การตั้งฐานจิตในการกินอาหาร
การตั้งฐานจิตในการกินอาหาร
ก่อนที่เราจะกินข้าว ไม่ว่าพระภิกษุ สามเณร หรือผู้บำเพ็ญ นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราต้องรู้จักพิจารณา แผ่เมตตาในอาหารที่เรากิน ในกรณีของพระท่าน เมื่อบิณฑบาตมาแล้ว ก่อนที่เราจะฉัน เราต้องแผ่บุญกุศลก่อน บอกกล่าวว่า
“สิ่งต่างๆ ที่ญาติโยมใส่บาตรถวายมานี้ สิ่งการณ์ใดที่ญาติโยมได้อธิษฐาน ตั้งความหวัง ตั้งความปรารถนาไว้ ก็ขอให้สำเร็จทุกประการ”
และก่อนกินเราต้องตั้งฐานจิตในการกินอาหาร ดังนี้
“ขอขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่ได้สละชีวิตให้กับเราได้กิน เพื่อบำรุงธาตุของเรา เพื่อเป็นพละกำลังในการปฏิบัติในธรรม เจริญพรหมวิหาร ๔ ยังประโยชน์ตนและผู้อื่น ทั้งในภพนี้และภพหน้า ตลอดทั้ง ๓ ภพภูมิ ภูมินรก ภูมิมนุษย์ และภูมิสวรรค์”
ตัวอย่าง พระสงฆ์ท่านก่อนฉันภัตตาหารก็จะมีการสวดพิจารณาอาหาร ตังขะณิกะปัจจะเวกขะณะวิธี ปฏิสังขา โยฯ และพิจารณาธาตุปัจจเวกขณปาฐะ แต่ยังไม่ครบถ้วน หรือเป็นภาษาบาลีอาจจะยังไม่เข้าใจ เพราะบางครั้งผู้มีจิตศรัทธาเขาตั้งความหวังอธิษฐานฝากบุญกุศลส่งไปให้เจ้ากรรมนายเวรก็ได้ ให้ญาติพี่น้อง สัมภเวสีผู้ล่วงลับก็ดี หรือฝากบุญกุศลไว้ภายภาคหน้าก็ดี เราต้องบอกกล่าว ตั้งฐานจิต กำหนดจิตของส่งบุญกุศลนี้ที่ผู้มีจิตศรัทธา ได้ตั้งความปรารถนาไว้ขอให้สำเร็จ
เพราะว่า พระมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งเปรียบเสมือนกับบุรุษไปรษณีย์รับส่งบุญกุศลจากอีกฟากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง เพราะว่า เดี๋ยวนี้พระท่านฉัน จะให้พรอย่างเดียว พอพิจารณาอาหารก็ได้แต่สวดพิจารณาแต่ยังไม่เข้าใจเนื้อแท้สาระสำคัญแห่งการฉัน
ฉะนั้น สิ่งที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสามเณร หรือผู้บำเพ็ญ นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สามารถใช้ได้หมดเลย
ระหว่างกินอาหาร ให้เราพิจารณาอาหารที่เรากินว่าเป็นเพียงสักว่าธาตุ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ผัก น้ำปลา ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เรากินเข้าไป เป็นเพียงธาตุ สารอาหาร บัดนี้เรากินเป็นสารอาหารเพื่อบำรุงธาตุขันธ์ของเรา เพื่อมีพละกำลังในการปฏิบัติธรรม เจริญพรหมวิหาร ๔ เพื่อยังประโยชน์ตนและผู้อื่น
แม้แต่ผู้ที่กินเจ แต่บางครั้งไม่เจก็มี คือ ตัวนามเป็นเจ แต่ตัวรูปไม่เจ เช่น เต้าหู้ก็ทำเป็นชิ้นเนื้อ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นอาหารเจ แต่ทำให้เหมือนกับเป็นชิ้นเนื้อ เป็นต้น ฉะนั้น กินแล้วจึงไม่ใช่เจที่สมบูรณ์ เพราะรูปเป็นอาหารเจ แต่ทางนาม ตามความรู้สึกนึกคิดยังเป็นเนื้ออยู่
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์