ไขปริศนา กินเจ (食齋) ตอบคำถามสมเด็จพระสังฆราช-หลวงปู่แหวน


ไขปริศนา กินเจ (食齋) ตอบคำถามสมเด็จพระสังฆราช-หลวงปู่แหวน

"กินเจไม่ได้บุญอย่างที่คิด...กินเนื้อก็ไม่บาปอย่างที่เข้าใจ"!! สมเด็จพระญาณสังวรฯ ตรัสถึงเรื่องกินเจที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจกันไม่ถูก!!"

ตอบว่า การกินเจ กินแล้วได้บุญ แต่เป็นบุญเบื้องต้น

คำว่า "บุญเบื้องต้น" นั้นหมายถึง ให้เราเกิดจิตสำนึก ในการที่จะดำเนินต่อไป


"การกินเจ จริงๆไม่ได้บุญอธิบาย คือ เราไม่กินข้าวขาหมู แล้วคิด(จินตนาการ) ว่า หมูจะไม่ถูกฆ่า เปรียบได้กับเรานั่งอยู่บ้านเฉยๆ แล้วคิด (จินตนาการ) ว่า เราไปช่วยสอนหนังสือคนอนาถา บุญที่เราไปสอนหนังสือคนอนาถานั้น ไม่มี ไม่เกิด เพราะเรา นึกๆ คิดๆ ไปเองไม่ได้ทำ ไม่ได้กระทำจริง"

อธิบายว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นการทำบาป แต่เป็นเบื้องต้นแห่งการทำบาปต่อไป

เรากินเจ ไม่กินเนื้อสัตว์ เราถือว่าเป็นการแผ่เมตตา

ตกลงว่า การไม่ฆ่าสัตว์เป็นการแผ่เมตตาไหม? แต่ถ้าการแผ่เมตตาไม่มีจริงแล้ว พระสงฆ์ทั้งหลายจะสอนให้ประชาชนแผ่เมตตาทำไม?

การกินเจก็เป็นการแผ่เมตตาอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าเราแผ่เมตตาจิตเราก็เป็นบุญ จิตเราก็จะสบาย

การกินเจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะไม่ทำรุนแรงต่อไป

แล้วเราจะไปปฏิเสธการกินเจทั้งหมดได้อย่างไร ก็ไม่ได้ เราจะปฏิเสธความจริงไม่ได้

การนึกคิดก็จริง แต่การนึกคิดนี่เป็นมโนกรรมใช่ไหม?

การคิดทาง "มโน" นี่ถือเป็นกรรมไหม?

แล้วเราแผ่เมตตานี้ไม่ใช่การมโนเหรอ? เราก็ต้องแผ่เมตตาด้วยมโน แล้วจะบอกว่าไม่ได้บุญ

การกินเนื้อสัตว์ เป็นบาป เพราะว่า มีตัว "ฆ่า" ขึ้นมาแล้ว แต่ว่าเราไม่ได้ฆ่า แต่เราไปสมรู้ร่วมคิดฆ่า ถ้าเราไม่กิน แล้วใครจะมาฆ่าล่ะ ใครจะมาขาย แต่จะบาปหนา หรือบาปเบาก็ว่ากันไป

อันนี้เป็นจุดสตาร์ทแห่งคำว่า "บาป" อันนั้นเป็นจุดสตาร์ทแห่งคำว่า "บุญ" อันนี้ก็แล้วแต่ว่าจะไปในทางไหน ก็เพราะว่าเป็นการแผ่เหมือนกัน เพราะว่าการกินเจ แผ่เมตตาทางสายบุญ แต่การกินเนื้อสัตว์ก็เป็นการแผ่ทางบาป มีเจตนาหมด แต่เป็นบุญเบื้องต้น และเป็นบาปเบื้องต้น


"การรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นบุญหรือไม่ ?
การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำอะไร เป็นบุญหรือไม่เป็นบุญนั้น ต้องอาศัยกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าด้วย บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงานต่างๆ
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๑๐.ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความคิดเห็นของตนให้ตรง
เมื่อเทียบเคียงกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ วิธี แล้ว ไม่พบว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติ คือ รับประทานแต่พืชผักเป็นวิธีทำบุญข้อใดเลย จึงไม่นับว่าเป็นวิธีทำบุญในพระพุทธศาสนา ลองคิดดูว่าถ้าการกินพืช เช่น ผัก หญ้า ได้บุญ แล้วสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น วัว ควาย แพะ แกะ ก็ต้องได้บุญมากกว่ามนุษย์ เพราะสัตว์พวกนี้กินพืชตลอดชีวิตไม่กินเนื้อสัตว์เลย"

อธิบายว่า นี่แหละ เขายึดติดตำราอีกแล้ว แต่ไม่เข้าใจในตำรา

บุญกิริยาวัตถุข้อที่ ๒ บอกว่า สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล การรักษาศีล ในศีลมีไหมว่า ห้ามฆ่าสัตว์ แล้วการรักษาศีล แล้วตรงไหนที่ไม่ได้บุญ เราไม่ได้ฆ่าสัตว์ทำไมไม่ได้บุญ เรามัวแต่ไปจำแต่ตัวหนังสือ ก็ในเมื่อเรากินเจ ไม่ได้ฆ่าสัตว์เราก็ได้บุญสิ ก็เพราะว่าเราปฏิบัติในศีลอยู่แล้ว แล้วทำไมถึงไม่ได้บุญ

ถ้าเราบอกว่าผู้รักษาศีล ไม่ได้บุญแล้วเราจะไปรักษาศีลกันทำไม

ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง ข้อไหนไม่ชัดเจนเท่ากับ ข้อที่ ๒ คือ สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

แม้แต่ศีล ๕ ข้อที่ ๑ ก็คือ ปาณาติปาตา เวรมณี ห้ามฆ่าสัตว์ แค่ข้อนี้ก็อยู่แล้วเข้าได้กับการกินเจ

การละเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้วบอกว่าไม่ได้บุญ แล้วเราจะรักษาศีล ๕ (เบญจศีล) กันทำไม? เราเอาศีล ๕ ไปทิ้งไว้ที่ไหน

ขอตอบว่า ก็ในเมื่อเรากำลังบำเพ็ญศีลอยู่ แล้วเราจะไม่ได้บุญได้อย่างไร? บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ข้อ ไม่ชัดเจนเท่ากับข้อที่ ๒ คือ สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล


"การกินเนื้อสัตว์ บาป หรือ ไม่ ? การที่จะวินิจฉัยว่าบาปหรือไม่บาปนั้น ต้องพิจารณาว่า การกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว เป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาต หรือไม่ ศีลข้อปาณาติบาต คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ นั้นจะผิดศีลก็ต่อเมื่อประกอบด้วย องค์ ๕ คือ
๑. ปาโณ คือ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสญฺญิตา คือ รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตฺตํ คือ จิตคิดจะฆ่า
๔. อุปกฺกโม คือ พยายามที่จะฆ่า
๕. เตนมรณํ คือ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น"

อธิบายว่า เรามัวแต่เข้าข้างตนเอง เพราะเขาบอกว่ากินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วไม่บาป นี่เป็นคำตอบที่เข้าข้างตนเอง ถ้าเราไม่กินแล้ว ใครจะมาฆ่าให้เรากิน

ถ้าเราบอกว่าเรากินเนื้อสัตว์นี่ไม่ผิดใช่ไหม? เพราะเราไม่ได้ฆ่า ไม่ได้อยู่ในเครือข่าย แต่เราคิดไหมว่านี่เป็นเนื้อสัตว์ ในจิตเราที่เรากินเนื้อหมู มองแล้วรู้ไหมว่านี่เป็นเนื้อหมูไหม? แล้วเรารู้ไหมว่าเนื้อหมูตัวนี้มันตายแล้ว ก็รู้เช่นเดียวกัน แต่เพราะว่าเราไม่ได้ฆ่านี่ ถ้าเราพูดออกมาอย่างนี้ เป็นการซ้ำเติมสัตว์หมูตัวนี้หรือเปล่า?

เราเห็นหมูโดนฆ่า เราสงสารไหม?

ตอบว่า ก็สงสารหมูเหมือนกัน

สงสารแล้วยังกินเนื้อเขา เป็นการซ้ำเติมไหม?

งั้นจิตที่สงสารเขาก็เป็นจิตที่โกหก ตอแหล

นี่แหละ เรากินเนื้อสัตว์นี้เป็นบาป แต่เป็นบาปเบื้องต้น เขาเรียกว่า

๑. เป็นการบาปแห่งการไม่เจตนา

๒. บาปที่ยังอยู่ในภูมิที่จำเป็นที่จะต้องทำ

ในเมื่อเรามีในสิ่งที่ทำบาป ก็ต้องมีในสิ่งที่ทำบุญ คือ เราจะต้องไปปล่อยสัตว์ จะต้องไปเอ็นดูสัตว์ กินเจ เป็นต้น จะต้องไปสำนึกบุญคุณของเขา

คุณยังมาซ้ำเติมหมู พอกินเสร็จ ซ้ำเติมเสร็จ แล้วยังบอกว่า ฉันไม่ได้ทำผิด เลยทำอะไรฉันไม่ได้ โคตรเท่เลย

สมมติว่า เรากินวัว ๑ ตัว แล้วเราประกาศว่าการกินเนื้อวัวนี้ไม่ผิด แล้วลูกหลานวัว เขาได้ยินได้ฟัง ได้มอง เขาจะอาฆาตแค้นเราไหม? นี่แหละ หาเรื่องก่อให้เกิดความแค้นขึ้นมา แต่ถ้าเรากินเนื้อเขาแล้วเกิดจิตสำนึกขึ้นมา ลูกหลานวัว เขาก็จะโอเคกับเรา มีการหาอาหารของกินไปให้ลูกหลานวัว เขาเรียกว่ากินแล้วสำนึก อันนี้กินแล้วซ้ำเติม แล้วยังท้าทายว่าเรากินเนื้อสัตว์แล้วไม่บาป ไม่ผิด ถ้าเรากินเนื้อสัตว์แล้วยังไปผยอง แต่ยังไปท้าทายเขา เขาไม่เอาความเราก็บุญแล้ว แต่ถ้ามาท้าทายว่า ฆ่าเขาแล้วไม่ผิด กินเนื้อเขาแล้วไม่ผิด

"การกินผักก็อาจจะต้องฆ่าสัตว์ทางอ้อมไปด้วยเช่นกัน เพราะต้องไถดิน ใส่ปุ๋ย ใช้ยากำจัดแมลง อาจทำให้แมลงต่างๆ ไส้เดือนตายได้ ถ้าแบบนี้บาปก็คงไม่ต้องทำสัมมาอาชีพกันเลย"

อธิบายว่า สิ่งเหล่านี้ก็บาปเช่นเดียวกัน แต่บาปหนัก-บาปเบาก็ว่ากันไป แต่ก็จะมีหลักธรรมหนึ่งในธรรมว่า เขาเกิดมาในชั้นภูมิอะไร เป็นชั้นที่จะต้องให้เขากิน แม้แต่สัตว์ก็ยังมีเป็นห่วงโซ่ให้สัตว์อื่นๆ มากินเขาเช่นเดียวกัน ดังเช่นคำที่ว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เป็นต้น

จะบอกว่าบริสุทธิ์ ก็คงไม่ได้


"ถ้ากินเจมันประเสริฐเป็นบุญใหญ่นัก วัว ควาย ก็คงเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว คนเราจะกินอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่ว่ากิเลสตัณหาตัดได้หรือเปล่า แล้วการกินเจก็ไม่ช่วยให้กิเลสตัญหาลดลง แต่ถ้าจะกินเพื่อสุขภาพละก็อนุโมทนา หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่"

อธิบายว่า การที่เราบวชเป็นพระก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะลดจากการตกนรกได้ เช่นกัน การโกนหัว ๑๐๐ หัวก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าการตอบเช่นนี้ เป็นเช่นนี้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรสักอย่าง

ประโยชน์อย่างเดียวก็คือ เราไปลดกิเลสของเราซะ

สมมติว่า เราทำดี ๑๐% ทำชั่ว ๙๐% เราจะเอาความดี ๑๐% ไปแก้ความชั่ว ๙๐% ไม่ได้

คนชอบอันไหนก็จะยกสิ่งนั้นมาอ้าง

ถ้าหากว่าห่มผ้าเหลืองประเสริฐนัก พวกพระก็ไม่ต้องมีการตกนรกสิ? ไม่ต้องนรกเลย แค่ทำผิดก็ยังต้องมีการให้ลาสิกขาเลย ทำไมผ้าเหลืองคุมไม่อยู่


"คนเราจะกินอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่ว่ากิเลสตัณหาตัดได้หรือเปล่า"
แต่ละคนก็มีแต่ละวิธีไม่เหมือนกัน เช่น เริ่มด้วยคนๆ นี้เขาจะตัดกิเลสด้วยเรื่องอะไร ก็ก็จะหาวิธีการทางสายนั้นมาตัดกิเลส แต่การกินเจเขาจะตัดกิเลสด้วยการสำรวมด้วยการกินก็ได้นี่ เป็นวิธีการฝึกตัดกิเลสด้วยวิธีหนึ่งได้ไหม? ทำไมเราไปมองว่าเขาไม่ได้ฝึกหัดตัดกิเลสล่ะ?

"แล้วการกินเจก็ไม่ช่วยให้กิเลสตัณหาลดลง"

ก็เราไม่ได้ไปทำเราก็จะลดกิเลสลงได้อย่างไร? เราห่มผ้าเหลืองแต่ไม่ได้ปฏิบัติ เราก็ยิ่งทำบาปหนัก ทำไมคนห่มผ้าเหลืองถึงติดยา ติดเหล้า ติดผู้หญิงได้

ถ้าเราจะพูดในทำนองนี้อะไรก็แก้ไม่ได้หรอก สรุปจะแก้ต้องใช้หลักอริยสัจ ๔ คือ เหตุคุณเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุอะไรคุณก็ไปแก้ นี่แหละเป็นการแก้ทุกข์ที่แท้จริง แต่ตัวอื่นเป็นแค่ "นิมิตหมาย" เหมือนกับว่าเราทำพิธีกรรม ก็คือ เป็นนิมิตหมายว่า ต่อไปนี้เราจะตั้งใจทำความดีแล้วนะ นี่แหละเป็นนิมิตหมาย การกินเจก็เช่นเดียวกัน เราตั้งใจว่าเราฝึกฝน ฝึกหัดตนเอง ควบคุมตนเอง ลดกิเลส นี่แหละ เป็นนิมิตหมาย

คำว่า นิมิตหมาย ไม่ใช่ว่าสำเร็จเลย เราจะต้องไปทำ ปฏิบัติให้บรรลุ สำเร็จ

7,524







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย