"จิตว่าง" ที่ถูกต้อง ในธรรม
"จิตว่าง" ที่ถูกต้อง ในธรรม
"จิตว่าง" ไม่ใช่ว่างเปล่า จิตว่างเปล่าไม่ได้
จิตว่าง ว่างจากอะไร?
จิตว่าง ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น ว่าสิ่งนั้นจะอยู่คงทนถาวร หรือว่าสิ่งนั้นจะอยู่นิจนิรันดร์ หรือสิ่งนั้นจะอยู่ตามใจปรารถนาของตัวอย่างนี้ไม่ได้ เพราะทุกสิ่งต้องมีภาวะไปตามเหตุและปัจจัย ในการที่จะแปรเปลี่ยน เข้าสู่ภาวะแห่งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พอมีการแปรเปลี่ยนนี้ ทั้งหมดทั้งขบวนการทั้ง ๓ อย่างนี้ เขาเรียกว่า "สุญญตา" (sunyata) สุญญตานี้ไม่สามารถบังคับบัญชาควบคุมได้ ต้องไปตามเหตุปัจจัยตามภาวะธรรมนั้นๆ
การเป็นเช่นนี้ ทั้งหมด ทั้งปวง เขาเรียกว่า "ตถตา" เป็นเช่นนี้แหละโดยธรรม
แล้วเราจะมารู้จักจิตว่างทำไม?
เราต้องรู้จักจิตว่าง จะทำให้เราไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้าเรายึดมั่นกับสิ่งที่เป็นอดีต จิตเราก็จะไม่ว่างล่ะ จิตเราก็จะกลายเป็นยึดมั่นถือมั่นกับอดีต ปัจจุบันเราก็อยู่ไม่ได้ ทุกข์ไหม? คือ ไม่ยอมรับสภาพตามความเป็นจริง เราต้องการให้มีจิตว่าง จิตว่างจากการยึดมั่นถือมั่น คือฝึกตนเองให้ยอมรับความจริงแห่งธรรม นี่คือหัวใจ
การไม่รับความจริงแห่งธรรมผลก็คือ
๑. ทุกข์
๒. แก้ไขอะไรไม่ได้เลย
๓. จมปลัก ก็ยิ่งทุกข์หนัก ถึงกับทำลายไปหมด
แล้วเราทำอาหารจะมีจิตว่างได้ไหม?
ทำอาหารมีจิตว่างได้ มีจิตว่างจากการยึดมั่นถือมั่น สมมติว่าเวลานี้เราเคยทำอาหาร เราทำปลาทอดเราเคยทอดปลาแบบเกรียมๆ มีคนชมว่าอร่อย ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นตรงนี้เราก็จะทอดเกรียมตลอดเลยใช่ไหม? แต่มีอีกสองสามเจ้าเขาบอกว่าขอให้ทอดปลาแบบไม่ต้องเกรียม แล้วเราทำให้ได้ไหม? แต่ถ้าเราจิตไม่ว่างจากการยึดมั่นถือมั่นเราก็จะบอกว่าไม่ได้ เราจะทำตามนี้ ทำตามความคิดของตัว
การที่เราไม่มีจิตว่างจากการยึดมั่นถือมั่น ย่อมเป็นจิตที่ปรปักษ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ปรปักษ์กับตนเองก็ผู้อื่น
ฉะนั้น ตรงนี้แหละ ทำไมต้องมีจิตว่าง ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น แต่ไม่ใช่ว่างเปล่า
แต่คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า จิตว่าง คือ ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย อย่างนี้ไม่ใช่ จิตว่างนี้มีทุกอย่างเพียงแต่คุณไปยึดสิ่งนั้นไม่ได้ต่างหาก บางคนบอกว่าจิตว่างมันเกี่ยวอะไรกับฉัน ถ้ามันไม่เกี่ยวก็จะกลายเป็นจิตปรปักษ์กันตลอด อยู่ตรงนั้นยึดมั่นตรงนั้น มีอะไรใหม่มาไม่ยอมรับ
จิตว่าง ก็คือ ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น
การที่บางคนชอบเอาปากกาจิ้มขาเล่น แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าเอาปากกาจิ้มขาอย่างนี้มีความสุข เราก็จะทุกข์มาก เพราะจะต้องจิ้มตลอดเพราะว่าเราคิดว่ามันมีความสุข เราไปไหนก็ต้องจิ้มล่ะ เพราะมันเป็นสันดาน แล้วจะทุกข์ไหม? เพราะเราไปยึด ถ้าสถานที่แห่งนั้นไม่ควร แล้วเราไปแสดงกิริยาอย่างนี้ ถ้าเราไปทำกิริยาอย่างนี้เราก็จะทุกข์ล่ะ
ยกตัวอย่าง เราเคยพูดเสียงดัง แล้วเราไป ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาห้ามพูดเสียงดัง เพราะเขาไหว้พระสวดมนต์อยู่ แล้วเราก็ยังพูดเสียงดังอยู่อีก เราก็จะยุ่งแล้ว
ยกตัวอย่าง เราขี้ กำลังนั่งขี้อยู่ จิตว่างได้ไหม? เราจะพิจารณาอย่างไรให้จิตว่าง?
ถ้าเราไม่มีจิตว่าง ยึดมั่นถือมั่นเราจะขี้ไม่ออก เพราะอันนี้เป็นขี้ของเราเราจะขี้ออกไปทำไม นี่เป็นปรัชญาเลยนะ สมมติว่าคนๆ นี้เขามีความคิดอย่างนั้น เขาก็จะเป็นคนธาตุแข็งแล้ว ไม่ยอมขี้ และเวลาขี้ไม่ยอมเสียเวลา นั่งปั้บไม่ออกก็จะลุกแล้ว เขาทำอย่างนี้เขาก็จะสร้างนิสัยอีกอย่างหนึ่งแล้ว พอเขาสร้างนิสัยอย่างนี้ ขี้ก็จะสะสม ก็จะยุ่งแล้ว สะสมจนทนไม่ไหวก็จะปล่อยขี้ออกมาแล้ว แล้วลำไส้ก็จะเสียอยู่เรื่อย เห็นไหมว่าสร้างโรคภัยไข้เจ็บให้กับตนเอง
ยกตัวอย่าง มีเพศสัมพันธ์กันจะจิตว่างได้ไหม?
ก็ต้องมีจิตว่าง ถ้าเราไม่จิตว่างไม่ได้ ฉันจะทำอย่างฉัน อย่างนี้ แต่เขาไม่ชอบ ก็จะเดือดร้อนแล้ว ถูกไหม?
เราต้องเข้าใจนะว่า จิตว่างไม่ใช่ว่าจิตไม่มีอะไร ต้องแปลให้ถูกนะ เพราะว่า จิตว่าง คือ จิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเช่นนั้นถึงจะถูกต้อง แต่เราต้องยึดมั่นถือมั่น ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ก็จบแล้ว แต่ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นจะเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ตามภาวะเหตุแห่งธรรม วันนี้เมียของเรามันอ่อนแอ ทุกครั้งเมียทำให้เรา ช่วยเหลือเรา แต่วันนี้เรายังจะทู่ซี้บังคับให้เมียช่วยเหลือเรา ทำให้เรา ก็จบแล้ว ก็จะเป็นปรปักษ์แล้ว วันนี้ภาวะธรรมเปลี่ยนไป วันนี้เราก็ต้องมาถนอมเมีย ก็จะโอเค ถูกต้องไหม?
เพราะถ้าเรายึดมั่นถือมั่นก็จะทำให้จิตเราจึงไม่ว่าง เช่น เงิน ๕๐ บาท จะร่วมทำบุญกับแฟน แต่เราให้ไม่ได้ เพราะว่าเราคิดว่า เราทำบุญมาเยอะแล้ว เราไม่สามารถควักเงิน ๕๐ บาทเพื่อทำบุญกับแฟนไม่ได้ นี่แหละเพราะว่าเราไม่ดูภาวะธรรมตรงนั้นเราต้องให้ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้จิตว่าง ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น เราพิจารณาตามเหตุปัจจัย เหตุภาวะธรรมนี้แฟนเราต้องการจะทำบุญกับเรา แต่เราควักเงินในกระเป๋าของเราร่วมเงินกับเขาทำบุญร่วมกันไม่ได้ แฟนของเราก็ต้องเสียอกเสียใจ
แล้วเราจะพิจารณายังไงให้เรามีจิตว่าง ทุกอย่างอย่าไปติด เพราะว่าจิตว่างเราต้องแปลให้ถูก เราต้องแปลว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ถ้าเราแปลว่า จิตว่าง แปลว่า ว่างเปล่า หาไม่เจอ ไม่มี ทำไม่ได้ เช่น ภาวะธรรมตรงนี้เป็นของเรา เราทำได้ แต่อีกภาวะธรรมหนึ่ง ไม่ใช่แล้ว เราจะยังไปยึดมั่นถือมั่นในภาวะธรรมเดิม ก็จะยุ่งแล้ว จบแล้ว
ยกตัวอย่าง ไข่ไก่เป็นของเรา แต่ว่ามันบูดเน่าแล้ว เราจะยังยึดมั่นถือมั่นว่าไข่นี้ยังจะเป็นของเราได้ไหม? ก็ไม่ได้ ต้องทิ้งไป
เวลานี้เราอายุ ๒๐ ปี แม่เราจะคิดว่าตอนนี้เรายังเป็นเด็กอายุ ๑๒ ได้ไหม? ก็ไม่ได้
เราเดิน หรือขับรถ จิตว่างได้ไหม?
ถ้าเราเดินก็ดี ขับรถก็ดี ถ้าเราจิตไม่ว่าง ยึดมั่นถือมั่นเราก็จะไปไหนไม่ได้ จะอยู่ที่เดิม เพราะว่า ถ้าเราจิตไม่ว่างเราก็ไม่อยากเดินต่อ อยากอยู่กับที่
สมมติว่า ตอนนี้กำลังแดดจ้ามาก เราไปยืนอยู่ที่ร่มๆ ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นเราอยากจะออกจากร่มไม้นี้ไหม? ก็ไม่อยากออก แต่เพราะว่าภาวะธรรมนี้ มีแขกมาหาเรา เราต้องออกไปต้อนรับแขก เราจะขัดเคืองใจไหม? ต้องโดนแดดแผดเผาผิวกายเรา เพราะเราอยู่ที่เย็นๆ แล้ว แต่เวลานี้เราจะมาด่าในใจว่า ตอนนี้ทำไมแขกต้องมาเวลานี้ด้วยนะ เราต้องออกไปตากแดด เพราะว่าจิตไม่ว่างจึงทำให้จิตของเราขุ่นมัว นี่แหละ ถ้าเราไม่ทำให้จิตว่าง ก็จะเป็นปรปักษ์ทันที
แต่ขณะที่ขับรถ ถ้าเราจิตไม่ว่าง พอจิตเราไม่ปล่อยว่าง ไม่ไปตามภาวะแห่งธรรม แล้วเราจะให้รถเคลื่อนที่ไปไหมล่ะ ก็ไม่อยากเคลื่อนที่ อยากจะอยู่ที่เดิม ติดกับที่
นอนต้องทำจิตว่างได้ไหม?
ถ้าจิตไม่ว่าง เรานอนแล้วสุขสบายเราก็ไม่อยากจะตื่น เราก็ตายแล้ว เพราะไม่ยอมเปลี่ยนแปลง จิตเราต้องว่างจากการยึดมั่นถือมั่น เราถึงตื่นจากที่นอนได้ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะนอนอยู่อย่างนั้นไม่ยอมตื่น
ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ว่างเปล่า
พระท่านบอกว่า ทำจิตให้ว่าง นั่นหมายถึง การทำจิตให้ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น
หลวงพ่อพุทธทาส ยังไม่ได้อธิบายตรงนี้ เพราะว่าท่านไม่รู้จะอธิบายยังไง ถึงกับวิวาทะกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังไม่จบ สรุปไม่ได้
คึกฤทธิ์ท่านก็บอกว่า คนเราจะทำอะไรด้วยจิตว่างเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าไปแปลผิดกัน ถ้าแปลถูกเราต้องยิ่งทำให้จิตว่างด้วย ถ้าเราจิตไม่ว่างเราก็ทำอะไรไม่ได้
เพื่อนเราด่า เราต้องจิตว่าง คือ ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่โกรธใช่ไหม? เขามาด่าเราถ้าเรายึดมั่นถือมั่น เราก็มีอัตตาตัวตนที่สูงมากเลย ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไม่มีอะไร ถ้าเขาไม่ผิดแต่มาด่าเรา เราก็ไม่ต้องยัวะ เราก็ต้องใช้คุยด้วยสติ เราไม่ใช่คุยด้วยอารมณ์ยัวะ แล้วเราจะยึดมั่นถือมั่นว่าเราไม่ผิดด้วยไหม? ก็เรายึดมั่นถือมั่นไม่ผิดก็ไม่เป็นไร แต่ต้องรู้และเข้าใจว่าจะเป็นไปอย่างนี้ตลอดไม่ได้ เหตุวิบากเปลี่ยนเมื่อไหร่ ผลก็ต้องเปลี่ยน เราจะต้องให้ตายตัวอย่างนี้ไปไม่ได้
แต่ถ้าหากเขาพูดถูกแต่เราทำผิดจริงๆ ก็เหมือนกัน เรายึดมั่นว่าเราไม่ผิดเราก็จบแล้ว ฉะนั้น เราจะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เราต้องไปตามเหตุปัจจัยภาวะธรรมต่างๆ
เรายึดมั่น แต่อย่าถือมั่น คือ สิ่งนั้นต้องเกิดตรงนั้น แต่เราจะถือมั่นหมายเป็นอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ เพราะถ้าไม่ยึดมั่นก็เกิดไม่ได้
ยึดมั่นก็คือเราถือตรงนี้อย่างจริงจัง ทำจนสำเร็จขึ้นมา แต่เราจะถือมั่นหมายว่าให้เป็นอย่างนี้ตลอดไม่ได้ ไม่มีการแปรเปลี่ยน เพราะสิ่งนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยเปลี่ยนสิ่งนั้นก็ต้องเปลี่ยน
คนเราบางครั้งบอกว่าจะไม่ยึดมั่น ก็เลยกลายเป็นทำอะไรไม่ได้ ก็มาบ่นว่า ทำไปวันๆ ช่างมัน มีวินัยไปทำไม? คนทั่วไปก็จะถามตรงนี้แหละว่า เรามีวินัยเราต้องทำให้ได้ ทำให้สำเร็จได้ แต่เราจะถือมั่นหมายว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไม่ได้ เป็นนิรันดร์ไม่ได้ ต้องแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย แปรเปลี่ยนไปตามภาวะธรรม
นี่แหละ "อนิจจัง" เพราะอะไรทำไมต้องแปรเปลี่ยน เพราะเป็น "ทุกขัง" เพราะสิ่งนั้นจะทนทุกข์อยู่ตลอดตามนั้นไม่ได้ ต้องแปรเปลี่ยน
ภาวะ ๒ ภาวะการณ์นี้ คือ อนิจจัง ทุกขัง เขาเรียกว่า "อนัตตา"
พอ ๓ ภาวะนี้รวมกัน คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะเป็นภาวะแห่ง "สุญญตา"
พอเป็นภาวะแห่งสุญญตา ทำไมถึงเป็นภาวะแห่งสุญญตา มันเป็นไปตามเช่นนี้โดยธรรมเป็น "ตถตา"
ยกตัวอย่าง การยึดมั่นถือมั่น เหมือนกับว่าเรามีปลาสดตัวหนึ่ง แล้วเรายึดมั่นถือมั่นว่าจะให้ปลาตัวนี้ต้องให้สดตลอดได้หรือไม่?
ก็ไม่ได้
บางคนก็บอกว่า จะให้ปลาสดตลอดก็ได้นี่ ก็ไปแช่น้ำแข็งก็ได้นี่ ไปแช่ในช่องฟิต
ถ้าอย่างนี้จะเรียกว่าปลาสดหรือปลาน้ำแข็ง ก็จะเรียกว่า ปลาน้ำแข็ง เพราะว่าไม่สามารถคงสภาพเดิมได้ นี่แหละ คือ จิตต้องว่างจากการยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราไม่มีจิตว่าง เราก็จะเดือนร้อนกับตรงนี้ จะเอาให้ปลาสดอยู่ตลอดมันเป็นไปไม่ได้ ถูกไหม?
ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นกับตรงนี้เราก็จะทุกข์มาก แต่ถ้าไม่ยึดมั่น ปลามันไม่สด มันต้องเพี้ยนไปแล้ว เราต้องรีบกิน เราก็ต้องรีบเอาไปทำเป็นอย่างอื่นไป จะมาทู่ซี้ว่าจะต้องเป็นปลาสด อย่างนี้ไม่ใช่
นี่แหละ ที่จะต้องทำอะไรด้วยจิตว่าง คำว่า "ว่าง" อย่าพูดเฉยๆ ต้องเติมท้ายว่า "ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น" ว่าเป็นเช่นนั้นตลอดกาลไม่ได้ ต้องแปรเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัย และภาวะธรรม
เรายึดได้ ปฏิบัติได้ แต่ไม่ถือมั่นเป็นเช่นนั้นตลอดกาลไม่ได้
บางคนบอกว่า ไม่ให้ยึด อะไรก็ไม่ต้องทำแล้ว อย่างนี้ไม่ได้ ยึดได้ แต่ไม่ถือมั่นเป็นเช่นนั้นตลอดกาลไม่ได้
ต้องมีหลักการเดิน แต่ไม่ใช่จะเป็นผลเช่นนั้นตลอดกาล
ถ้าเรายึดทำดี ก็ดี ถ้าเราไม่ยึดก็ไม่ทางได้ทำดี เพราะว่าไม่มีวินัย ฯลฯ แต่คุณจะถือว่าสิ่งนี้ดีตลอดกาลอย่างนี้ไม่ได้ เพราะต้องแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย และภาวะธรรมเช่นนั้น เพราะภาวะธรรมเช่นนั้นมันเหนือการควบคุม
^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต