กิเลสเป็นตัวสนองตัณหา


กิเลสเป็นตัวสนองตัณหา

กิเลส แปลว่า เอามาสนองตัวตัณหา

ยกตัวอย่าง "กิเลส" เป็นการเอาอาหารมากิน แต่เราเอาอะไรไปบวกกับกิเลส เอาละโมบไปบวกกับกิเลสก็จะกลายเป็นว่า เอาเยอะๆ กินเยอะ แต่ถ้าเอาความคิดที่สัมมาไปบวกกับกิเลส มันก็เอาความพอดี ความพอดี คือ ความสันโดษ สันโดษ แปลว่า "พอดีแก่เหตุ" เหมือนกับในหลวงบอกว่า ให้พอเพียง ไม่ใช่ว่าไม่ให้ใช้ แต่ใช้ให้พอเพียงก็พอแล้ว ไม่ใช่ให้เอาจนเกินเลยมากไป

พยาบาทก็เป็นกิเลส เราอยากทำบุญก็เป็นกิเลส เพียงแต่เราเอาอะไรไปบวก

ถ้าเราเอาความพยาบาทไปบวกกับกิเลสตัวนี้ อันนี้กลายเป็นว่ากิเลสพยาบาท สมมติว่านั้นเป็นกิเลสจะไปทำกุศล ก็กลายเป็นกิเลสกุศล กิเลสก็เหมือนกับจิต อยู่ที่เราเอาอะไรไปปรุง

เพราะว่า เราแปลตัวกิเลส แปลว่า เอามาสนองตัวตัณหา ไม่ได้แปลว่า "กิเลสทำให้จิตเศร้าหมอง"

ถ้า กิเลส แปลว่า ทำให้จิตเศร้าหมอง เป็นด้านเดียว ตัวกิเลสทำให้จิตใจสดชื่นก็เยอะ ก็เราไปทำบุญแล้วจิตใจเราเกิดปิติไหม? ก็เกิดปิติแล้วจะเศร้าหมองตนไหน ถ้าหากว่าจะแปลว่า เศร้าหมอง นั่นคือบาป

บาปนั้นเป็นส่วนย่อยส่วนหนึ่งของกระบวนการกิเลส

บุญก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกิเลส

เราต้องดูว่าเราเอาอะไรไปบวก เหตุอะไรมันจะเกิด บอกแล้วว่ากิเลสเป็นกลางๆ มันอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว

นี่แหละคนเข้าใจผิดกันมา เลยเกิดความสับสนกันไปใหญ่

อุปกิเลส คือ ธรรมเครื่องเศร้าหมอง สิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัวรับคุณธรรมได้ยาก

๑. อภิชฌาวสมโลภะ คือ คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร จ้องจะเอา ตัวกิเลสคือเอามาสนองตัณหา แต่เราเอาตัวนี้ (อภิชฌาวสมโลภะ)ไปบวกแล้วกลายเป็นกิเลสตัวนี้แล้ว กิเลสที่จับจ้องจะเอาเยอะ แต่ถ้าเราเอากิเลสตัวนี้ (อภิชฌาวสมโลภะ) มาทางสายบุญเป็นสัมมา ก็คือเพียงพอแล้ว ถ้าหากว่าเรามาทางสายบุญก็จะชัดเจน ก็อยากจะไปทำบุญเยอะๆ ก็จะกลายเป็นกิเลสความโลภที่สัมมา อยากทำบุญเยอะ มีใจอยากจะช่วยคน ดีใจอยากจะช่วยเหลือคนเยอะๆ

๒. พยาบาท คือ คิดร้ายเขา จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นสัมมาได้อย่างไร

เรามีความพยาบาทคิดร้ายต่อเขา แต่คำว่ากิเลสเป็นกลางๆ คือความต้องการ สนองความต้องการ เราเอาตัว "พยาบาท" ไปสนองความต้องการอยากแก้แค้น

แต่ถ้าเรากลับกัน เอาพลัง "พยาบาท" นี้ สมมติว่าเรารู้ว่าพลังพยาบาทนี้ไม่ดี เราอยากให้เป็นบวก กลายเป็นพลังพยาบาทที่ดี สัมมา ถูกต้อง เช่น เราพยาบาทที่จะไปแก้แค้นคนนั้นใช่ไหม? กลับเป็นพยาบาทตัวที่เราคิดขึ้นมาเราปฏิเสธเขาได้ เป็นพลังที่ปฏิเสธไม่ไปทำร้ายคนอื่น

บอกว่าการที่เราไปทำร้ายเขาไม่ดีนะ ตัวพยาบาทจะขึ้นม เป็นแรงที่ผูกใจเจ็บจะเอาคืน ก็คือว่า "ไปทำร้ายเขาเลย" กับอีกแรงหนึ่ง "ต่อต้านที่จะไปทำร้าย" หมายความว่าเขาอยากจะไปทำร้าย แต่ทีนี้เรามีแรงแห่งพยาบาท มีแรงแต่เราเอาแรงนี้มาต่อต้านกับพยาบาท ไม่ไปพยาบาทเขา ฉะนั้น ในวิกฤติมีโอกาส ในโอกาสมีวิกฤติ

เรามีแรงขึ้นมาแล้ว เราจะเอาแรงนี้ไปทำอะไร คือ มีแรงที่จะไปทำร้ายเขา กับมีแรงที่จะไม่ไปทำร้ายใคร พยาบาทใคร

เหมือนกับเรากำ กำปั้นอยู่ที่มือชูขึ้นมากั้นเอาไว้ไม่ให้ไปทำร้ายคนอื่น ใช้แรงไปในทางฝ่ายดี ไม่ใช้แรงไปชกต่อยเขา ใช้แรงไปในทางไม่พยาบาทเขา เพราะว่า คำว่า "พยาบาท" คนทั่วไปก็แปลว่าไม่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราบอกว่าสิ่งนี้เป็นพลัง มีแรงขึ้นมาว่า เราจะเอาแรงนี้ไปพยาบาทหรือว่าเอาแรงพลังนี้ไปกั้นเอาไว้ไม่ไป "อย่าพยาบาท" เรามีตัว "อย่า" ลงไป

ยกตัวอย่าง เราจะไปด่าพ่อแม่เขา พอเราอยากจะไปด่า สิ่งเหล่านี้เป็นพลัง อยากจะด่า แต่จิตที่เป็นสัมมาถูกต้องบอกว่า "ไม่ได้นะ อย่านะ" ตบะตัวนี้ เป็นแรง เป็นตบะตัวอย่า นี่แหละเป็นแรง

แต่ทั้งสองนี้ก็เป็นแรงเดียวกัน เหมือนกันที่ขึ้นมา

๓. โกธะ คือ ความโกรธ ก็เหมือนกันที่มีลักษณะอธิบายแบบพยาบาท

๔. อุปนาหะ คือ ความผูกโกรธ ก็คือ จองเวร เราก็ต้องบอกว่าไม่จอง แรงที่มาคุมไม่ให้ไปจอง แทนที่จะเป็นแรงผลักดันให้ไปทำ

๕. มักขะ คือ ความลบหลู่คุณท่าน ความลบหลู่คุณความดีของผู้อื่น การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น เป็นการอกตัญญู

เป็นพลังขึ้นมาว่าให้ไปอกตัญญู ให้มีตัว "อย่า" ขึ้นมาไม่ให้ไปอกตัญญู คือ อย่าไปทำอกตัญญู เป็นตัวเบรกไว้ พอเบรกเสร็จแล้วทีนี้อยู่ที่ว่าพอเราเบรกเสร็จแล้วเราจะไปทำอะไร ถ้าเบรกแล้วมีความขึ้นทางดีขึ้นมา ก็จะไปกตัญญูกตเวที แต่ถ้าเราเบรกแล้วเฉยๆ แต่อีก ๒ วันผ่านไป ก็อยากจะไปทำอกตัญญูอีกแล้ว

๖. ปลาสะ คือ ความตีเสมอ ยกตัวเทียมท่าน เอาตัวขึ้นตั้งขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน เป็นการสำคัญตนผิด เป็นการวัดรอยเท้า
ถ้าสายดี ก็คือ "อย่า" อย่าแล้วอย่าหยุด ถ้าหยุดแล้วเรามีสติจะเอาอะไรไปเติม

๗. อิสสา คือ ความริษยา เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายดีสัมมาถูกต้องก็คือ ให้ใช้สิ่งที่ตรงข้าม คือ อย่าไปริษยา

๘. มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายดีสัมมาถูกต้องก็คือ ให้ใช้สิ่งที่ตรงข้าม คือ อย่าตระหนี่ถี่เหนียว

๙. มายา คือ มารยา เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายดีสัมมาถูกต้องก็คือ ให้ใช้สิ่งที่ตรงข้าม คือ อย่ามารยา

๑๐. สาเถยยะ คือ ความโอ้อวดหลอกเขา หลอกด้วยคำโอ้อวด เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายดีสัมมาถูกต้องก็คือ ให้ใช้สิ่งที่ตรงข้าม คือ อย่าโอ้อวด

๑๑. ถัมภะ คือ ความหัวดื้อ กระด้าง เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายดีสัมมาถูกต้องก็คือ ให้ใช้สิ่งที่ตรงข้าม คือ อย่าหัวดื้อ

๑๒. สารัมภะ คือ ความแข่งดี ไม่ยอมลดละมุ่งแต่จะเอาชนะกัน เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายดีสัมมาถูกต้องก็คือ ให้ใช้สิ่งที่ตรงข้าม คือ อย่าแข่งดี

๑๓. มานะ คือ ความถือตัว ทะนงตน เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายดีสัมมาถูกต้องก็คือ ให้ใช้สิ่งที่ตรงข้าม คือ อย่าถือตัว

๑๔. อติมานะ คือ ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา ดูหมิ่นเขา ถือตัวหยิ่งยะโส เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายดีสัมมาถูกต้องก็คือ ให้ใช้สิ่งที่ตรงข้าม คือ อย่าดูหมิ่นเขา

๑๕. มทะ คือ ความมัวเมา หลงใหล เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายดีสัมมาถูกต้องก็คือ ให้ใช้สิ่งที่ตรงข้าม คือ อย่าหลงใหล

๑๖. ปมาทะ คือ ความประมาท ละเลย เลินเล่อ ความประมาท เกิดจากสำคัญตัวเองเกินความเป็นจริง เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายดีสัมมาถูกต้องก็คือ ให้ใช้สิ่งที่ตรงข้าม คือ อย่าประมาท

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์   

7,684







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย