ทำบุญห่มผ้าพระธาตุเจดีย์


การทำบุญถวายห่มผ้าพระธาตุ

การทำบุญถวายห่มผ้าพระธาตุ เป็นบุญกุศลที่ใหญ่ เราจะต้องตั้งฐานจิตเพื่อสืบทอดพระศาสนา เจริญบุญกุศลในธรรม จรรโลงคุณงามความดี ผ้าห่มพระธาตุเป็นสื่อนำจิตของเราให้ตั้งปณิธานเพื่อที่จะทำตามเจตนารมณ์ที่ตั้งฐานจิตไว้ ๓ ประการข้างต้นนี้ แล้วทำไมการห่มผ้าพระธาตุเจดีย์จึงจัดว่าเป็นบุญกุศลที่ใหญ่ ด้วยเหตุผลดังนี้


๑. พระธาตุเจดีย์เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า


๒. พระธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดี เป็นนิมิตหมายเครื่องเตือนใจ ละชั่วทำดี


เมื่อเรานำผ้าห่มพระธาตุมาถวายห่มพระเจดีย์ เป็นการรักษาให้พระเจดีย์ยังคงอยู่สืบทอดต่อไป และเพื่อแสดงปณิธานเจตนารมณ์ ที่จะยึดมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เท่ากับยังพระศาสนาให้ยั่งยืนตลอดกาล ก็เปรียบเสมือนเราได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้าและเหล่าผู้คน ได้ทำความดี ละเว้นความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทำให้โลกนี้เกิดปลอดภัย พบสันติสุข และทั้ง ๓ ประการมีดังนี้


การตั้งฐานจิตเจตนาในการทำบุญสร้างกุศล


ในการทำบุญสร้างกุศลเราจะต้องตั้งฐานจิตเจตนาของเราให้ถูกต้อง หลักใหญ่ๆ คือ เราทำบุญสร้างกุศลเพื่อสืบทอดพระศาสนา เจริญบุญกุศลในธรรม จรรโลงคุณงามความดี มีดังนี้


๑. สืบทอดพระศาสนา คือ เราตั้งใจที่จะทำให้พระศาสนามีอายุยืนยาวขึ้น ด้วยการปกป้อง คุ้มครอง ทนุบำรุงรักษาพระศาสนา


๑.๑ เอื้อ-เกื้อ-กันผู้ปฏิบัติธรรม คือ ให้ถวายทานกับบุคคลผู้ประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ปกป้อง ส่งเสริมผู้ประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม เป็นแนวทางให้คนอื่นได้ปฏิบัติตาม นี่เป็นการสืบทอดพระศาสนาอย่างหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีท่านประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม พระศาสนาก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เช่น พระภิกษุสงฆ์ ผู้บำเพ็ญพรต ถ้าไม่มีท่านก็จะไม่มีใครนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน มาชี้แจง ให้บุคคลทั่วไปได้เข้าใจและปฏิบัติได้


การทำบุญกับผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราเรียกว่า สังฆทาน "สังฆทาน" แปลว่า การให้ทานแก่ผู้ปฏิบัติธรรมได้ดำรงอยู่ อยู่เพื่อปฏิบัติธรรมะ เป็นแนวทางสั่งสอน ชี้แจงให้บุคคลอื่นได้ปฏิบัติตาม การทำสังฆทานมี ด้วยกัน ๒ อย่าง


๑.๑ ให้ทานโดยเจาะจงบุคคล คือ เราให้ทานของเราเจาะจงพระรูปนั้น พระรูปนี้ บุคคลนั้น บุคคลนี้ เป็นต้น


๑.๒ ให้ทานโดยไม่เจาะจงบุคคล คือ เราให้ทานแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทั่วๆ ไป โดยไม่เจาะจงบุคคล


การทำบุญโดยเจาะจงกับไม่เจาะจงบุคคลอันไหนจะได้บุญมากกว่ากัน สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาว่า เราทำบุญแล้วผู้รับไปทำให้เกิดอานิสงส์ เกิดประโยชน์ต่อบุคคล สังคมมากน้อยเพียงใด


จะได้บุญมากหรือบุญน้อยขึ้นอยู่กับว่าบุคคลที่เราให้ทานนั้นเขาไปต่อยอดแห่งบุญกุศลให้เกิดอานิสงส์ มากน้อยเพียงใด


การที่เราจะทำบุญโดยเจาะจงหรือไม่เจาะจง ก็ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นจะไปทำประโยชน์มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุด คือ การตั้งฐานจิตของเราให้มั่นคงในเหตุดีที่เราได้กระทำ ย่อมได้รับผลดีเป็นเช่นนั้น


แต่การทำบุญโดยไม่เจาะจงนั้น เป็นการให้เราฝึกไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในบุคคลตัวตน เราต้องยึดมั่นในธรรม ไม่ติดรูป ไม่ติดบุคคล


๑.๒ ทนุบำรุง สิ่งก่อสร้าง เสนาสนะ


๑.๓ สร้างสิ่งแวดล้อม


๒. เจริญบุญกุศลในธรรม คือ เราต้องการให้บุญกุศล คุณธรรมต่างๆ ความดีงามต่างๆ เกิดขึ้นในจิตใจของเราให้มีมากขึ้น พัฒนา เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เราจะเจริญได้ด้วยบุญกุศล เราต้องหมั่นปฏิบัติธรรมะ หมั่นเจริญภาวนาบ่อยๆ หมั่นทำบ่อยๆ หมั่นทำดีบ่อยๆ เราจึงจะเจริญบุญกุศลในธรรม ในการภาวนานั้นมี ๔ อย่าง ได้แก่


๒.๑ กายภาวนา คือ หมั่นเจริญฝึกหัด อบรมกายบ่อยๆ คือ พิจารณากรรม คือ การกระทำของเราทั้งทางกาย วาจา และใจ


๒.๒ สีลภาวนา คือ หมั่นเจริญปฏิบัติเป็นปกติเป็นไปตามธรรม ไม่เบียดเบียน ถูกต้องในธรรม อยู่ในระเบียบวินัย


๒.๓ จิตภาวนา คือ หมั่นฝึกเจริญพัฒนาจิต อบรมจิต กำหนดจิต ตรวจสอบจิตของเราจะทำสิ่งใดก็ให้มีสติสัมปชัญญะ


๒.๔ ปัญญาภาวนา คือ หมั่นฝึกขจัดอวิชชา ความไม่รู้ ทำให้เกิดวิชชาปัญญาต่างๆ


๓. จรรโลงคุณงามความดี คือ เราทำดีแล้วเราแผ่ให้คนอื่นด้วย ขอแยกออกเป็น ๒ ประเด็นใหญ่ คือ


๓.๑ จรรโลงคุณงามความดีแผ่ให้คนอื่น คือ เมื่อเราได้ห่มผ้าพระธาตุแล้ว ใครคนไหนมาเห็นผ้าที่เราห่มพระธาตุเจดีย์ เขาก็อยากที่จะมาห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ด้วย อยากที่จะมาทำคุณงามความดี อย่างนี้เราเป็นการเผยแพร่ธรรมะ


๓.๒ จรรโลงคุณงามความดีแผ่ให้ตนเอง คือ เราสาธุปิติยินดีในเหตุคุณงามความดีที่เราได้กระทำ ด้วยการห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ และบอกกล่าว ชักชวนคนอื่นได้ร่วมทำบุญกุศลด้วย และเราจะทำบุญกุศลอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ


อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์   

7,759







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย