นานาสาระ...เติมเต็มชีวิตด้วย Internet





เติมเต็มชีวิตด้วย Internet

โดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ


ผมก็เหมือนคนอื่นคือ พูดถึง internet ก็จะนึกถึงเว็บไซด์ เข้าไปดูหนัง ฟังเพลง ...
แรก ๆ มันก็เพลินดี เหมือนเข้าไปในห้องสมุดขนาดใหญ่ หนังสือเยอะแยะไปหมด
สนใจ อะไรก็เข้าไปเปิดอ่าน แต่พอนานวันเข้ามันก็เบื่อ เพราะมันอยู่คนเดียว


ที่ผ่านมาหนังสือทั่วไปมักจะแนะนำเฉพาะเวปไซด์ไอ้นั่นมีไอ้นี่
รายละเอียดเป็นงี้ ๆ ๆ จบ
แท้จริงแล้ว internet น่าสนใจและทำอะไรได้มากกว่านั้นเยอะมาก
มันเป็นสังคมและวิถีชีวิต แบบใหม่ของคน
ชึ่งมีบางอย่างต่างไปจากวิถีของโลกปกติ


สมมุติว่าคุณเดินไปสยามฯ เจอคนพลุกพล่านมองไปทางไหนก็มีแต่คน ๆ ๆ
ถามว่าไปคุยกับ ใครได้ไหม ไม่ได้ นั่นคือ ความโดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชน
หรือเดินเข้าไปร้านเทป หยิบเทปขึ้น มาม้วนหนึ่ง
บังเอิญคนข้าง ๆ หยิบเทปม้วนเดียวกัน
คุณก็ไม่สามารถถามเขาได้เลยว่ามันเพราะหรือไม่เพราะอย่างไร
ทั้งที่อยากรู้มาก มันเหมือนกับเราเจอคนคนหนึ่ง หน้าตา ท่าทาง จิตใจดี น่าคบหา
ถามว่าอยู่ ๆ เข้าไปพูดด้วยได้ไหม ไม่ได้แน่นอน
ต้องยอมรับว่าโลกวันนี้ ตัวใครตัวมันมาก โดดเดี่ยว ต่างคนต่างอยู่
ขณะที่ internet ไม่ใช่แบบนี้เลย ผมว่านี่คือ เสน่ห์ของมัน


เราใช้โปรแกรม irc หรือ icq เข้าไปสักห้องใดห้องหนึ่ง
ผมรู้ได้เลยว่ากำลังเดินเข้าไปในงาน ปาร์ตี้ สามารถคุยกับใครก็ได้
ตะโกนอะไรไป มีคนตอบรับ หรือจะกระซิบก็มีคนมาตอบเรา
ผมไม่รู้ว่าด้วยจิตวิทยาอะไรหรือจะอธิบายอย่างไร
แต่อยากจะบอกว่าคนใน internet คุยกัน ง่ายมาก ทุกคนเปิดใจกว้าง
พร้อมที่จะฟัง ตอบรับ และรู้จักเพื่อนใหม่ ๆ ตลอดเวลา
แน่นอน มันขยายผลสู่ชีวิตประจำวันด้วย
เพราะหลังจากพูดคุยกันบ่อยเข้า การนัดหมาย ย่อมเกิดขึ้น
อย่างตอนนี้ทุก ๆ วันเสาร์ ผมมีนัดกับเพื่อน ๆ ที่เจอกันใน internet
ไปดูหนัง ฟังเพลง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเป็นประจำ
และไม่ได้หมายความว่าเลิกเล่นเน็ต ยังเล่น เป็นปกติ
ทั้งที่เจอหน้ากันแล้ว โทรศัพท์คุยกันแล้ว ผมว่าบรรยากาศมันต่างกัน


พูดก็พูดเถอะ ตอนนี้ผมเจอเพื่อนในเน็ตบ่อยกว่าเพื่อนสมัยเรียนหนังสือ
บางวันคุยกับเพื่อน ในเน็ตมากกว่าผู้คนรอบข้างในชีวิตจริง
และบ้างวันผมไม่ได้อ้าปากเลย
แต่พิมพ์ข้อความ คุยกันกับคนโน้นคนนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน


ผมชอบบริการเวบบอร์ด ที่คล้ายบอร์ดขนาดใหญ่ที่ไหนสักแห่ง
ซึ่งจะมีคนเขียนข้อมความ อะไรบางอย่างไปแปะไว้
คนมาอ่านแล้วนึกสนุกก็เขียนต่อ จาก 1 เป็น 2 เป็น 3 เป็นหลาย ๆ สิบ
สมมุติว่ามีคนไปดูหนังเรื่อง Life is beautiful
และเขามีความคิดว่าหนังดีก็จะเขียนติด "ดีนะ อย่าพลาดหนังเรื่องนี้"
อีกคนได้ไปดูมา ก็มาเขียนต่อ "สนุก เยี่ยมมาก แต่ดูแล้วสงสาร คนยิวจัง"
มันหลายความคิด เพราะคนเล่นเน็ตมาจากหลายร้อยพ่อพันแม่
ที่สำคัญ เป็นสื่อที่ เร็วมาก
อย่างหนังรอบสื่อมวลชนเกิดมีใครสักคนได้ไปดู
เขาจะมาเล่า เรียกว่า งานวิจารณ์ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ไม่จำเป็นเลย ไม่เชื่อด้วย
ในเน็ตมีหลายความคิดกว่า เร็วกว่า และสามารถ พูดคุยกันได้ทุกเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเชิงสังคม บันเทิง กีฬา รถยนต์ สุขภาพ ฯลฯ


ช่วงที่โฆษณา "คุณเคยนอนกับแอร์ไหม" ใครได้ดูต่างก็มาวิจารณ์
โดนด่าแรงมาก หรือช่วงนี้ ก็มีโฆษณาชิ้นหนึ่งที่เป็นเด็กเปลือย
นอนบิดไปบิดมา นั่นก็โดนด่าเละเหมือนกัน


วิถีข้างต้นนี้ผมว่ามันช่วยสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ให้คนไทยได้เป็นอย่างดี
ทำให้หลายคน กล้าแสดงความคิดเห็น มีเวทีให้ มีคนฟัง
ขณะที่สังคมปกติไม่เปิดโอกาสให้นัก
เรียกว่าเป็นการเติมเต็มช่องว่างให้สังคมให้พอดี
ทั้งเรื่องของเวทีและระยะห่างของคน


ผู้คนในสังคมเน็ต มีหลากหลาย ทั้งเด็ก นักศึกษา ผู้ใหญ่
มีจากทุกสาขาอาชีพและที่น่าสังเกต ว่ามันมีวัฒนธรรมของมัน
ตัวอย่างเช่น มีใครคนหนึ่งมาเขียนอะไรลามก หยาบคาย
หรือแสดงพฤติกรรมไร้สาระ จะต้องมีคนมาเตือนสติเสมอ
"ปรับตัวซะใหม่ ถ้าเล่นแบบนี้อย่าเล่นดีกว่า ไม่มีมารยาทเลย" อะไรแบบนี้
คือมันมีกฎกติกาอยู่พอสมควร


เรื่องความจริงความลวง เป็นที่ถกเถียงกันบ้าง
ผมเคยหยิบประเด็นนี้มาเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
(ลงทุกวันจันทร์ เขียนมาแล้วราว 30 ตอน
ต้องการอ่านย้อนหลังเปิด อ่านได้ที่ http://i.am/wutthi)
คือมันเป็นเรื่องต้องปลง เพราะเราตัดสินไม่ได้ว่าไอ้ที่เจอหน้ากัน
ทุกวันนั้นพูดความจริง หรือคนในเน็ตโกหกตอแหลกัน


เรื่องพรรค์นี้มันอยู่ที่ตัวบุคคล เหนืออื่นใด ผมคิดว่าในมุมมืด
มุมส่วนตัวในโลก internet
คนเราสามารถแสดงความเป็นตัวตนที่แท้ ๆ ออกมาได้ดีกว่าชีวิตจริงด้วยซ้ำ
เพราะไม่ต้องมี หัวโขน คุณเป็นหัวหน้า
คุณเป็นลูกน้อง และไม่ต้องเขินอาย ใครเป็นหญิง ใครเป็นชาย


ผมคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งมาครึ่งปีแล้ว ยังไม่เคยเจอตัว ทั้งที่คุยกันแทบทุกวัน
เธอบอกว่า ผมเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ผมตอบไปว่าเราไม่น่านับเป็นเพื่อนกัน
คงเป็นแค่คนรู้จักกัน เธอตอบว่า ไม่ได้บ้านี่จะได้มาเล่าเรื่องส่วนตัว ถกปัญหา
คุยความคิดความรู้สึกเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟังทุกวัน
ผมก็.. อืมม์ เรื่องพวกนี้มันน่าคิด วันต่อมาจีงนำประเด็นนี้ไปเขียนอีกว่า
ในโลกไซเบอร์ คนเรา สามารถเป็นเพื่อนกันได้ไหม
ปรากฎว่ามี E-mail ตอบกลับมาเป็นจำนวนมาก


ความรักเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ
ผมได้ข่าวจากเพื่อนผมว่ามีหนุ่มสาวจำนวนมาก รัก และ แต่งงาน กัน
อันเป็นผลสืบเนื่องจากสายสัมพันธ์ทาง internet


ต้องยอมรับว่าสังคมมองคนเล่นเน็ตในแง่ลบ
หาว่าวัน ๆ ไม่ทำอะไร นั่งอยู่แต่หน้าจอ บ้างว่า แรง ๆ ขนาดไม่มีคนคบใช่ไหม
ถึงต้องมาหาแฟนวิธีนี้ ผมว่าเหล่านี้ล้วนเป็นทัศนะคติที่ผิด และใจแคบมาก
แต่คงไม่ต้องตอบโต้เพราะอีก 5-10 ปีข้างหน้า นี้จะเป็นเรื่องปกติมาก


ต่อไปนี้ จะซื้อของ จะนัดพบใคร จะเที่ยวที่ไหน จะกินอะไร เรียนอะไร
ทุกอย่างมันอยู่ในเน็ต ใช่.. ห้างสรรพสินค้ายังอยู่ แต่วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป
ทุกบ้านต้องมีคอมพิวเตอร์ ต้องมี internet อาจจะมากบ้างน้อยบ้าง
แต่ทุกคนต้องเกี่ยวโยงกับมันแน่นอน


ถามว่า internet มันเป็นสังคมของคนขี้เหงาใช่ไหม?
ผมว่าจะเหงาหรือไม่มันขึ้นอยู่ที่ การคาดหวัง
เช่นหวังว่าเข้าไปแล้วจะเจอคนนั้น และเขาจะมาดีกับเราอย่างนั้นอย่างนี้
หรือมี เวลาให้พอเจอจริง ๆ ไม่เป็นไปตามที่คิด ก็ผิดหวัง
ซึ่งจะยิ่งเหงาเพิ่มขึ้น ประเด็นนี้มันไม่ต่างไปจากโลกของความจริง


ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตที่บ้านไม่น่าเชื่อว่าผมมีเพื่อนเพิ่มขึ้นเยอะมาก
ทั้งที่เมื่อก่อนเป็นนักข่าว ได้เจอผู้คนมากมาย
หากกลับมีคนสื่อสาร รับรู้ทุกข์สุขกันและกันได้น้อยกว่านี้
ผมมาเข้าใจ ภายหลังว่านี่เป็นเรื่องธรรมดามาก
เพราะในออฟฟิตหนึ่ง ๆ คุณก็จะคุยได้เพียงไม่กี่คนหรอก
ไม่ว่าจะด้วยเวลาหรือนิสัยใจคอ
ตรงกันข้ามกับสังคม internet ผมรู้สึกว่าทุกคน มีหัวใจ
หัวใจของมนุษย์ที่พึงจะมีให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นี่เป็นเรื่องน่ายินดี


ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะสีขาวไปหมด
เพื่อนหญิงบางคนเล่าให้ฟังว่า เธอติดต่อกับชายหนุ่มคนหนึ่งอยู่แรมเดือน
คำพูดคำจาของเขาสุภาพและเป็นมิตรดีมาก
พอนัดเจอกัน ไอ้หนุ่มคนนั้นกับเผยธาตุแท้ ด้วยการพยายามลวนลามเธอ
โชคดีที่เธอเอาตัวรอดมากได้
นี่เป็นตัวอย่างว่า ด้านร้ายของมันก็แหลมคมไม่แพ้กัน


อย่างไรก็ตาม cyber being เป็นชีวิตในอีกโลกหนึ่ง
เป็นความจริงที่ซ้อนกับความจริง
ที่น่าสนใจ น่าหวงเพียงว่าใครพลัดหลงเข้ามาแล้ว
มักติดตาข่าย (net) เหมือนปลาติด ร่างแห
ซึ่งอาจจะถอนตัวกลับไปสู่วิถีชีวิตคนปกติยากสักหน่อย
แต่นั่นก็เป็นเรื่องจำเป็น อย่างยิ่ง
เพราะความหวังและจินตนาการของ internet
อันตรายพอ ๆ กับความจริง ที่ไม่มีฝัน



ศิลปะของนักเล่นเน็ตทุกคน
จึงอยู่ที่การผสมผสานชีวิตทั้ง 2 โลกนี้ให้พอเหมาะพอดีที่สุด



จาก GM ฉบับที่ 225
http://www.reocities.com/yosemite/Trails/7071/article1.html
ภาพประกอบจาก... http://www.fotosearch.com/bthumb/CSP/CSP301/k3019923.jpg

   

7,535







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย