ความเข้าใจ "พระแม่ธรณี" ที่ถูกต้องตามธรรม
พระคาถาพระแม่ธรณีมหาเทวี
โอม นะมัส นะ มาตา, หะเร หะเร นะ, ตัสสะ มาตา ยะ๛ (๙ จบ)
ลูกขอนอบน้อมคารวะสักการะบูชา พระแม่ธรณี ด้วยจิตศรัทธา พระแม่ฯ เป็นผู้อุ้มชู ประคับประคอง หล่อเลี้ยง เลี้ยงดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้สารอาหารพืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้ได้รับสารอาหารต่างๆ เพื่อไปหล่อเลี้ยง เลี้ยงดูชีพของตนเอง และชาวโลก เป็นผืนแผ่นดิน ให้ที่พักที่อาศัย เป็นสรณะทางจิตวิญญาณทั้งหลายทั้งปวง
บัดนี้ ลูกขอตั้งจิตอธิษฐาน มีจิตมุฑิตาแผ่ไพศาลแก่ลูกหลาน และชาวโลก มีจิตจาคะ เสียสละ ช่วยเหลือคนอื่น เจริญพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา
บัดนี้ ลูกขอน้อมถวายของบูชา (ชื่อของถวาย...) ขอพระแม่ฯโปรดเมตตารับ และขอบารมีพระแม่ฯ โปรดเมตตาประทานพร ขอให้สุขกาย สุขใจ สุขภาพดี พลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง มีคุณธรรมที่ดี ความคิดดี จิตวิญญาณดี สาธุ สาธุโอม๛
ประวัติพระแม่ธรณี
"ธรณี" แปลว่า ภูมิ, โลก, ดิน, แผ่นดิน, คำที่เหมือนกัน ธรติ, ธรณิ, ธริตริ,
ภูมิมีความหมาย ๒ นัย คือ ภูมิทางรูป กับภูมิทางนาม
๑. ภูมิทางรูป หมายถึง ภพภูมิ ที่อยู่อาศัย ทั้ง ๓๓ ภูมิ เช่น ภูมินรก ๔ ภูมิมนุษย์ ๑ ภูมิสวรรค์ ๖ ภูมิพรหม ๑๖ ภูมิอรูปพรหม ๔ ภูมิพุทธ ๑ คือ มรรค ๔ ผล ๔ ภูมินิพพาน ๑ เป็นต้น
๒. ภูมิทางนาม หมายถึง ภูมิปัญญา ภูมิความรู้เป็นชั้นๆ ซึ่งในภูมิ ๓๓ ภูมิก็มีภูมิปัญญา ความรู้ อยู่ในภพภูมิรูปนั้น
พระแม่ธรณี มีอีกชื่อหนึ่งว่า นางสุนทรา
ประวัติของพระแม่ธรณี ปรากฏในพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าชนะมาร โดยอาศัยพระแม่ธรณีมาเป็นประจักษ์พยาน ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นผู้รจนา หนังสือปฐมสมโพธิกถา อยู่ในปริจเฉทที่ ๙ ตอนมารวิชัยปริวรรต กล่าวเชื่อมโยงถึง ตอนพระพุทธเจ้าชนะมาร โดยอาศัยพระแม่ธรณีมาเป็นประจักษ์พยาน ดังนี้
ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้า ทรงประทับนั่งบนบัลลังก์หญ้าคาใต้ต้นโพธิ์ แล้วทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า "ถ้ายังมิได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด จักไม่เสด็จลุกขึ้นจากบัลลังก์เพียงนั้น ถึงแม้ว่าเนื้อและเลือดจักเหือดแห้งไปก็ตามที"
ฝ่ายพญามารวสวัตตี (วะสะวัตตี แปลว่า ผู้ยังบุคคลอื่นให้ตกอยู่ในอำนาจ) พญามารนี้ครองสวรรค์ชั้นสูงสุด สวรรค์ชั้นนี้นามว่า ปรนิมมิตวสวัตตี แบ่งเป็นสองแดน แดนเทพกับแดนมาร แดนเทพมีนามว่า วสวัตตีเทพ ปกครอง อีกแดนหนึ่งเป็นแดนมารมีพญามารวสวัตตีตนนี้แหละเป็นผู้ปกครอง
พญามารกลัวว่าพระพุทธเจ้านี้จะพ้นเงื้อมมือของตน จึงได้ยกพลทั้งกองทัพมาผจญกับพระพุทธเจ้า ฝ่ายพญามารก็เนรมิตแขนต้นเองพันมือถืออาวุธครบมือ พร้อมกับขี่พญาช้างชื่อว่า "ครีเมขละ" พร้อมกับบริวารเข้ามาตรงพระพักตร์ใบหน้าของพระพุทธเจ้า แล้วออกปากขับไล่พระพุทธเจ้าให้ออกไป พญามารบอกว่าที่นั่งที่นี่เป็นที่ของพญามาร ว่าอย่างนั้น
ฝ่ายพระพุทธองค์ก็อ้าง บัลลังก์ที่นั่งนี้เป็นของพระองค์ ซึ่งโสตถิยะพราหมณ์เป็นผู้ถวายหญ้าคา (กุศะ) มา ๘ กำมือ แล้วพระพุทธองค์ก็ปูลาดเป็นอาสนะ นั่งอยู่ตรงนี้
ฝ่ายพญามารก็บอกว่า “บัลลังก์นี้เป็นของข้า” พญามารกล่าวเสียงดัง พร้อมกับเหลียวหลังไปพูดกับบริวารของตนเองว่า "จริงไหมว่ะ"
บริวารก็ตอบว่า “ใช่แล้ว พะย่ะค่ะ บัลลังก์นี้เป็นของท่าน”
พญามารก็พูดว่า "ท่านลุกขึ้นเสียดีๆ ยกบัลลังก์ให้แก่ข้า อย่าให้ใช้กำลัง” พญามารขู่ และยังกล่าวตอบว่า แล้วท่านมีพยานมั้ย
พระพุทธองค์จึงเอานิ้วดัชนี นิ้วชี้ลงไปยังพื้นปฐพี แล้วตรัสว่า "ขอพระแม่ธรณี จงเป็นสักขีพยาน เราได้บำเพ็ญบุญกุศล คุณงามความดีต่างๆ บารมี ๓๐ ทัศ ด้วยบารมีแห่งกุศลอันมหาศาลนี้ ขอพระแม่ธรณีจงเป็นประจักษ์พยาน
(บารมี ๓๐ ทัศ ได้แก่ ๑) ทาน การให้ ๒) ศีล การรักษาศีลให้เป็นปกติ ๓) เนกขัมมะ การออกจากกาม ๔)ปัญญา ความรู้ ๕) วิริยะ ความเพียร ๖) ขันติ ความอดทนอดกลั้น ๗) สัจจะ ความตั้งใจจริง เอาจริง จริงใจ เต็มใจ ๘) อธิษฐาน ความตั้งใจมั่น ไม่เปลี่ยนแปลง ๙) เมตตา ความรักด้วยความปรานี ๑๐) อุเบกขา ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นไปตามวาระแห่งธรรม บารมีมี ๓ ขั้น อย่างปกติ อย่างกลาง และอย่างยิ่งยวด ๑๐ x ๓ = ๓๐)
ต่อจากนั้นพระแม่ธรณีก็บีบมวยผมปล่อยกระแสน้ำให้ใหลท่วมกองทัพพญามารจนพ่ายแพ้หนีไปในที่สุด
พระแม่ธรณีที่ออกมามวยผม น้ำท่วมพญามารนั้น เป็นสัญลักษณ์ คือ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงเปลี่ยนแปลงชาวโลกไปทางดี จากที่ไม่ดีไปทางมงคล
พระพุทธเจ้าเปล่งวาจาว่า "พระแม่ธรณีเป็นประจักษ์พยานว่า ตถาคตได้ทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี และกุศลต่างๆ ด้วยบารมีแห่งกุศลอันมหาศาลนี้ จงแสดงเป็นประจักษ์พยาน" แล้วพระแม่ธรณีก็บีบผมออกมา น้ำพระทัยของพระพุทธเจ้าก็ท่วมพญามาร จนพญามารต้องยอมแพ้ ยอมแพ้ความดีของพระพุทธเจ้า
นี่แหละเป็นที่มาของคำว่า ธรรมย่อมชนะอธรรม ความดีย่อมชนะความไม่ดี
นี่แหละเป็นปริศนาธรรม พญามารยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่สุดท้ายก็แพ้ความดีของพระพุทธเจ้า
"น้ำ" ก็เปรียบเสมือน ความดีของพระพุทธเจ้า มาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดีกลับกลายเป็นดี
ณ ตอนนั้น ตอนเป็นพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าไม่รู้จะสั่งสอนอะไร ได้แต่ทำความดี จนในที่สุดตรัสรู้ จึงรู้ว่าจะต้องสั่งสอนยังไง พอตรัสรู้แล้ว มารู้สึกว่า ที่เราตรัสรู้มานั้นมันยากมาก คนทั่วไปจะรับไม่ได้ ท่านก็เกิดความลังเลใจว่า จะสั่งสอนผู้คนดีไหมหนอ พระพรหมท่านก็มาอาราธนาว่า "คนก็เปรียบเหมือนบัวสี่เหล่า ก็มีทั้งจะรับรู้ และกำลังจะเรียนรู้ และจะไม่รู้" พระพุทธองค์จึงเห็นนิมิตถึงบัวสี่เหล่า แต่ละขั้นๆ พระพุทธองค์จึงเปล่งวาจาคนเปรียบเสมือนกับบัวสี่เหล่า ที่กำลังจะอะไรๆ
บุคคล ๔ จำพวก (ตามอุคฆฏิตัญญุสูตร)
อุคฆฏิตัญญุสูตรและมโนรถปูรณีได้อธิบายบุคคล ๔ จำพวก จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ไว้ดังนี้
๑. อุคคฏิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
๒. วิปจิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาดี เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
๓. เนยยะ พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
๔. ปทปรมะ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
๓ จำพวกแรกเรียกว่า เวไนยสัตว์ (ผู้แนะนำสั่งสอนได้) ส่วนปทปรมะเป็นอเวไนยสัตว์ (ผู้ไม่อาจแนะนำสั่งสอนได้)
รำลึกพระแม่ธรณี
ด้านหน้าโบสถ์ทุกโบสถ์จะต้องมีพระแม่ธรณีจึงจะถูกต้อง เพื่อระลึกถึง ณ เหตุการณ์ตอนนั้น
๑. ระลึกถึง และสำนึกบุญคุณน้ำพระทัยที่หล่อเลี้ยงสัตว์โลก ของพระพุทธเจ้า ให้เจริญเติบโตทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ที่มีต่อสัตว์โลกทั้ง ๓ ภพภูมิ โลกมนุษย์ โลกสวรรค์ และโลกบาดาล ให้เกิดสันติสุข
๒. สำนึกเคารพพระแม่ธรณี ที่มาเป็นพยาน และเก็บพยานของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา
พระพุทธเจ้ากับพระแม่ธรณีจึงมีความสัมพันธ์กันตลอด พระพุทธองค์ยังให้ความนับถือ และเคารพพระแม่ธรณี
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ในเว็บไซต์ธรรมจักร กล่าวว่า มีพระพุทธรูปปางหนึ่งสร้างเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ ครั้งนี้ เรียกว่า “ปางมารวิชัย”(อ่าน “มา-ระ-วิ-ไช”แปลว่า ชนะมาร ถ้าอ่าน “มาน-วิ-ไช” แปลว่า มารชนะ) ชาวบ้านเรียกว่า “ปางสะดุ้งมาร”
ที่มาของชื่อ “ปางสะดุ้งมาร” (ถ้าผมจำไม่ผิด) คือครั้งหนึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทะรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่ง พระพักตร์ไม่ค่อยสวย จึงรับสั่งว่า “องค์นี้ท่าจะสะดุ้งมาร”
หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จำเอาไปเขียนบรรยายพระพุทะรูปองค์นี้ตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ใครเข้าไปชมก็ได้เห็นและจดจำกันไปจนแพร่หลาย
กว่าสมเด็จฯ จะทรงทราบภายหลังว่าที่พระองค์ตรัสเล่นๆ กลับมีผู้ถือเป็นจริงเป็นจังก็สายเสียแล้ว คนจำได้ติดปากแล้ว จึงปล่อยเลยตามเลย
กระทั่งผู้จัดทำพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานยังบันทึกไว้เมื่อให้คำจำกัดความของคำมารวิชัยว่า “ผู้มีชัยแก่มาร คือพระพุทธเจ้า เรียกพระพุทธรูปปางชนะมารว่า พระมารวิชัย คือ พระนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาพาดพระเพลา พระปางสะดุ้งมาร ก็เรียก”
ท่านอาจารย์ “ประสก” แห่งสยามรัฐร้องว่า ไม่เรียก ถ้าอยากเรียกให้เรียกว่า “ปางมารสะดุ้ง” อย่าเรียก “ปางสะดุ้งมาร”
ผู้สร้างและผู้อุ้มชู
พระพรหมอยู่บนฟ้าพระผู้สร้าง พระแม่ธรณีอยู่บนดิน พระแม่ธรณีเลี้ยงดู อุ้มชู
ทำไมพระแม่สุรัสวดีจึงคู่กับพ่อพรหม ก็เนื่องด้วยว่าท่านเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้คิด
พระแม่ธรณีเป็นผู้รับสนองโองการจากพ่อพรหมไปเลี้ยงดู ไม่ใช่ผู้คิด
พ่อพรหมสร้างสรรพสิ่งแล้ว ใครจะจดไว้ ก็ลูบมือให้เป็นพระแม่สุรัสวดีให้ทำหน้าที่ทางภูมิปัญญา คล้ายๆ เป็นเลขา
ลูบมืออีกข้างหนึ่งเป็นพระแม่ธรณี ให้เป็นผู้เลี้ยงดู ดูแลที่พ่อพรหมสร้างขึ้นมา
สรุป เมีย ๒ คน ซ้ายขวา พระแม่สุรัสวดีเป็นผู้มีปัญญามาเป็นคู่คิด จะต้องทำยังไง ต้องมีคนจด ไม่มีให้เดี่ยว เราสร้างสรรพสิ่งตรงนี้แล้วต้องมีผู้เลี้ยงดู
เอกะ คือ เป็นหนึ่งเดียว แต่ข้างในก็จะมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ คือ ดำกับขาว เหมือนกับ อะตอม ที่ข้างในซ่อนโปรตอนและอีเล็กตรอน ในธรรมชาติจะเป็นอย่างนี้
๑. ภูมิธรรม คือ แผ่นดิน ยึดเหนี่ยวสารอาหารให้ดื่มกิน เป็นที่พัก ที่อาศัย
๒. ทิพยพลัง พลังแห่งการยึดเหนี่ยว ตั้งหลัก หล่อเลี้ยง ให้สารอาหารต่างๆ กับพืชพันธุ์ ธัญญาอาหาร ชีวิต ให้อาหารกิน
๓. การบูชา
๓.๑ พิธีกรรม การปฏิบัติ คือ การถวายผลไม้
๓.๒ จิตวิญญาณ คือ เมตตา กรุณา
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์