Warning: file(../ad468.txt): failed to open stream: No such file or directory in /home/dhammathai/domains/dhammathai.org/public_html/randomad468.php on line 4
 
 
ธรรมะจากหลวงพ่อ


พระเทพวรมุนี
เจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร
'สุขภาพจิต สุขภาพกาย'

ในปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางใด ก็พบแต่ความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนกันทุกแห่งหน ไม่ว่าจะพบหน้าใครที่ไหน ก็จะบ่นกันเป็นประจำว่า "ปีนี้เศรษฐกิจแย่ตกต่ำ การค้าขายไม่เป็นไปอย่างที่เคยมีมานับแต่ ๕ ปีถอยหลังไป" การคิดเช่นนี้ ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านและเสียสุขภาพจิตกันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะไม่ได้คิดถึงธรรมะ เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ตัดสินใจโดยไม่มีหลักยึดเหนี่ยว บางครั้งจึงทำให้พลาดโอกาสที่เป็นมงคลต่อชีวิตไป

ในการครองชีวิตมีธรรมะอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งสอนให้รู้จักอดออม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำ ผู้นำที่ดีต้องยึดพุทธภาษิตข้อหนึ่งที่ว่า "สันตุฏฐี ปรมัง ธนัง" ซึ่งแปลว่า "ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง" ความสันโดษในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ให้วางมือ วางเท้า ไม่ต้องทำอะไร เอาแต่กินมรดกของเดิมของเก่าให้หมดไป แต่จะต้องรู้จักกับความพอดี คืออะไรที่ดีอยู่แล้วก็ยินดีเฉพาะสิ่งนั้น และอาจจะต้องสร้างเสริมขึ้นมาบ้างเ้พื่อป้องกันการขาดแคลน ถ้าคิดว่ามีเท่าไหร่ก็ยินดีใช้ไห้หมดไปเท่านั้น ย่อมจะทำให้เกิดปัญหาทีหลัง จึงจะต้องรู้จักการใช้จ่าย ในการดำเนินกิจการงานของตนด้วยธรรมะข้อนี้ นับว่าเป็นธรรมะที่เอื้ออาทรแก่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นธรรมะที่ช่วยสร้างพลัง หรือสุขภาพจิตให้เข้มแข็ง เพื่อจะเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ

ในส่วนของสุขภาพกาย ท่านกล่าวว่าการมีสุขภาพพลานามัยที่ดีต้องประกอบด้วยอากาศดี อารมณ์ดี อาหารดี และอาจม

     อากาศดี คือ อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากมลภาวะ
     อารมณ์ดี คือ พบหน้ากันก็ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน ไม่มีอารมณ์บูดค้างติดมาจากบ้าน
     อาหารดี คือ อาหารที่เป็นสัปปายะ เป็นอาหารที่ปราศจากสิ่งที่เป็นพิษ เป็นโทษ และเป็นภัยต่อร่างกาย
     อาจม คือ ระบบขับถ่าย เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว ระบบขับถ่ายก็ต้องทำงานอย่างเป็นปกติ

เมื่อสุขภาพจิตดีสุขภาพกายดี การปฏิบัติภาระหน้าที่ การปกครองบังคับบัญชาผู้คนก็จะดีไปด้วย แต่การที่จะปกครองคนที่อยู่ในบังคับบัญชาได้ดีนั้น สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักผูกใจคน โบราณท่านว่า "ผูกวัว ผูกควาย ต้องผูกด้วยเชือกหรือเครื่องพันธนาการ แต่การผูกใจคนจะต้องผูกด้วย สังคหธรรม คือ ธรรมะที่จะช่วยผูกมัดใจคน ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อรรถจริยา และสมานัตตตา"

     ทาน คือ การให้หรือการเสียสละ เพราะในสังคมมนุษย์เรา จะคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ หรือจะให้เขาทั้งหมดเราก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้น จะต้องรู้จักลักษณะของการให้ หรือการไม่ให้หรือควรให้อย่างไร ทำความเข้าใจในส่วนนั้นแล้วปฏิบัติตาม

     ปิยวาจา คือ การกล่าวคำที่ไพเราะเสนาะโสต เราคงเคยได้ยินได้ฟังคนที่พูดจาปราศัยกระโชกโฮกฮาก หรือที่เรียกว่า ผรุสวาท คือ คำหยาบคาย ไม่ระรื่นหู เราก็ไม่พอใจ เราก็ไม่อยากฟัง แต่ถ้าเป็นปิยวาจาคือวาจาที่กล่าวแล้วน่ารักน่าฟัง ก็จะทำให้จิตใจของเรารื่นเริงบันเทิงจิตในส่วนนั้น

     ส่วนอรรถจริยา คือ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนบ้านไปจนกระทั่งถึงสังคม อย่างวันที่เรามาร่วมกิจกรรม "ธรรมะในสวน" เราได้ถือเอาอาหารคาวหวาน หรือผลไม้มาถวายแก่พระสงฆ์และิีกส่วนเอาไปแจกกัน ก็เรียกได้ว่าได้ทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมแล้ว

     ประการสุดท้าย สมานัตตตา นั้น หมายความถึงความเป็นผู้มีตนเสมอ คำว่าเสมอในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงความเสมอกันทางร่างกาย เพราะคนเราต่างกันด้วยสัญชาติ ด้วยบรรพบุรุษ ความเสมอตามความหมายของสมานัตตตานั้น หมายถึง การประพฤติหรือปฏิบัติตนให้เสมอกับฐานะ หรือภาวะของตน คือเราอยู่ในฐานะไหนหรืออยู่ในภาวะอย่างไร เราก็ปฏิบัติให้สมกับฐานะและภาวะนั้นๆ เช่น เป็นเด็กก็ปฏิบัติอย่างเด็ก รู้จักเคารพผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เป็นผู้ปกครองก็ต้องรู้จักว่าจะปกครองจะวางตนอย่างไร ไม่ใช่ใช้อำนาจไปข่มเหงผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่นึกว่าเราอยู่ในฐานะที่สูงขึ้นมาโดยอาชีพ หรือมีฐานะมั่นคงร่ำรวยแล้ว เราจะเหยียดหยามคนอื่นอย่างไรก็ได้ ถ้าหากปฏิบัติเช่นนั้นก็จะไม่ได้ชื่อว่า สมานัตตตาธรรมะ




หน้าแรก พระพุทธศาสนา ประวัติพระพุทธสาวก หัวข้อธรรม ธรรมปฏิบัติ ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทศชาติชาดก วิทยุธรรมะไทย
พุทธศาสนสุภาษิต พจนานุกรมพุทธศาสน์ ทำเนียบวัดไทย คลังแสงแห่งธรรม พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ข่าวธรรมะ กิจกรรมธรรมะ สมุดเยี่ยม
© ๒๕๔๘ : ธรรมะไทย - dhammathai.org