ในหลวง ร.9 “พระบิดาแห่งฝนหลวง”

นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในภูมิภาคต่างๆของสังคมไทย ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ความว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานหนักตรากตรำพระวรกาย เพื่อแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของปวงชนให้ได้อยู่ดีมีสุข โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทรงพระราชทานโครงการพัฒนาต่างๆ ไว้มาก และหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ ….

“โครงการฝนหลวง” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร จากทฤษฎีเริ่มแรกที่เกิดขึ้นหลังจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาประมาณ ๑๔ ปีในการวิเคราะห์วิจัย ทบทวนเอกสาร รายงานผลการศึกษาและข้อมูลต่างๆ โดยพระราชทานให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เพื่อประกอบการค้นคว้าทดลองมาโดยตลอด ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา การแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้และเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ให้วันที่ ๑๔ พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวัน “พระบิดาแห่งฝนหลวง”เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมีพระราชดำริโครงการฝนหลวงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ ในการทรงคิดดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนได้ในยามแล้งน้ำ ช่วยเหลือพื้นที่ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและทางเกษตรกรรม บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ต่างๆ ให้รอดพ้นภัยนับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์

ทั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่ เป็นพื้นที่ทดลองด้วยการหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง ขนาดไม่เกิน ๑ ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองทำให้กลุ่มเมฆเกิดการเปลี่ยนแปลงรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ไม่นานนักก็ได้รับรายงานยืนยันด้วยจากราษฎรว่าเกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนนั้นเป็นไปได้

และเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎร จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่จวบจนถึงทุกวันนี้

จากวันนั้น การปฏิบัติการฝนหลวง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างและเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า แหล่งน้ำและต้นน้ำลำธารธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงป่าไม้อีกด้วย

อีกหนึ่งโครงการ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงให้ความสำคัญ คือ การอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาแหล่งน้ำ นำมาซึ่งการคิดค้นสู่ “โครงการแก้มลิง” อันเกิดจากพระราชกระแสที่ทรงอธิบายว่า…

“ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวี หรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”

rain-1024x710

จากแนวคิดนี้เอง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาอุทกภัย โดยทรงตระหนักถึงความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ จึงมีพระราชดำริโครงการแก้มลิงขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๘ ด้วยการจัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ รองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้ จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกผลที่ได้สามารถลดปัญหาน้ำท่วม ทั้งยังเป็นการช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ โครงการแก้มลิงกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ กว่า ๒๐ แห่ง แบ่งเป็นโครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้าน จังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ

โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายออกทะเลด้าน จังหวัดสมุทรสาคร และยังมีโครงการแก้มลิง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง กักเก็บน้ำระบายไปสู่อ่าวไทย


ที่มา : http://www.ddproperty.com/


 

Copyright © 2019. All rights reserved.
ข้ามไปยังทูลบาร์