หมวด ๗ - สัตตกะ


(๒๖๔)  กัลยาณมิตรธรรม ๗ (องค์คุณของกัลยาณมิตร, คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ คือท่านที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ — qualities of a good friend)

๑. ปิโย (น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม — lovable; endearing)

๒. ครุ (น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย — estimable; respectable; venerable)

๓. ภาวนีโย (น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ — adorable; cultured; emulable)

๔. วตฺตา จ (รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี — being a counsellor)

๕. วจนกฺขโม (อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว — being a patient listener)

๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา (แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป — able to deliver deep discourses or to treat profound subjects)

๗. โน จฏฺาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย — never exhorting groundlessly; not leading or spurring on to a useless end)

A.IV.31.     องฺ.สตฺตก.๒๓/๓๔/๓๓.



(๒๖๕) ธรรมมีอุปการะมาก ๗ (virtues of great assistance)

ธรรมหมวดนี้ ท่านหมายเอาอริยทรัพย์ ๗ ประการ

ดู (๒๗๗) อริยทรัพย์ ๗

D.III.282     ที.ปา.๑๑/๔๓๓/๓๑๐.



(๒๖๖)  โพชฌงค์ ๗ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ — enlightenment factors)

๑. สติ (ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง — mindfulness)

๒. ธัมมวิจยะ (ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่องสืบค้นธรรม — truth-investigation)

๓. วิริยะ (ความเพียร — effort; energy)

๔. ปีติ (ความอิ่มใจ — zest)

๕. ปัสสัทธิ (ความสงบกายสงบใจ — tranquillity; calmness)

๖. สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ — concentration)

๗. อุเบกขา (ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง — equanimity)

แต่ละข้อเรียกเต็มมีสัมโพชฌงค์ต่อท้ายเป็น สติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น.

D.III.251, 282; Vbh.277     ที.ปา.๑๑/๓๒๗/๒๖๔; ๔๖๔/๓๑๐; อภิ.วิ.๓๕/๕๔๒/๓๐๖



(๒๖๗) ภรรยา ๗ (ภรรยาแบบต่างๆ จำแนกโดยคุณธรรม ความประพฤติลักษณะนิสัย และการปฏิบัติต่อสามี — seven types of wives)

๑. วธกาภริยา (ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต, ภรรยาที่คิดร้าย ซื้อได้ด้วยเงิน มิได้อยู่กินด้วยความพอใจ ยินดีชายอื่น ดูหมิ่นและคิดทำลายสามี — a wife like a slayer; destructive wife)

๒. โจรีภริยา (ภรรยาเยี่ยงโจร, ภรรยาผู้ล้างผลาญทรัพย์สมบัติ — a wife like a robber; thievish wife)

๓. อัยยาภริยา (ภรรยาเยี่ยงนาย, ภรรยาที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจการงาน กินมาก ปากร้าย หยาบคาย ใจเหี้ยม ชอบข่มสามี — a wife like a mistress; Madam High and Mighty)

๔. มาตาภริยา (ภรรยาเยี่ยงมารดา, ภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใยเอาใจใส่สามี เหมือนมารดาปกป้องบุตร และประหยัดรักษาทรัพย์ที่หามาได้ — a wife like a mother; motherly wife)

๕. ภคินีภริยา (ภรรยาเยี่ยงน้องสาว, ภรรยาผู้เคารพรับสามี ดังน้องรักพี่ มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจและคล้อยตามสามี — a wife like a sister; sisterly wife)

๖. สขีภริยา (ภรรยาเยี่ยงสหาย, ภรรยาที่เป็นเหมือนเพื่อน พบสามีเมื่อใด ก็ปลาบปลื้มดีใจเหมือนเพื่อนพบเพื่อนที่จากไปนาน เป็นผู้มีการศึกษาอบรม มีกิริยามารยาท ความประพฤติดี ภักดีต่อสามี — a wife like a companion; friendly wife)

๗. ทาสีภริยา (ภรรยาเยี่ยงทาสี, ภรรยาที่ยอมอยู่ในอำนาจสามี ถูกขู่ตะคอกเฆี่ยนตี ก็อดทนไม่โกรธตอบ — a wife like a handmaid; slavish wife)

ท่านสอนให้ภรรยาสำรวจตนว่า ที่เป็นอยู่ ตนเป็นภรรยาประเภทไหน และจะให้ดีควรจะเป็นภรรยาประเภทใด; สำหรับชาย อาจใช้เป็นหลักสำรวจอุปนิสัยของตนว่าควรแก่หญิงประเภทใดเป็นคู่ครอง และสำรวจหญิงที่จะเป็นคู่ครองว่าเหมาะกับอุปนิสัยของตนหรือไม่.

A.IV.91; J.II.347.     องฺ.สตฺตก.๒๓/๖๐/๙๒; ชา.อ.๔/๙๒



(๒๖๘) เมถุนสังโยค ๗ (อาการที่เกี่ยวข้องกับเมถุน หรือนับเนื่องในเมถุน, ความประพฤติพัวพันกับเมถุน, เครื่องผูกมัดไว้กับเมถุน — bonds of sexuality; sex-bonds which cause the renting or blotching of the life of chastity despite no actual sexual intercourse)

สมณะ ก็ดี พราหมณ์ ก็ดี บางคน ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารี เขามิได้ร่วมประเวณีกับมาตุคามก็จริง แต่ยังยินดี ปลาบปลื้ม ชื่นใจ ด้วยเมถุนสังโยค ๗ อย่างใดอย่างหนึ่ง พรหมจรรย์ของผู้นั้นยังชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ กล่าวคือ

๑. ยินดีการลูบไล้ ขัดสี ให้อาบน้ำ และการนวดฟั้นของมาตุคาม ปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น (enjoyment of massage, manipulation, bathing and rubbing down by woman)

๒. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ยังกระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอก กับมาตุคาม ปลื้มใจด้วยการกระทำอย่างนั้น (enjoyment of joking, jesting and making merry with women)

๓. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ยังเพ่งจ้องดูตากับมาตุคาม ปลื้มใจด้วยการทำอย่างนั้น (enjoyment of gazing and staring at women eye to eye)

๔. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ยังชอบฟังเสียงมาตุคามหัวเราะ ขับร้อง หรือร้องให้อยู่ ข้างนอกฝา นอกกำแพง แล้วปลื้มใจ (enjoyment of listening to women as they laugh, talk, sing or weep beyond a wall or a fence)

๕. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ยังชอบตามนึกถึงการเก่าที่ได้เคยหัวเราะพูดจาเล่นหัวกับมาตุคาม แล้วปลื้มใจ (enjoyment of recalling the laughs, talks and jests one formerly had with women)

๖. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ชอบดูคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณทั้ง ๕ บำรุงบำเรอตนอยู่ แล้วปลื้มใจ (enjoyment of seeing a householder or a householder’s son indulging in sensual pleasures)

๗. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งปรารถนาเพื่อจะได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง (leading the life of chastity aspiring to be reborn as a god or a deity)

A.IV.54     องฺ.สตฺตก.๒๓/๔๗/๕๖



(๒๖๙) วิญญาณฐิติ ๗ (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ — abodes or supports of consciousness)

๑. สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ เทพบางเหล่า วินิปาติกะ (เปรต) บางเหล่า (beings different in body and in perception)

๒. สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เหล่าเทพจำพวกพรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน (beings different in body, but equal in perception)

๓. สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ (beings equal in body, but different in perception)

๔. สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ (beings equal in body and in perception)

๕. สัตว์บางพวก ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ (beings reborn in the sphere of Boundless Space)

๖. สัตว์บางพวก ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ (beings reborn in the sphere of Boundless Consciousness)

๗. สัตว์บางพวก ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ (beings reborn in the sphere of Nothingness)

D.III.253; A.IV.39.     ที.ปา.๑๑/๓๓๕/๒๖๕; องฺ.สตฺตก.๒๓/๔๑/๔๑



(๒๗๐) วิสุทธิ ๗ (ความหมดจด, ความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ, ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ ยังไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดมุ่งหมายคือนิพพาน — purity; stages of purity; gradual purification)

๑. สีลวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งศีล คือ รักษาศีลตามภูมิขั้นของตนให้บริสุทธิ์ และให้เป็นไปเพื่อสมาธิ — purity of morality) วิสุทธิมรรคว่าได้แก่ ปาริสุทธิศีล ๔ (๑๕๙)

๒. จิตตวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิตจนบังเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา — purity of mind) วิสุทธิมรรคว่า ได้แก่ สมาบัติ ๘ พร้อมทั้งอุปจาร

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะเป็นจริง เป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความหลงผิด — purity of view; purity of understanding) จัดเป็นขั้นกำหนดทุกขสัจ

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย, ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้แล้วจึงสิ้นสงสัยในกาลทั้ง ๓ — purity of transcending doubts) ข้อนี้ ตรงกับ ธรรมฐิติญาณ หรือ ยถาภูตญาณ หรือ สัมมาทัสสนะ จัดเป็นขั้นกำหนดสมุทัยสัจ

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง คือ เริ่มเจริญวิปัสสนาต่อไปด้วยพิจารณากลาป จนมองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย อันเรียกว่าอุทยัพยานุปัสสนา เป็นตรุณวิปัสสนา คือวิปัสสนาญาณอ่อนๆ แล้วมีวิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น กำหนดได้ว่าอุปกิเลสทั้ง ๑๐ แห่งวิปัสสนานั้นมิใช่ทาง ส่วนวิปัสสนาที่เริ่มดำเนินเข้าสู่วิถีนั่นแลเป็นทางถูกต้อง เตรียมที่จะประคองจิตไว้ในวิถีคือ วิปัสสนาญาณนั้นต่อไป — purity of the knowledge and vision regarding path and not-path)  ข้อนี้จัดเป็นขั้นกำหนดมัคคสัจ

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน คือ ประกอบความเพียรในวิปัสสนาญาณทั้งหลายเริ่มแต่อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ที่พ้นจากอุปกิเลสดำเนินเข้าสู่วิถีทางแล้วนั้น เป็นต้นไป จนถึงสัจจานุโลมิกญาณหรืออนุโลมญาณ อันเป็นที่สุดแห่งวิปัสสนา ต่อแต่นี้ก็จะเกิดโคตรภูญาณ คั่นระหว่างวิสุทธิข้อนี้กับข้อสุดท้าย เป็นหัวต่อแห่งความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล โดยสรุป วิสุทธิข้อนี้ ก็คือ วิปัสสนาญาณ ๙ — purity of the knowledge and vision of the way of progress)

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ คือ ความรู้ในอริยมรรค ๔ หรือ มรรคญาณ อันเกิดถัดจากโคตรภูญาณเป็นต้นไป เมื่อมรรคเกิดแล้วผลจิตแต่ละอย่างย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้นๆ ความเป็นอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันบรรลุผลที่หมายสูงสุดแห่งวิสุทธิ หรือไตรสิกขา หรือการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น — purity of knowledge and vision)

วิสุทธิ ๗ เป็นปัจจัยส่งต่อกันขึ้นไปเพื่อบรรลุนิพพาน ดุจรถ ๗ ผลัดส่งต่อกันให้บุคคลถึงที่หมาย โดยนัยดังแสดงแล้ว

ดู (๓๑๖) วิปัสสนูปกิเลส ๑๐; (๒๙๙) วิปัสสนาญาณ ๙

M.I.149; Vism.1-710.     ม.มู.๑๒/๒๙๘/๒๙๕; คัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้งหมด.



(๒๗๑) สัปปายะ ๗ (สิ่งที่เหมาะกัน สิ่งที่เกื้อกูล ช่วยสนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย — suitable things; things favorable to mental development)

๑. อาวาสสัปปายะ (ที่อยู่ซึ่งเหมาะกัน เช่น ไม่พลุกพล่านจอแจ — suitable abode)

๒. โคจรสัปปายะ (ที่หาอาหาร ที่เที่ยวบิณฑบาตที่เหมาะดี เช่น มีหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีอาหารบริบูรณ์อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป — suitable resort)

๓. ภัสสสัปปายะ (การพูดคุยที่เหมาะกัน เช่น พูดคุยเล่าขานกันแต่ในกถาวัตถุ ๑๐ และพูดแต่พอประมาณ — suitable speech)

๔. ปุคคลสัปปายะ (บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน เช่น มีท่านผู้ทรงคุณธรรม ทรงภูมิปัญญาเป็นที่ปรึกษาเหมาะใจ — suitable person)

๕. โภชนสัปปายะ (อาหารที่เหมาะกัน เช่น ถูกกับร่างกาย เกื้อกูลต่อสุขภาพ ฉันไม่ยาก — suitable food)

๖. อุตุสัปปายะ (ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะกัน เช่น ไม่หนาวเกินไป ไม่ร้อนเกินไป เป็นต้น — suitable climate)

๗. อิริยาปถสัปปายะ (อิริยาบถที่เหมาะกัน เช่น บางคนถูกจับจงกรม บางคนถูกกับนั่ง ตลอดจนมีการเคลื่อนไหวที่พอดี — suitable posture)

Vism.127; Vin.A.II.429; MA.II.911     วิสุทฺธิ. ๑/๑๖๑; วินย.อ.๑/๕๒๔; ม.อ.๓/๕๗๐



(๒๗๒)  สัปปุริสธรรม ๗ (ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของผู้ดี — qualities of a good man; virtues of a gentleman)

๑. ธัมมัญญุตา (ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้นๆ เป็นต้น — knowing the law; knowing the cause)

๒. อัตถัญญุตา (ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น — knowing the meaning; knowing the purpose; knowing the consequence)

๓. อัตตัญญุตา (ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป — knowing oneself)

๔. มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น — moderation; knowing how to be temperate)

๕. กาลัญญุตา (ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น — knowing the proper time; knowing how to choose and keep time)

๖. ปริสัญญุตา (ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น — knowing the assembly; knowing the society)

๗. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา (ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น — knowing the individual; knowing the different individuals)

ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณครบ ๙   แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ทรงประกอบด้วยธรรมเหล่านี้  (ท่านแสดงไว้เฉพาะข้อหลัก ๕ ข้อ คือ ข้อ ๑-๒-๔-๕-๖ องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๓๑/๑๖๖ A.III.๑๔๘) จึงทรงยังธรรมจักรและอาณาจักรให้เป็นไปด้วยดี

D.III.252, 283; A.IV.113     ที.ปา.๑๑/๓๓๑/๒๖๔; ๔๓๙/๓๑๒; องฺ.สตฺตก.๒๓/๖๕/๑๑๔ (***)  สัปปุริสธรรม ๗  ดู (๒๘๙) สัปปุริสธรรม ๘. (***)  สมบัติของอุบาสก ๗  ดู (๒๔๘) อุบาสกธรรม ๗. (***)  องค์คุณของกัลยาณมิตร ๗  ดู (๒๖๔) กัลยาณมิตรธรรม ๗.



(๒๗๓) อนุสัย ๗ (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน — latent tendencies)

๑. กามราคะ (ความกำหนัดในกาม, ความอยากได้ติดใจในกาม — lust for sense-pleasure)

๒. ปฏิฆะ (ความขัดใจ, ความหงุดหงิดขัดเคืองคือโทสะ — repulsion; irritation; grudge)

๓. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด, การถือความเห็น เอาความคิดเห็นเป็นความจริง — wrong view; speculative opinion)

๔. วิจิกิจฉา (ความลังเล, ความสงสัย — doubt; uncertainty)

๕. มานะ (ความถือตัว — conceit)

๖. ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ, ความอยากเป็น อย่างยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน — lust for becoming)

๗. อวิชชา (ความไม่รู้จริง คือ โมหะ — ignorance)

D.III.254,.282; A.IV. 8; Vbh;383       ที.ปา.๑๑/๓๓๗/๒๖๖; องฺ.สตฺตก. ๒๓/๑๑/๘; อภิ.วิ.๓๕/๑๐๐๕/๕๑๗



(๒๗๔) อปริหานิยธรรม ๗ ของกษัตริย์วัชชี หรือ วัชชีอปริหานิยธรรม ๗ (ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง — things leading never to decline but only to prosperity; conditions of welfare)

๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ (to hold regular and frequent meetings)

๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ (to meet together in harmony, disperse in harmony, and do their business and duties in harmony)

ข้อนี้แปลอีกอย่างหนึ่งว่า : พร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง พร้อมเพรียงกันทำกิจทั้งหลาย

๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเงิน) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม (to introduce no revolutionary ordinance, or break up no established ordinance, but abide by the original or fundamental Vijjan norm and principles)

๔. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง (to honor and respect the elders among the vijjians and deem them worthy of listening to)

๕. บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ (the women and girls of the families are to dwell without being forced or abducted)

๖. เคารพสักการะบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่างๆ) ของวัชชี (ประจำชาติ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป (to honor and worship the Vajjian shrines, monuments and objects of worship, both central and provincial, and do not neglect those righteous ceremonies held before for them)

๗. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย (ในที่นี้กินความกว้าง หมายถึงบรรพชิตผู้ดำรงธรรมเป็นหลักใจของประชาชนทั่วไป) ตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก (to provide the rightful protection, shelter and support for the Arahants and wish that the Arahants who have not come may enter the realm and those who have entered may dwell pleasantly therein)

อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่เจ้าวัชชีทั้งหลายผู้ปกครองรัฐโดยระบอบสามัคคธรรม (republic) ซึ่งรัฐคู่อริยอมรับว่า เมื่อชาววัชชียังปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ จะเอาชนะด้วยการรบไม่ได้ นอกจากจะใช้การเกลี้ยกล่อมหรือยุแยกให้แตกสามัคคี.



(๒๗๕) อปริหานิยธรรม ๗ ของภิกษุ หรือ ภิกขุปริหานิยธรรม ๗ (ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียวสำหรับภิกษุทั้งหลาย — things leading never to decline but only to prosperity; conditions of welfare)

๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ (to hold regular and frequent meeting)

๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ (to meet together in harmony, disperse in harmony, and do the business and duties of the Order in harmony)

ข้อนี้แปลอีกอย่างว่า : พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันลุกขึ้นจัดการแก้ไข สิ่งเสียหาย เหตุไม่งาม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ

๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ (to introduce no revolutionary ordinance, break up no established ordinance, but train oneself in accordance with the prescribed training-rules)

๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง (to honour and respect those elders of long experience, the fathers and leaders of the Order and deem them worthy of listening to)

๕. ไม่ลุอำนาจตัณหาคือความอยากที่เกิดขึ้น (not to fall under the influence of craving which arises)

๖. ยินดีในเสนาสนะป่า (to delight in forest retreat)

๗. ตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลงาม ซึ่งยังไม่มา ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่ผาสุก (to establish oneself in mindfulness, with this thought, ‘Let disciplined co-celibates who have not come, come hither, and let those that have already come live in comfort.’)



(๒๗๖) อปริหานิยธรรม ๗ ของภิกษุ หรือ ภิกขุอปริหานิยธรรม ๗  อีกหมวดหนึ่ง

๑. น กัมมารามตา (ไม่มัวเพลินการงาน คือไม่หลงเพลิดเพลินหมกมุ่นวุ่นอยู่กับงาน เช่น การเย็บจีวร ทำบริขารต่างๆ เป็นต้น จนเสื่อมเสียการเล่าเรียน ศึกษาบำเพ็ญสมณธรรม — not to be fond of business)

๒. น ภัสสารามตา (ไม่มัวเพลินการคุย — not to be fond of gossip)

๓. น นิททารามตา (ไม่มัวเพลินการหลับนอน — not to be fond of sleeping)

๔. น สังคณิการามตา (ไม่มัวเพลินการคลุกคลีหมู่คณะ — not to be fond of society)

๕. น ปาปิจฉตา (ไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก, ไม่ตกอยู่ในอำนาจความปรารถนาลามก — not to gave nor fall under the influence of evil desire)

๖. น ปาปมิตตตา (ไม่เป็นผู้มีปาปมิตร — not to have evil friends)

๗. น อันตรา โวสานมาปัชชนา (ไม่ถึงความหยุดยั้งนอนใจเสียในระหว่าง ด้วยการบรรลุคุณวิเศษเพียงชั้นต้นๆ — not to come to a stop on the way by the attainment of lesser success)

D.II.78; A.IV.21.     ที.ม.๑๐/๗๑/๙๒; องฺ.สตฺตก.๒๓/๒๒/๒๓.



(๒๗๗) อริยทรัพย์ ๗ (ทรัพย์อันประเสริฐ, ทรัพย์คือคุณธรรมประจำใจอย่างประเสริฐ — noble treasures)

๑. ศรัทธา (ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและในการดีที่ทำ — confidence)

๒. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม — morality; good conduct; virtue)

๓. หิริ (ความละอายใจต่อการทำความชั่ว — moral shame; conscience)

๔. โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อความชั่ว — moral dread; fear-to-err)

๕. พาหุสัจจะ (ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก — great learning)

๖. จาคะ (ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ — liberality)

๗. ปัญญา (ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณา และรู้ที่จะจัดทำ — wisdom)

อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอกเพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ ทำใจให้ไม่อ้างว้าง ยากจน และเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย

ธรรม ๗ นี้ เรียกอีกอย่างว่า พหุการธรรม หรือ ธรรมมีอุปการะมาก (virtues of great assistance; D.III.282; ที.ปา.๑๑/๔๓๓/๓๑๐) เพราะเป็นกำลังหนุนช่วยส่งเสริมในการบำเพ็ญคุณธรรมต่างๆ ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์ เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์มาก ย่อมสามารถใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตนเลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุข และบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ได้เป็นอันมาก.

D.III.163, 267; A.IV.5.     ที.ปา.๑๑/๓๒๖/๒๖๔; องฺ.สตฺตก.๒๓/๖/๕. (***) อริยบุคคล ๗   ดู (๖๓) อริยบุคคล ๗ (***) อุบาสกธรรม ๗   ดู (๒๔๘) อุบาสกธรรม ๗






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย