อยู่รอดพ้นภัยด้วยศาสตร์พระราชา

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงทรงทำไว้เป็นแบบอย่างจะเป็นทางรอดที่แท้จริงของคนไทยทุกคน ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2547 หากใครยังจำกันได้ ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เคยพระราชทาน ส.ค.ส. แก่ปวงชนชาวไทย เป็นรูปประเทศไทยล้อมไปด้วยระเบิด 4 ลูก พร้อมคำที่ปรากฏบนภาพในสคส.ว่า มีระเบิดเกือบทั่วโลกและในบริเวณที่เป็นประเทศไทยนั้นมีคำว่า “สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย”

ภาพ ส.ค.ส.พระราชทานครั้งนั้น เปรียบเสมือน “คำเตือน” ถึง ภัยพิบัติ 4 ประการ ซึ่งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง โดยการนำของ “อาจารย์ยักษ์” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ตีความว่า หมายถึง วิกฤติภัยทางธรรมชาติ วิกฤติโรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง และ วิกฤติความขัดแย้งทางสังคม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและ ทั่วโลกกลายเป็นภาพข่าว และเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นกันแล้วอย่างมากมาย อาจารย์ยักษ์ เชื่อว่าจากนี้ไปความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ยากจะหลีกเลี่ยง ปัญหาสภาวะอากาศแปรปรวนจาก โลกร้อน ภัยแล้ง ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนน้ำ พลังงาน และอาหาร กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่

“แต่ด้วยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงทรงทำไว้เป็นแบบอย่างจะเป็นทางรอดที่แท้จริงของคนไทย ทุกคน” อดีตข้าราชการที่ใช้ชีวิตตัวเองบนวิถีพึ่งพาตนเองมาเป็นบทพิสูจน์ของ การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ บอกด้วยความเชื่อมั่น อันเป็นที่มาของปณิธานในการจัดตั้ง ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ที่บ้านมาบเอื้อง ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ที่เรียกกว่า “ศาสตร์พระราชา” ให้คนไทย จากทุกภูมิภาค สามารถอยู่รอดท่ามกลางสังคมที่ปรวนแปรจากวิกฤติระเบิด ทั้ง 4 ลูก

อยู่รอด พ้นภัยด้วยศาสตร์พระราชา thaihealth

หนึ่งในโครงการที่มุ่งให้เกิดการสร้างคนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ คือ โครงการ CMS  ที่ย่อมาจากคำว่า Crisis Management and Survival Camps  หรือโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำอาสาสมัครเพื่อการป้องกัน เตือนภัยและฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤติ โดยทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แกนนำสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง บอกว่า หลังจากริเริ่มฝึกอบรมอาสาสมัคร ประชาชนรุ่นแรกไปได้ไม่นาน เวลาต่อมา ประเทศไทยก็ได้เผชิญกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้นจริงๆ  ในปี 2554

“ก่อนหน้านี้ เราพยายามบอก และเตือนมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มีคนร่วมมือด้วยเท่าไหร่ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ตามมาด้วยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯปี 2554 คนเริ่มเชื่อกันแล้วว่า สิ่งที่พระองค์ท่านเตือน และคอยสอน  หากหยิบมาฝึกฝนลงมือทำให้เกิดผล จะสามารถช่วยคนได้มากมาย ตอนนั้น เราเปิดศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่ มาบเอื้องซึ่งเป็นที่เดียวที่ไม่จมน้ำ  ให้เป็นศูนย์พักพิง ให้คนมากินอยู่ฟรี อบรมความรู้ให้ฟรี รวมทั้งสานต่อโครงการอบรมอาสาสมัคร CMS  ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”

อยู่รอด พ้นภัยด้วยศาสตร์พระราชา thaihealth

อาจารย์ยักษ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการอบรมให้ความรู้เพื่อ “สร้างคน” ให้มีความพร้อมรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาเรื่องการ จัดการดินน้ำป่าและภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ การพัฒนาศักยภาพผู้นำอาสาสมัคร เพื่อการป้องกัน เตือนภัยและฟื้นฟูชุมชน ในภาวะวิกฤติ โดยมีอดีตครูฝึกตำรวจตระเวนชายแดนที่ผันตัวเองมาเดินตาม  แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง “ลุงดาบนิรันดร์” ด.ต.นิรันดร์ พิมล รับหน้าที่เป็นประธานคณะทำงาน มีศูนย์ฝึกที่เป็นแม่ข่ายใหญ่ๆ3 แห่ง คือ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง จ.ชลบุรี ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านบุญ จ.ขอนแก่น

ลุงดาบนิรันดร์ เล่าว่า ช่วงก่อน น้ำท่วมใหญ่ปี 2553-2554 ทางศูนย์ฯ ได้เริ่มมีแนวคิดที่จะฝึกฝนเกษตรกรหรือผู้สนใจ เพื่อวางแผนรับมือสามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ หากประสบภัยพิบัติ โดยน้อมนำศาสตร์  พระราชามาปรับใช้ควบคู่กับทักษะการเอาตัวรอดในภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม ก่อนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ หรือที่เราเรียกกันว่า ธรรมชาติพยากรณ์ พร้อมให้ฝึกให้พร้อมเผชิญเหตุ เช่น แผ่นดินสไลด์ ต้นไม้ล้ม ฟื้นฟูกำลังใจเกษตรกรที่ขวัญเสียเพราะไร่นาเสียหาย ว่าจะตั้งต้น ชีวิตใหม่ได้อย่างไร เพื่อให้เกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถเอาตัวรอดได้ในยามเกิดภัยพิบัติ การหาอยู่หากิน  การพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจ พอเพียง

อยู่รอด พ้นภัยด้วยศาสตร์พระราชา thaihealth

“เราสอนเรื่องการพึ่งพาตนเอง ดำรงชีวิตโดยพึ่งพาภายนอกให้น้อยที่สุด เช่น สอนการทำปุ๋ย การปรุงดิน การแกล้งดิน วิชาสมุนไพร แม้กระทั่ง การทำบัญชีครัวเรือน การหาอยู่หากิน  เมื่อภัยมาจะเอาตัวให้รอดได้อย่างไร” ลุงดาบนิรันดร์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพของหลักสูตรการเรียนรู้ตลอด 6 วัน 5 คืน

ศาสตร์พระราชาที่นำมาน้อมนำ ใช้ยังมีทั้งการออกแบบพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำประยุกต์จากเกษตรทฤษฎีใหม่ที่วัดมงคลชัยพัฒนา เพื่อสร้างแหล่งน้ำ ขนาดเล็กไว้ในพื้นที่ของประชาชนให้เพียงพอ ยึดหลักการอ่างใหญ่ เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ ในขณะที่หากเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ประชาชนยังสามารถเก็บน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ของตนไว้ใช้ในยามฝนทิ้งช่วง และช่วยชะลอน้ำ เมื่อยามเกิดน้ำหลาก

นอกจากนี้ ยังน้อมนำหลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อเป็นแหล่งสะสมอาหารที่ยั่งยืน  แม้ในยามไม่มีภัยพิบัติ พร้อมกับ การฝึกอบรมเพื่อเร่งสร้างกองกำลังอาสาสมัครภาคประชาชน สำหรับการเตือนภัยและเผชิญเหตุ เมื่อเกิด ภัยพิบัติสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่และรวมตัวกันเป็นเครือข่ายระดับประเทศเพื่อช่วยเหลือพึ่งพากันเองได้อย่างทันท่วงที

“เราฝึกอบรมสร้างคนมาอย่าง ต่อเนื่องทุกปีเป็นปีที่ 5 เน้นกลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่มีจิตใจอาสาช่วยเหลือสังคม หาก เป็นได้ควรเป็นเกษตรกร ดีที่สุดคือควรมี ที่ดินเป็นของตัวเอง แต่ถ้าไม่มีที่ดิน ก็ไม่เป็นปัญหา เราอยากเน้นคนที่มี ความตั้งใจเพื่อนำความรู้กลับไปทำเป็น ต้นแบบแก่ชุมชนหรือหมู่บ้านต้นแบบ รวมถึงแกนนำหรือคนในพื้นที่ซึ่งรู้ข้อมูลดีที่สุด และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้เป็นอย่างดีในยามเกิดภัยพิบัติ บางคนเป็นข้าราชการ มาอบรมเพราะเห็นความยากลำบากของคนในพื้นที่ จึงอยากกลับไปช่วยพัฒนาบ้านเกิด” ลุงดาบนิรันดร์ เล่า

นอกจากเป้าหมายของการ “สร้างคน” แล้ว โครงการ CMS ยังมองไปถึง เป้าหมายการสร้างรูปธรรม “พื้นที่ตัวอย่างฐาน 4 พอ” ได้แก่ “พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” เพื่อเป็นพื้นที่ ต้นแบบสำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมและการพึ่งตนเอง เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและตัวอย่างการฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมดุลจากศาสตร์ พระราชา จนสามารถสร้างศูนย์ฝึกอบรมเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการพึ่งตนเอง ใน 19 พื้นที่ 13 จังหวัด ทั่วประเทศ

อาจารย์ยักษ์ กล่าวว่า ภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่างที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม ครู หมอ ธุรกิจ  ภาคอุตสาหกรรม หรืออาชีพอื่นๆ โดย สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ในหลวงทรงทุ่มเทอย่างมาก คือ การสร้างมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และสภาพแวดล้อม

“จากนี้ไป สิ่งที่พวกเราในฐานะอาสาสมัครประชาชนที่ศรัทธาในแนวทางของพระองค์ท่านต้องเร่งปฏิบัติ คือ  การสร้างความเพียงพื้นฐานให้ได้ใน  4 เรื่อง คือ พอกิน พอใช้ พออยู่อาศัย และพอร่มเย็น ส่วนใครที่กำลังความสามารถมากพอ อยากให้มาช่วยกันเปิดศูนย์ฝึกอบรมเพื่อให้คนไทยได้เข้ามาเรียนรู้งานของพระเจ้าอยู่หัว รวมถึง ช่วยกันเผยแพร่องค์ความรู้ออกไป ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

.

ที่มา : https://goo.gl/SYmVJc


 

Copyright © 2019. All rights reserved.
ข้ามไปยังทูลบาร์