที่นี้ได้พบกับรูปปั้นของเทพธิดาตาราที่มีชื่อเสียงของเมือง ขณะที่เดินทางไปถึงประชาชานกำลังแตกตื่นสับสนอลหม่านอย่างหนัก เพราะมีข่าวลือว่ากองทหารตุรกีกำลังเดินทางมา รุ่งอรุณวันใหม่ชาวเมืองต่างพากันเตรียมหลบหนี แต่ท่านไม่ไป เมื่อสถานการณ์ปกติแล้วพวกเขาจึงกลับมาอีกครั้งที่ไวศาลี ท่านธรรมสวามินไม่ได้ให้รายละเอียดเรื่องสถานการณ์ของพุทธศานาในเมืองเวศาลี ขณะข้ามแม่น้ำคงคาด้วยเรียกข้ามฟากเพื่อเดินทางกลับ มีทหารมุสลิมสองนายเดินทางมากับเรือด้วย พวกเขาเห็นท่านพร้อมกับทองคำที่พระเจ้ารามสิงห์ถวาย จึงข่มขู่เอาทองคำพร้อมยึดบาตรและทุบตีเพื่อยึด แต่โชคดีที่คฤหัสถ์ชาวพุทธพ่อลูกในเรือขอร้องและมอบสมบัติเขาให้แทน พวกเขากล่าวว่า "พวกเราไม่ต้องการสมบัติคุณ แต่ต้องการพระธิเบตรูปนี้" แต่ท่านอ้อนวอนพร้อมมอบสมบัติบางส่วนให้พวกเขาจึงปล่อยตัว

ที่วัชรอาสน์ (พุทธคยา) (Buddhagaya)

     ที่นี่ส่วนมากรกร้าง มีพระสงฆ์ฝ่ายหินยานหรือเถรวาทจำพรรษา ๓๐๐ รูป ล้วนแล้วแต่มาจากศรีลังกา แต่ในขณะที่ท่านเดินทางไปถึงพระเกือบทั้งหมดได้หลบหนีไปแล้ว เหลือพระดูแลพระเจดีย์ ๔ รูปเท่านั้น ท่านกล่าวว่า
     "(ที่พุทธคายา) สถานที่ถูกทำลายลง เหลือพระ ๔ รูป เท่านั้นที่พักดูแลอยู่ในพุทธคยา พระภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า "มันแย่มาก พระทั้งหมดได้หลบหนีไปที่อื่นหมดแล้วด้วยความกลัวทหารมุสลิมตุรกีที่รุกราน" พระภิกษุเหล่านั้น ปิดทางเข้าสู่เจดีย์มหาโพธิ์ด้วยอิฐและฉาบมันไว้อย่างดี ใกล้ที่นั่นภิกษุได้บรรจุรูปปั้นอื่นไว้เป็นตัวหลอก บนผิวปูนที่ฉาบนั้นพวกเขาได้วาดรูปพระอิศวร(มเหศวระ) ไว้ภายนอกเพื่อปกป้องพวกนอกศาสนา พระเหล่านั้นกล่าวว่า "พวกเราไม่กล้าอยู่ที่นี่ และจะต้องไปเหมือนกัน"
     "พอรุ่งสาง พวกเขาก็ออกเดินทางสู่ทางเหนือตามร่องของเกวียนที่ผู้คนไปก่อนแล้ว สิบเจ็ดวันต่อมาข้าพเจ้าก็ไม่ได้เห็นรูปปั่นนั้นอีก เวลานั้นได้มีหญิงชาวบ้านได้นำข่าวดีมาประกาศว่าทหารตุรกีได้ไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงกลับมาแล้วได้พำนักที่นี้เพื่อกราบนมัสการพระเจดีย์"

     เมื่อสถานการณ์คับขัน ท่านก็เข้าไปหลบภัยในป่ากับเพื่อน ๑๗ วัน เมื่อก่องทหารตุรกีกลับไปแล้วและสถานการณ์เป็นปกติ ท่านจึงเดินทางเข้ากราบพระแท่นวัชรอาสน์และพระเจดีย์
     พระสงฆ์ฝ่ายหินยานที่ดูแลพระแท่นวัชรอาสน์กล่าวกับพระลามะธรรมสาวมินว่า ท่านถืออะไรในมือ เมื่อทราบว่าเป็นหนังสือปรัชญาปารมิตา (ฝ่ายมหายาน) พระเหล่านั้นจึงแนะนำให้ท่านโยนทิ้งลงแม่น้ำเสีย พร้อมกล่าวว่ามหายานไม่ได้สอนโดยพระพุทธเจ้า การบูชาเจ้าแม่ตาราหรือพระอวโลกิเตศวรก็เป็นเรื่องงมงาย แต่ท่านก็ไม่สละแนวคิด ที่นี่ท่านได้พบหลายอย่าง เช่น ต้นโพธ์ รูปปั้นเทพธิดาตารา พระพุทธรูป พระพุทธบาท พระบรมสารีริกธาตุ กำแพงหิน วัชรอาสน์ เป็นต้น
     ต่อมาท่านได้พบกับ พระเจ้าพุทธเสน (Buddhasena) แห่งราชวงศ์เสนะที่ปกครองมคธ พระองค์เป็นชาวพุทธ และได้หลบหนีกองทหารมุสลิม เข้าป่าพร้อมทหารราว ๕๐๐ นาย เมื่อเห็นท่านพระองค์ได้กราบแทบเท้าพร้อมกับตรัสว่า "ขอน้อมวันทาต่อบุตร (สาวก) ของพระพุทธองค์" พร้อมกับบูชาท่านด้วยวัตถุสิ่งของมากมาย

ที่ภูเขาคิชฌกูฏ (Gijhakuta)

     ที่นี่กุฏิของพระพุทธองค์บนยอดเขา เรียกว่า มูลคันธกุฏิ คำว่า "คิชฌกูฏ" แปลว่าภูเขาหัวแร้ง มีนกหลายชนิด งูใหญ่ เสือ หมี ควายสีดำและสีน้ำตาลมากมายอาศัยอยู่ ผู้เดินทางมาคนเดียวจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งจึงต้องมาเป็นคณะพร้อมอาวุธ ดาบ หอกธนู พร้อมอุปกรณ์ให้สัญญาณ เช่น แตร ฉาบ เป็นต้น บนยอดเขาไม่มีต้นไม้ใหญ่ ยังมีสถูปใหญ่ที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้ เพื่อยืนยันว่าพระพุทธเจ้าเคยแสดงพระธรรมเทศนาที่นี่ แม้จะมีสัตว์หลายชนิด แต่ก็มีสิทธะหลายคนอาศัยอย่างสงบบนยอดเขา

ที่นครราชคฤห์ (Rajgrha)

     ที่นี่มีหมู่บ้านราว ๖๐๐-๘๐๐ หลัง มีสถูปใหญ่ที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างไว้ท่างทิศเหนือมีธารน้ำร้อนไหลออกจากภูเขา เรียกว่า ตโปธาราม นอกนั้นยังมีป่าไผ่เป็นจำนวนมาก ท่านได้ศึกษากับพระมหาเถระที่มีชื่อเสียงในเมืองราชคฤห์ คือ ท่านมหาบัณฑิตยโสมิตร (Mahapandit Yasomitra) ในหลายศาสตร์ ท่านก็ไม่อ้างถึงสถานการณ์ของพุทธศาสนาในเมืองนี้ แต่ได้กล่าวถึงเฉพาะพระเถระที่มีชื่อเสียงในรูปเดียวคือพระมหาเถระยโสมิตร

ที่นาลันทา (Nalanda)

size="1" face="MS Sans Serif" color="#990000">พระธรรมสวามินพาท่านราหุลศรีภัทรหลบหนีจากนาลันทา

     ที่นี่มีพระจำพรรษาราว ๑,๐๐๐ รูป ท่านได้ศึกษากับพระมหาเถระผู้เป็นอธิการบดีคนสุดท้ายวัย ๙๐ ปี คือ ท่านมหาบัณฑิตราหุลศรีภัทร (Rahulasri-Bhadra) ในหลายศาสตร์ เช่น ไวยากรณ์ และคุรุปัญจสิกา พร้อมกับศิษย์ของท่านราว ๗๐ รูป ท่านมีศิษย์คนสำคัญดูแลอุปัฏฐากเป็นพราหมณ์นามว่า ชัยเทวะ (Jayadeva) เข้าสู่ พรรษาที่ ๒ ท่าน อธิการบดีบอกให้ท่านธรรมสาวมินกลับธิเบต เพราะมคธมีไข้ระบาด และกองทหารตุรกี เข้าโจมตีหลายแห่งในมคธ พระมหาเถระดุด่าศิษย์ชาวธิเบตว่า "คุณเป็นพระธิเบตจงรีบกลับบ้านเสีย ชาวบ้านและลูกศิษย์ฉันก็ได้หนีไปแล้ว อย่าคิดโง่ๆ ที่จะอยู่กับฉัน ถ้าคุณอยู่ที่นี่ คุณจะถูกฆ่าพร้อมกับฉัน" แต่ท่านยืนกรานไม่กลับพร้อมกล่าวว่า "ผมไม่กลับ ถ้าพระอาจารย์ไม่ไปด้วย" ท่านอาราธนาพระเถระกลับธิเบตด้วย พระมหาเถระตอบไปว่า "ฉันแก่มากแล้ว และธิเบตก็อยู่ไกลเหลือเกิน พวกเราคงไม่ได้เจอกันอีกในชีวิตนี้ แต่คงได้เจอกันที่แดนสุขาวดี แน่" จึงไม่ได้เดินทางไปกับท่าน ต่อมาทหารมุสลิม ๓๐๐ นายก็ปรากฏตัว ขึ้นที่นาลันทา ท่านจึงตัดสินใจอุ้มพระมหาเถระราหุลศรีภัทรบนบ่าพร้อมกับน้ำตาล ข้าวสารและหนังสือบางเล่ม ไปหลบภัยที่วัดชญาณนาถ (Jananath) อันไม่ไกลจากนาลันทา เมื่อกองทหารไม่สามารถค้นเจอจึงได้กลับ ไปพร้อมกับขนหินบางส่วนจากนาลันทาไปสร้างมัสยิดที่โอทันตบุรี (พิหารชารีฟ) ด้วย

กลับธิเบต (Return to Tibet)

     หลังศึกษาภาษาสันสกฤต และพุทธศาสนากับพระอาจารย์ราหุลศรีภัทรถึง ๓ ปีแล้วจึงออกเดินทางกลับธิเบต ตามคำแนะนำของพระมหาเถระ เมื่อมาถึงติรหุล ท่านป่วยหนักร่างกายเจ็บปวด ๒ เดือน เจ้าของบ้านที่อาศัยไม่อนุญาตให้ท่านนอนพักแล้วขับล่าให้ไปนอนป่าช้า ต่อมาท่านได้รับการช่วยเหลือจากตันตริก ท่านหนึ่งจึงทุเลาและเดินทางกลับธิเบตได้ เมื่อมาถึงธิเบตแล้ว ท่านได้พบกับ พระทานศรี (Danasri) พระนักปราชญ์ชาวอินเดียที่พำนักในธิเบต พระอาจารย์ ชาวอินเดียกล่าวว่า "ท่านได้ไปศึกษาที่อินเดียเป็นเวลานาน (จนปราดเปรื่อง) ในขณะที่ผมเปรียบเสมือนวัวควายในธิเบต"
     ท่านพำนักอยู่ที่มคธไม่นาน ก็ต้องกลับธิเบตเพราะที่นี่ไม่ปลอดภัยสำหรับชาวพุทธไม่ว่าชาติใด เพราะกองทัพตุรกียึดอินเดียได้ถาวร และสถาปนาราชวงศ์ทาสที่เดลลีเพื่อปกครองอินเดียแล้ว หลังกลับมาธิเบต พ.ศ.๑๗๙๙ ท่านได้รับการอาราธนาจากเจ้าชายกุบไลข่าน เพื่อไปเยี่ยมมองโกเลียและจีน ท่านได้ปฏิเสธในช่วงต้นแต่รับอาราธนา ท่านป่วยหนักที่มองโกเลียจึงขออนุญาตกลับธิเบต ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๗ ขณะอายุ ๖๘ ปี

ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย โดย พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ
[ จำนวนคนอ่าน คน ]
หน้าแรก พระพุทธศาสนา ประวัติพระพุทธสาวก หัวข้อธรรม ธรรมปฏิบัติ ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทศชาติชาดก วิทยุธรรมะไทย
พุทธศาสนสุภาษิต พจนานุกรมพุทธศาสน์ ทำเนียบวัดไทย คลังแสงแห่งธรรม พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ข่าวธรรมะ กิจกรรมธรรมะ สมุดเยี่ยม
ธรรมะไทย - dhammathai.org Warning: include(../../useronline.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/buddhism/india/chapter09_1.php on line 685 Warning: include(../../useronline.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/buddhism/india/chapter09_1.php on line 685 Warning: include(): Failed opening '../../useronline.php' for inclusion (include_path='.:/usr/local/lib/php') in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/buddhism/india/chapter09_1.php on line 685