หน้าแรก ข่าวธรรมะและวัฒนธรรม กรกฏาคม ๒๕๔๘

ตามไปดูฝีมือ"ช่างแก้ว อาจหาญ" เทียนพรรษาแนวพุทธประวัติ


"งานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี" เริ่มต้นขึ้นในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้กำกับดูแลมณฑลภาคอีสาน โดยได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในยุคนั้นเป็นอย่างดี

แต่จำกัดอยู่ในวงแคบเท่านั้น อันเนื่องมาจากระบบคมนาคมและการสื่อสาร ไม่ทันสมัยดังเช่นปัจจุบัน

จนกระทั่ง พ.ศ.2520 สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามาสนับสนุนจัดงานประเพณีทางศาสนา ทำให้งานแห่เทียนพรรษาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

ด้วยผลงานแกะสลักเทียนพรรษาอันประณีต ล้วนมาจากเบื้องหลังการทำงานอย่างทุ่มเทสุดฝีมือของช่างแกะสลักผู้ชำนาญการ โดยนำเรื่องราวพุทธประวัติ มาร้อยเรียงถ่ายทอดลงบนเทียนขี้ผึ้งได้อย่างน่าอัศจรรย์

"นายแก้ว อาจหาญ" หัวหน้าทีมช่างแกะสลักต้นเทียนติดพิมพ์ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า "วัดบูรพาราม" มีชื่อเสียงในฝีมือช่างแกะสลักต้นเทียนติดพิมพ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศต้นเทียนติดพิมพ์ขนาดใหญ่ 8 ปี และต้นเทียนติดพิมพ์ขนาดเล็ก 3 ปี

โดยต้นเทียนพรรษาส่วนใหญ่นิยมแกะสลักเป็นลวดลายสะท้อนเรื่องพุทธประวัติ

สำหรับต้นเทียนพรรษาของวัดบูรพาราม ในปี 2548 จะเป็นเรื่องราวชาดกพระเวสสันดร ตอนออกจากนครสีพี ระหว่างทางมีพราหมณ์มาทูลขอราชรถ

ฉากหน้าจะเป็นรูปพระเวสสันดรทรงราชรถ ด้านหลังพระเวสสันดร เป็นรูปม้า 2 ตัว ตรงกลางราชรถเป็นต้นเทียนติดพิมพ์ทำลวดลายกนกเปลวเครือเถาลายระย้าคู่ เป็นรูปเทพนม ดูอ่อนช้อยงดงาม ส่วนฉากหลังเป็นภาพ 3 ธิดามาร คือ นางตัณหา นางราคาและนางอรดี บุตรสาวของวัสวดีพระยามาร รับอาสามาล่อลวงด้วยบ่วงอิตถีมายา ณ โคนต้นไทรอชปาลนิโครธ เพื่อมิให้พระพุทธเจ้า บำเพ็ญเพียรสำเร็จมรรคผล

ต้นเทียนเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ฉากหน้าเป็นภาพทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จ เบื้องล่างเป็นรูปเทวดา 4 องค์ ช่วยกันประคองเท้าม้าให้ลอยอยู่บนฟ้า

ฉากต่อมา เป็นต้นเทียนลวดลายไทย ฉากหลังเป็นเรื่องอัญเชิญจุติของสันดุสิตเทพบุตร หรือพระเวสสันดรจากดุสิตสวรรค์ ลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ซึ่งการทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ใช้ต้นทุนราว 3 แสนบาท ส่วนต้นเล็กราว 1.5 แสนบาท

ส่วนต้นเทียนประเภทแกะสลัก ที่มีความยิ่งใหญ่อลังการของ "วัดศรีอุบลรัตนาราม" ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ได้รับการควบคุมดูแลทุกขั้นตอนจากฝีมือของ "นายอุดม เจนจบ" เป็นหัวหน้าทีมช่าง ใช้งบดำเนินงานกว่า 1.8 แสนบาท

ด้านหน้าเป็นรูปพระพิฆเนศวรหรือพระพิฆเนศ โอรสของพระอิศวรกับพระอุมา ซึ่งเป็นเทพแห่งศิลปะ

ถัดมาเป็นพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดสุภัททปริพาชก สาวกองค์สุดท้าย

ครั้นได้ทรงเปิดโอกาสให้พระสาวก ถามข้อสงสัย แต่ไม่มีผู้ใดซักถาม พุทธองค์จึงได้ตรัสประทานโอวาท ความว่า

"ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาพวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนเอง และผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ภายหลังการประทานปัจฉิมโอวาทเสร็จ พระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี

ฉากหลังองค์ประกอบต้นเทียน เล่าเรื่องพระพุทธเจ้า เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยพระอินทร์ เนรมิตบันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว โดยบันไดแก้วใช้สำหรับพระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง ในวันออกพรรษา จึงได้มีประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ เพราะเป็นวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลก

ลักษณะของต้นเทียนวัดศรีอุบลรัตนาราม ลำต้นยังเสนอความงดงามตามลวดลายไทย ที่อ่อนช้อยกับลายกนกเปลวเครือเถา ลายนาคคาบ ลายนาคขบ ประกอบพุทธประวัติตอนท้าวสหัมบดีพรหมเสด็จมาทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดชาวโลก

ส่วนฐานของต้นเทียนแกะสลัก เป็นรูปช้างเอราวัณ 4 เศียร เป็นพาหนะของพระอินทร์

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถรับชมเรื่องราวพุทธประวัติ ผ่านลวดลายริ้วขบวนแห่เทียนพรรษาของ จ.อุบลราชธานี ในระหว่างวันที่ 18-22 ก.ค.นี้

ข้อมูลเพิ่มเติม : http://203.146.250.87/calendar/july05_10.html
                     http://www.tatubon.org/


ที่มา : ข่าวสด (วันที่ ๑๙ กรกฏาคม ๒๕๔๘)
หัวข้อข่าวอื่นๆ
 แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้
[ จำนวนคนอ่าน 1120 คน ]
  [10 ต.ค. 2560 เวลา 14:49 น.]

  [3 มิ.ย. 2560 เวลา 01:34 น.]

  [30 ต.ค. 2559 เวลา 07:05 น.]


ชื่อ :
ข้อความ :

หน้าแรก พระพุทธศาสนา ประวัติพระพุทธสาวก หัวข้อธรรม ธรรมปฏิบัติ ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทศชาติชาดก วิทยุธรรมะไทย
พุทธศาสนสุภาษิต พจนานุกรมพุทธศาสน์ ทำเนียบวัดไทย คลังแสงแห่งธรรม พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ข่าวธรรมะ กิจกรรมธรรมะ สมุดเยี่ยม
© ๒๕๔๘ : ธรรมะไทย - dhammathai.org