ธรรมจักร กงล้อแห่งพุทธธรรม


ธรรมจักร กงล้อแห่งพุทธธรรม

ธรรมจักร (Dharmachakra; Wheel of Dhamma) มาจาก ๒ คำ คือ

"ธรรม" แปลว่า ความจริงแท้ เป็นขบวนการก่อเกิดของทุกสรรพสิ่ง

"จักร" แปลว่า ล้อ, ขับเคลื่อน

ธรรมจักร แปลว่า ความจริงแห่งขบวนการก่อเกิดของทุกสรรพสิ่งที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า


กงล้อแห่งพุทธธรรม ในการขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า นำชีวิตไปสู่สันติสุข มีสัมมาปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม มีสัมมาวิริยะ หมั่นพากเพียรอดทน มีสัมมาตบะ ต่อเนื่อง สม่ำเสมออย่างยิ่งยวด เป็นสรณะมหาพลังของชีวิต ธรรมจักรขับเคลื่อนนำชีวิตของเรา ทั้งหน้าที่ การงาน ธุรกิจ อุปสรรค เคราะห์ภัย ลุล่วงผ่านพ้น สำเร็จทุกประการ
ความหมายซี่กงล้อของธรรมจักร


ซี่กงล้อธรรมจักรทั้งหมด ๘ ซี่นั้นมีความหมายไปในทางเพื่อความหลุดพ้น ดังนี้


กงล้อซี่ที่ ๑ อุเบกขา


กงล้อซี่ที่ ๑ อุเบกขา (Upekkha : equanimity; neutrality; poise) ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเห็นทิฏฐิของตนและในการปล่อยวางสิ่งต่างๆ ให้เห็นเป็นไปตามวิถีแห่งธรรม ไม่มีอคติ มีความยุติธรรม และปัญญา ที่รู้เข้าใจธรรมชาติ ยอมรับความเป็นจริงเป็นไปตามวิถีแห่งธรรมนั้นๆ ไม่ยึดมั่นถือมั่นตามธรรมที่เราต้องการให้เป็นอยู่หรือเป็นไป


เราทำดีแล้วมีคนชมเราดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเราหลงใหลกับคำชื่นชมเหล่านั้น ไม่ชื่อว่าอุเบกขา


เข้าใจธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรม ธรรมชาติของธรรมเป็นเช่นนี้ เป็นเรื่องปกติธรรมดา ฉะนั้นเราจึงต้องไปทำกิจของตนโดยธรรม กำหนดจิตของเราให้เป็นไปตามวิถีแห่งธรรม โดยธรรม


อุเบกขาเป็นภาวะธรรมหนึ่งๆ ที่จะต้องเป็นไปตามเหตุและผลของภาวะธรรมนั้นๆ ฉะนั้น เราจะยึดมั่นถือมั่นให้เป็นไปตามใจเราอย่างนี้อย่างนั้นไม่ได้ สุดแต่ภาวะเหตุของธรรมนั้นเป็นเช่นใดก็เป็นเช่นนั้น เราต้องยอมรับความจริงแห่งภาวะธรรมนั้นๆ


อุเบกขาเป็นภาวะธรรม ไม่ใช่ภาวะบุคคล มีเหตุมีผลของภาวะธรรมนั้นๆ ภาวะธรรมจะเกิดก็ต้องเกิด เราต้องยอมรับความจริง เราจะไปปฏิเสธภาวะธรรมไม่ได้ เช่น วันนี้ฝนตก พอถึงเวลาที่ฝนจะตก มีเหตุที่ทำให้ฝนตก ฝนก็จะตก เราจะไปบังคับไม่ให้ฝนตกไม่ได้ ถ้าเราจะไปบังคับ นี่แหละเราไม่ยอมให้มีอุเบกขา


เช่น ฝนตก จะไม่ให้ฝนตกเป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถบริหารตัวเราเอง จะอยู่กับภาวะธรรมนั้นๆ คือ ฝนตกได้ เช่น อยู่ในร่ม กางร่ม ถ้าฝนตกหนักหนาว เราก็ห่มเสื้อกันหนาวได้ เป็นต้น


เราต้องรู้ภาวะธรรม เราถึงจะรู้ภาวะบุคคล


เราบอกว่าจะไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่เราไม่รู้จักภาวะธรรม จะทำยังไงก็อุเบกขาไม่ได้


เราต้องยอมรับภาวะธรรมเป็นเช่นนี้ ถ้าเรายอมรับภาวะธรรมได้ อุเบกขาจะมีโดยอัตโนมัติเลย เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยปริยาย


เราต้องรับความจริงก่อน ก่อนที่จะอุเบกขา


เหมือนกับเราออกกฎหมายอะไรมา แต่ถ้าไปขัดกับกฎรัฐธรรมนูญ (constitution) กฎหมายนั้นฟาวล์ (foul) ทันที เพราะภาวะธรรมใหญ่กว่า มีพลังเหนือกว่า


กงล้อซี่ที่ ๒ อัตตา


กงล้อซี่ที่ ๒ อัตตา แปลว่า ตัวตน (Atta: 1. self; soul; ego; personal entity. 2. mind; the whole personality) คือ สิ่งที่เป็นปัจจัยเหตุ ณ ภาวะธรรมนั้นขึ้นมา แล้วก็ไปตามกฎแห่งอนิจจัง แต่สลายไป แต่อัตตายังคงอยู่


หมายความว่า "ตัวตน" มีอยู่ของมัน แต่ไม่มีอยู่คงที่ เป็นอนิจจัง เป็นไปตามปัจจัยเหตุ เคลื่อนที่ไปตามปัจจัยเหตุ มีอัตตา แต่ไม่ใช่ตายตัว ไม่ใช่ว่าคนนี้มีอัตตาแล้วตายตัวแล้ว ไม่มีแล้ว ตายตัวเป็นตายตัวไม่ใช่


อัตตาจะมีการแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แปรรูป ทำไมถึงต้องแปรรูป เพราะว่าเป็นอนิจจัง เพราะว่าเปลี่ยนไปตามปัจจัยแห่งเหตุ ทำไมถึงต้องอนิจจัง เพราะว่าเหตุมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อัตตาจะสลายไม่ได้ มีแต่แปรรูป


สิ่งที่เป็นอัตตา เพราะว่ามีเหตุมาประชุมกัน เหตุเปลี่ยน ผลก็ต้องเปลี่ยน เคลื่อนที่ไปตามภาวะธรรมนั้นๆ ไม่ถาวร ตายตัว


เช่น น้ำแข็ง ๑ ก้อน แล้วเพราะเหตุใดจึงเป็นน้ำแข็ง? ก็เพราะว่าความเย็นถึงขีดองศาแห่งความเย็นนั้นๆ โดยสภาวะปกติน้ำแข็งจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำในรูปของเหลวมีอุณหภูมิต่ำกว่า ๐ํ องศาเซลเซียส (๓๒ องศาฟาเรนไฮต์ หรือ ๒๗๓.๑๕ เคลวิน) ที่ความดันปกติ


แต่ถ้ามีเหตุเข้ามา มีความร้อนเป็นเหตุเข้ามา (๘๐ํ องศา) เหตุเปลี่ยนแล้ว น้ำแข็งก็จะละลายหมดเลย ละลายหมดแล้วไม่มีตัวตน แล้วตรงไหนเรียกว่าน้ำแข็ง ก็ไม่มีตัวตน


ก็เหมือนกับคนเรา เป็นคนขึ้นมาได้เพราะมีเหตุ ถ้าหมดเหตุก็ไม่มีคน


คำว่า "เป็นไปตามกฎแห่งอนิจจัง แต่สลายไป แต่อัตตายังคงอยู่" หมายความว่า อัตตาสลายไป แต่อัตตายังคงอยู่ หรืออัตตายังคงอยู่ เพียงแต่แปรรูป หรืออัตตาจะสลายไม่ได้เพียงแต่แปรรูป


เปรียบเสมือนหิน ๑ ก้อน พอเราทุบแตก ก็กลายเป็นหินก้อนเล็กๆ เห็นก้อนเล็กๆ ก็เรียกว่า "หิน"


ให้เข้าใจว่าหินแปรรูป ถ้าไม่อย่างนั้นจะเข้าใจว่า ทุบหินหนึ่งก้อนกลายเป็นเศษหินชิ้นเล็กๆ แล้ว กลายเป็นว่าหายไปแล้ว ไม่มีแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่


๒ คำนี้จะช่วยกัน คือ อัตตาสลายไป แต่อัตตายังคงอยู่ หรืออัตตายังคงอยู่ เพียงแต่แปรรูป และอัตตาจะสลายไม่ได้เพียงแต่แปรรูป ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น ที่ว่าสลายไป แต่อัตตายังคงอยู่ อธิบายเข้าใจว่า ที่ว่าอัตตาสลายไป แต่อัตตาคงอยู่เพราะว่าแปรรูปเท่านั้นเอง แต่ส่วนที่อัตตาสลายไม่ได้เพียงแต่แปรรูป


หินก็ยังเป็นหินอยู่ เพราะมี "อัตตาหิน" หินจะก้อนใหญ่ก็คือหิน หินจะก้อนเล็กก็คือหิน แต่หินแปรรูปเป็นก้อนเล็ก
น้ำแข็ง ก็คือน้ำที่แข็ง แต่ก็คือ "น้ำ"


ฉะนั้น อัตตาน้ำ น้ำก็คือน้ำ เดี๋ยวกลายเป็นน้ำแข็ง กลายเป็นน้ำร้อน น้ำเย็น


น้ำนี่คืออัตตา คงความเป็นน้ำ เราเอาน้ำนี้ไปผสมเมล็ดกาแฟ กลายเป็นน้ำกาแฟ แต่ก็ยังคงเป็นน้ำ แต่แปรเปลี่ยนเป็นรูปเป็นน้ำกาแฟ และแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ฉะนั้น การแปรเปลี่ยนรูปไปเรื่อยๆ เขาเรียกว่า อนัตตา คือ ให้คงเป็นรูปอย่างนั้นไม่ได้ ต้องแปรเปลี่ยนไปตลอด


สรุปก็คือ "การแปรรูป" หมายความว่า


อัตตาสลาย แต่อัตตายังคงอยู่
อัตตาสลายแต่สิ่งนั้นยังคงดำรงอยู่


อัตตาสลายไป แต่อัตตายังคงอยู่ แต่สามารถใช้อีกคำหนึ่งได้แต่มีความหมายเหมือนกันคือ อัตตาสลายไม่ได้ มีแต่แปรรูป แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ


คำว่า "สลายไป" แต่ยังคงเป็นเม็ดเล็กๆ อยู่


คำว่า "ขจัด" เอาทิ้งไป หมดไป


เข้าใจอัตตา แล้วไม่ถูกอัตตาครอบงำ หมายความว่า สิ่งนั้นมีอยู่ แต่สิ่งนั้นควบคุมเราไม่ได้ บ่งการเราไม่ได้ เราไม่ถูกอัตตาครอบงำ ฉะนั้นมีอยู่ก็เหมือนกับไม่มี


คำว่า "สลายอัตตา" อัตตานั้นแรงมาก สลายให้เบาบางลง


พระพุทธเจ้าก็มีอัตตา แต่อัตตานั้นจะมีอิทธิพลเหนือพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้ ครอบงำพระพุทธเจ้าไม่ได้ พระพุทธเจ้ามีทุกอย่าง อย่างที่เรามี แต่ทุกอย่างกลายเป็นว่าบ่าว ไม่ใช่เจ้านายของพระพุทธเจ้า


พระพุทธได้ตรัสว่าใน ปฐมพุทธภาสิตคาถา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑ อรรถกถา ๘. เรื่องปฐมโพธิกาล ว่า


อะเนกะชาติสังสารัง สันธาวิสสัง อะนิพพิสัง,
เมื่อเรายังไม่พบญาณ ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นเอนกชาติ,
คะหะการัง คะเวสันโต ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง,
แสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างปลูกเรือน, คือตัณหาผู้สร้างภพ, การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ร่ำไป,
คะหะการะกะ ทิฏโฐสิ ปุนะ เคหัง นะ กาหะสิ,
นี่แน่ะ นายช่างปลูกเรือน, เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจักทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป,
สัพพา เต ผาสุกา ภัคคา คะหะกูฏัง วิสังขะตัง,
โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว, ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว,
วิสังขาระคะตัง จิตตัง ตัณหานัง ขะยะมัชฌะคา,
จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป, มันได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา (คือถึงนิพพาน).



ทุกอย่างพระพุทธเจ้ายังมี แต่ทุกอย่างนั้นมีอิทธิพลต่อพระพุทธเจ้าไม่ได้


พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่า นายช่างตายแล้ว หรือหมดไปแล้ว หายไปแล้ว อย่างนี้ไม่มี แต่ฉันรู้ทันเธอ เธอไม่ต้องมาสร้างเรือนให้ฉัน


หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ต่อไปนี้คุณมี แต่คุณมาครอบงำฉันไม่ได้แล้ว ฉันไม่ทำตามเธอหรอก


สิ่งการณ์ต่างๆ ที่ปรุงแต่งในธรรม หรือเป็นมายาในธรรม ครอบงำพระพุทธเจ้าไม่ได้


กงล้อซี่ที่ ๓ อนิจจัง


กงล้อซี่ที่ ๓ อนิจจัง แปลว่า แปรเปลี่ยน (impermanence; transiency) ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการแปรเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย


อนิจจัง ไม่ได้แปลว่า "สลาย" แต่แปลว่า "ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้" เมื่อเหตุเปลี่ยน ผลก็ต้องแปรเปลี่ยนตาม เหมือนกับน้ำแข็ง อากาศร้อน น้ำแข็งก็จะละลาย


ยกตัวอย่าง เราซื้อเนื้อหมูมา ๑ กิโลกรัม ปล่อยทิ้งไว้ ๗ วัน เนื้อนี้ก็จะเน่า สภาพไม่เหมือนเดิมที่เราซื้อมาวันแรก
กงล้อซี่ที่ ๔ ทุกขัง


กงล้อซี่ที่ ๔ ทุกขัง แปลว่า ไม่คงทน (state of suffering or being oppressed) หมายถึง ทนอยู่สภาพเหตุนั้นไม่ได้ หรือไม่คงทนต่อภาวะนั้นๆ ตลอดกาล


กงล้อซี่ที่ ๕ อนัตตา


กงล้อซี่ที่ ๕ อนัตตา แปลว่า ไม่สามารถควบคุมได้ (soullessness; not-self) เราจึงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ หมายถึง มีตัวตน แต่ยึดมั่นถือมั่นให้คงทนอย่างเดิมไม่ได้


หมายความว่า ความไม่มีตัวตน ทุกสิ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น จานอาหารที่อยู่ต่อหน้าเรา ล้วนแต่น่ากินทั้งนั้นซึ่งอยู่ในจาน แต่พอเราตักเข้าปาก ความอยู่เต็มจานของอาหารมันหายไป นี่แหละเปลี่ยนแปลงไป และสิ่งที่เราเคี้ยวอยู่เต็มปาก ก็ไม่ชื่อว่าเป็นกับข้าวที่เรากิน เช่น ข้าวผัด ผัดกระเพรา ฯลฯ เพราะว่าผสมปนเปกันอยู่ในปากหมด นี่แหละ ความอนัตตาอยู่กับเราทุกขณะปัจจุบันทุกลมหายใจ


กงล้อซี่ที่ ๖ ภาวะอนัตตา


กงล้อซี่ที่ ๖ ภาวะอนัตตา คือ เอา ๓ ตัวรวมกัน คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะเข้าสู่ภาวะอนัตตาจริงๆ


เปรียบเสมือน มีน้ำอยู่ แต่น้ำนี้ยังไม่เดือด คือคงภาวะอนัตตาไว้


ทำไมถึงไม่แยกอนิจจัง ทุกขัง เป็นภาวะเหมือนกันอนัตตา ก็เพราะว่าเป็นภาวะที่จะต้องผ่าน เช่น อนิจจัง เป็นการเปลี่ยนแปลง นี่แหละเป็นภาวะที่ผ่าน ทุกขัง ไม่คงทนต้องแปรเปลี่ยนสภาพ นี่แหละก็เป็นภาวะที่จะต้องผ่านไป แต่อนัตตา แปลว่า มีตัวตน แต่...!! ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนไม่ได้ นี่แหละอยู่กับที่แล้ว เลยต้องนำภาวะอนัตตาเป็นอีกซี่หนึ่งของล้อธรรมจักร


ทำไมภาวะอนัตตาถึงมีความสำคัญมากขนาดนั้น? ก็ต้องสำคัญ ถ้าหากไม่มีภาวะอนัตตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ไม่มีประโยชน์เลย


เพราะว่าเป็นตัวรวมกันของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงกลายมาเป็นภาวะอนัตตา


ถ้าไม่มีตัวอนัตตา ก็ไม่มี ๒ ตัวนั้น (อนิจจัง ทุกขัง) ไม่ใช่มี อนิจจัง ทุกขัง จึงมีอนัตตา


เพราะว่ามีอนัตตา จึงก่อให้เกิดความมีอนิจจัง ทุกขัง


ทำไมถึงไม่เอาหลักธรรมอื่นมาเพิ่มเติม แล้วอธิบาย จะได้มีหลักธรรมที่ควรศึกษาเพิ่มขึ้น แต่กลับมาเป็นภาวะอนัตตา คล้ายๆ ซ้ำกัน


ก็เพราะว่าเป็นสิ่งละตอนกัน เพราะว่าอย่างนี้เขาเรียกว่าอย่างนี้ แต่พอเรามีอย่างนี้แล้ว เราต้องมาแยกแยะอย่างนี้คืออะไร? ต้องมีรายละเอียดขึ้นไป ทำความเข้าใจอนัตตาให้ลึกซึ้ง จึงเข้าสู่ภาวะอนัตตา พอเราเข้าใจภาวะแห่งอนัตตา จึงสามารถเคลื่อนเข้าสู่สุญญตาได้


แล้วทำไมสุญญตาจึงไม่มีภาวะสุญญตา เพราะว่า พอเข้าสู่สุญญตานี่แหละเป็นภาวะสุญญตาแล้ว พอเราเข้าถึงแล้วไปยึดไม่ได้ นี่แหละเข้าสู่ภาวะแล้ว


พอเข้าสู่ภาวะแล้ว จึงเข้าสู่ภาวะสุญญตา แล้วถึงจะเข้าสู่ภาวะตถตา นี่แหละเป็นการเข้าสู่ภาวะ ถ้าเข้าสู่ภาวะเรียกว่าเป็นปรมัตถ์ขั้นสูงแล้ว เป็น "อภิ" แล้ว


ภาวะอนัตตา คือ เราต้องมีนาม คือ มีความคิดยึดมั่นถือมั่น


ทำไมต้องยึดมั่นถือไม่ได้? ทำไมสิ่งนี้จึงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้? ทำไมภาวะสิ่งนี้จึงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้


ก็เพราะว่าเป็นภาวะแห่งแค่ว่าเหตุมารวมกัน ประชุมกัน ร่วมกันขึ้นมา เรียกว่า ปรุงแต่งขึ้น พระพุทธเจ้าเรียกว่า "นายช่างสร้างเรือน" ช่างสร้างบ้าน ทำบ้าน


"คุณไม่ต้องมาสร้างสถานการณ์ เพราะว่าฉันรู้ทันเธอแล้ว ฉันไม่ถูกเธอครอบงำ ถึงแม้ว่าเธอสร้างสวยแค่ไหน แต่ฉันก็รู้ทันคุณ แม้ว่าคุณปลูกเรือนให้ก็ไม่สามารถมาครอบงำฉันได้ โครงเรือน เสา อะไรต่าง ฉันรื้อหมดเสียแล้ว ไม่สามารถครอบงำ ช่างก็ไม่สามารถปลูกเรือนได้ คือ ปลูกในความคิดเราไม่ได้ คุณจะไปปลูกที่ไหนก็ไปปลูกของคุณ แต่ปลูกในความคิดเราไม่ได้"


พอปลูกในความคิดเราไม่ได้ สิ่งที่พฤติกรรมของเราก็ไม่เป็นไปตาม


คำว่า "สร้างบ้าน" ก็คือ การสร้างความคิด สร้างความคิดว่าสิ่งนี้แท้ สิ่งนี้จะต้องให้เรายึดมั่นถือมั่น สร้างให้ปรุงแต่งว่าอันนี้ของฉัน อันนี้ของเธอ


"ภาวะ" ก็คือ เข้าสู่นาม ความคิด แต่เป็นทั้งรูปและนาม เพียงแต่นามเป็นประธาน แต่ถ้าเป็นอนัตตา ทางรูปจะเป็นประธาน


กงล้อซี่ที่ ๗ สุญญตา


กงล้อซี่ที่ ๗ สุญญตา (sunyata) คือ ถ้าเข้าใจอนัตตา ทุกอย่างเราควบคุมไม่ได้


หมายความว่า สุญญตาเป็นความว่าง แต่ไม่ใช่ความว่างเปล่า แต่ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น ทุกสิ่งเราไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้


กงล้อซี่ที่ ๘ ตถตา


กงล้อซี่ที่ ๘ ตถตา (tathata) คือ รวมกันทั้ง ๗ ข้อ เป็นเช่นนั้นเอง โดยธรรมชาติ คือเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปตามวิถีแห่งธรรม ทุกสิ่งเป็นไปตามวาระแห่งธรรม


๘ ซี่กงล้อธรรมในการขับเคลื่อนให้หลุดพ้น ต้องมี ๘ ข้อนี้ถึงจะหลุดพ้นได้ ทำไมถึงไม่ใช้หลักธรรมข้ออื่น เช่น มรรค ๘ ฯลฯ เพราะว่าธรรมะข้ออื่นยังหมุนอยู่ในล้อ หลุดพ้นไม่ได้

^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

   

7,658







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย