กับดักความดีคืออะไร


กับดักความดีคืออะไร
เราจะเข้าใจคำว่ากับดักความดี เราต้องเข้าใจความหมายและคำนิยามแห่งกับดักความดีก่อน
กับดัก คือ สกัดให้ติดอยู่กับที่
ความดี คือ สิ่งที่เราเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
กับดักความดี คือ สิ่งที่สกัดให้เรายึดติดในคุณความดี ที่ไม่ถูกต้องตามธรรม
กับดักความดี หมายถึง เราทำดี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ช่วยเหลือบุคคลอื่น แล้วเรายึดติดในคุณงามความดีว่าเป็นของตน สิ่งที่ตนทำดีนี้ ไม่แบ่งปันคุณงามความดีแก่บุคคลอื่น หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความดีนี้ต้องเป็นของตนเอง นี่แหละเราติดกับดักแห่งความดี
จึงเป็นคำถามต่อมาว่า เมื่อเราทำดี ความดีนี้ก็เป็นของเราจึงจะถูกต้อง เพราะว่าเราเป็นคนทำเอง ไม่ใช่คนอื่นทำ แล้วจะบอกว่าเป็นของคนอื่น ได้อย่างไร
ใช่แล้ว เมื่อเราทำดี ความดีนี้ก็เป็นของเรา แต่เราก็จะหยุดอยู่กับความดีนี้ ไม่ก้าวข้ามความดี ณ ตรงนี้ไปได้ เพราะเรายังยึิดติดในความดี ณ ตรงนี้อยู่
ยกตัวอย่าง ผมไปสร้างศาลาปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง แล้วไปโพนทนาต่อบุคคลอื่นว่า ศาลาฯ แห่งนี้ผมเป็นคนสร้าง อธิบายอย่างโน้นอย่างนี้ต่างๆ ให้คนอื่นฟัง ด้วยฐานจิตที่คิดอวด สิ่งนี้ก็กลายเป็นตัวกู ของกู ไป
แต่ถ้าเราจะไปบอกคนอื่นรับรู้ได้ แต่เราต้องตั้งฐานจิตอันเป็นกุศล เพื่อให้คนอื่นได้สาธุในคุณความดีที่เราได้สร้างศาลา ไม่ใช่เพราะตนเองคนเดียวที่ทำได้สำเร็จ เป็นเพราะช่าง บริวาร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยเหลือ เราจึงสร้างได้สำเร็จ นี่แหละทำดีต้องแบ่งปันความดี ช่างได้ฟัง ช่างก็ชื่นใจ บริวารได้ฟัง บริวารก็ชื่นใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ฟัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ชื่นใจ เพราะว่าเขาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งได้สร้างขึ้นมา แต่ถ้าเราเก็บความดีเป็นของตนเองบอกว่าเป็นเพราะตนเองสร้าง บุคคลอื่นๆ ก็จะไม่รู้ชื่นชมตรงไหน
ยิ่งถ้าไปบอกว่า ถ้าไม่มีตนเอง ศาลาแห่งนี้ก็สร้างไม่เสร็จ อันนี้เป็นความคิดที่มิจฉา แถมยังติดลบอีก เพราะเป็นการไปลบหลู่ว่า พระสงฆ์ หรือครูบาอาจารย์ท่านไม่มีปัญญาไปสร้างเสร็จ ต้องอาศัยตนเองเท่านั้น เท่ากับบาปคูณสอง หรือติดลบคูณสอง เป็นต้น
แต่ถ้าเรามาหวนกลับมาคิดพิจารณาว่า เมื่อเราทำความดี แต่ไม่ยึดติดในความดี รู้จักแบ่งปันความดี เราก็ทำความดีไม่หยุดอยู่กับที่ ทำดีได้กว้างขวางขึ้น ทุกคน ทุกสิ่งมีส่วนร่วมในคุณความดีนี้ จึงเท่ากับว่า เราทำดีอย่างแท้จริง
ดังที่ผู้รู้ท่านได้บอกกล่าวไว้ว่า การทำดี ๕ ข้อ
๑. ทำดียึดดี จะไม่ถึงดี จะเดือดร้อน
๒. ทำดีแต่เบียดเบียนจะวุ่นวาย
๓. ทำดีต้องรู้จักแบ่งปัน
๔. ทำดีถูกของกู แต่ไม่ถูกของธรรม ก็ไม่ดี
๕. ทำดีต้องรู้จักยกให้เบื้องบน ถ้าไม่ยก จะเกิดอหังการ
วิธีปฏิบัติเพื่อไม่ให้ติดกับดักความดีนี้ มีหลากหลายวิธีการ และหลายขั้นตอน เช่น เราทำดี เราบอกว่าเราทำดี แต่ไม่ไปลบหลู่บุคคลอื่น ไม่ไปทวงความดีกับคนอื่น หลายคน บางครั้งทำดีกับคนอื่น แล้วอยากให้เขาตอบแทนเรา พอเขาไม่ตอบแทนเรา เราก็เกิดอาการโมโห ไม่พึงพอใจ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น เราทำดีไม่ต้องไปกังวลว่าเขาจะตอบแทนเรา เมื่อเราทำดี ธรรมย่อมเห็น และธรรมย่อมตอบแทนโดยธรรม ธรรมยุติธรรมเสมอ ใครจะทำดี ทำชั่วอะไร พอไปถึงที่ธรรมก็จะยุติ คือ หยุดที่ธรรม ธรรมจะตัดสินเอง
ถ้าเราจะประยุกต์หลักธรรมพรหมวิหาร ๔ ในข้อ อุเบกขา มาใช้กับ กับดักความดี ในองค์ธรรมอุเบกขา คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเห็นทิฏฐิของตนและในการปล่อยวางสิ่งต่างๆ ย่อมให้เห็นเป็นไปตามวิถีแห่งธรรม ไม่มีอคติ มีความยุติธรรม
เมื่อเราทำดีสิ่งใดก็ควรใช้หลักอุเบกขามาใช้ คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในคุณความดีที่ทำ ให้เป็นไปตามวิถีแห่งธรรม เพราะว่า เมื่อเหตุปัจจัยในความดีเปลี่ยน ผลก็ย่อมเปลี่ยน
ยกตัวอย่าง เราสร้างศาลา แล้วกาลเวลาทำให้ศาลาทรุดโทรม มีเจ้าภาพคนอื่นอยากมาร่วมสร้างบุญกุศลที่ศาลานี้ ปรับปรุงให้ดีกว่าเก่า มีงบประมาณที่มากกว่า ดีกว่า แล้วเราไม่ยอม เพราะว่า ถือว่าตนเองเป็นผู้สร้างก่อน ตนเองต้องทำไม่ให้คนอื่นทำ นี่ย่อมผิด เพราะทำแล้วยึดเป็นของตัว ยึดว่าศาลานี้เป็นของตัว ต้องเป็นของสาธารณะ ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าเขายังไม่ได้ถวายศาลา เพราะยังยึดเป็นของตนเอง ถ้าถวายแล้ว หรือมอบให้แล้ว ก็ต้องไม่เป็นของตนเอง ไม่ยึดว่าเป็นของตนเอง
ถ้าเราติดกับดักแล้ว เราจะทำยังไงให้ถอนออกจากกับดักนี้ อย่างแรกเลย ต้องหาบุคคลอื่นมาช่วยให้เราออกจากกับดักนี้ ง้างกับดักนี้ขึ้น แล้วเราถอนตัวออก เปรียบเสมือนกับ ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ กัลยาณมิตรช่วยชี้แนะวิธีการให้เรา ให้เราเกิดสัมมาทิฏฐิ ความคิดเห็นอันถูกต้องตามธรรมก่อน แล้วเราพยายามปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์ได้ชี้แนะไว้
จากนั้น เราเมื่อโดนกับดักอีกในครั้งถัดไป เราก็ช่วยเหลือตนเอง พยายามง้างกับดักออก แล้วออกมาจากกับดักนั้น เปรียบเสมือนว่า เรานำคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ มาใช้ให้ออกจากกับดักนี้ด้วยตนเอง ถ้าเราใช้จนคล่อง เราเห็นกับดัก เราก็เอาของกินแต่ไม่โดนกับดักนี้ดักเราอีกต่อไป

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
   

7,536







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย