องค์เทพ คืออะไรกันแน่?
องค์เทพ คืออะไรกันแน่?
"เทพ" แปลว่า พลังในธรรมชาติ ซึ่งเราสมมติฐานขึ้นว่า มีรูปร่างอย่างนั้นๆ เพื่อแสดงถึงนิมิตหมายถึงพลังตรงนั้น เพื่อเราจะได้จดจำ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้จะจดจำกันยังไง
ยกตัวอย่าง พญานาค ก็เป็นพลังแห่งสายน้ำ พลังแห่งความเจริญ
สมมติว่าเราจะพิสูจน์ว่ามีพระพายมีจริงไหม? พระพายก็คือผู้บริหารลม เราจะนึกถึงพระพายก็คือนึกถึงลมนี่เอง เราก็ต้องนึกถึงลมเป็นนิมิตหมายสื่อถึงพระพาย
ถ้าเราบอกว่า เดี๋ยวมีลมอ่อน เดี๋ยวลมแรง แสดงว่าต้องมีผู้มาดูแล ถึงมีลมแรงหรืออ่อน เราก็จะนิมิตหมายว่ามีบุคคลหนึ่งคอยมาดูแล ควบคุม ลม บุคคลที่ควบคุมตรงนั้น เราเรียกว่า "เทพพระพาย (वायु) หรือเทพพระวายุ" แต่ถ้าประเทศจีน ก็มีชื่อว่า เฟิงป๋อ (风伯) ทางกรีก เรียกว่า เทพเอโอรัส (Aeolus) เป็นต้น ในทางวิทยาศาสตร์มีมีชื่อของเขา คือ การเคลื่อนที่ของอากาศ เรียกว่า "ลม" (Wind) การเคลื่อนท่ี่ของกระแสอากาศในแนวราบขนานกับพื้นผิวโลกว่า "ลม" ลมจะเคลื่อนที่จากหย่อมความกดอากาศสูง (H) ไปยังหย่อมอากาศต่ำ (L) นี่แหละ คือ เทพ
เทพก็คือสิ่งที่อยู่ในธรรมชาตินี่แหละ แต่เรานิมิตหมายตั้งชื่อเป็นอย่างนั้นเพื่อให้เราเข้าใจกันในกลุ่ม ถ้าไม่เช่นนั้น เราไม่สามารถเข้าใจ พูดถึงได้ สื่อกันไม่รู้เรื่อง กว่าจะพูดกันเข้าใจก็ใช้เวลาหลายนาที แต่ถ้าทำความเข้าใจกันในกลุ่มแล้ว ลักษณะอย่างนี้ เป็นเช่นนี้ เรียกว่า พระพายุ แค่พูดคำเดียวก็สื่อกันเข้าใจ
ภาษาต่างๆ เป็นตัวแทนที่จะสื่อนิมิตหมายถึงสมมติว่าเป็นอย่างนั้นแล้วเรายอมรับกัน เทพก็เหมือนกันเพื่อให้เราสื่อสารกันรู้เรื่องของมนุษย์ ฉะนั้นบางคนบอกว่า "เทพ" มนุษย์เป็นคนสร้าง อย่างนี้ไม่ใช่ ธรรมชาติเป็นผู้สร้าง แต่มนุษย์เป็นคนต่อเติม แล้วหมายถึง... แล้วตั้งชื่อ... แล้วตกแต่ง...
เชื่อเถอะ เดี๋ยวก็แต่งเหมือนกับคตินิยมของแต่ละชนชาติทั้งนั้น
ยกตัวอย่าง พญายมราช ของประเทศไทย เป็นเทพผู้ชาย จะนุ่งโจงกระเบน มีกายสีแดง มี ๒ กร ทรงบ่วงบาศและไม้เท้าหัวกะโหลกเป็นอาวุธ สวมมงกุฎน้ำเต้า สวมอาภรณ์สีแดง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ
ประเทศอินเดีย ฮินดู มีคติพญายม คือ เป็นผู้ชายมีกายสีแดงหรือสีดำ รูปร่างใหญ่โต กำยำล่ำสัน นัยน์ตาสีแดง มี ๔ กร ทรงบ่วงยมบาศ กระบองยมทัณฑ์ ตรีศูล ขอช้าง สวมมงกุฎทองคำ มีรัศมีสีแดง สวมอาภรณ์สีแดงและสีดำ ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและทองแดง ประทับนั่งบนดอกบัว ทรงกระบือเป็นพาหนะ
ประเทศจีน มีคติพญายม คือ เหยียนหลัวหวาง (阎罗王) แต่งตัวอย่างบัณฑิตสมัยราชวงศ์หมิง (大明) หรือแต่งตัวคล้ายๆ เปาบุ้นจิ้น (包文拯) มือข้างหนึ่งอุ้มม้วนหนังสือบัญชีรายชื่อและเวรกรรมของสัตว์โลก เรื่องราวของพญายมมาจากคัมภีร์ ๓ เล่ม คือ จิงหลู่อี้เซี่ยง (经律异相) เวิ่นตี้หยู่จิง (问地狱经) และจิงตู้ซานเม่ยจิง (经度三昧经)
พระยม ยังมีชื่ออื่นๆอีก เช่น พระธรรมราช,พระกาล,พระมัจจุราช,พระมฤตยูราช,พระเปรตราช,พระภยังกร,พระมหิเษส,พระทัณฑธร,พระนรกธีศะ,พระปิตฤปติ,พระอันตกะ,พระภัยโลจนะ ฯลฯ
ถ้าเราเข้าใจองค์เทพ แปลถูกต้อง เราก็จะเข้าใจ และเราจะไม่มีข้อสงสัยเลย
องค์เทพ เทวดา ช่วยให้เราค้าขายดีไหม
แล้วองค์เทพสามารถทำให้เราค้าขายได้ดีจริงไหม?
เรามาเชื่อตามพระพุทธเจ้าว่า "เหตุ" เราทำเหตุให้ถูกต้อง เราก็จะค้าขายดี สมมติว่า เวลานี้เรามีสิ่งพึ่งทางใจ แล้วกำลังใจของคุณจะมาไหม? ถ้ากำลังใจมา แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เราก็จะตั้งใจทำ เราก็จะขยัน เราก็จะมีความหวัง แล้วสิ่งนั้นจะสำเร็จไหม? มีเปอร์เซนต์ที่จะสำเร็จสูงกว่าใช่ไหม? แต่ก็ต้องมีปัจจัยเหตุอื่นด้วยใช่ไหม? แล้วเรามีปัญญาพร้อมไหม? เช่นบอกว่า เราจะทำก๋วยจั้บ คุณมีความขยันทำ แต่คุณมีปัญญาไม่พร้อมที่จะทำก๋วยจั้บ เราก็จะทำมาไม่อร่อย ก็ขายไม่ได้ แต่องค์เทพก็ช่วยอะไรไม่ได้
เราอย่าเข้าใจผิด อะไรก็โยนให้องค์เทพ องค์เทพไม่ใช่คนปรุงอาหาร
องค์เทพเป็นผู้ให้กำลังใจ ให้ความหวัง แต่เราต้องเป็นคนทำ
สมมติว่า เรามีพระจี้กง แล้วพระจี้กงเป็นคนขายไหม? ก็ไม่ใช่คนขาย เรานั่นแหละเป็นคนขาย
ถ้าเราเกิดกำลังใจ ก็จะทำให้เราเกิดความเพียร มานะ บากบั่นทำ ถ้าเราเกิดความเพียรแล้ว แล้วเรามีที่พึ่งแล้วเราจะเกิดความหวังไหม? ก็มีความหวัง ถ้าเรามี ๓ อย่างพร้อมแล้ว ยังทำไม่ได้ก็ไม่รู้จะว่ายังไง
เหตุตรงนั้นมันครบถ้วนแล้ว เราจะต้องไปศึกษา เราต้องเรียนรู้ หาประสบการณ์ คุณต้องมีทักษะ เราอย่าไปโยนให้กับองค์เทพ เราจะต้องทำของเราให้ดี เช่น เราบอกว่าก๋วยจั้บอร่อยแล้วเราไม่ตักเข้าปากเราจะอิ่มไหม? จะต้องอธิบายให้เข้าใจ องค์เทพเป็นผู้ให้กำลังใจ ส่วนการกระทำคือตัวเรา
องค์เทพจะเป็นศูนย์รวม เป็นสรณะของเรา
บางคนบอกว่าไปบวชชีพราหมณ์แล้วจะรวย เป็นไปไม่ได้ จะไปบวชพระแล้วจะทำให้รวย ก็เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งเพ้อฝัน บางคนบอกว่าไปนั่งสมาธิ หลับตา แล้วจะเกิดปัญญา บ้าไปหรือเปล่า? หลวงพ่อชาก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นคนตาบอดก็เป็นอรหันต์กันหมด
ทำอะไรๆ ก็ยกความดีให้องค์เทพ ทำไมไม่ชมตัวเอง ทั้งๆ เราเป็นคนทำ เช่น การค้าขายดี เป็นต้น
เราจะต้องเข้าใจว่าเกี่ยวกับการยกความดีความชอบให้กับองค์เทพ เทวดา คือ เพื่อป้องกันอะไร? เราป้องกันความอหังการ สมมติว่า เราทำได้ แน่นอนเราทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากว่าเราไปชื่นชมเกินส่วนก็จะทำให้เราไปปลุกตัวอะไรในจิตใจของเรา เพราะว่าถ้าเราไม่ตรงนี้ เช่น รถมีแต่คันเร่งแต่ไม่มีคันเบรก เราตายแน่ ฉะนั้น คนที่ฉลาดจะต้องหาวิธีป้องกันก่อนเกิดเป็นเรื่อง พอเกิดเป็นเรื่องแล้วมาแก้มันลำบาก สู้ป้องกันก่อนเลยดีกว่า
ขั้นระดับของ "องค์เทพ" ที่แสดงปรากฏออกมา
ขั้นที่ ๑. ธรรม คือ ธรรมชาตินี้เอง แต่ถ้าบอกว่าธรรมชาติก็จะแคบลงไม่ครอบคลุม ธรรมชาติเขาบอกว่าไม่ใช่ศาสนา แต่ธรรมถือว่ามีศาสนา เราก็จะบอกว่า ธรรมชาติอยู่ในธรรม ศาสนาทั้งหมดก็อยู่ในธรรม ไม่ว่าพระเจ้า หรือเทวดาก็อยู่ในธรรม
ขั้นที่ ๒. เป็นนาม เป็นพลัง แต่เป็นรูปแบบนาม เป็นนามแบบรูปมีพลังแล้ว เป็นพลังต่างๆ หรือสิ่งต่างๆ เช่น พระสุริยะ ก็คือ พระอาทิตย์แสงแดดนี่เอง คนโบราณต้องอาศัยแสงแดด ถ้าไม่มีแสงแดดก็มืดหมด ตื่นเช้ามีแสงแดดก็จะออกไปทำงาน ก็เลยยกให้ท่าน จริงๆ แล้ว เทพองค์แรกของสัตว์โลก ก็คือพระสุริยเทพ ยกให้ท่านว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ทางจีนเรียกว่า เพราะเป็นสิ่งที่ก่อสร้างทุกอย่างที่ทุกคนรับรู้
อย่างที่ ๒ ก็คือ จันทรา คือ พระจันทร์ ทางจีนเรียกว่า (爷;เย่) ไท่หยางกง (太陽公) พระสุริยเทพ ส่วน พระจันทร์ ไท้อิมเนี่ยเนี๊ย (太音娘娘) เราตื่นมาก็เห็นกลางวันเห็นพระอาทิตย์ กลางคืนเห็นพระจันทร์
ขั้นที่ ๓ สื่อถึง ปัญญาของท่าน มาตกลงกันว่าตรงนั้นจะเรียกว่าอะไร เป็นนิมิตหมายจะเรียกว่าอะไร หมายความว่าอะไร ถึงจะสื่อถึงกันได้ พูดคุยกันได้เข้าใจ ทางจีนเรียกไท่หยางกง ทางเราเรียกว่า สุริยเทพ ทางอังกฤษเรียกว่า ซัน (Sun) เทพของชาวโรมันได้รับอิทธิพลจากเทพเจ้ากรีก เรียกว่า อะพอลโล (Apollo) เทพแห่งดวงอาทิตย์และแสงสว่าง
จะต้องมาตกลงกันของแต่ละชุมชน สังคมนั้นๆ พลังตรงนี้เราจะเรียกว่าอะไร
ขั้นที่ ๔ ก็จะตกแต่งออกมาเป็นองค์ จะเป็นองค์ยังไง เป็นรูปร่างลักษณะ เขาเรียกว่า เป็นรูปธรรม
ขั้นที่ ๕ พิธีกรรมต่างๆ กฎวินัยต่างๆ มีพิธีกรรมเพื่อที่จะรักษาไว้ได้ถ้าไม่มีก็รักษาไม่ได้ เพื่อการดำรงอยู่ของทั้งผอง
เทพมีข้อห้ามอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อให้ชุมชนอยู่ปลอดภัยกันได้ พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติพระวินัย พระสงฆ์ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้
เราไหว้เทพ เทวดา เพื่ออะไร?
๑. ไหว้เพื่อการนับถือ เพื่อผลประโยชน์ เช่น เราไหว้พระอาทิตย์เพราะว่าท่านให้ประโยชน์ต่อเรา
๒. พัฒนาขึ้นมาเป็นปัญญา
๓. ไหว้เป็นสรณะ พึ่งพาท่าน เช่น เราจะตากกล้วยแห้งก็ต้องอาศัยพระอาทิตย์ ต้นไม้มีพระอาทิตย์ถึงจะเจริญได้ เราไม่มีสิ่งนี้เราอยู่ไม่ได้
๔. เป็นกำลังใจ
๕. เป็นความหวัง
เกิดปาฏิหาริย์ คือ สิ่งที่สัปปายะยิ่ง สิ่งที่พร้อมกว่าที่เราคาดคิดไม่ถึง เป็นปาฏิหาริย์ เป็นสิ่งอัศจรรย์
ถ้าเรามีปัญญาสูง เขาก็มองทะลุมากกว่า เช่น หมอ ท่านก็จะรู้เลยว่าเราเป็นโรคอะไร เช่น เขาจับชีพจร การแมะ(pulse diagnosis 切脉) ท่านก็รู้ว่าเราเป็นโรคอะไร นี่เป็นศาสตร์ เป็นปัญญา
ศาสตร์ปัญญาก็มาจากเทพเจ้า เทพเจ้าก็คือสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ นี่คือการเข้าใจอย่างถูกต้องในธรรม ไม่ว่าศาสนาไหนก็เป็นเช่นนี้แล หนีไม่ออก แต่การบรรยายก็สุดแล้วแต่ว่าจะบรรยายอย่างไร
๖. สิ่งแวดล้อม แล้วแต่ชุมชนไหนมีประสบการณ์อะไรก็จะมาเติม เช่น ชุมชนที่อยู่ทางทะเลทราย ก็จะเติมประสบการณ์ทางทะเลทราย ชุมชนที่อยู่ทางบนดอยก็จะเติมประสบการณ์ทางบนดอย อยู่ใกล้แม่น้ำก็จะเติมประสบการณ์ต่างน้ำ อยู่เมืองหนาว อยู่ที่ร้อน ฯลฯ เราอยู่ทะเลก็เอาประสบการณ์จากทะเลมาเติม เติมให้ยิ่งยวดขึ้นมีปฏิหาริย์ เติมสิ่งที่เป็นอิทธิฤทธิ์ ความเป็นอัศจรรย์ขึ้น
ยกตัวอย่าง อยู่ใกล้แม่น้ำก็จะเติม พญานาค ผีพราย แม่ย่านาง ผีคุ้งน้ำ เป็นต้น
อยู่บนดอย ก็จะมีผีดง เทพเจ้าแห่งขุนเขา แปะกง เทพเจ้าเสือ พ่อปู่ฤๅษีสมิงพราย ฯลฯ
ตั้งแต่ขั้นที่ ๕ และ ๖ เป็นต้นไป ก็สุดแล้วแต่ว่าชุมชนไหนจะเติมเช่นใด ประสบการณ์ของใครเป็นอย่างไรก็จะไปเติมอภินิหารองค์เทพเทวานั้นๆ
ทีนี้ในการเติม ก็จะมีความจริงบ้าง โอเว่อร์บ้าง อะไรก็ว่ากันไป อันนั้นเป็นเส้นทางเดินของวิถีแห่งธรรม
^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต